01/11/2019
Environment

Urban design ทำให้กรุงเทพฯ เย็นลง 2°C ได้อย่างไร

กิตติณัฐ พิมพขันธ์
 


ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่แน่ชัดที่เราต่างรู้สึกว่าอากาศร้อนๆ เป็นของคู่กับกรุงเทพฯ ความร้อนของชนบทที่มากกว่าในเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องที่คิดกันไปเอง เพราะ เซน – กิตติณัฐ พิมพขันธ์ นิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทบทวนงานวิจัยที่ผ่านๆ มาแล้วพบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นที่กลางเมืองกับพื้นที่ชนบทนั้นต่างกันมากกว่า 6 องศาเซลเซียส สภาวะแบบนี้มีชื่อเรียกว่า เกาะความร้อนเมือง (urban heat island)  ซึ่งมีสาเหตุหลักอยู่ 2 ปัจจัย คือ การเปลี่ยนแปลงพื้นผิวของแผ่นดินจากการพัฒนาเมือง อีกส่วนหนึ่งความร้อนที่ปล่อยออกจากการใช้พลังงานอาคาร กิจกรรมการสัญจรโดยรถยนต์ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงระดับการเพิ่มของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เป็นส่วนที่มีอิทธิพลสำคัญที่สุดในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global heating)

เมื่อดูข้อมูลเจาะจงในพื้นที่เมืองช่วง 30 ปีย้อนหลัง ประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 0.6 องศาเซลเซียส “สภาวะน่าสบาย” ของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ นั้นเฉลี่ยอยู่ที่ 28-31 องศาเซลเซียส แต่หากดูค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 2 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิในเมืองหลวงเกินสภาวะน่าสบายไปที่ 2-3 องศาเซลเซียส นี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงรู้สึกร้อนสุมทรวง ต้องหามุมหลบในซอกหลืบเงาร่มของอาคาร

งาน Thesis ของเซนจึงพยายามใช้ความรู้ด้าน Urban design และ Urban planning ผนวกเข้ากับประเด็นสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นประเด็นที่เขาสนใจ เพื่อนำเสนอหาวิธีให้อุณหภูมิในเมืองไม่เดือดจนเกินไป

เริ่มจากพระรามหนึ่ง

พระรามหนึ่งคือ พื้นที่ที่มีคนใช้มากถึงหกแสนคนต่อวันแถมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการที่โครงข่ายระบบรางกำลังขยายตัว นั่นหมายความว่าคนจำนวนมหาศาลนี้ย่อมได้รับผลกระทบจากความร้อนในเมืองเช่นกัน หากการเปลี่ยนแปลงเกิดผลก็น่าจะเป็นเรื่องดีๆ ของคนจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านี้เซนยังมองความเป็นไปได้จริง-จำนวนเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่มีเพียงไม่กี่ราย หากชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการปรับปรุงพื้นที่ได้ ความเป็นไปได้ในการปรับปรุงพื้นที่อาจเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เซนตัดสินใจเลือกถนนพระรามหนึ่ง จากที่ตอนแรกที่มีตัวเลือกอื่นๆ ที่สนใจเป็นพื้นที่ชั้นในอื่นๆ  เช่น สีลม สาธร ประตูน้ำ และอโศก

เมื่อได้พระราม 1 แล้วเซนตั้งโจทย์สองโจทย์หลักสำหรับงานชิ้นนี้ คือ การลดอุณหภูมิในพื้นที่และทำให้ย่านพาณิชยกรรมบริเวณนั้นดำเนินไปได้ด้วยดี เพราะบริเวณดังกล่าวเป็นย่านที่มีกิจกรรมพาณิชยกรรมโดดเด่นอยู่แล้ว

สิ่งที่ทำให้เมืองร้อน

เมื่อวิเคราะห์ถึงปัจจัยอันเป็นต้นเหตุของเมืองร้อนอย่างถี่ถ้วนแล้ว เซนพบว่ามีอยู่ 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ System หรือระบบโครงสร้างของเมืองที่สัมพันธ์กับการปล่อยความร้อน เช่น ใช้รถยนต์มาก ใช้พลังงานในอาคารสูง Geometry หรือรูปร่าง รูปทรงเมืองที่รวมถึงระดับตัวอาคารและกลุ่มอาคาร Surface พื้นผิวและวัสดุเมือง Vegetation พื้นที่สีเขียว

พอนำพื้นที่ในพระราม 1 มากาง เซนแบ่งประเภทอาคารออกเป็นแบบต่างๆ โดยอาคารแต่ละประเภทนำมาจับกับองค์ประกอบ 4 แบบด้านบน ดังนี้

