07/09/2023
Environment

บอกเล่าเรื่องราวการพัฒนาสวนเกษตรวชิรธรรมสาธิต 35 “สวนเกษตร 15 นาที พื้นที่สีเขียวกินได้” แห่งย่านพระโขนง-บางนา

ศุภกร มาเม้า
 


ชวนรู้จักพื้นที่สวนวชิรธรรมสาธิต 35

พื้นที่ขนาด 14 ไร่ ตั้งอยู่บริเวณซอยวชิรธรรมสาธิต 35 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ที่ได้รับมอบพื้นที่จากคุณนวลปรางค์ แสนสุข และครอบครัว เพื่อให้สำนักงานสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะสำหรับชุมชน ระยะเวลารวม 8 ปี ภายใต้นโยบาย Green Bangkok 2030 ตั้งแต่ปี 2563 กำลังจะพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวแห่งใหม่ที่จะเพิ่มค่าเฉลี่ยพื้นที่สีเขียวให้ย่านพระโขนง-บางนา และตอบรับความต้องการของชาวชุมชนและผู้คนที่เข้ามาทำงานในย่าน ผ่านความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีเครือข่าย ในรูปแบบจตุรภาคี (4Ps)

“โจทย์” สำคัญของการออกแบบ

UDDC RAFA และภาคีเครือข่าย ได้รับโจทย์จากชาวย่านที่ต้องการพื้นที่ทำกิจกรรมหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ พื้นที่นันทนาการ พื้นที่ลานกีฬา และพื้นที่เรียนรู้นอกห้องเรียน ตลอดจนการผสานการออกแบบสวนสาธารณะร่วมกับแนวคิดการทำเกษตรในเมือง จึงต้องคำนึงถึงความยืดหยุ่นของการใช้พื้นที่ และความปลอดภัย รวมถึงระบบระบายน้ำ พร้อมทั้ง 3 โจทย์สำคัญสำหรับการออกแบบสวนวชิรธรรมสาธิต 35 ดังนี้ 

(1) พื้นที่สวนล้อมด้วยชุมชน แม้ว่าตำแหน่งของพื้นที่สวนนี้อยู่ในซอยวชิรธรรมสาธิต 35 ในทางกลับกันพื้นที่ที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวก การพัฒนาพื้นที่ 14 ไร่แห่งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับย่านเท่านั้น แต่เป็นการสร้างพื้นที่กิจกรรมสำหรับชุมชน ดังนั้นการพัฒนาสวนวชิรธรรมสาธิต 35 จึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้ชุมชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่มากที่สุด

(2) พื้นที่สวนเป็นพื้นที่ซึมน้ำ เนื่องจากย่านพระโขนง-บางนาถือเป็นย่านที่น้ำรอระบาย และพื้นที่
สวนวชิรธรรมสาธิต 35 มีลักษณะเป็นป่าขึ้นมาในพื้นที่ กรณีฝนตกต้นไม้จะช่วยดูดซับทำให้น้ำไม่ท่วม
รวมถึงบริเวณด้านหลังของสวนมีลักษณะเป็นคลอง ดังนั้นการออกแบบสวนจึงไม่ใช่แค่การสร้างพื้นที่พักผ่อนเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงการเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำของย่านร่วมด้วย

(3) การผสานระหว่างพื้นที่สวนสาธารณะและพื้นที่การทำเกษตรในเมือง เนื่องด้วยพื้นที่วชิรธรรมสาธิต 35 มีขนาดถึง 14 ไร่ ซึ่งมีศักยภาพในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับย่านพระโขนง-บางนาเป็นอย่างมาก หากนำแนวคิดเกษตรในเมืองเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่สวนจะช่วยผลักดันให้เกิดการสร้างพื้นที่สีเขียวสุขภาวะ สำหรับพักผ่อน นันทนาการ และบำบัดฟื้นฟูจิตใจ อีกทั้งการสร้างพื้นที่เกษตรสาธารณะ ถือเป็นการสร้างการมีส่วนร่วม และความสัมพันธ์ของชุมชน รัฐ เอกชน ทั้งยังสามารถเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ในหลายมิติ เช่น ผักที่ทาน การกินที่ดี การกำจัดขยะอาหาร ระบบนิเวศน์ในเมือง รวมถึงการสร้างพื้นที่ผลิตผักปลอดภัย พื้นที่ผลิตสมุนไพร พื้นที่กำจัดขยะอาหาร และเป็นรายได้เสริมของผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย

