01/02/2023
Environment

ลมในเมือง

ชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์
 


เคยสงสัยหรือไม่ว่าทําไมฟ้าหลังฝนจึงแจ่มใส? หลายครั้งที่สถานการณ์ค่าฝุ่นควันตลอดจนอุณหภูมิภายในเมืองลดลงนั้นเกิดขึ้นหลังจากฝนตก ซึ่งฝนกลับไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่ช่วยบรรเทาสถานการณ์มลภาวะทางอากาศ แต่ยังมี“ลม” ที่ไหลเวียนระหว่างกระบวนการเกิดฝนพัดพามลภาวะฝุ่นละอองขนาดเล็กรวมถึงสร้างความรู้สึกเย็นภายในเมือง

โดยทั่วไปแล้ว ลม เกิดจากการเคลื่อนที่ของอากาศจากที่มีความกดอากาศสูงไปยังที่มีความกดอากาศต่ําในทิศทางราบ แต่จะเคลื่อนที่เร็ว หรือช้า หรือในลักษณะใดนั้น นอกจากสภาพความกดอากาศ และอุณหภูมิสะสมโดยรอบแล้ว ยังขึ้นอยู่กับโครงสร้างของเมืองในแต่ละพื้นที่อีกด้วย องค์ประกอบต่างๆ ในเมืองไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ อาคาร หรือแม้แต่แนวถนนที่ตัดผ่านล้วนส่งผลต่อลักษณะ และทิศทางการเคลื่อนที่ของลมทั้งสิ้น

โครงสร้างเมืองกับการเคลื่อนที่ของลม

ความสูง-ทิศทาง-ที่ว่าง-ช่องเปิด เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของลมสัมพันธ์กับของลักษณะโครงข่ายถนนและรูปแบบการวางตัวกลุ่มอาคารภายในเมืองโดยตรง สําหรับกรุงเทพฯ เมืองที่มีโครงสร้างส่วนใหญ่เป็น ซุปเปอร์บล็อก (Super Block) โครงข่ายซอยลึกและเมืองยังมีการเติบโตแบบริ้วตามแนวถนน ทําให้เกิดลักษณะอาคารสูงล้อมถนนหรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์หุบเขาเมือง (Urban Canyon) ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสัดส่วนความสูงอาคารต่อความกว้างของถนน (H/W ratio) และสัดส่วนมวลอาคาร (L/H ratio) โดยหากคิดคํานวณแล้วหากมีค่าสัดส่วนสูงเกินกว่า 2 และ 5 ตามลําดับ ประกอบกับมีแนวถนนที่ขวางทิศทางลมประจํา จะยิ่งส่งเสริมให้ลมมีทิศทางการเคลื่อนที่เป็นแบบกระแสหมุนวน (skimming flow) ไปจนถึงสภาวะอับลม ซึ่งทําให้มลภาวะทางอากาศและความร้อนที่สะสมโดยรอบนั้นถูกขังและหมุนเวียนในชั้นบรรยากาศระหว่างอาคารเป็นระยะเวลานานกว่าบริเวณที่มีพื้นที่โล่งว่างหรือมีสัดส่วนความสูงอาคารต่อความกว้างถนนต่ํา (Chan, So, & Samad, 2001) อาจเป็นสาเหตุให้เมื่อเราเดินหรือทํากิจกรรมในบริเวณริมถนนหรือพื้นที่ปลูกสร้างหนาแน่นในเมืองซึ่งมีสภาวะหุบเขาเมือง จะรู้สึกร้อนและหายใจไม่สะดวกแม้มีลมพัดผ่านตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากลุ่มอาคารสูงจะกลายเป็นสิ่งกีดขวางที่ทําให้ความเร็วลมในเขตเมืองลดลงแต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงลบเสมอไปหากมีการวางแผนและกลยุทธ์อย่างเหมาะสม จากผลการศึกษาหลายแห่งพบว่าการเลือกจัดวางอาคารให้มีความผสมผสานของความสูงในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ร่วมกับปรับทิศทางแนวอาคารให้ขนานกับแนวลมสามารถช่วยเพิ่มความเร็วลมในแนวหุบเขาเมืองได้ดีกว่าพื้นที่ที่มีแนวความสูงอาคารเท่ากันโดยสามารถเพิ่มความเร็วได้ร้อยละ 90 และยังลดอุณหภูมิได้ถึง 1 องศา (Rajagopalan & Wong, 2005)

สมดุลลมสร้างสุขภาวะคนเมือง

ความเร็วและลักษณะการเคลื่อนที่ของลมส่งผลกระทบต่อสุขภาวะคนเมืองเช่นกัน สําหรับสภาพอากาศร้อนชื้นในประเทศไทย เราจะรับรู้ขอบเขตสภาวะน่าสบายเมื่อลมมีความเร็วระหว่าง 0.25 – 1 เมตร/วินาที หรือระดับลมเบา ในกรณีที่ลมมีความเร็วมากกว่า 1.5 เมตร/วินาที หรือระดับลมอ่อนไปจนถึงลมจัด มนุษย์จะรู้สึกถูกรบกวนในการทํากิจกรรมแต่จะเกิดการเจือจาง (dilute) หรือเคลื่อนย้าย (transport) มลพิษความร้อนในอากาศได้ดี (อุไรฤกษ์กุล, 2019) ในขณะที่กรณีอับลม แม้จะไม่สร้างการรับรู้ใดๆ ที่เป็นการรบกวนแต่ก็ไม่เกิดการระบายอากาศ (air ventilation) หรือไหลเวียนของอากาศ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาวะและอาจเป็นสาเหตุในการเกิดโรคเช่นกัน อาทิ โรคในระบบทางเดินหายใจ โรคลมแดด ฯลฯ จากการสะสมของอุณหภูมิและมลภาวะทางอากาศบริเวณพื้นที่ภายนอกอาคาร

จากที่กล่าวมาในข้างต้น จะเห็นได้ว่าองค์ประกอบในทุกตารางเมตรของเมืองล้วนแต่ส่งผลซึ่งกันและกัน แน่นอนว่าเมืองไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างเดิมได้ทั้งหมดและในอนาคตจะยังคงมีแนวโน้มที่เมืองจะขยายตัวอย่างหนาแน่นต่อไป ดังนั้น ทําอย่างไรจะสามารถยกระดับโครงสร้างเมืองให้มีความหนาแน่นอย่างมีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนเมืองไปพร้อมกันทั้งในเชิงกายภาพและเชิงนโยบายที่สนับสนุนในด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นอีกหนึ่งโจทย์สําคัญในการพัฒนาเมืองที่ยังคงรอแนวทางการแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์


Contributor