โครงข่ายเมือง โครงสร้างยกระดับ และถนน ในส่วนนี้เซนเสนอให้มีการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อดูดซับความร้อน และสร้างโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ สร้างย่านให้เชื่อมต่อกัน อย่างเช่น ท่าเรือประตูน้ำที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กับเซ็นทรัลเวิลด์ที่มีรถไฟฟ้าชิดลมแต่กลับไม่ได้เชื่อมกัน การที่ขนส่งสาธารณะทั้งสองนี้เชื่อมกันก็จะเพิ่มโอกาสในการเดินมากขึ้นและลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล

ส่วนที่เป็นพื้นที่พัฒนาใหม่ พื้นที่รกร้างรอการพัฒนา พื้นที่ไม่เต็มศักยภาพ และพื้นที่พัฒนาต่อเติม เช่นตึกแถวที่ใช้เพียงหนึ่งจากสามชั้น ตึกลักษณะนี้ควรมีการจัดกลุ่มอาคารให้ฐานอาคารไม่มีขนาดใหญ่จนเกินไปและมีช่องว่างระหว่างตึก ขณะเดียวกันก็มีความสูงที่หลากหลายลดหลั่นกันไปเพื่อที่จะได้ระบายอากาศได้ดีขึ้น

อาคารปรับปรุง หรือกลุ่มอาคารขนาดใหญ่ เช่น Central World สยามพารากอน อาจมีการนำอาคารขนาดเล็กที่ไม่ถูกใช้งานออกไป หรือเจาะพื้นที่บางส่วน ในส่วนของพื้นผิวตึกส่วนหนึ่งควรมีการปรับปรุง เซนพบว่าอาคารบริเวณพระราม 1 มีถึง 89 อาคารที่มีศักยภาพแปลงอาคารเป็นพื้นที่สีเขียวบนดาดฟ้า โดยใช้เกณฑ์เรื่องแสงและเงาว่าตึกดังกล่าวจะได้รับแสงอย่างน้อย 8 ชั่วโมงให้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งส่วนใหญ่คืออาคารที่สูงเกิน 4 ชั้นและมีหลังคาเรียบ ส่วนอาคารอื่นๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพในการเป็นพื้นที่สีเขียวก็จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ นอกจากจะใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์แล้ว แผงยังทำหน้าที่เป็นหลังคาอีกชั้นหนึ่งซึ่งเอื้อต่อการลดอุณหภูมิ

สำหนับอาคารขนาดเล็กที่ใช้ศักยภาพที่ดินไม่เต็มที่แต่มีการใช้งานสูงก็จะต้องเพิ่มโครงข่ายพื้นที่สีเขียว โดยอาจให้เอกชนเป็นเจ้าของพื้นที่สาธารณะ ในส่วนนี้ต้องอาศัยมาตรการที่เป็นแรงจูงใจ (Incentive) ตามมาตรการปัจจุบันหากมีการเว้นพื้นที่ว่างเพื่อการสาธารณะ เจ้าของพื้นที่จะได้รับอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio, FAR) เพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่า FAR Bonus ถึง 20% ตัวอย่างเช่น ที่ดินในพระรามหนึ่ง 1 ไร่ จะสร้างการใช้สอยได้ 10 ไร่ แต่หากมีการเว้นว่างพื้นที่เพื่อการสาธารณะจะได้พื้นที่ใช้สอยเพิ่ม 20% กลายเป็นสร้างพื้นที่ใช้สอยได้ 12 ไร่ หรือหมายความว่าสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นได้นั่นเอง

เย็นทั่วย่าน

นอกจากการแบ่งใช้เครื่องมือตามลักษณะตึกแล้ว เซนเห็นว่าต้องพิจารณาลักษณะย่านควบคู่ไปด้วย เขาจึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติ (Guideline) ของแต่ละย่านในพระรามหนึ่งว่าเหมาะสมกับเครื่องมือแบบไหน

ย่านสยาม ด้วยความที่เป็นอาคาร Lifestyle ชัดเจนอยู่แล้ว เซนเสนอให้ตัวตึกเปิดไร้กำแพงในทุกๆ 6 ชั้น เพื่อการระบายอากาศที่ดี และสามารถใช้ประโยชน์จากการเปิดเป็นพื้นที่ขายของแบบกึ่งนอกอาคาร (Semi-Outdoor ได้) นอกจากนี้ยังเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งระดับพื้นและอาคารได้ 50% ของพื้นที่ทั้งหมด

ย่านปทุมวัน มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติและวัดปทุมวนารามตั้งอยู่ เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างสยามกับราชประสงค์ที่มีคนสัญจรไปมาเยอะมาก และมีพื้นที่สีเขียวสูงอยู่มาก จึงเสนอให้พื้นที่นี้พัฒนาความเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นจุดให้คนหยุดพักผ่อนหย่อนใจ โดยเสนอให้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 200% ของพื้นที่