ผสานแนวคิดเกษตรในเมือง ร่วมกับ การพัฒนาสวนวชิรธรรมสาธิต 35

นอกเหนือจากการพัฒนาพื้นที่สีเขียวสาธารณะเพื่อการออกกำลังกายและพักผ่อนหย่อนใจ การผสานแนวคิดเกษตรในเมือง (urban agriculture) เข้ากับการพัฒนาสวนสาธารณะ ถือเป็นการสร้างพื้นที่สุขภาวะในชุมชน รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนที่มีรายได้น้อย อีกทั้งส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางกาย และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสาธารณชนที่มีความสนใจในการพัฒนาสวนครั้งนี้

สวนวชิรธรรมสาธิต 35 จะเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกในกรุงเทพมหานครที่ผสาน “แนวคิดเกษตรในเมือง” เข้ากับการพัฒนาสวนสาธารณะ โดยออกแบบพื้นที่บางส่วนเป็นพื้นที่สำหรับการเกษตร เช่น การทำแปลงผัก การทำโรงเพาะชำ เพราะการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างการทำสวนเกษตรถือเป็นการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมในชุมชน อีกทั้งเป็นสวนที่มีพื้นที่ใช้สอยที่หลากหลาย ตั้งแต่พื้นที่นันทนาการ พื้นที่พักผ่อน ตลอดจนพื้นที่เกษตรในเมือง โดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีเครือข่าย

ขณะนี้สวนวชิรธรรมสาธิต 35 อยู่ในระหว่างการปรับพื้นที่ และจัดทำแบบก่อสร้าง เนื่องด้วยสวนวชิรธรรมสาธิต 35 เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่จึงแบ่งระยะการพัฒนา โดยในระยะแรกจะปรับปรุงพื้นที่บริเวณด้านหน้า เป็นสวนสาธารณะ ผ่านการผสานกับแนวคิดสวนเกษตร 15 นาที ซึ่งจะผลักดันให้ “ย่านพระโขนง-บางนา” เป็น “ย่านต้นแบบ” และมี SHOWCASE เป็นที่ดินวชิรธรรม 35 พร้อมกับที่ดินแปลงอื่น อาทิ โรงเรียน วัด แฟลต ชุมชน เอกชน โดยได้รับความร่วมมือจากนิสิต ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ามาร่วมพัฒนาการออกแบบพื้นที่เกษตรในย่าน เพื่อหารือกับชุมชนและเอกชนในพื้นที่ต่อไป

จากความร่วมมือของชาวย่านสู่การสร้างสวนวชิรธรรมสาธิต 35 โดยสวนนี้เป็นหนึ่งในสามพื้นที่ Sandbox สำหรับการพัฒนาสวน 15 นาที ของย่านพระโขนง-บางนา รายละเอียดและแนวคิดของสวนสุดท้ายจะเป็นอย่างไร สามารถติดตามได้ทาง The Urbanis และ เฟซบุ๊กของ UDDC

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขับเคลื่อนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ในเมืองกรุงเทพมหานคร โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

และโครงการการขยายผลและต่อยอดการขับเคลื่อนพื้นที่สุขภาวะเพื่อเสริมสร้างกิจกรรมทางกายของประเทศไทย: ห้องปฏิบัติการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ระยะที่ 2 [Good Walk Lab 2] ในการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor