20/06/2023
Economy

สำรวจภูมิทัศน์ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย

สิทธิกานต์ สัตย์ซื่อ
 


ในห้วงทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่นานาอารยประเทศให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศหลังอุตสาหกรรม เช่น สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯลฯ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา และการเผชิญหน้ากับการแข่งขันทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและแรงงานต้นทุนต่ำ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกอาศัย “ความคิดสร้างสรรค์” เข้าไปมีส่วนช่วยในจากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการ ตัวอย่างเช่นนโยบาย “Cool Britannia” ของสหราชอาณาจักร ในการผลักดันอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่าง วง Spice Girls, ซีรีย์ Doctor Who หรือแบรนด์เฟอร์นิเจอร์อย่าง Habitat และนโยบาย “CreaTech” ของอังกฤษในการผสมผสานระหว่างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กับการพัฒนาด้านเทคโนโลยี อีกกรณีศึกษา ได้แก่ นโยบาย “Cool Japan” ของญี่ปุ่น และ “Creative Korea” ของเกาหลีใต้ ที่ประสบความสำคัญอย่างมากในกลุ่มอุตสาหกรรมบันเทิงและการท่องเที่ยว ที่สร้างรายได้กับประเทศอย่างมหาศาล เป็นที่น่าสนใจว่านอกเหนือจากการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าและบริการต่าง ๆ แล้ว แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์จะมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนาเมือง ?

ที่มาภาพ: Creative Economy – British Council

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย

ประเทศไทยได้ริเริ่มแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ราวปี 2005 โดยการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative Design Center – TCDC) ภายใต้หน่วยงานเฉพาะด้านของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และจัดตั้งขึ้นเป็น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (Creative Economy Agency (Public Organization) หรือ CEA) ในฐานะหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา โดยนิยามความหมายของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไว้ว่า “การพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม” (Creative Economy Agency, 2020)

ที่มาภาพ Charoenkrung Creative District

ปัจจุบันมีประเทศไทยได้จำแนกกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ได้แก่

(1) กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Originals) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์บนรากฐานทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม, ดนตรี, ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์

(2) กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content/Media) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่นำความคิดสร้างสรรค์มาผลิตสื่อและเนื้อหา ได้แก่ ภาพยนตร์และวิดีทัศน์, การแพร่ภาพและกระจายเสียง, การพิมพ์ และซอฟต์แวร์

(3) กลุ่มบริการสร้างสรรค์ (Creative Services) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่บริการด้านความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ การโฆษณา, การออกแบบ และสถาปัตยกรรม

(4) กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ (Creative Goods/Products) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่นำความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้า ได้แก่ อุตสาหกรรมแฟชั่น

(5) กลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง (Related Industries) เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่นำความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินธุรกิจ ประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมอาหารไทย อุตสาหกรรมการแพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างมูลค่าทางทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

นอกเหนือจากบทบาทในการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศแล้ว หนึ่งในพันธกิจสำคัญของหน่วยงานยังเป็นการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ รวมทั้งการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น พันธกิจดังกล่าวถือเป็นการประยุกต์ใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์เข้ากับบริบทการพัฒนาเมือง

ที่มาภาพ Downtown Brooklyn

รู้จักเมืองสร้างสรรค์

“เมืองสร้างสรรค์” ตามนิยามและความหมายของ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development – UNCTAD) ระบุไว้ใน Creative Economy Report (2008) หมายถึง เมืองที่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลายเป็นส่วนสําคัญของเศรษฐกิจและสังคมเมือง ต้องประกอบไปด้วยรากฐานทางสังคมและวัฒนธรรมที่มั่นคง เกิดการรวมกลุ่มอย่างหนาแน่นของคนทํางานสร้างสรรค์ และมีสภาพแวดล้อมที่ดึงดูดการลงทุน เพราะความยั่งยืนของสถานที่ทางวัฒนธรรม เมืองสร้างสรรค์จึงเป็นเมืองที่มีการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม การเสริมสร้างความรู้ด้วยฐานทางวัฒนธรรม และการขยับตัวจากภาคอุตสาหกรรมสู่การบริการที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน การสร้างรายได้ และการกระจายรายรับรายจ่าย จนเป็นที่ยอมรับว่าเมืองดังกล่าวเป็นเมืองที่อาศัยวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นกลไกขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเป็นหัวใจสำคัญ

