15/07/2021
Economy

Walkability, Livable Cities and New Opportunities โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล
 


เรียบเรียงจาก เวทีเสวนา Smarter Together โดย เครือข่ายเชียงใหม่สร้างสรรค์ (Creative Chiang Mai) ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมเสวนา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564

UddC-CEUS มักจะโดนถาม 2 คำถาม : ทำไมเราจึงควรอยากให้เมืองเราเดินได้เดินดี และเราจะสร้างให้เมืองเราเดินได้เดินดีได้อย่างไร? เนื่องจากมีเวลาเพียง 5 นาที จึงขอกล่าวเฉพาะส่วนแรกว่า ทำไมเราอยากให้ถนนในเมืองเราเดินได้เดินดี

แม้ว่าดิฉันสอนและทำงานเกี่ยวข้องกับสถาปัตย์ผังเมือง แต่ต้องบอกว่าเหตุผลพื้นฐานที่จะยกมานำเสนอแก่ทุกท่าน แทบไม่มีเรื่องความงาม แต่เป็นเรื่องความจำเป็นล้วน การเดินเป็น necessity ไม่ใช่ aesthetic หรือ luxury แต่อย่างใด

การที่เราอาศัยในเมือง แล้วจำเป็นต้องเดินทางในเมืองได้ด้วยการเดินอย่างสะดวก สบาย ปลอดภัยนั้น ข้อโต้แย้งพื้นฐานที่โลกพูดมาตั้งแต่ทศวรรษ 80  ได้แก่ เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ด้านความเท่าเทียมทางสังคม ด้านสุขภาพทั้งระดับสาธารณะและปัจเจก ซึ่งทุกท่านคงทราบกันดีแล้ว หรือล่าสุดด้านความปลอดภัยสาธารณะยามฉุกเฉิน เช่น หากมีเหตุระเบิดที่สมุทรปราการ ที่ถนนอาจกลายเป็นอัมพาต เมืองต้องสามารถให้คนอพยพออกได้ด้วยการสัญจรแบบอื่นที่ไม่ใช่รถ หรืออย่างสถานการณ์ภัยพิบัติโรคระบาด ที่เราอาจจะสวนกระแสโลกกำลังถอยกลับไปแบบอู่ฮั่นหรือฝรั่งเศสปีที่แล้ว ที่รัฐอนุญาตให้คนออกจากบ้านได้ 2 ชั่วโมงเพื่อไปซื้อของ ทำธุระ หากเป็นแบบนี้ คน กทม. ร้องแน่ ๆ ดังนั้น หลายเมืองจึงอาศัยโอกาสที่เมืองปิดช่วงโควิด เร่งปรับปรุงทำให้เมืองสามารถเดินทางได้ในเวลา 15 นาที โดยเท้าและจักรยาน

ดิฉันขอกล่าวเฉพาะเหตุผลด้านการเดินและการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น เนื่องจากเป็นโจทย์ของคณะผู้จัด

ต้องเรียนว่า คนที่เข้าใจเรื่องนี้ที่สุดในเมืองคือ หาบเร่แผงลอย UddC-CEUS เคยทำการศึกษาตำแหน่งของหาบเร่แผงลอยในเมืองกับ ปริมาณสัญจรการเดินเท้า พบว่า ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยสามารถวิเคราะห์ได้แม่นยำพอ ๆ กับเครื่องมือ GIS หรือ Space Syntax พวกเขาจะสังเกตและวิเคราะห์การเดินของผู้คนในย่าน แล้วไปตั้งร้านดักรอในบริเวณที่ foot traffic หนาแน่นที่สุด นี่นับเป็น tacit knowledge (ความรู้ที่ฝังลึกในตัวคน) ของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่เข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างโอกาสทางเศรษฐกิจกับปริมาณการสัญจรโดยเท้า หรือ The Monetization of foot traffic ที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบพูดถึง

จากปัญญาของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ลองมาดูการสังเกตโดยนักวิชาการมืออาชีพดูบ้าง : มีการศึกษามากมาย จากเมืองต่างๆ ทั้งยุโรป สหรัฐฯ และเอเชีย ที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง 3 สิ่ง : 1) การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเดินทางจากรถยนต์เป็นเท้าหรือจักรยาน 2) รูปแบบการใช้จ่าย และ 3) การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของถนนและทางเท้า โดยเก็บข้อมูล รูปแบบการสัญจร ระยะเวลาที่ใช้ ยอดขาย โดยเปรียบเทียบในช่วงเวลาก่อนและหลังการลงทุนเพื่อปรับปรุงถนนและทางเท้า

พบว่า การปรับปรุงสภาพแวดล้อมของถนนให้รถน้อยลง พร้อมๆกับ ให้ทางเท้าส่งเสริมการเดินของคนมากขึ้น คือ ให้เดินสะดวก เดินปลอดภัย และรื่นรมย์ ที่จะเดิน เช่น ปลูกต้นไม้ให้ร่มเงา ขยายและปรับปรุงทางเท้า จัดหาม้านั่งสวย ๆ ไฟคนเดินสวย ๆ ป้ายบอกทาง ปรับปรุงหน้าร้าน การเพิ่มช่องทางจักรยาน การปรับปรุงบริการรถประจำทางและการเชื่อมต่อกับระบบขนส่ง ปรับปรุงทางข้ามให้ข้ามถนนได้ง่ายขึ้น ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลดึงดูดให้ผู้คนเข้าไปในย่านมากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น เพิ่มฐานลูกค้าได้มาก ผลคือ ทำให้ถนนจากที่เดิมเป็นแค่ทางผ่าน กลายเป็นจุดหมายปลายทาง นี่คือตัวอย่างผลกระทบทางตรงจาก foot traffic ต่อผลกำไรของธุรกิจ ต่อยอดค้าปลีก ที่เกิดจากการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของถนนและทางเท้าของย่าน

นอกเหนือจากผลกระทบทางตรงที่อาจเกิดขึ้นกับยอดขายของร้านค้าปลีกแล้ว สภาพแวดล้อมของถนนและทางเท้าที่ได้รับการปรับปรุง ก็ยังส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ เช่น ค่าเช่าร้านค้าปลีก ค่าเช่าสำนักงานและมูลค่าทรัพย์สินเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการสร้างภาพลักษณ์ หรือ branding ของย่าน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของย่านและเมืองอีกด้วย

นี่เป็นหนึ่งในหลายเหตุผลเมืองต้องเดินได้เดินดีจากมุมของเศรษฐกิจ

และนี่คือโอกาสในการสร้างความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ให้เกิดขึ้นแก่เมือง คือโอกาสการกระจายความมั่งคั่งที่ทั่วถึงมากกว่าสู่ร้านรวงร้านเล็กร้านน้อยตามตรอกซอกซอย ซึ่งโอกาสแบบนี้ที่มีเฉพาะในเมืองที่เดินได้เท่านั้น ไม่ใช่เมืองที่ขับได้ที่มีความมั่งคั่งกระจุกแต่ในที่ที่มีจอดรถใหญ่ ๆ เท่านั้น


Contributor