10/12/2020
Environment

10 ปี BIGTrees Project เครือข่ายที่ทำให้คนเมืองเรียนรู้ที่จะรักต้นไม้และสิ่งแวดล้อมเมือง

The Urbanis
 


4 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย แต่เมื่อ 4 ธันวาคมปี 2553 กลับเป็นวันที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย เมื่อเกิดเหตุการณ์ต้นจามจุรีอายุกว่า 100 ปี บนพื้นที่กว่า 5 ไร่ ในซอยสุขุมวิท 35 ถูกโค่นลง แม้ว่าจะมีการขอเจรจากับเจ้าของที่ดินไม่ให้ตัดต้นไม้แล้วก็ตาม

ความเจ็บช้ำในวันนั้น ทำให้เกิดกลุ่มคนรักต้นไม้รวมตัวกันในนาม BIGTrees Project เพื่อเน้นเรื่องการสื่อสาร สร้างการเรียนรู้ และจัดกิจกรรมให้คนในเมืองได้ไปสัมผัสธรรมชาติใกล้ตัว โดยมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวในป่าคอนกรีตแห่งนี้ และกลายเป็นศูนย์กลางในการส่งเรื่องร้องเรียน หากมีการตัดต้นไม้ในที่สาธารณะ

เพราะการตัดต้นไม้ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ความใหญ่” แต่เป็น “เรื่องใหญ่” ที่ทุกคนควรตระหนักรู้ วันนี้ The Urbanis จึงมาพูดคุยกับคุณ สันติ โอภาสปกรณ์กิจ และคุณ อรยา สูตะบุตร สองผู้ร่วมผู้ก่อตั้งกลุ่ม BIGTrees Project ณ Luka Cafe Siri House คาเฟ่และร้านอาหารท่ามกลางร่มไม้ใหญ่ในซอยสมคิด ย่านเพลินจิต ในวาระครบ 10 ปีที่สนับสนุนให้เมืองรักษาต้นไม้ และอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวให้งดงามมาถึงปัจจุบัน

ย้อนกลับจุดเริ่มต้นของ BIGTrees Project ยังจำความรู้สึกวันนั้นได้ไหม ว่าทำไมเราต้องออกมาสื่อสารเรื่องต้นไม้ใหญ่อย่างจริงจังขนาดนี้

อรยา: มันเกิดจากการขอเจรจาไม่ให้ต้นไม้ที่ไม่สำเร็จ ซึ่งตอนนั้นเราเริ่มเปิด Facebook แล้วก็เริ่มสื่อสารเรื่องต้นไม้ค่ะ ก็มีสื่อมาทำข่าว ตอนแรกก็ลุ้นอยู่ว่าจะตัดหรือไม่ตัด ก็แต่พอมีสื่อเข้ามามากๆ เจ้าของก็คงหงุดหงิด ตัดทิ้งเลย แต่ตอนนั้นเราจุดกระแสติดแล้วไง ทั้งสื่อและประชาชนทั่วไปสนใจเรื่องนี้ แต่พอล้มเหลว เราก็มาคุยกันว่าจะเลิกหรือไปต่อ แต่เมื่อกระแสจากสื่อและประชาชนมันมีค่า เราก็เลยตัดสินใจลุยต่อ เปิด Facebook เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับต้นไม้ต่อไป

เครือข่ายที่เกิดขึ้น มันไม่ใช่แค่คนที่สนใจแป๊บเดียวแล้วจบไป ทุกวันนี้เราก็ยังเป็นเครือข่ายกันอยู่ เหมือนเรื่องต้นไม้อยู่ในใจของพวกเขามาตั้งแล้ว เราก็เลยสานต่อตั้งแต่จุดนั้น

