02/03/2022
Environment

น้ำร้อนปลาเป็น น้ำเน่าปลาตาย ชวนส่อง 5 คลองเน่าของเมืองกรุง

พรรณปพร บุญแปง
 


หากพูดถึงคลอง กรุงเทพฯ คุณจะนึกถึงอะไร? 

แน่นอนว่าหนึ่งในภาพที่หลายคนต้องนึกถึง คือ สภาพคลองสีดำสกปรก เต็มไปด้วยเศษขยะลอยเกลื่อนคลอง และส่งกลิ่นเหม็นเน่าคละคลุ้งไปทั่วบริเวณ ใครสัญจรไปมา ต่างต้องฝืนทนดมกลิ่น กลายเป็นภาพจำ จนคนส่วนใหญ่อาจลืมไปแล้วว่าในอดีตกรุงเทพฯ เคยได้รับขนานนามว่า “เวนิสตะวันออก” เมืองที่มีคลองทอดตัวลัดเลาะไหลเชื่อมโยงชุมชน และเป็นเส้นเลือดหลักของเมืองในการสัญจร สร้างความผูกพันผู้คนกับสายน้ำ กลายเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ในอดีต

แต่ทุกวันนี้คลองกลับถูกลดความสำคัญ จากเดิมที่เป็นเส้นทางหลักในการสัญจร แปรเปลี่ยนเป็นเมืองสัญจรทางถนน มีการถมคลองสร้างถนนหนทาง และสร้างอาคารบ้านเรือน จนเกิดเป็นชุมชนแออัด มีการปล่อยน้ำเสีย ทิ้งขยะลงคลองอย่างมักง่าย จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าคลองในปัจจุบัน มีบทบาทเพียงเพื่อระบายน้ำ และที่รองรับขยะของชุมชนเท่านั้น

ปัจจุบัน คลองในกรุงเทพฯ จำนวน 1,161 คลอง และคูลำกระโดง จำนวน 521 คู รวมเป็น 1,682 คูคลอง แต่จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำคลองทั่วกรุงเทพฯ ปี 2564 จำนวน 173 คลอง พบว่ามีคลองเน่าเสียกว่า 124 คลอง หรือคิดเป็น 72% ของคลองที่ตรวจวัดทั้งหมด (สำนักการระบายน้ำ, 2564) จึงเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่า แม้คลองน้ำเน่าจะถูกหยิบยกเป็นประเด็นหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือเป็นหนึ่งในนโยบายเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ พัฒนาฟื้นฟูตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทว่า ความเน่าเหม็นของคูคลอง ยังคงเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นเเต่อย่างใด 

ในบทความนี้เราจะชวนทุกท่านมาส่อง 5 คลอง ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสกปรกและส่งกลิ่นเน่าเหม็น เพื่อสะท้อนให้เห็นปัญหาคลองน้ำเน่ากับการพัฒนาและแก้ไขเมืองที่ผ่านมาของกรุงเทพฯ กัน

จะรู้ได้อย่างไรว่า “คลองเน่าเสีย”

ก่อนจะส่อง 5 คลองในกรุงเทพฯ เรามาดูกันว่าการประเมินคุณภาพของน้ำในคลอง เพื่อบ่งบอกว่าน้ำนั้นมีคุณภาพดีหรือเลว เสื่อมโทรมมากหรือน้อย จำเป็นต้องใช้เกณฑ์หรือดัชนีใดบ้างในการประเมินคุณภาพน้ำ

กรมควบคุมมลพิษ ได้ประกาศมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากระบบน้ำเสียจากชุมชน โดยใช้ดัชนีคุณภาพน้ำ (Water Quality Index, WQI) เป็นเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ที่นำค่าพารามิเตอร์

จากการตรวจวัดมาวิเคราะห์ร่วมกัน เพื่อระบุคุณภาพน้ำ 5 ระดับ คือ 

  • คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก         91  – 100  คะแนน
  • คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี               71  –   90  คะแนน
  • คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้         61  –  70   คะแนน
  • คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม  31  –  60   คะแนน 
  • คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก   0  –  30   คะแนน 

