16/10/2020
Economy

พิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) ฟื้นฟูเมืองอุตสาหกรรมอันถดถอย สู่เมืองวัฒนธรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ

แพงสุดา ปัญญาธรรม
 


ที่ริมฝั่งแม่น้ำ Allegheny แสงไฟจากโรงละคร Byham ยามค่ำคืน เสียงพูดคุยจากผู้คนที่ยืนต่อแถวเข้าโรงละครอย่างไม่มีท่าทีร้อนใจ เวลาเกือบสามทุ่มเข้าไปแล้วแต่บรรยากาศในเมืองเล็กๆ ของรัฐเพนซิลเวเนียดูครึกครื้นเกินกว่าหลายคนคาดคิด ร้านรวงที่ยังคงเปิดให้บริการ พนักงานโรงละครยิ้มแย้มยามเอ่ยทักทายกับแขกของโรงละครอย่างคุ้นเคย ราวกับว่าเป็นเพื่อนที่คบกันมานาน แสงสีและความคึกคักทำให้ยากจะเชื่อว่า ครั้งหนึ่งที่เมืองนี้ เคยประสบกับภาวะภาคอุตสาหกรรมถดถอยจนทำให้ประชากรหายไปเกือบครึ่งเมือง

พิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) เคยเป็นที่รู้จักในนาม Steel City (เมืองเหล็กกล้า) เนื่องด้วยอุตสาหกรรมเหล็กกล้าที่รุ่งเรืองในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ของสหรัฐอเมริกา ทำให้ Pittsburgh ผงาดขึ้นเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและเต็มไปด้วยโรงงานการผลิตในปลายปี 1860 

Pittsburgh กลายเป็นแหล่งอาชีพทั้งชนชั้นกรรมาชีพและชนชั้นกลาง ตึกสูงใจกลางเมือง สัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ ตั้งตระหง่านหลัง Point state park ที่เป็นจุดบรรจบของ สองแม่น้ำสายหลักของรัฐเพนซิลเวเนีย แม่น้ำ Allegheny และแม่น้ำ Monongahela 

ความรุ่งเรืองของ Pittsburgh ที่ยาวนานต่อเนื่องมากว่า 100 ปีก็ถึงคราวล่มสลายในช่วงปี 1970 ที่สหรัฐอเมริกาประสบกับภาวะภาคอุตสาหกรรมถดถอย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเหล็กกล้าที่ Pittsburgh ได้รับผลกระทบโดยตรง เกิดการปลดพนักงานทั้งชนชั้นแรงงานและพนักงานบริษัท บริษัทพากันเลิกกิจการ ฐานการผลิตย้ายถูกออกจากเมือง ส่งผลให้ประชากรที่เคยมีถึง 675,000 คนในปี 1950 ลดลงเหลือ 370,000 คนในปี 1990 

ตึกสูงริมฝั่งน้ำถูกทิ้งร้าง ผู้คนย้ายออกจากใจกลางเมือง บ้างก็กลับบ้านเกิด บ้างก็มุ่งหน้าหางานในเมืองอื่น เมื่อไม่มีผู้อยู่อาศัยในเมือง ธุรกิจชุมชนขนาดย่อยซบเซา ร้านค้าไม่คึกครื้นเหมือนเก่า  Pittsburgh กลายเป็นเมืองไร้ผู้คน ไม่มีวี่แววของตำแหน่งเมืองน่าอยู่ในปัจจุบัน 

ในปี 1984 สำนักงานกองทุนวัฒนธรรมแห่งพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh Cultural Trust) องค์กรไม่แสวงหากำไรถูกตั้งขึ้น ภายใต้ภารกิจฟื้นฟูพื้นที่ 14 บล็อกใจกลางเมืองให้กลายเป็นแหล่งรวมศิลปะและความบันเทิง หรือ Cultural District ย่านวัฒนธรรมของเมือง โดยมีจุดประสงค์แสนเรียบง่าย คือ ทำยังไงก็ได้ให้ผู้คนกลับเข้ามาในเมือง 

ที่ผ่านมาถึงแม้อุตสาหกรรมเหล็กกล้าจะถดถอยลงไป แต่ Pittsburgh เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยมหาวิทยาลัย ทั้ง University of Pittsburgh, Carnegie Mellon Universtiy, Duquesne University และอีกมากมาย ทำให้มีประชากรนักศึกษาหมุนเวียนอยู่ตลอด แต่ถึงกระนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่ก็กระจุกตัวอยู่ในย่านมหาวิทยาลัยที่อยู่ห่างออกไปจากใจกลางเมือง ทำให้ร้านค้าต่างๆในเมืองยังคงเงียบเหงาขาดเงินสะพัด

