04/12/2019
Environment
เมืองร้อนทำให้คนกินคน
The Urbanis
คนกรุงเทพฯ เสพติดเครื่องปรับอากาศ
ใช่ – เครื่องปรับอากาศทำให้เราเย็นสบาย แต่เหรียญอีกด้านที่หลายคนอาจมองไม่เห็น นั่นคือ มลพิษมหาศาลที่เกิดจากการใช้งานเครื่องปรับอากาศ กำลังไปกระทบกับการใช้ชีวิตของคนอีกกลุ่มหนึ่งนอกห้องแอร์ฯ ซึ่งนักรัฐศาสตร์อย่าง ผศ.ดร. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ดำเนินรายการวิเคราะห์ข่าวชื่อดัง เรียกปรากฎการณ์ท่ามกลางความร้อนของเดือนเมษายนว่า “การกินชีวิตกันในเมือง”
“เมื่อสภาพอากาศร้อน คนบางกลุ่มก็เลือกที่จะเปิดแอร์ ให้ที่พักอาศัยมีอุณหภูมิที่เย็นสบาย แต่ลมร้อนที่ออกมาจากเครื่องปรับอากาศในเมือง กลับทำให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่ร้อนอยู่ในรถตู้ มอเตอร์ไซด์รับจ้างต้องร้อนกว่าปกติ
“ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในเมือง เช่น ความต้องการมีชีวิตที่ดี มีความลงตัวของคุณนั้น ไม่ได้เป็นแค่ความสะดวกสบายจากการพัฒนาวัตถุ การพัฒนารูปแบบเมือง แต่คุณอาจจะสร้างผลกระทบให้กับคนอื่น หรือคุณใช้คนเหล่านั้นทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น เช่น คุณมีเมืองที่สวยงาม มีเศรษฐกิจที่ดี มีความเจริญ แต่ความเจริญเหล่านี้อาจจะมาจากแรงงานราคาถูกที่มาก่อสร้างให้คุณ การมีเศรษฐกิจที่ดีอาจจะแลกมาจากการที่คนจำนวนหนึ่งต้องมีชีวิตที่ไม่ดี ดังนั้น การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในเมืองจึงไม่ใช่เพียงแค่การ living with others แต่ยังเป็นการ living through others อีกด้วย”
ความร้อนของเมืองแสดงให้เห็นภาวะการณ์การ ‘กิน’ ชีวิตกันในเมืองได้ค่อนข้างชัดเจน ว่าเป็นความสัมพันธ์ของผู้คนที่เกิดจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นที่อยู่รอบตัว โดยการเข้าไปเกี่ยวข้องนี้อาจเข้าไปสร้างผลกระทบให้กับบุคคลอื่นในทางใดทางหนึ่ง หรือการใช้บุคคลอื่นทำให้ชีวิตของตนเองดีขึ้น แต่อาจแลกมาจากการมีแรงงานราคาถูก จะเห็นได้ว่า การที่คนบางกลุ่มมีชีวิตที่ดีได้นั้น อาจต้องแลกมากับการที่คนอีกกลุ่มหนึ่งต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก
“เพราะเมืองเป็นพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำสูง คนบางคนไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในเมือง ไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่พักอาศัยราคาแพง ดังนั้น เมืองจึงเต็มไปด้วยความเปราะบางของคนที่จะต้องเช่าห้องอยู่ และความเปราะบางของคนที่ต้องทนอยู่เพราะว่าเมืองคือโอกาส แต่ในอีกด้านหนึ่งเขาก็ต้องยอมเสียค่าครองชีพ กินอาหารข้างถนน ไม่มีสุขภาวะที่ดี แรงงานระดับล่างที่อยู่ออฟฟิศก็ต้องกินมาม่าทุกวัน เพื่อให้มีชีวิตที่อยู่ในเมืองเพื่อแสวงหาโอกาสในการหาเงิน”
ทางออกหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำท่ามกลางอุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียสในหน้าร้อน พิชญ์เสนอว่า สามารถทำได้โดยการผลักดันให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง อย่างการตั้งหน่วยงานระดับย่านที่สามารถรับฟังเสียงสะท้อนของคนหลากหลายกลุ่มได้อย่างทั่วถึง กระทั่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างด้วยการชดเชยต้นทุนค่าเสียโอกาสของ ‘กลุ่มคนสร้างเมือง’ หรือปรับสวัสดิการให้กลุ่มคนจนเมือง เพื่อให้ผู้คนสามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำ
“ต้องมีสถาบันที่จะทำให้คนในเมืองสามารถที่จะอยู่ร่วมกันและต่อรองกันมากขึ้น เช่น พื้นที่ในระดับเขตจะต้องมีความเป็นตัวแทนมากกว่านี้ จะต้องสามารถร่วมกันออกแบบผังเขตได้ สามารถมีการส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยในระดับเขต ซึ่งของเราเขตไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้ ทำหน้าที่น้อยมาก หรืออาจจะเป็นการรวมกลุ่มกันจากฐานทรัพยากร เป็น neighborhood association (หน่วยงานระดับย่าน) เล็กๆ ที่สามารถเปล่งเสียงได้ว่า ความเจริญในพื้นที่นี้พอแล้ว ถ้าเจริญขนาดนี้แล้ว คนในพื้นที่จะได้รับความเดือดร้อนอย่างไร”
สำหรับข้อเสนอด้านการจัดการความเหลื่อมล้ำอันเนื่องจากความร้อนของเมือง ให้ผู้ใช้เครื่องปรับอากาศจ่ายภาษี เทียบเคียงได้กับหลักผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย (Polluter-Pays-Principle: PPP) คือการกำหนดให้ผู้ที่ก่อมลพิษจ่ายภาษีสิ่งแวดล้อม (eco tax) ออกค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมของพวกเขา โดยหลักการ PPP นี้ ได้ถูกบรรจุลงใน พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ของไทย เช่น มาตรา 68 ที่ระบุให้ผู้ก่อมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยอากาศเสีย รังสี หรือมลพิษอื่นใด จะต้องติดตั้งระบบหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุม กำจัด ลด หรือขจัดมลพิษซึ่งอาจมีผลกระทบต่อคุณภาพอากาศตามที่เจ้าหน้าที่กำหนด เป็นต้น
“ในเวลาที่เราตื่นเต้นกับความงดงามของเมือง สนใจว่าพื้นที่สีเขียวของเมืองเพียงพอไหม เรานำเสนอโปรเจ็คท์ตลอดเวลา ให้เมืองออกมาดูดี มีในสิ่งที่ควรมี เช่น เราต้องการทางเดินที่สวย แต่ชีวิตคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นชุมชนอาจจะต้องถูกย้ายออก ความสวยงามของเราทำให้คนอื่นเสียโอกาสมากน้อยแค่ไหน”
คำถามของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ น่าจะทำให้เราได้มองเห็นเหรียญอีกด้านของ ‘เมืองร้อน’ ทุกครั้งที่หยิบรีโมต ในฐานะผู้มีส่วนสร้างผลกระทบต่อเมือง
เราอาจต้องถามตัวเองว่ากำลัง ‘กิน’ คนบางคนในสังคมเดียวกัน โดยที่เขาผู้นั้นไม่มีโอกาสแม้บ่นคำว่าร้อน – อยู่หรือเปล่า