01/11/2019
Environment

มหาสมุทร และ หมุดหมายการพัฒนาเมือง

นาริฐา โภไคยอนันต์
 


“ใครสักกี่คนจะรู้ว่าปอดของดาวเคราะห์โลกที่มอบออกซิเจนให้กับพวกเรามากที่สุดนั้นมาจากมหาสมุทร นอกเหนือจากการเป็นแหล่งอาหาร ยาและต้นกำเนิดทางชีวภาพแล้ว”

พวกเราทุกคนดำเนินชีวิตโดยไม่รู้ตัวว่าการกระทำของเรามีผลต่อความสมบูรณ์ของมหาสมุทรอย่างไรและความอุดมสมบูรณ์ของมหาสมุทรมีความสำคัญกับเราอย่างไร  เหตุใดเราถึงต้องเข้าใจอิทธิพลของมหาสมุทรที่มีต่อเราและอิทธิพลของเราต่อมหาสมุทร คนจากพื้นที่ mainland อย่างชั้น เกิดและเติบโตในเขตเมืองหลวงของกรุงเทพมหานคร หากนึกถึงการไปทะเลนั้นคือการไปเที่ยวพักผ่อน ฉันไม่มีทางรู้เลยว่าทุกการกระทำในชีวิตประจำวันส่งผลต่อสภาพของมหาสมุทรเช่นไร จนกระทั่งเกิดการรณรงค์ทั่วโลกเรื่องภาวะโลกร้อนและการลดใช้พลาสติกปรากฎขึ้นพร้อมกับภาพหลอดในรูจมูกของเต่าตัวยักษ์

ที่มาภาพ: Replanetme https://replanet.me/th/

ขยะส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของคนในเมือง โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล จากผลการสำรวจโดยทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย ปี 2558 ระบุว่า ไทยรั้งอันดับ 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก

ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยอ้างอิงจากผลการสำรวจประเมินจากภาพรวมปริมาณขยะมูลฝอยของประเทศ ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งมีจำนวนขยะประมาณ 26.85 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นปริมาณขยะ จำนวน 1.13 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน โดยมีปริมาณขยะที่ตกค้างเพราะไม่สามารถจำกัดได้ถูกวิธีประมาณ 23 % หรือประมาณ 6.22 ล้านตันต่อปี โดยชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดมีปริมาณขยะประมาณ 10 ล้านตันต่อปี ในจำนวนนี้มีประมาณ 5 ล้านตันที่ได้รับการจัดการที่ไม่ถูกวิธี ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่า ขยะที่ตกค้างจากการจำกัดขยะที่ไม่ถูกวิธีอีก10 % จะไหลลงสู่ทะเลเท่ากับขยะที่ไหลลงสู่ทะเล 50,000-60,000 ตันต่อปี ซึ่งประเมินว่าในแต่ละปีจะมีขยะพลาสติกในทะเล 50,000 ตัน หรือ 750 ล้านชิ้น 

วันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day) ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายนของทุกปี เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและกระตุ้นจิตสำนึกให้คนทั้งโลกหันมาใส่ใจร่วมกันอนุรักษ์ แนวความคิดนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 จากประเทศแคนาดาในการประชุมความร่วมมือของกลุ่มประชาคมโลก (The Earth Summit) ที่เมืองริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล โดยหลังจากนั้นได้มีการเฉลิมฉลองอย่างไม่เป็นทางการมาทุกปี จนกระทั่งกำหนดเป็น วันมหาสมุทรโลกอย่างเป็นทางการโดยองค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2552

ในประเทศไทยเองทุกปีจะมีการณรงค์ในวันมหาสมุทรโลกซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในทุกปี หนึ่งในวิธีที่ในสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเลเชิญชวนร่วมกันอนุรักษ์ทะเลก็คือ การไม่ควรปล่อยน้ำเสียจากการซักล้างหรือน้ำปนเปื้อนสารพิษลงท่อระบายน้ำที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการบำบัดน้ำเสีย ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล แต่ในทางปฏิบัติแล้วสถานการณ์ของหาดจอมเทียนในประเทศไทยที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นช่างสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

ที่มาภาพ: Thairat www.thairath.co.th

หาดจอมเทียนสถานที่ท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพมหานคร ด้วยระยะเวลาเพียงไม่ถึง 2 ชั่วโมง ฉันก็สามารถพาตัวเองไปพักผ่อนยังชายทะเลแห่งนี้ได้ ด้วยเอกลักษณ์ของหาดที่เงียบสงบ และคนพลุกพล่านน้อยกว่าพัทยา หาดจอมเทียนจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนมีเวลาจำกัดอย่างฉันแต่ยังต้องการความสงบจากเมืองใหญ่ หาดจอมเทียนมีความพัฒนาในระดับเมือง มีร้านค้า โรงแรมกว่า 621 แห่ง (ข้อมูลจากเวบไซต์ Traveloka) แต่อยู่ในจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับพัทยา

ในช่วงสองปีหลัง ฉันได้เห็นข่าวการปล่อยน้ำดำสู่ทะเลที่หาดจอมเทียน จากการติดตามรายงานข่าวพบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างของเทศบาลตำบลนาจอมเทียน ชื่อโครงการระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย (ส่วนขยาย) ในวงเงินค่าก่อสร้างที่สูงถึง 124,860,000 บาท ซึ่งจุดดังกล่าว อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมอย่างหนัก ไม่สามารถใช้งานได้ทั้งที่อยู่ในระยะเวลาการรับประกัน แต่กลับถูกปล่อยรกร้าง ฝาปิดชำรุดพังเสียหาย โดยการแก้ปัญหาของนายกเทศมนตรีตามข่าวก็คือ ใช้วิธีการสั่งย้ายท่อไปสู่ส่วนกลาง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขาดการจัดการที่ดีและพบว่าเทศบาลตำบลนาจอมเทียนไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียกลางให้ผู้ประกอบการใช้ร่วมกัน (อ้างอิงจากรายงาน Bangkok Post)

ที่มาภาพ: TripAdvisor

จากคำบอกเล่าของ นายสุพจน์ อินแย้ม ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มชาวบ้าน เปิดเผยว่า จุดดังกล่าวมักจะมีน้ำสีดำไหลล้นออกมาและส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งจุดนี้ถือเป็นจุดรวมน้ำจากท่อระบายน้ำ เดิมทีมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่ทะเล แต่ระบบบำบัดชำรุดมานานแล้ว ทำให้น้ำทะเลกลายเป็นสีดำ ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้านและนักท่องเที่ยวตามรายงานข่าวได้พูดถึงการเอาผิดจากผู้ลักลอบปล่อยของเสียว่าทางการพร้อมจะเอาผิดทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์การท่องเที่ยว 

ที่มาภาพ: MThai News

นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า จากกรณีน้ำสีดำที่ถูกปล่อยลงทะเลพัทยา เป็นอำนาจของหน่วยงานท้องถิ่นที่จะต้องจัดการแก้ปัญหากับที่พักที่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย การแก้ปัญหาในระดับนโยบายนั้น การแก้กฎหมายและบังคับใช้กฎหมายการปล่อยน้ำเสีย จากทั้งครัวเรือน โรงงานอุสาหกรรมและผู้ประกอบการโรงแรมเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง การขาดการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียที่เป็นระบบเป็นปัญหาเร่งด่วนอย่างแน่นอนของเมืองท่องเที่ยวอย่างพัทยาและหาดจอมเทียน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 4 เขตพื้นที่เมืองพัทยาซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษจังหวัดชลบุรี มีระดับเทียบเท่าเทศบาลนคร จากการประมาณการของ นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยา คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่พัทยานั้นมีเพิ่มขึ้นทุกปีจาก 16 ล้านคนในปี 2017 มาเป็น 18 ล้านคนในปี 2018 และคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 19-20 ล้านคนมาที่จังวัดชลบุรีโดยเฉพาะ พัทยาที่รองรับนักท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคนต่อปี

หากลองคิดทบทวนให้รอบด้าน การแก้ปัญหาระบายน้ำนั้นอาจจะต้องมองให้ครบองค์ประกอบของการบริหารตั้งแต่ระดับนโยบาย โครงสร้างอำนาจไปจนถึงหลักการปฎิบัติจริง ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพัทยามีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกปีเป็นตัวแสดงบ่งชี้ที่สำคัญ มีเหล่านักพัฒนาที่ดินพยายามใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งมีราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งปัญหาการบำบัดน้ำเสีย การจัดการขยะ และน้ำท่วม ยังไม่นับรวมถึงปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้น

การขาดแคลนการบังคับใช้กฎหมาย แผนระยะยาวกับปัญหาที่เรื้อรัง หากพัทยาจะยังคงเป็นเมืองท่องเที่ยวอันดับต้นของประเทศไทย การจัดการและออกแบบผังเมืองที่ดีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและเร่งด่วนอย่างยิ่ง ผังเมืองที่ดีคือ การออกแบบเพื่อให้เมืองเติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการมอบประสบการณ์ความสุขให้กับนักท่องเที่ยวโดยที่ยังรักษาชุมชน และต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสิ่งที่ไม่ต้องลงทุนสร้างแต่มีมูลค่าในการรักษายังคงอยู่ตลอดไป 

อ้างอิง :

ตามหาต้นตอ “ทะเลสีดำ” หาดจอมเทียน, โดย ข่าวไทยพีบีเอส, 19 พฤษภาคม 2562, สืบค้นวันที่ 20 กรกฎาคม 2562

“หาดจอมเทียน” เปิดเล่นน้ำปกติ เดินหน้าหาแนวทางบำบัดน้ำเสีย, โดย ข่าวไทยพีบีเอส, 19 พฤษภาคม 2562, สืบค้นวันที่ 20 กรกฎาคม 2562

Pattaya needs big clean-up, โดย Bangkok Post, 21 May 2019, Retrieved 20 Jun 2562

วิกฤต”ขยะทะเลไทย”ไม่ช่วยกันพังแน่, โดย โพสต์ทูเดย์, 6 มีนาคม 2560, สืบค้นวันที่ 23 กรกฎาคม 2562


Contributor