07/01/2021
Environment

ทำไม Norman Foster มั่นใจว่า Covid-19 ทำให้เมืองสมาร์ตและเขียวขึ้น?

แพงสุดา ปัญญาธรรม
 


จากข่าวการเริ่มใช้วัคซีน Covid-19 ทำให้หลายคนเริ่มคิดถึงการใช้ชีวิตในยุคหลังโควิดมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการระบาดของ Covid-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกแง่มุมของการใช้ชีวิต ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การใช้ชีวิตรายบุคคลเท่านั้น แต่เมืองก็เปลี่ยนแปลงไป

อย่างไรก็ตาม เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เมือง มีพลวัต ไม่ตายตัว การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอด Covid-19 จึงอาจไม่ใช่ตัวการหลักของการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น แต่เป็นเพียงเป็นเพียงแรงกระตุ้นให้การเปลี่ยนแปลงเกิดเร็วขึ้นเท่านั้น

สถาปนิก Norman Foster เขียนไว้ใน The Guardian ว่า ในอดีตเมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ดังเช่นกรุงปารีสและลอนดอนที่เคยเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ แต่ปัจจุบันก็ถูกแซงหน้าด้วยอีกหลายเมืองในทวีปเอเชียจึงกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของเมืองเกิดขึ้นทุกชั่วขณะ เป็นไปตามวิวัฒนาการและเทคโนโลยี

Foster ยกตัวอย่างเหตุการณ์ไฟไหม้ในลอนดอนเมื่อปี 1666 ที่นำมาสู่การก่อสร้างตึกด้วยอิฐแบบทนไฟ หรือการระบาดของอหิวาตกโรคในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ทำให้ต้องวางระบบท่อประปาใหม่ทั้งเมือง เพื่อยกเลิกการใช้แม่น้ำเธมส์เป็นสถานที่ทิ้งสิ่งปฏิกูล หรือการเข้ามาของรถยนต์ที่ทำให้ถนนหนทางสะอาดขึ้น แต่ท้ายที่สุดก็นำมาซึ่งมลพิษในปัจจุบัน ทุกเหตุการณ์ล้วนแล้วแต่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองไม่ช้าก็เร็ว ต่อให้ไม่มีไฟไหม้หรือการระบาดของอหิวาตกโรค ระบบการบำบัดน้ำเสียและการป้องกันอัคคีภัยก็คงเกิดขึ้นอยู่ดีในอีกไม่กี่ปีให้หลัง

Norman Foster สถาปนิกชื่อดังชาวอังกฤษ ภาพจาก https://web.facebook.com/Norman.Robert.Foster

แม้ Covid-19 จะทำให้การใช้ชีวิตเราเปลี่ยนไป แต่ก็ไม่อาจสรุปได้ว่าการใช้ชีวิตแบบรักษาระยะห่างจะกลายเป็นรูปแบบการใช้ชีวิตในอนาคตหลังโควิด เพราะเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อย่างการระบาดครั้งใหญ่ของ Spanish Flu ในปี 1918 สิ่งที่ตามมาในช่วงปี 1920 กลับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ที่ตามมาด้วยการสร้างสถานที่พบปะใหม่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ และสนามกีฬา

ดังนั้น Foster มองว่า สิ่งที่จะตามมาหลัง Covid-19 อาจเป็นสิ่งที่เราพอมองเห็นกันอยู่แล้ว เช่น การหันมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อน หรือคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการซื้อรถส่วนตัวน้อยลง และหันมาใช้จักรยานไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ และบริการ ride-sharing หรือ uber กันมากขึ้น

การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการเดินทางนี้เอง จะส่งผลต่อรูปแบบการทำงานด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้สถานที่ทำงานแบบเดิมจะยังคงอยู่และคนอาจเห็นคุณค่ามากกว่าเดิมในแง่การเป็นสถานที่พบปะหรือส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าช่วงเวลา work from home ที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นว่า ความสำคัญของสำนักงานอาจลดน้อยลง เมื่อคนหันมาแบ่งเวลาการทำงานจากบ้าน หรือนอกสถานที่อย่างร้านกาแฟและคาเฟ่ต่างๆมากขึ้น

ผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองที่จะเปลี่ยนไป พื้นที่สำหรับรถยนต์จะถูกลดความสำคัญลง ดังเห็นได้จากกรณีของลอนดอน ที่เริ่มเสนอให้ขยายทางเท้า และเปลี่ยนเลนรถยนต์ให้เป็นเลนจักรยาน หรือในบางพื้นที่ ถนนอาจถูกเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับร้านอาหาร ที่มาพร้อมกับฮีทเตอร์หรือพัดลมปรับอากาศที่ช่วยเพิ่มระยะเวลาการใช้ชีวิตภายนอกมากขึ้นอีกด้วย

ภาพรวมของเมืองในอนาคตจึงอาจเงียบ สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรมากขึ้น เมืองเดินได้และเมืองจักรยานจะเข้ามามีบทบาท ซึ่งอาจนำไปสู่พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นด้วย

ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา เราเริ่มที่จะเห็นวลีอย่าง 15-minute city หรือเมือง 15 นาที อย่างเช่นที่กรุงปารีสตั้งเป้าหมายไว้ ภายใต้ไอเดียที่ว่าทุกคนสามารถทำกิจกรรมต่างๆได้ในระยะการเดินหรือจักรยาน ไม่ว่าจะกลับบ้าน ไปทำงาน ไปร้านอาหาร หรือไปเที่ยว ชมภาพยนตร์มหรสพใดๆก็ตาม ซึ่งความคิดนี้ไม่ได้เกิดขึ้นใหม่แต่อย่างใด แต่ถูกเร่งด้วยการระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้คนเห็นความสำคัญ เมืองที่ครบวงจรและเข้าถึงได้กลายเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งโดยเฉพาะในภาวะที่การเดินทางยังไม่กลับมาเต็มรูปแบบ จึงถือเป็นโอกาสสำคัญของการวางผังเมืองและการออกนโยบายโดยรัฐ

Richard Sennett ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางผังเมืองและประธาน Council of Urban initiatives ของสหประชาชาติ กล่าวว่า สิ่งที่เขาเรียนรู้จากการระบาดครั้งนี้ คือเมืองควรเป็นสถานที่แห่งการปฏิสัมพันธ์ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าการล็อคดาวน์ ทำให้เขาเห็นความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ แต่เป็นเพราะเขามองเห็นว่าเทคโนโลยีจะใช้ได้ดีขึ้นก็ต่อเมื่อมันถูกนำมาใช้เพื่อช่วยมนุษย์สื่อสารกัน เช่น แอปพลิเคชั่นที่บอกเวลาการทิ้งขยะ หรือการช่วยเหลือเพื่อนบ้านที่ป่วย สิ่งเหล่านี้กำลังได้รับความนิยมและได้รับการตอบรับเชิงบวกมากกว่าแอปพลิเคชั่นติดตามตัวแบบทั่วไป

นี่คือการเริ่มยุคใหม่ที่ชุมชนจะรู้สึกรับผิดชอบต่อคนแปลกหน้ากันมากยิ่งขึ้น Sennett มองว่าลำพังเพียงข้อมูลที่ได้จากการติดตามหรือนับจำนวนคน ไม่สามารถบอกอะไรมากไปกว่าจำนวนคนได้ แต่แอปพลิเคชั่นที่สร้างมาเพื่อช่วยในการสื่อสารจะบอกเราได้ถึงสาเหตุของจำนวนคนในที่ต่างๆ และข้อมูลเหล่านี้เองที่จะนำไปสู่ Smart cities ที่แท้จริง เพราะ Smart Cities ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีและข้อมูลเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการทำงานร่วมกับประชาชน การศึกษาพฤติกรรม และการวางนโยบายทางสังคมด้วย

ที่มาและอ้างอิง

The pandemic will accelerate the evolution of our cities https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/sep/24/pandemic-accelerate-evolution-cities-covid-19-norman-foster

Coronavirus: How can we make post-pandemic cities smarter? https://www.bbc.com/news/technology-53192469

ภาพปกโดย Business photo created by mrsiraphol – www.freepik.com


Contributor