09/04/2020
Economy
เมื่อ COVID-19 ก่อให้เกิดเทศกาลภาพยนตร์ออนไลน์
ณัฐชนน ปราบพล
ณัฐชนน ปราบพล
ทุกวันนี้ สื่อบันเทิงกำลังมุ่งสู่รูปแบบออนไลน์ จนกลายเป็นอีกหนึ่งกระแสหลักของทางเลือกในการรับชม แต่ในขณะเดียวกัน เทศกาลภาพยนตร์ทั้งในระดับนานาชาติและระดับภูมิภาค ก็ยังคงมุ่งมั่นในการส่งมอบความรื่นรมย์ในการชมภาพยนตร์ผ่านจอฉายขนาดใหญ่ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า “คนรักหนัง” ต่างก็เฝ้ารองานอีเวนท์เช่นนี้ในแต่ละปี เพื่อรับชมภาพยนตร์จากทั่วโลก สิ่งสำคัญนอกเหนือการรับชมภาพยนตร์ คงเป็นการได้มีส่วนร่วม หรือสร้างประสบการณ์ทางสังคมผ่านการวิจารณ์ผลงานภาพยนตร์ สารคดี หรือสื่อบันเทิงประเภทต่าง ๆ งานสังสรรค์และการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันของบุคคลในวงการเดียวกัน เพื่อเป็นการต่อยอด หรือถ่ายทอดแนวคิดผ่านผลงานที่นับเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง
แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่องค์การอนามัยโลกได้ยกระดับให้อยู่ในสถานะการระบาดใหญ่แล้ว ในขณะนี้ กลับส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบันเทิง โดยเฉพาะกำหนดการจัดงาน อีเวนท์ประจำปีต่าง ๆ ทยอยยกเลิก หรือเลื่อนกำหนดการออกไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่เห็นได้ชัดคือ เทศกาลภาพยนตร์ South by South West (SXSW) ที่จะถูกจัดขึ้นที่เมืองออสติน มลรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ต้องหยุดชะงักลง และเทศกาลภาพยนตร์คานส์ (Cannes Film Festival) เทศกาลภาพยนตร์ระดับโลก ที่จะถูกจัดขึ้นที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส ก็ถูกเลื่อนออกไปจากกำหนดการเดิม
ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อดำรงรักษาให้จิตวิญญาณแห่งภาพยนตร์ยังคงอยู่ท่ามกลางวิกฤติโรคระบาดเช่นนี้ เทศกาลภาพยนตร์หลายแห่งได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อให้การจัดเทศกาลยังคงดำเนินต่อไปได้ และการมุ่งสู่รูปแบบออนไลน์อาจจะเป็นคำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดสำหรับช่วงเวลานี้
ถึงแม้ว่า การย้ายสู่แพลตฟอร์มออนไลน์อาจยังไม่ใช่คำตอบที่ผู้จัดงานเทศกาลภาพยนตร์ทุกแห่งเลือกใช้เพื่อเป็นทางออก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เลือกใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นทางออกสำหรับการจัดเทศกาลภาพยนตร์ ที่แม้ว่าจะทราบดีว่าคงไม่สามารถมอบรสสัมผัส และความรู้สึกร่วมได้เทียบเท่ากับการจัดงานในสถานที่จริงอย่างที่ผ่านมา แต่เหล่าผู้จัดงานต่างทุ่มเทสุดความสามารถให้เทศกาลภาพยนตร์ออนไลน์นี้ เป็นไปตามกำหนดการและสร้างความประทับใจต่อผู้เข้าร่วมรับชมมากที่สุด ท่ามกลางความกังวลของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
ตัวอย่างของเทศกาลภาพยนตร์ที่ได้ย้ายไปให้บริการในรูปแบบออนไลน์แล้ว เช่น One World Human Documentary Festival ซึ่งจะจัดขึ้นที่สาธารณรัฐเช็ก แต่เมื่อภาครัฐได้ประกาศมาตรการห้ามกระทำการรวมกลุ่มกันเกิน 100 คน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 บีบบังคับให้ One World ต้องหาทางออกเพื่อให้เทศกาลภาพยนตร์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ใหญ่ที่สุดของโลกนี้ยังคงดำเนินต่อไปได้ ด้วยสถานการณ์และข้อบังคับเช่นนี้ทำให้กิจกรรมการฉายภาพยนตร์ในโรงละครไม่สามารถทำได้ และ One World จำเป็นต้องยกเลิกกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคในงานทั้งหมด แต่นั่นไม่ใช่จุดจบ เพราะเพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ทางคณะผู้จัดงานก็ได้ประกาศร่วมมือกับภาคีเครือข่าย คือ Prague-based Doc Alliance (DAFilms.com) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของประเทศเช็ก เพื่อให้เทศกาลภาพยนตร์สามารถดำเนินต่อไปได้เพียงแต่จะดำเนินไปในรูปแบบแบบของเทศกาลบนระบบออนไลน์ อย่างไรก็ตาม เพื่อให้บรรยากาศคล้ายคลึงกับการจัดเทศกาลในสถานที่จริงมากที่สุด ภาพยนตร์ที่ฉายที่เทศกาลนี้ จะมีการกำหนดระยะเวลาในการฉายภาพยนตร์แต่ละเรื่อง แต่ผู้เข้าชมต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อภาพยนตร์ 1 เรื่องสำหรับเลือกรับชม นับว่าเป็นการคงมูลค่าของเทศกาลไว้ ให้มีความแตกต่างจากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งสื่อบันเทิงทั่วไปอย่างเช่น Netflix หรือ YouTube ที่ผู้ชมสามารถเข้ามาเลือกชมเวลาใดก็ได้
อีกหนึ่งตัวอย่างเทศกาลชื่อ CPH:DOX (Copenhagen International Documentary Festival) ที่ประเทศเดนมาร์ก เป็นเทศกาลแรกที่ประกาศว่าจะทำการย้ายการจัดเทศกาลภาพยนตร์ในช่วงเวลาวิกฤตินี้ให้อยู่ในรูปแบบออนไลน์เช่นกัน โดยได้ประกาศยกเลิกกิจกรรมทางกายภาพที่จะเกิดขึ้นในสถานที่จัดงานจริงทั้งหมดเพียง 1 สัปดาห์ก่อนถึงกำหนดการจัดเทศกาลตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐ โดยครั้งนี้มีภาพยนตร์ 220 เรื่อง ที่ถูกเลือกสำหรับการฉายตลอดระยะเวลาของเทศกาลผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งชื่อ Festival Scope อย่างไรก็ตาม เทศกาล CPH:DOX จะยังคงมีการแข่งขันเพื่อเฟ้นหาผู้ชนะเลิศสำหรับรางวัลประเภทต่าง ๆ ยังคงมีการเปิดโอกาสให้เหล่าบรรดานักวิจารณ์แสดงความคิดเห็นต่อภาพยนตร์และสารคดีได้เฉกเช่นเดิม ไม่ต่างจากการจัดเทศกาลในสถานที่จริง
ปรากฏการณ์เทศกาลภาพยนตร์บนโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้นนี้ ก็เพื่อให้ความสำคัญกับมาตรการความปลอดภัย และร่วมหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้เข้าร่วมงานทุกคน และอาจกลายเป็นต้นตอของการแพร่กระจายเป็นวงกว้างได้ การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ อาจทำให้คอหนัง หรือผู้ติดตามเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งทีมผู้สร้างผลงานเองเกิดความไม่คุ้นชินเนื่องด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป แต่อย่างน้อยก็เพื่อดำรงไว้ซึ่งจุดประสงค์หลักของการจัดเทศกาลภาพยนตร์ นั่นคือ การเป็นพื้นที่สำหรับแสดงผลงาน และการรับชมภาพยนตร์จากทั่วทุกมุมโลก หากจะมองปรากฎการณ์เทศกาลภาพยนตร์บนโลกออนไลน์นี้เป็นผู้ร้าย ที่จะมาล้มล้างให้เทศกาลภาพยนตร์สูญหายไปจนเหลือเพียงคำนิยามศัพท์ ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะหากในสถานการณ์ปกติ รูปแบบการจัดเทศกาลภาพยนตร์นี้ก็จะยังคงดำเนินไปในรูปแบบเฉกเช่นที่ผ่านมา เพื่อมอบประสบการณ์ทางสังคม และตอบสนองรสนิยมบางประการ ที่โลกออนไลน์ยังไม่สามารถทำได้เทียบเท่ากับโลกแห่งความจริง
บทความ “เมื่อ COVID-19 ก่อให้เกิดเทศกาลภาพยนตร์ออนไลน์” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)