ที่มาภาพ Seoullo 7017 – Dezeen

สอดคล้องกับแนวทางของโครงการ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network – UCCN) ที่ก่อตั้งขึ้นโดย องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) หรือองค์การยูเนสโก ในปี 2004

มุมมองเรื่องเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกไม่ได้ให้ความสำคัญเฉพาะกับการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงการปรับปรุงภูมิทัศน์หรือการพัฒนาสภาพแวดล้อม เพื่อดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์แต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสำคัญกับคนที่มีวัฒนธรรมทางความคิดสร้างสรรค์ หรือกลุ่มนักคิดและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในฐานะสินทรัพย์สำคัญของเมือง ที่สามารถโยกย้ายและแสวงหาสถานที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ประกอบธุรกิจสร้างสรรค์ รวมถึงเชื่อมโยงเครือข่ายการทำงานในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตามเป้าหมายขององค์การยูเนสโก

พันธกิจของ UCCN จึงมุ่งเน้นการสร้างความร่วมมือให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์และนโยบายสำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ในลักษณะที่ส่งเสริมกันเป็นเครือข่าย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการเป็นหุ้นส่วนในการสนับสนุนให้วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาเมือง

ปัจจุบัน UCCN แบ่งประเภทของเมืองสร้างสรรค์ไว้ทั้งสิ้น 7 สาขา ประกอบด้วย สาขาวรรณกรรม (Literature) สาขาการออกแบบ (Design) สาขาหัตถกกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) สาขาภาพยนตร์ (Film) สาขาดนตรี (Music) สาขาศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (Media Arts) และสาขาวิทยาการอาหาร (Gastronomy) ซึ่งในประเทศไทยมีเมืองที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกแล้วกว่า 5 เมือง ได้แก่ ภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร ในปี 2015, เชียงใหม่ เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี 2017, กรุงเทพมหานคร เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ในปี 2019, สุโขทัย เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี 2019 และเพชรบุรี เมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร ในปี 2021

ที่มาภาพ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในฐานะหน่วยงานหลักที่ขับเคลื่อนเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District – TCDN) ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบไว้ทั้งสิ้น 6 ย่าน ได้แก่ ย่านเจริญกรุง (กรุงเทพมหานคร), ย่านอารีย์-ประดิพัทธิ์ (กรุงเทพมหานคร), ย่านช้างม่อย (เชียงใหม่), ย่านเจริญเมือง (แพร่), ย่านศรีจันทร์ (ขอนแก่น) และย่านเมืองเก่าสงขลา (สงขลา) โดยมีการสำรวจศักยภาพเชิงลึก เพื่อรวบรวมข้อมูล สินทรัพย์ และวิเคราะห์จุดเด่น จุดด้อย โอกาส และอุปสรรคของพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวคิดการพัฒนาย่านและโครงการต้นแบบไปสู่การปฏิบัติการผ่านเครื่องมือต่าง ๆ

ที่มาภาพ Charoenkrung Creative District

หนึ่งในกรณีศึกษาหลัก คือ ย่านเจริญกรุง ภายใต้โครงการ “Portrait of Charoenkrung” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพถ่ายครอบครัว ย้อนระลึกถึงความทรงจำของผู้คน เสมือนเครื่องมือในการค้นหาศักยภาพของพื้นที่ เรื่องราว สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม อันเป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์, โครงการ “Made in Charoenkrung” การพัฒนาสินค้าและบริการ เพื่อถ่ายทอดทักษะและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างร่วมสมัย หรือเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) ที่จัดขึ้นในช่วงกุมภาพันธ์ของทุกปี ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยกระตุ้นบรรยากาศของย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเป็นแพลตฟอร์มให้นักออกแบบและผู้ประกอบการได้จุดประกายทางความคิด ทดลองไอเดีย รวมถึงการเป็นเครื่องมือในการพัฒนาย่านผ่านการออกแบบเชิงทดลอง ตามแนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ “Tactical Urbanism” เพื่อทดสอบแนวคิดผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อมจริงชั่วคราว ให้เกิดการขยายผลเชิงนโยบายหรือการปรับปรุงสภาพแวดล้อมในพื้นที่ต่อไป

