08/09/2023
Environment

บอกเล่าเรื่องราวการพัฒนา “สวนท่าน้ำสรรพาวุธ” กับ “คุณปรีชญา นวราช” P-NUR URBAN ARCHITECT

ศุภกร มาเม้า
 


ชวนรู้จักพื้นที่สวนท่าน้ำสรรพาวุธ

สวนท่าน้ำสรรพาวุธนี้ เป็นที่ดินของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร มีขนาดประมาณ 52 ตารางวา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณท่าเรือวัดบางนานอก แม้จะเป็นพื้นที่ขนาดเล็กแต่ก็เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูง ทั้งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจรที่ในอนาคตจะมีพร้อมทั้ง รถ ราง และเรือ ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ควรบูรณาการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ท่าน้ำสรรพาวุธ พื้นที่กิจกรรมของชุมชนอย่างตลาดและร้านค้าแผงลอย รวมถึงการขยายตัวของรถไฟฟ้าที่กำลังจะมาถึงพื้นที่ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็นหมุดหมายใหม่สำหรับนักท่องเที่ยว

ความท้าทายของการพัฒนาสวนท่าน้ำสรรพาวุธ

ท่าน้ำสรรพาวุธเป็นสถานที่ที่มีผู้คนเข้ามาใช้งานอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร พื้นที่นี้จึงเหมาะสำหรับการพัฒนาให้เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็ก หากแต่การออกแบบพื้นที่นี้ยังมีความท้าทายอยู่ 2 ประการ ได้แก่


(1) ความปลอดภัยในการเข้ามาใช้งานพื้นที่ เนื่องด้วยท่าน้ำสรรพาวุธเป็นประตูสู่บางกระเจ้า ทำให้มีการเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของนักท่องเที่ยวตลอดเวลา อีกทั้งมีพื้นที่ราชการและพื้นที่โรงงานทำให้ตั้งแต่ต้นทางจนไปถึงกลางทางเต็มไปด้วยรถบรรทุกที่สัญจรผ่านกัน ส่งผลให้ผู้คนไม่กล้าเข้ามาใช้งานพื้นที่ ทั้งจากความอันตรายของรถบรรทุก รวมถึงการกลายเป็นพื้นที่ที่มีฝุ่นควันและมลพิษ ดังนั้นการพัฒนาพื้นที่สวนแห่งนี้จึงควรคำนึกถึงการสร้างความปลอดภัยให้ผู้คนสามารถเข้ามาใช้งานได้มากยิ่งขึ้น


(2) การออกแบบที่ต้องมีความยืดหยุ่น จากการทำกระบวนการการมีส่วนร่วม พบว่าพื้นที่แห่งนี้เชื่อมต่อกับชุมชนและหน่วยงานราชการ อีกทั้งมีมรดกวัฒนธรรมที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของถนนสรรพาวุธ ทั้งจากชุมชนวัดบางนานอก ตลาดเก่าของชุมชน และเป็นพื้นที่ศาสนสถานที่ผู้คนเข้ามากราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงความเห็นของคนในย่านที่อยากให้มีพื้นที่จัดงานกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เช่น งานตลาด งานดนตรี และพื้นที่สวนสาธารณะ การออกแบบพื้นที่แห่งนี้จึงต้องมีความยืดหยุ่น สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้อย่างหลากหลาย ถือเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสวนท่าน้ำสรรพาวุธในครั้งนี้

การพัฒนา “สวนท่าน้ำสรรพาวุธ” ท่าน้ำ 3 การเชื่อมต่อ

คุณปรีชญา นวราช ประธานบริษัท PNUR Urban Architect ได้เล่าถึงแนวคิดการออกแบบสวนท่าน้ำสรรพาวุธ โดยรับฟังความคิดเห็นของคนในย่านจากกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม นำมาปรับใช้กับการออกแบบ โดยการพัฒนาพื้นที่สวนท่าน้ำสรรพาวุธในครั้งนี้จะทำให้เกิดการเชื่อมต่อ 3 ประการ ได้แก่


(1) เชื่อมการเดินทาง เนื่องด้วยท่าน้ำสรรพาวุธเป็นพื้นที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจรของรถ ราง และเรือ การพัฒนาพื้นที่นี้จะสามารถขยายระยะเวลาของการใช้งานด้วยการเสริมสร้างการรักษาความปลอดภัยและเพิ่มแสงสว่างในพื้นที่ โดยพัฒนาพื้นที่บนฐานการออกแบบเพื่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design)

(2) เชื่อมกิจกรรมในพื้นที่ ผ่านการพัฒนาพื้นที่สวนท่าน้ำสรรพาวุธ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดการจัดระเบียบพื้นที่สำหรับร้านค้าแผงลอยและตลาด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ควรคงไว้ดังเดิม รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่สำหรับเปลี่ยนถ่ายการสัญจรของวินมอเตอร์ไซด์และรถโดยสารสาธารณะ เพื่อยกระดับคุณภาพของพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น


(3) เชื่อมเศรษฐกิจและสร้างกิจกรรมใหม่ ๆ โดยออกแบบพื้นที่พักผ่อนและสร้างพื้นที่พบปะของคนในย่าน บริเวณริมแม่น้ำให้มีความร่มรื่น รวมถึงเป็นพื้นที่ดึงดูดให้ผู้เปลี่ยนถ่ายการสัญจรเข้ามาใช้งาน พร้อมทั้งปรับปรุงให้มีพื้นที่สำหรับการจัดตลาด หรือ พื้นที่ขายของสำหรับชุมชนมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างกิจกรรมของผู้คนในย่าน

ขณะนี้สวนท่าน้ำสรรพาวุธ อยู่ในระหว่างการปรับแบบก่อสร้าง เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของชาวย่านมากที่สุด รวมถึงการดำเนินจัดสรรงบประมาณสำหรับการพัฒนาสวนต่อไป

จากความร่วมมือของชาวย่านพระโขนง-บางนาที่ร่วมกันขับเคลื่อนให้ย่านแห่งนี้มีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น และการพัฒนาสวนทั้งสามพื้นที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แสดงให้เห็นถึงพลังของชาวย่านทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีเครือข่าย รวมถึงทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนในครั้งนี้ “เพื่อให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น” มาร่วมติดตามเรื่องราวการพัฒนาสวนทั้งสามพื้นที่ได้ทาง The Urbanis และ เฟซบุ๊กของ UDDC

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ในเมืองกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

และโครงการการขยายผลและต่อยอดการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมทางกายของประเทศไทย: ห้องปฏิบัติการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ระยะที่ 2 [Good Walk Lab 2] ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor