10/07/2020
Economy

สุขภาพหรือเสรีภาพ? เมื่อ Covid-19 ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันต้องแลกมาด้วยข้อมูลส่วนตัว

โสภณ ศุภมั่งมี
 


“ไทยชนะ” ชื่อนี้นำมาซึ่งความรู้สึกที่ป่วนหัวใจ

ไม่ใช่เพราะชื่อที่กำกวม เต็มไปด้วยคำถาม เราชนะใคร? ชนะอะไร? เรากำลังแข่งอะไรเหรอ? แต่เป็นความรู้สึกที่ไม่ว่าเดินไปที่ไหนในตอนนี้ก็ต้องเห็น QR Code ที่ต้องสแกนก่อนเข้าไปใช้บริการในสถานที่ต่างๆ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านตัดผม ร้านขนม ร้านกาแฟ ร้านขายยา ร้านข้าวแกง ถ้าอีกหน่อยมีติดหน้าหมู่บ้านให้สแกนก่อนเข้าก็คงไม่แปลกใจสักเท่าไหร่

ปัญหาไม่ใช่แค่เรื่องของความวุ่นวาย ควานหาสมาร์ตโฟนในกระเป๋าสะพายออกมาตลอดเวลา แต่มันเป็นการตั้งคำถามต่อเรื่องของข้อมูลความเป็นส่วนตัวซะมากกว่า เพราะหลายครั้งที่เข้าไปสถานที่เหล่านี้ถ้าไม่อยากยุ่งยากสแกน QR ก็ต้องเขียนชื่อและเบอร์ติดต่อ ซึ่งในมุมมองของความปลอดภัยแล้วข้อมูลเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น แต่ในมุมมองของธุรกิจแล้วมันเป็นขุมทองมีมูลค่ามหาศาลเลยทีเดียว แถมยังมีเรื่องของความเป็นส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ข่าวที่ออกไปเมื่อไม่นานมานี้ที่พนักงานร้านสะดวกซื้อถือวิสาสะนำเบอร์ส่วนตัวของลูกค้าที่เขียนตอนเข้าร้านมาเพิ่มเพื่อนแล้วทักไปจีบเชิงชู้สาวนั้นเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของเรื่องนี้ มันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรเกิดขึ้น หลายคนอาจจะบอกว่านี่มันเป็นการกระทำส่วนบุคคลและไม่ได้บ่งบอกถึงภาพใหญ่ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญที่อยากสื่อก็คือเรื่องของความปลอดภัยของข้อมูลที่เข้าถึงได้โดยง่าย ขนาดพนักงานสะดวกซื้อก็ยังเอาไปได้ แล้วนับประสาอะไรกับผู้มีอำนาจทั้งภาครัฐและเอกชนถ้าพวกเขาต้องการข้อมูลเหล่านี้? 

แล้วเราจะเชื่อได้ยังไงว่ามันจะปลอดภัยในอนาคต?

สิ่งหนึ่งที่เราไม่มีทางรู้เลยก็คือตอนจบของ Covid-19 ว่าจะมาเมื่อไหร่และจะมาในรูปแบบไหน คงเป็นไปได้อย่างที่ทุกอย่างจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมโดยไร้วัคซีน (ซึ่งก็ไม่รู้อีกนั่นแหละว่าเมื่อไหร่จะมา) แต่จากที่เห็นในตอนนี้วิธีการที่ดีที่สุดในการต่อกรกับไวรัสร้ายก็คือการติดตามว่ามันมีโอกาสแพร่กระจายไปไหนบ้างและในบางกรณีก็ต้องบังคับให้ประชาชนบางส่วนกักตัวลำพังในพื้นที่ที่จัดเตรียมเอาไว้ให้

ช่วงที่ผ่านมาเราได้ยินคำว่า “Contact Tracing” บ่อยขึ้นตามบทความและเนื้อข่าวต่างๆ ซึ่งไอเดียของมันก็คือการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยว่าไปเจอใครมาบ้าง ที่ผ่านมาเดินทางไปที่ไหน ฯลฯ แต่ว่ามันก็เป็นเรื่องยากเพราะขึ้นอยู่กับความจำของคนคนนั้นว่าจดจำรายละเอียดได้มากขนาดไหนและความเชี่ยวชาญของผู้สอบถามอีกด้วย

เพราะฉะนั้นด้วยขนาดที่ค่อนข้างใหญ่และงานที่หนัก การทำ Contact Tracing โดยมนุษย์นั้นจึงเป็นเรื่องยาก จึงนำมาซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้สมาร์ตโฟนเพื่อตรวจสอบว่าแต่ละคนมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขนาดไหน ไปเจอใครที่มีความเสี่ยงมาบ้างรึเปล่า ซึ่งไอเดียนี้ก็เริ่มถูกนำไปใช้ในหลายๆ ที่และก็มีประสิทธิภาพในระดับที่เป็นเรื่องน่าพอใจ

ตัวอย่างของบ้านเราที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เป็นแอปฯ เก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อประเมินความเสี่ยงได้ว่า ในบริเวณนั้นมีผู้ป่วย Covid-19 หรือไม่ โดยเก็บข้อมูลจาก GPS และ Bluetooth โดยจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือหนึ่งส่วนประเมินความเสี่ยงของตัวเองและสองคือแจ้งเตือนเมื่อผู้ใช้งานนั้นเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงที่มีผู้ติดเชื้อ Covid-19

หลังจากโหลดแอปฯ แล้วก็สามารถทำแบบสอบถาม แอปฯ ก็จะจัดหมวดหมู่ให้ผู้ใช้งาน (เขียว, เหลือง, ส้ม, แดง ตามความเสี่ยงและคำตอบที่ให้) โดยการประมวลผลส่งไปยังระบบ ผู้ใช้คนอื่นๆ จะมองไม่เห็นว่าแต่ละคนอยู่ที่ไหนบ้าง แต่จะมีการแจ้งเตือนหากเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเพียงเท่านั้น การใช้งานเบื้องต้นคือถ่ายรูปของตัวเองแล้วก็เปิดให้แอปฯ เข้าใช้โลเคชั่นของโทรศัพท์ พร้อมกับเปิด Bluetooth เพียงแค่นี้ ไม่จำเป็นต้องใส่เลขบัตรหรือชื่อนามสกุลใดๆ ทางทีมผู้พัฒนาระบุว่า “ตัวโค้ดของแอพเป็นโอเพนซอร์สให้ตรวจสอบได้ ส่วนข้อมูลที่บันทึกเข้าแอพจะถูกทำลายทิ้งหลังผ่านวิกฤตแล้ว และจะร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562” (https://youtu.be/W2qNkLwHK-Y)

ในส่วนของประเทศอื่นๆ อย่างเกาหลีใต้, สิงคโปร์, เยอรมัน หรือ จีน ต่างก็มีเครื่องมือที่ทำงานคล้ายคลึงกันออกมาใช้งานอยู่ มีความเข้มงวดและรัดกุมแตกต่างกันออก ซึ่งการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อลดความผิดพลาดของมนุษย์ในการสัมภาษณ์แบบนี้ทำให้การร่วมมือกันระหว่าง Google และApple นั้นได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าในเชิงธุรกิจแล้วทั้งสองบริษัทนี้คือคู่แข่งที่เฉือดเฉือนกันตลอดเวลา แต่ถ้าร่วมงานกันได้จริงๆ และการแชร์ข้อมูลระหว่างสมาร์ตโฟนสองค่ายก็เรียกได้ว่าครอบคลุมประชากรโลกในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อนเลย ซึ่งนี่จะกลายเป็นว่าความปลอดและความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานจะยิ่งยุ่งเหยิงเข้าไปอีกหลายเท่าตัว

ถ้าเราไม่มองเรื่องของผลประโยชน์ว่าระบบนี้จะเข้ามาช่วยได้มากขนาดไหน แต่มองที่ความซับซ้อนของระบบที่เป็นเรื่องยากในการตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้นหลังบ้าน เราจะเชื่อใจได้ยังไงว่าบริษัทเหล่านี้จะไม่มาหาผลประโยชน์จากข้อมูลที่มีการเก็บไประหว่างนี้ สิ่งที่เราทำ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ไปไหนบ้างในแต่ละวัน ฯลฯ มันฟังดูหวาดระแวง แต่ในความเป็นจริงก็คือในเมื่อเราไม่รู้ ความกังวลก็เกิดขึ้นเป็นเรื่องช่วยไม่ได้ มันไม่มีเหตุผลอะไรที่เราต้องเชื่อว่าต่อไปพวกเขาจะไม่นำมันไปใช้ประโยชน์ หรือหลังจาก Covid-19 ไปแล้วข้อมูลเหล่านั้นจะไปอยู่ที่ไหน

มันเหมือนกับว่าตอนนี้เราอยู่ในจุดที่ไม่มีทางเลือกมากนัก การจะบอกว่าข้อมูลส่วนตัวสำคัญกว่าความปลอดภัยของส่วนรวมก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่การจะมาบอกว่าเอาข้อมูลของเราไปแล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นก็ค่อยก็ว่ากันก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีมากนัก อันที่จริง วิกฤตครั้งนี้ถือว่าเป็นการทดลองและแบบจำลองขนาดใหญ่ของชีวิต ‘มนุษยเมืองในอนาคต’

ที่ความเชื่อมต่อด้านดิจิทัลจะกลายเป็นมิติสำคัญ 

สิ่งที่ควรเกิดขึ้นต่อจากนี้ก็คือว่ามันควรจะมีระบบขั้นตอนบางอย่างที่ทำให้ทุกคนตรวจสอบและไว้ใจได้ว่าข้อมูลที่ให้ไปนั้น จะไม่รั่วไหลหรือไปอยู่ในมือของผู้หาผลประโยชน์ รัฐบาลเองก็ควรสร้างความมั่นใจและรับรู้ว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนกังวลไม่ใช่แค่บอกว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ทำให้ประชาชนเข้าใจอาจจะใช้เวลาและความพยายามมากสักหน่อย แต่การมาชี้นิ้วบอกว่าอันไหนดีกว่าอันไหนยิ่งทำให้เกิดคำถามว่าสรุปแล้วจริงๆ นี่คือคำสั่ง? 

ทั้งที่มันควรเป็นคำอธิบายเพื่อให้เราทุกคนร่วมมือและเป็น “ไทยชนะ” ที่ทุกฝ่ายพยายามเอาชนะอุปสรรคตรงหน้าไปด้วยกันซะมากกว่า


Contributor