Pittsburgh Cultural Trust มองเห็นปัญหา และผู้ประกอบการรายย่อยที่กำลังล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ จึงคิดแก้ปัญหาโดยการใช้งานศิลปะ การแสดงทั้งละครเวที การแสดงแสงสี บัลเล่ต์ โอเปร่า หรือแม้กระทั่งมายากล เพื่อดึงให้ผู้คนมาชมงานในเมือง โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ธุรกิจร้านค้าได้ประโยชน์จากการจับจ่ายใช้สอยที่จะเกิดขึ้น 

ละครบรอดเวย์ชื่อดังอย่าง Wicked, Cats, Hamilton, Lion king ถูกจ้างมาแสดงหมุนเวียนกันตลอดทั้งปี รวมไปถึงคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดัง การแสดงคลาสสิกอย่างบัลเล่ต์ หรือการแสดงแบบร่วมสมัยจากคณะเต้นระดับโลกทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นับตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน Pittsburgh Cultural Trust เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในเมืองนับสิบ ทั้งโรงละครใหญ่เล็ก โรงหนังเก่า รวมไปถึงพื้นที่ตึกร้าง ถูกบูรณะให้ได้มาตรฐานเพื่อรองรับการแสดงกว่า 1,500 โชว์ต่อปี

หนึ่งในผลงานภาคภูมิใจคือโรงละคร Benedum Center for the performing arts ที่จุคนได้ 2870 ที่นั่ง และจัดการแสดงแทบจะทุกคืนตลอดปี เรียกได้ว่าแสงไฟในโรงละครแห่งนี้ไม่เคยถูกปิดเลยแม้แต่คืนเดียว

ไม่เพียงแต่โรงละครเท่านั้น แต่ Cultural District ยังมองเห็นภาพรวมของการรองรับผู้คนที่อาจหลั่งไหลมาในคืนที่ละครบรอดเวย์ชื่อดังอย่าง Hamilton มาแสดง อีกหนึ่งวิสัยทัศน์ของกองทุนคือการก่อสร้างพื้นที่จอดรถใจกลางเมืองเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมงาน 

นอกจากนี้ Pittsburgh Cultural District ยังให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการศิลปะรายย่อย และจัด gallery crawls หรือการเปิดให้เข้าชมแกลอรี่ใน Cultural District ฟรีทุกๆ 3 เดือนอีกด้วย โดยมีทั้งการจัดแสดงงานศิลปะ ดนตรีสด การแสดง การฉายภาพยนตร์ และกิจกรรมเวิร์กชอปตามแต่แต่ละแกลอรี่ต้องการ เพื่อเสริมสร้างความเป็นเมืองศิลปะและวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

Pittsburgh model ได้กลายเป็นรูปแบบการใช้วัฒนธรรมเข้ามาพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง โดยมีเอกลักษณ์คือเน้นการบูรณะอาคารเก่าที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ใจกลางเมือง แทนที่จะสร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรมเพียงแห่งเดียว ปัจจุบันนี้กองทุนก็ยังไม่หยุดที่คิดหากิจกรรม อีเวนท์ ที่สอดแทรกเข้ามาในทุกๆวันบนปฏิทินเพื่อให้คนหลั่งใหลเข้ามาในเมือง โดยไม่จำกัดอยู่แค่ศิลปะคลาสสิกหรือชั้นสูงเท่านั้น แต่การเล่นเกมส์ในสตูดิโอก็ถูกนำมาประยุกต์ด้วยเช่นกัน Kevin McMahon ประธานและผู้บริหาร Pittsburgh Cultural Trust กล่าวว่า เขาไม่ได้มองว่าต้องเป็นงานศิลปะหรือมีคุณค่าทางวัฒนธรรมมากน้อยแค่ไหน เพียงแค่สามารถดึงคนเข้ามาวันละ 60 – 70 คนก็ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีข้อจำกัดของสเกลหรือรูปแบบงาน 

ปัจจุบัน Cultural District ดึงดูดผู้ชมกว่า 2 ล้านคนต่อปี ประเมินเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจร่วม 9,500 ล้านบาท นอกจากนี้ Pittsburgh ยังติดอันดับเมืองน่าอยู่ของสหรัฐอเมริกา โดยมีดัชนีวัดรอบด้านทั้งความปลอดภัย สุขภาพ วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม การศึกษา และสาธารณูปโภค Pittsburgh ได้เปลี่ยนโฉมจากเมืองที่เคยถูกปกคลุ่มด้วยหมอกควันจากอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในอดีต กลายเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยแสงสีและชีวิตชีวา และได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอีกด้วย


Contributor