ที่มาภาพ สกลจังซั่น SAKON Junction

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเมืองต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์กว่า 25 เมือง จากทั้งสิ้น 29 ย่าน สืบค้นจากข้อมูลเว็บไซต์ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative City Development – CEA ที่มีการเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 พบว่า

ภาคเหนือ ประกอบไปด้วย ย่านช้างม่อย (เชียงใหม่), ย่านในเวียง (เชียงราย), ย่านเจริญเมือง (แพร่), ย่านเมืองเก่าน่าน (น่าน), ย่านระเบียงกว๊าน (พะเยา), ย่านในเวียง (ลำพูน) และย่านลับแล (อุตรดิตถ์) รวมทั้งสิ้น 7 ย่าน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบไปด้วย ย่านศรีจันทร์ (ขอนแก่น), ย่านบ้านดู่-บ้านจะโปะ (นครราชสีมา), ย่านบึงพลาญชัย (ร้อยเอ็ด), ย่านบ้านเดิ่น-บ้านด่านซ้าย (เลย), ย่านวงเวียนแม่ศรี (ศรีสะเกษ), ย่านเมืองเก่าสกลนคร (สกลนคร) และย่านเมืองเก่าฝั่งอำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบ (อุบลราชธานี) รวมทั้งสิ้น 7 ย่าน

ภาคใต้ ประกอบไปด้วย ย่านเมืองเก่าสงขลา (สงขลา), ย่านท่าวัง-ท่ามอญ (นครศรีธรรมราช), ย่านอารมณ์ดี (ปัตตานี) และย่านบ่านซ้าน (ภูเก็ต) รวมทั้งสิ้น 4 ย่าน

ภาคกลาง ประกอบไปด้วย ย่านเจริญกรุง ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ ย่านทองหล่อ ย่านเอกมัย ย่านสามย่าน (กรุงเทพมหานคร), เมืองนครปฐมและย่านศาลายา (นครปฐม), ย่านวังกรด (พิจิตร), ย่านเมืองเก่าสุโขทัย (สุโขทัย) และย่านโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก (สุพรรณบุรี) รวมทั้งสิ้น 9 ย่าน

ภาคตะวันออก ประกอบไปด้วย ย่านเมืองเก่าระยอง (ระยอง) และย่านชุมชนมิตรสัมพันธ์-เจ้าพระยาบดินทร์ (สระแก้ว) รวมทั้งสิ้น 2 ย่าน

ที่มาภาพ 27 June Studio x Humans of Flower Market – BKKDW2023

เป็นที่น่าสนใจว่า เมืองในเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทยเหล่านี้จะดำเนินกลยุทธ์และนโยบายการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ ภายใต้บริบทของแต่ละเมืองไปอย่างไร? ในขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) หากจะฉกฉวยโอกาสในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของเมืองผ่านความคิดสร้างสรรค์ ภาครัฐอาจต้องจัดสรรงบประมาณและให้ความสำคัญกับการปลดล็อคศักยภาพของท้องถิ่น ดึงดูดให้คนวัยหนุ่มสาวกลับไปพัฒนาเมืองในภูมิภาคให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่การสร้างงาน สร้างรายได้ เพื่อพัฒนามิติทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย เพราะหัวใจสำคัญการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ นอกเหนือจากการหยิบยืมเอาต้นทุนทางวัฒนธรรมของเมืองมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคมแล้วนั้น เมืองสร้างสรรค์ยังต้องเป็น “เมืองน่าอยู่ น่าท่องเที่ยว น่าลงทุน” อย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

Creative Economy Agency About CEA

Creative City Development by CEA (TH)

Creative Cities | Creative Cities Network (unesco.org)

Mission Statement UNESCO Creative Cities Network 

The Creative Economy Report 2008 – UNCTAD

Universal Declaration on Cultural Diversity | OHCHR


Contributor