สันติ: เวลานั้นส่วนหนึ่งรู้สึกเฟล อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่ามีโอกาส มันน่าเสียดายนะเพราะกระแสต้นไม้มันจุดติดแล้ว ส่วนหนึ่งก็คิดว่า พอเราแพ้ เราก็ต้องล้างแค้นสิ! ล้างแค้นด้วยการทำให้เรื่องนี้อยู่ในประวัติศาสตร์ไทย ว่าคนที่ทำให้เกิดการดูแลต้นไม้และพื้นที่สีเขียวในประเทศ มันเริ่มต้นเพราะการตัดต้นไม้ในวันนั้น ถ้าเราทำได้ มันจะเป็นการล้างแค้นที่มันส์มาก น้องๆ ในทีมก็เลยรู้สึกว่า เราควรทำให้การตัดต้นไม้ในบ้านเป็นเรื่องใหญ่ หรือ กทม. ตัดต้นไม้ไม่ดีก็ต้องทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ทำให้สื่อลงหน้า 1 ให้ได้ เราจึงเล่นกับสื่อ Facebook และโซเชียลมีเดียต่างๆ 

อันที่สอง น้องๆ ทุกคนไม่ได้เป็น NGO ทุกคนทำธุรกิจส่วนตัว ซึ่ง NGO ปกติมักจะด่าหน่วยงานรัฐ เราไม่อยากด่าหน่วยงานรัฐในเมื่อเราเริ่มเป็นเพื่อนกับหน่วยงานรัฐได้ ทำไมเราไม่ทำงานแบบ friendly กับหน่วยงานรัฐ เราจะทำงานเพื่อหา solution ร่วมกัน

อันที่สามเราคิดว่า จะทำอะไรที่จะดึงประชาชนมาอยู่ข้างเรา เราอยากปลุกระดมให้คนมาช่วยกันทำงาน เราจะสร้างเทรนด์ในสังคมใหม่ นั่นคือเทรนด์ที่คนไม่ยินดีให้มีการตัดต้นไม้ในบ้าน ส่วนหนึ่งเพราะมันไม่มีกฎหมายคุ้มครองต้นไม้ใหญ่ในบ้านส่วนตัวเหมือนหลายๆ ประเทศ เช่น ถ้าคุณจะตัดต้นไม้ใหญ่ในบ้าน คุณจะต้องไปอนุญาตก่อน เพราะต่างประเทศเขามองต้นไม้เหมือนเป็นสมบัติของประเทศ แต่ประเทศไทยมันไม่มีกฎหมายแบบนั้น 

ยกตัวอย่าง ถ้าสมัยก่อน 200 ปีที่แล้ว การตีสุนัขอาจมองเป็นเรื่องปกติ แต่สมัยนี้ใครทำร้ายหมาหรือแมวมันกลายเป็นความป่าเถื่อนไปแล้ว แล้วทำไมเราไม่ทำให้ต้นไม้เหมือนหมาเหมือนแมว ทำไมไม่ทำให้ต้นไม้มีคนรักเหมือนคนในครอบครัว ถ้าคุณเป็นทาสแมวได้ คุณก็เป็นทาสต้นไม้ได้ด้วยสิ ฉะนั้นเราก็เลยตัดใจว่า เราจะไม่เดินหน้าด้านการสร้างกฎหมาย แต่จะเดินด้านรสนิยมของคน

10 ปีที่ผ่านมานี้ คุณคิดว่า BIGTrees Project มาไกลกว่าที่คิดไหม

สันติ: มันมาไกลละ เนื่องจากเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เป็นมือสมัครเล่นล้วนๆ การรณรงค์ที่เหมือนมีกลยุทธ์ แต่กลยุทธ์มันเป็นเรื่องเฉพาะหน้ามากๆ ตอนนั้นสถานการณ์เป็นยังไงก็คิดกลยุทธ์มาเพื่อแก้ปัญหาสถานการณ์นั้นๆ แต่กลยุทธ์แรกของเราก็คือพยายามรักษาต้นไม้ใหญ่ให้พื้นที่สีเขียวเยอะๆ 

ต่อมาพอเรารณรงค์เรื่องต้นไม้ที่ กทม. ตัดแต่งแย่มาก บ่นไปเรื่อยๆ ก็เพิ่งมาเข้าใจว่า เขาไม่รู้วิธีตัดที่ถูกต้อง