โดยค่าพารามิเตอร์ที่สำคัญที่มักนิยมใช้พิจารณา ประกอบด้วย 9 ตัว ได้แก่ ค่า pH ค่าออกซิเจนละลายน้ำ (Dissolved Oxygen) ค่า BOD (Biochahemical Oxygen Demand) ของแข็งทั้งหมด (TDS) แบคทีเรียกลุ่มฟีคัล (Feacal Coliform) ไนเตรท (NO3) ฟอสเฟต (PO4) ความขุ่น (Turbidity) และอุณหภูมิ

แต่ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์คลองในกรุงเทพฯ ของบทความ จะพิจารณาเพียงค่า BOD ซึ่งเป็นค่าปริมาณความสกปรกของน้ำ ที่บอกถึงปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ใช้ในการย่อยสารอินทรีย์ โดยอ้างอิงตามเกณฑ์ ดังนี้ (1) ค่า BOD สูง แสดงว่าความต้องการออกซิเจนสูงนั้น คือ มีความสกปรกมาก (2) มาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและชุมชนควรมีค่า BOD ไม่เกิน 20 มิลลิกรัม/ลิตร (กรมควบคุมมลพิษ, 2559)  ซึ่งจากการพิจารณาตามค่า BOD พบคลองในกรุงเทพฯ ที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์เกินมาตรฐานและมีปัญหาน้ำเน่าเสีย ดังนี้

คลองเตย

หนึ่งในคลองน้ำเน่า ที่เชื่อว่าหลายคนต่างต้องนึกถึง คือ “คลองเตย” คลองในชุมชนแออัดที่เต็มไปด้วยเศษซากขยะ ส่งกินกลิ่นเหม็นเน่า เป็นคลองที่ทอดยาวจากปากคลองหัวลำโพง ถึงปลายคลอง และแยกออกจากฝั่งซ้ายของคลองพระโขนงที่เขตพระโขนง โดยต่อเป็นแนวเดียวกับคลองหัวลำโพง ซึ่งขุดมาจากคลองผดุงกรุงเกษม บริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) 

ปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองเตยนั้น สาเหตุหลักมาจากชุมชนในพื้นที่ที่มักทิ้งขยะและปล่อยน้ำโสโครกลงคูคลอง ประกอบกับการเป็นคลองปิด เพื่อกั้นไม่ให้น้ำเสียไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้คลองเกิดการหมักหมมกลายเป็นน้ำเน่าเสีย จนเแทบไม่น่าเชื่อว่า 40-50 ปีก่อน เคยเป็นคลองที่ใสสะอาด และไร้ปัญหาเน่าเสีย

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทางกทม. จึงได้มีมาตรการทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ไม่ว่าจะเป็นการเก็บขยะชิ้นเล็กและใหญ่บนผิวน้ำ การดำเนินการก่อสร้างเขื่อนพร้อมระบบท่อรวบรวมน้ำเสีย และก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2563 ได้มีแผนดำเนินการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่ม 4 แห่ง ได้แก่ โรงบำบัดน้ำเสียมีนบุรี หนองบอน คลองเตย และธนบุรี ซึ่งมีศักยภาพ​บำบัดน้ำเสียได้แห่งละประมาณ 10,000 ลูกบาศก์เมตร​/วัน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการทุ่มเม็ดเงิน หรือมีมาตราการแก้ไข แต่จากการตรวจวัดค่า BOD พบว่าคลองเตยยังคงมีค่าสูงเฉลี่ย 20 – 40 มิลลิกรัม/ลิตร ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานน้ำคุณภาพ โดยเฉพาะในปี 2564 พบว่า มีค่าความสกปรกสูง ถึง 62 มิลลิกรัม/ลิตร ณ บริเวณอาคารทวิช สะท้อนให้เห็นถึงความเสื่อมโทรม และสกปรกอย่างมากของคลองเตย

คลองแสนแสบ

แน่นอนว่าหากพูดถึง “คลองแสนแสบ” ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คงหนีไม่พ้นเรื่องน้ำเน่าสีดำ และกลิ่นที่เหม็นโชยเตะจมูก จากการทิ้งขยะและสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ ลงคลอง โดยคลองแสนแสบถือเป็นหนึ่งในคลองขุดที่ยาวที่สุดในประเทศ มีระยะรวมกว่า 72 กิโลเมตร ที่เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทราเข้าด้วยกัน 

ปัญหาน้ำเน่าเสียของคลองแสนแสบ นอกเหนือจากการไร้จิตสำนึกของผู้คน โรงงาน และสถานประกอบการที่พากันทิ้งขยะและน้ำเน่าเสียลงคลองโดยไม่ได้ผ่านระบบบำบัดใด ๆ แล้วนั้น อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญ คือการเป็นเส้นทางคมนาคมและพื้นที่รองรับน้ำ จึงมีการเชื่อมต่อระบบระบายน้ำรวมถึงประตูน้ำต่างๆ และปิดกั้นเส้นทางน้ำตามธรรมชาติ ทำให้เมื่อน้ำไม่ไหลตามระบบจึงเกิดการหมักหมมส่งผลกระทบไปทั่วลำน้ำ ซึ่งจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบว่าคลองแสนแสบมีค่า BOD  เฉลี่ย 10 – 20 มิลลิกรัม/ลิตร

ทั้งนี้ ในการแก้ไขจัดการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการทุ่มงบประมาณ 7 พันล้านบาท เพื่อปรับภูมิทัศน์สองฝั่ง รวมถึงติดตั้งระบบรวบรวมน้ำเสียต่าง ๆ ตั้งแต่ปี 2558 จวบจนปี 2563 ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ยังพอให้ประชาชนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นบ้าง

และ ล่าสุดปลายปี 2564 ได้มี มติ ครม. เห็นชอบผลักดันแผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ระยะเวลา 11 ปี (พ.ศ. 2564 – 2574) จำนวน 84 โครงการ วงเงินกว่า 8.25 หมึ่นล้านบาท จึงกลายเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่สังคมตั้งคำถามอีกครั้ง เกี่ยวกับการใช้งบประมาณมหาศาล จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ หรือเป็นการเทงบละลายคลองเท่านั้น?

คลองช่องนนทรี

หนึ่งในคลองใจกลางเมือง ที่เป็นเกาะกลางถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ยาว 4.5 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงคลองหัวลำโพง เป็นคลองที่มีไว้เพื่อช่วยการระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม โดยการรับน้ำในพื้นที่เขตบางรัก เขตสาทร เขตยานนาวา แล้วระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้ เนื่องด้วยคลองช่องนนทรีรับน้ำเสียโดยตรงจากคลองหัวลำโพงเก่า คลองพิพัฒน์ คลองเสาหิน และคลองมะนาว ทำให้สิ่งสกปรกในน้ำเสียถูกย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ เกิดเป็นตะกอนเลนสะสมในคลอง ประกอบกับเมื่อระดับน้ำในคลองต่ำจึงเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็น จึงไม่แปลกใจที่ถูกจัดเป็น 1 ใน 10 ของคลองที่เน่าเหม็นสุดของกรุงเทพฯ ทั้งนี้ จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบว่ามีค่า BOD เฉลี่ย 30 – 40 มิลลิกรัม/ลิตร และในปี 2561 พบว่ามีค่า BOD สูง ถึง 90 มิลลิกรัม/ลิตร  บริเวณคลองช่องนนทรีตัดกับถนนสุรวงศ์ และ มีค่าสูง 72 มิลลิกรัม/ลิตร บริเวณคลองตัดกับถนนสีลม

ดังนั้น กทม. จึงได้มีการปรับภูมิทัศน์คลองสู่ “สวนสาธารณะคลองช่องนนทรี” ที่ออกแบบให้อยู่กึ่งกลางถนน เพื่อแก้ปัญหาน้ำเน่าเสีย และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง แต่ก็เรียกได้ว่าเป็นโครงการที่สร้างความกังวล และไม่เห็นด้วยจากนักวิชาการ และประชาชนอยู่ไม่น้อย เนื่องด้วยไม่มีการสำรวจความคิดเห็นก่อนปรับปรุงคลอง ประกอบกับงบประมาณลงทุนที่สูงถึง 980 ล้านบาท  จึงเกิดการตั้งคำถาม และข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับความคุ้มค่าของงบประมาณโครงการ และความเป็นไปได้ที่จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ของโครงการ จะสามารถแก้ไขได้จริงหรือไม่?