ย่านราชประสงค์ เป็นย่านที่ถูกขนาบข้างด้วยขนส่งทั้งรถไฟฟ้าและเรือแต่กลับไร้การเชื่อมต่อ บางพื้นที่จึงไม่ถูกใช้สอยเท่าที่ควร พื้นที่นี้จึงเน้นเรื่องการเพิ่มโครงข่ายเพื่อให้เกิดการใช้งานของพื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสีฟ้า เป็นต้น

ย่านชิดลม – เพลินจิต เป็นพื้นที่พักอาศัยและกลุ่มโรงแรมที่มีจุดเด่นตรงที่มีไม้ยืนต้นมากโดยเฉพาะต้นก้ามปู ที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของย่านชิดลม เพลินจิต การพัฒนาย่านนี้จึงเน้นการเก็บต้นไม้ไว้ และใช้เป็นจุดขายของพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่าย และขยายระยะเดินผ่านการพัฒนากิจกรรมระหว่างทาง

เย็นได้ใจ ทำได้จริง?

สิ่งที่น่าสนใจในงานของเซนคือ การมองหาความเป็นไปได้ พร้อมกับศึกษาเรื่อง Incentive ที่จะจูงใจผู้ประกอบการให้ทำตามผ่านการใช้การควบคุมทางกฎหมายไปจนถึงมาตรการทางภาษี และมาตรการ  FAR

“ข้อเสนอคือเราควรพัฒนาแบบมีผังระดับย่าน เพราะแต่ละพื้นที่มีลักษณะและมีการใช้ไม่เหมือนกัน” เซนบอก “นอกจากนี้การทำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงผลกระทบ และใช้การลดความร้อนเป็นมูลค่าเพิ่มก็ทำได้เช่นกัน” เซนยกตัวอย่างว่าอาคารที่มีพื้นที่สีเขียวเยอะสามารถมีมูลค่ามากกว่าอาคารทั่วไปในบริเวณใกล้เคียงได้ เช่น อาคาร Park Venture ที่มีราคาค่าเช่าอยู่ที่ 1,200 – 1,500 บาทต่อตารางเมตร ขณะที่ภาพรวมอาคารในถนนพระรามหนึ่งมีค่าเช่าอยู่ที่หนึ่งพันบาทต่อตารางเมตร

เพื่อเป็นการหาข้อสรุปเบื้องต้นว่าข้อเสนอที่เซนศึกษามานั้นได้ผลจริงหรือไม่ เขาใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์โปรแกรมเสริม Screening Tool for Estate Environment Evaluation (STEVE) จำลองการเปรียบเทียบอุณหภูมิพื้นผิว พื้นที่พระรามหนึ่งที่พัฒนาอย่างเต็มศักยภาพตามผังเมืองรวม และเต็ม  FAR 10 โดยใช้ระยะร่นตามกฎหมาย อุณหภูมิโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 31 องศาเซลเซียส ในขณะที่พระรามหนึ่งตามข้อเสนอของเซนอยู่ที่ 28.3 องศาเซลเซียส

“มาตรการที่ทำได้ง่ายที่สุดคือเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เมือง และกำหนดการสะสมความร้อนของสัสดุอาคารสร้างใหม่ สองส่วนนี้ทำได้เลย แต่เพื่อให้สมบูรณ์ที่สุดก็ควรใช้ทั้ง 4 มาตรการ” เซนขยายความต่อว่าอย่างไรก็ตามการปรับปรุงแต่ละพื้นที่ก็มีรายละเอียดเพิ่มเติมที่ต้องใส่ใจ อย่างเช่น พรรณไม้แบบไหน ขนาดต้นไม้เท่าไหร่ที่จะเหมาะสมกับพื้นที่นั้นๆ เนื่องจากหากเลือกได้ไม่เหมาะสมแทนที่จะช่วยลดความร้อน ต้นไม้นั้นๆ อาจไปกั้นทางลมแทน

ส่วนเรื่องการควบคุมความหนาแน่นในแนวดิ่ง ความสูงของอาคารที่เสนอให้สูงต่ำลดหลั่นกันไป เซนให้ความเห็นว่าอาจใช้ช่องทางทางกฎหมายได้เช่นการกำหนดหรือการกำหนดอัตราการมองเห็นท้องฟ้า (SVF)

“ปัจจุบันมีกฎหมายกำหนด set back และความสูงอยู่แล้ว ซึ่งตอนที่กฎหมายออกมายังไม่ได้รับผลกระทบจากเกาะความร้อนขนาดนั้น ถ้าจะมีการปรับปรุงใหม่โดยพิจารณาจากผลกระทบของแต่ละพื้นที่ โดยออกเป็นผังระดับย่านที่ผ่านกลไกเทศบัญญัติ มันจะทำได้ละเอียดขึ้นและแต่ละพื้นที่ก็สามารถออกเองได้โดยมีความแตกต่างกัน ส่วนนี้จะเป็นการกระจายอำนาจให้แต่ละย่านทำอะไรเองได้ด้วย” เซนทิ้งท้าย


Contributor