อรยา: เหมือนเขาไม่มีข้อกำหนดการทำงานเลยว่า การตัดแต่งต้นไม้ที่ถูกต้องคืออะไร สมัยก่อนเขาตัดๆ ไปให้มันเหลือน้อยที่สุด

สันติ: เขาเน้นแต่ output เขาไม่มี outcome เรามารู้ 4-5 ปีให้หลังจากทำงานกับ กทม. ว่า benchmark ของการตัดแต่งต้นไม้ของเขาคือ วันนี้ตัดกิ่งไม้ไปทิ้งได้กี่คัน ซึ่งยิ่งมาก ยิ่งดี เพราะถ้าคุณตัดน้อยแสดงว่าคุณขี้เกียจ หลังจากนั้นเราก็เลยดันว่า มันต้องตัดต้นไม้ให้ถูกวิธี ให้ได้มาตรฐาน

ความไม่รู้เรื่องการตัดต้นไม้ที่ถูกต้อง เลยเป็นที่มาของหลักสูตรอุปกรณ์ที่ทำให้รู้จักอาชีพรุกขกรหรือเปล่า

อรยา: สิ่งเหล่านี้อยู่ในตำรา ในห้องเรียน ในห้องสมุด เราแค่นำตรงนั้นมาต่อยอดในการฝึกสร้างคน ซึ่งเรามีหน้าที่ connect คนนั้นคนนี้มากกว่า ตอนนั้นเรารู้จักช่องทางเดียวคือ ภาควิชาภูมิสถาปัตย์ของจุฬาฯ ก็เลยไปคุยกับอาจารย์จามรี (ศาสตราจารย์ จามรี จุลกะรัตน์) ว่า ประเทศไทยขาดคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญการดูแลต้นไม้ใหญ่ตรงๆ นะ

สันติ: จริงๆ งานภูมิสถาปัตย์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษาต้นไม้เท่าไหร่ เพียงแต่ว่าอาจารย์สนเรื่องต้นไม้พอดี ก็เลยทำให้รู้ว่า ทั้งประเทศเรามีรุกขกรอยู่สัก 3 คน แกก็เลยชวนเราตั้งโรงเรียนต้นไม้กับรุกขกร 1 ใน 3 คนของประเทศไทยคือ ครูต้อ (ธราดล ทันด่วน)

อรยา: แล้วพอทำไปเรื่อยๆ เราก็เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะกระบอกเสียงให้ต้นไม้ ในเมื่อมันขาดคน แถม กทม. ก็ยอมรับแล้วว่าไม่มีผู้เชี่ยวชาญ ฉะนั้นเราก็เลยทำหลักสูตรนี้ขึ้นมา เพื่อให้มีรุกขกรเป็นอาชีพทั้งรับจ้างทั่วไปหรือในองค์กรของรัฐก็ตาม ทำหน้าที่ดูแลต้นไม้ให้ถูกต้อง

ตอนนี้มีรุกขกรประมาณกี่ท่านแล้วในประเทศ

อรยา: รวมๆ ทั้งประเทศก็ประมาณ 100-200 คนค่ะ อีกจุดหนึ่งที่เกินความคาดหมายชัดๆ ก็คือ เราคิดว่าตัวเองจะเป็นคนกลางในการเชื่อมใครต่อใครมาเรียน หรือไปหาวิทยากรมาบรรยาย ตอนนี้กลายเป็นว่า ในทีม BIGTrees Project เอง เรามีวิทยากรครบเครื่องแล้ว ไม่ต้องพึ่งวิทยากรที่เป็นอาจารย์หรือนักวิชาการจากที่อื่นแล้ว เราสามารถสวมบทบาทเป็นคนส่งต่อความรู้-ทักษะต้นไม้เองด้วยซ้ำ ตอนนี้เรามีการตั้งเป็น สมาคมวิชาชีพรุกขกร หรือ สมาคมรุกขกรรมไทย ที่ติดต่อกับอเมริกาและหลายๆ ประเทศในโลก เราต้องสานต่อเพื่อเอาความรู้ความชำนาญของเขามาให้คนไทยอีกที