คลองลาดพร้าว

คลองสายหลักใจกลางเมือง ที่มีความยาวกว่า 22 กิโลเมตร เชื่อมกับคลองแสนแสบบริเวณอุโมงค์ระบายน้ำพระราม 9 (ใกล้ทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา) เขตวังทองหลาง ไหลผ่านดลาดพร้าว วัดบางบัว  ตลาดสะพานใหม่ จนถึงประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้  เขตสายไหม โดยตลอดคลองลาดพร้าวสองฝั่งมีชุมชนตั้งอยู่เรียงรายจำนวน 50 ชุมชน และบ้านเรือนกว่า 7,000 หลัง โดยบางชุมชนอยู่อาศัยต่อเนื่องมานานไม่ต่ำกว่า 60-70 ปี

สาเหตุความเน่าของคลองลาดพร้าว เนื่องจากเป็นคลองที่ระบายน้ำช่วงฝนตก ทำให้เมื่อฝนตกจะมีการชะล้างขยะไหลลงมายังคลองเป็นจำนวนมาก ประกอบกับถูกบ้านเรือนลุกล้ำ มีสิ่งปลูกสร้างเข้ามาแทนที่ จนทำให้คลองมีขนาดแคบลงกว่า 15-20 เมตร  ดังนั้น ด้วยคลองที่เเคบ และเต็มไปด้วยขยะกลายเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ ส่งผลให้มักเกิดปัญหาน้ำท่วมและปัญหาเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็นตามมา โดยจากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบว่ามีค่า BOD เฉลี่ย 10 – 20 มิลลิกรัม/ลิตร ถือเป็นค่าเกินกว่ามาตรฐานที่คนไปสัมผัสได้

ปัจจุบัน สถานการณ์คุณภาพคลองลาดพร้าวถือว่าดีขึ้น เนื่องด้วย มีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่รุกล้ำลำคลอง ก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำ และขุดลอกคลองให้ลึกและกว้างขึ้น นอกจากนี้ ได้สร้างบ้านใหม่ ชีวิตใหม่ให้กับชุมชน จากการดำเนินโครงการ “บ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าว” ในปี 2559 จึงช่วยพลิกโฉมคลองลาดพร้าวในทิศทางที่ดีขึ้น

คลองไผ่สิงโต

คลองซอยที่เชื่อมต่อจากคลองราชดำริ ถึงคลองหัวลำโพง เป็นที่ตั้งของชุมชนริมคลองไผ่สิงโต ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาพื้นที่ในเขตคลองเตย ในปี 2534 จากการรื้อย้ายชุมชน ให้อาศัยในอาคารสูงบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนชาวบ้านกลุ่มตกสำรวจได้ย้ายไปอาศัยอยู่พื้นที่ริมคลองไผ่สิงโต กลายเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดของเขตคลองเตยในปัจจุบัน

คลองไผ่สิงโต ถือเป็นหนึ่งคลองที่ประสบปัญหาเน่าเสียมาโดยตลอด สาเหตุหลักเกิดจากบ้านริมน้ำ และตลาดมีการปล่อยเศษอาหาร กากน้ำมัน ขยะต่าง ๆ ลงคลอง  ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ได้มีการปรับปรุงระบบระบายน้ำ และปรับปรุงภูมิทัศน์คูคลอง รวมถึงมีการจัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาคลองตามแผนการดำเนินการจิตอาสาพัฒนาคลองโดยภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ร่วมทำความสะอาด รักษาคุณภาพคูคลอง และสร้างกิจกรรมสร้างจิตสำนึก 

.อย่างไรก็ตาม จากการตรวจวัดคุณภาพน้ำ พบว่ายังคงมีค่า BOD สูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของกรุงเทพฯ ในช่วงปี  5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2560 – 2564) มีค่าเฉลี่ย 40-50  มิลลิกรัม/ลิตร  และในปี 2563 พบว่าคลองไผ่สิงโตมีค่า BOD สูงถึง 53 มิลลิกรัม/ลิตร บริเวณตลาดคลองเตย สะท้อนให้เห็นว่าคลองไผ่สิงโตยังคงเป็นแหล่งน้ำที่มีมลพิษอย่างรุนแรง

ทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาไม่ถอยหลังลงคลอง

จาก 5 คลอง ที่เราได้หยิบยกขึ้นมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคลองในกรุงเทพฯ เท่านั้น ที่ยังคงรับบทหนักกับปัญหาน้ำเน่าเรื้อรัง แม้ว่าจะมีการแก้ไขจัดการปัญหามายาวนานกว่าสิบปี ผ่านผู้นำหลายยุคหลายสมัย และมีการทุ่มงบประมาณมหาศาลมากมาย แต่ก็ดูเหมือนเป็นการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำเท่านั้น เพราะผลลัพธ์ที่ได้ก็มีสภาพไม่แตกต่างจากเดิม แต่ทั้งนี้ ก็ต้องยอมรับว่าต้นเหตุของปัญหา เกิดจากกิจกรรมของชุมชนหรือเราแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะการทิ้งเศษซากอาหาร ขยะ หรือน้ำโสโครกต่าง ๆ อย่างมักง่าย และขาดจิตสำนึก รวมไปถึงการปล่อยน้ำเสียจากหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า โดยไม่ผ่านกระบวนการบำบัดแต่อย่างใด จนทำให้ผลเสียย้อนกลับมาสร้างผลกระทบให้กับเราตัวเอง และชุมชนในระยะยาว

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาคงไม่ใช่การเถียงว่าใครผิด และใครต้องมีหน้าที่รับผิดชอบ แต่ควรหาทางออกที่เกิดจากการร่วมมือโดยไม่ผลักภาระที่ใครเพียงลำพัง โดยชุมชนก็ไม่ควรผลักภาระให้รัฐจนขาดจิตสำนึก ด้วยความคิดที่ว่ามีคนมาคอยเก็บขยะ และเเก้ปัญหา ส่วนด้านกฏหมายเองก็ต้องเข้มงวดและชัดเจน ไม่ควรยืดหยุ่นหรือมีช่องโหว่ จนทำให้การเเก้ปัญหายืดเยื้อใช้เวลานาน 

นอกจากนี้ การเป็นเมืองที่ดีชุมชนควรตระหนักถึงปัญหา รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการแสดงออก และมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาคลอง จึงเป็นโจทย์สำคัญ และความท้าทายของรัฐที่นอกจากแก้ไขปัญหา และเพิ่มระบบการจัดการน้ำเสีย ปรับปรุงภูมิทัศน์คูคลอง ตลอดจนผลักดันนโยบาย หรือโครงการพัฒนาต่าง ๆ แล้วนั้น ควรเปิดโอกาส และสนับสนุนให้ชุมชน ภาคเอกชน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ร่วมมือกันกับรัฐในการดูแลรักษาคูคลอง เพื่อนำไปสู่ทางออกอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดจากความร่วมมืออย่างแท้จริงจากทุกภาคส่วน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS

ที่มาข้อมูล

ค่าเฉลี่ยคุณภาพน้ำคลอง ในเขตกรุงเทพมหานคร ปี 2540 -2564, สำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร

การจัดการคุณภาพน้ำ กรุงเทพมหานคร

น้ำเสียและแนวทางการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ปัญหาน้ำเสียจากชุมชน แหล่งกำเนิดใหญ่ที่รอการแก้ไขให้เป็นรูปธรรม

เรือสำรวจ “คลองลาดพร้าว” ส่องโมเดลพัฒนาชุมชนแออัดกับความหวังในการมีชีวตที่ดีของคนริมคลอง


Contributor