สันติ: ณ ตอนนี้บทบาทของ BIGTrees Project ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอุตสาหกรรมของนักตัดแต่งต้นไม้เป็นวิชาชีพที่หน่วยงานรัฐต้องใช้ เราอยากให้ต่อไปมีใบ certificate วิชาชีพตัดแต่งต้นไม้ด้วยซ้ำ ให้เขาสามารถหากินกับวิชาชีพนี้ได้ ฉะนั้นจากการทำสื่อสาร ตอนนี้เราผลิตคนขึ้นมาจากโรงเรียนต้นไม้ และท้ายที่สุดเราก็ตั้งบริษัทให้เด็กพวกนี้มาทำงาน (หัวเราะ) กลายเป็นบริษัท Social Enterprise ขึ้นมา แต่ทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ เป็นการแก้ปัญหามาเรื่อยๆ ของเรา

อรยา: ต้องบอกว่าเราสร้าง demand เกี่ยวกับการตัดแต่งต้นไม้ขึ้นมา เมื่อก่อนคนอาจจะคิดว่า ต้นไม้ต้องตัดแต่งด้วยเหรอ ปล่อยไว้เฉยๆ ไม่ได้เหรอ แต่พอทุกคนรู้จัก demand นี้ คุณก็จะได้ต้นไม้ที่แข็งแรงและสวยงามกว่าเดิม

สันติ: ฉะนั้นเราไม่ได้สร้างแค่บริษัท แต่เราสร้างอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมา เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ก่อนเรามีรุกขกรทั้งประเทศแค่ 3 คน ตอนนี้มีเป็น 100 ไป และเป็น 1 ในสมาคมระดับโลก ทั้งหมดนี้เราสร้างขึ้นมา ทั้งหมดนี้เพื่อเป้าอันเดียว เพื่อให้คนไทย appreciate ต้นไม้ใหญ่ แต่เผอิญไม่มีใครทำไง เราก็เลยต้องทำทุกอย่างที่จำเป็นต้องทำ

หากให้สรุป 10 ปีที่ผ่านมา BIGTrees Project มีส่วนในการสร้างการเรียนรู้ให้ภาคประชาชนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในเมือง ต้นไม้ใหญ่ของเมือง และพื้นที่สีเขียวของเมืองอย่างไรบ้าง

สันติ: ผมคิดว่าสิ่งที่เราช่วยมากที่สุด คือคน appreciate ต้นไม้ใหญ่มากขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งที่ช่วยมากๆ คือการมี approach ใหม่ๆ ให้คนไทยเริ่มกล้าที่จะทำในสิ่งที่แต่ก่อนคิดว่าทำไม่ได้ อย่าง 10 ปีการตั้งกลุ่มรณรงค์เรื่องอะไรก็ตามเป็นเรื่องที่ไม่มีใครกล้า มีข้ออ้างเยอะ เช่น ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่มีเวลา

อรยา: บางคนก็จะบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่เรา เป็นหน้าที่หน่วยงานของรัฐ เราจะมาทำทำไมในเมื่อเราเสียภาษีแล้ว

สันติ: 10 ปีที่แล้วเราอยากชวนคนเยอะๆ มารณรงค์เรื่องต้นไม้ เพราะเราอยากแมสและเปลี่ยนใจคนทั้งโลก เราเลยจัดกิจกรรมปั่นจักรยานดูต้นไม้ เพราะคนชอบขี่จักรยานมากกว่า ปรากฏว่าครั้งแรกคนมา 700 กว่าคน ประเด็นคือเราเป็นกลุ่มเล็กๆ เป็น nobody ก็จัดงานได้ หลังจากนั้นก็มีกลุ่มอื่นๆ ออกมาจัดงานลักษณะนี้เหมือนกัน

อรยา: ประชาชนเริ่มจัดการกันเองแล้ว ไม่รอคนอื่น กลายเป็นว่าเกิดกลุ่มอื่นๆ คล้ายๆ กันเป็นดอกเห็ดขึ้นมา ไม่ใช่แค่เรื่องต้นไม้อย่างเดียว ในที่สุดเรื่องเมือง ประชาชนกลายเป็นคนจัดการเอง แต่ว่าไม่รอภาครัฐหรือ NGO แล้ว เรามาตั้งกลุ่มกันเอง ดูแลแถวบ้านหรือแถวย่านที่ตัวเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเรื่องประหลาดแล้วล่ะ

ถือว่าเป็นความสำเร็จของ BIGTrees Project ไหม ถ้าเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐ

สันติ: มันก็เปรียบเทียบยาก เพราะเราทำแคบมาก แค่ทำให้คน appreciate ต้นไม้อย่างเดียว ซึ่งมันเรื่องเล็กมากกับประเทศที่มีทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เราไม่ได้อยากแก้กฎหมาย แต่อยากเปลี่ยนรสนิยม ซึ่งรสนิยมอย่างเดียวจริงๆ มันไม่พอ มันต้องมี demand เพราะถ้าทำแค่กฎหมายคุณก็ได้แค่กฎหมาย ที่เหลือคุณไม่มีอะไรเลย มันต้องสร้างฐานก่อน เป็น New Normal ของคนเกี่ยวกับต้นไม้ นั่นคือพื้นฐานที่เราทำ

10 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย คนเริ่ม empower ตัวเอง เริ่มรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะต้องการในเรื่องที่ถูกต้อง โดยเฉพาะคนในกรุงเทพฯ empower ตัวเองว่าต้องการต้นไม้ ไม่ใช่แค่บ่นอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องการต้นไม้สาธารณะที่ต้องดีด้วย ลองนึกสิ 10 ปีที่แล้วใครจะแคร์เรื่องการตัดต้นไม้ผิดๆ เดี๋ยวนี้แค่ยกมือถือขึ้นมา เขาก็รีบหยุดตัดแบบผิดๆ แล้ว

ถ้าให้คาดการณ์อีก 10 ปีข้างหน้า BIGTrees Project ในวันนั้นจะมีเป้าหมายอะไรต่อไป

สันติ: 10 ปีข้างหน้าเราหวังว่าจะไม่ต้องทำแล้ว เหมือนเป็นสิ่งที่ต่างประเทศไม่ต้องทำกันแล้ว  สมมติคุณอยู่ไต้หวันหรือฮ่องกอง มันไม่มีอะไรเลยที่ต้องทำ เพราะพื้นที่สีเขียวเขาเยอะแล้ว ดูแลต้นไม้ดี แล้วจะไปเรียกร้องอะไร หวังว่า 10 ปีข้างหน้า BIGTrees Project ต้องไปเรียกร้องอย่างอื่นที่ไม่เหมือนกับสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้

อรยา: ฝันส่วนตัวเลยนะคะ ใน 10 ปีข้างหน้าอยากมีทายาทรับช่วงต่อ ซึ่งไม่จำเป็นต้องอยู่ใน BIGTrees Project อย่างเดียว จะเป็นกลุ่มอื่นก็ได้ เป็นคนของรัฐ เป็นบริษัทเอกชน หรืออย่างน้อยเราไม่ต้องมาอธิบายแล้วว่าอาชีพรุกขกรคืออะไร (หัวเราะ) อยากรู้สึกว่ามันเป็นอาชีพธรรมดา เป็นที่ต้องการของสังคมมากขึ้น ให้เรื่องต้นไม้เป็นอีกหนึ่ง New Normal เหมือนกัน

สุดท้าย ถ้าได้ไปเจอเจ้าของที่ดินที่วันนั้นเขาเลือกตัดต้นไม้ วันนี้คุณอยากบอกอะไรเขา

สันติ: (หัวเราะ) ก็คงเล่าให้เขาฟังว่า ที่เราทำได้เยอะขนาดนี้ก็เพราะมันเริ่มมาจากพี่ ซึ่งเขาจะรู้สึกภูมิใจก็ได้ ไม่เป็นไร

อรยา: คงบอกเขาว่า จำได้ไหมว่าคุณเคยทะเลาะกับเรา แต่เราไม่ยอมแพ้ค่ะ (ยิ้ม)


Contributor