05/11/2019
Economy

คนยิ่งเดิน เมืองยิ่งรวย เมืองเดินได้ช่วยกระจายรายได้สู่กระเป๋าผู้ค้ารายย่อย

ชยากรณ์ กำโชค
 


เรียบเรียงโดย ชยากรณ์ กำโชค

“เดินวันละเป็นหมื่นก้าว” นักท่องเที่ยวไทยหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันเมื่อได้ไปเดินต่างบ้านต่างเมือง โดยเฉพาะในเมืองพัฒนาแล้ว ที่มีระบบขนส่งมวลชนคุณภาพ ครอบคลุมทุกเป้าหมายการเดินทาง แถมยังมีทางเท้ากว้างขวาง เดินสะดวกสบาย สองข้างทางพบแต่ความร่มรื่นและร้านค้าชวนให้เสียทรัพย์เป็นว่าเล่น 

หลายคนเดินเก่งแล้ว ยัง “ชิม ช็อป ใช้” เก่งแบบไม่รู้ตัวเมื่อไปเที่ยวต่างประเทศ
นั่นเป็นความสัมพันธ์ง่ายๆ ระหว่าง ‘การเดิน’ และ ‘ความมั่งคั่ง’ ของเมือง ซึ่งคุณอาจสงสัยว่า มันเกี่ยวข้องกันด้วยหรือ?

เราคงรู้กันอยู่แล้วว่า “การเดิน” เป็นวิธีออกกำลังกายง่ายๆ ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาวะทางกายและใจ หลายคนจึงเลือกเดินช้าๆ ในระยะที่ไม่ไกลนัก เพื่อย่อยอาหารที่รับประทานอย่างหนักหน่วง หรือเมื่อต้องการตกตะกอนความคิดที่ฟุ้งซ่านให้กลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน 

แต่เชื่อหรือไม่ว่า “การเดิน” ยังเป็นวิธีง่ายๆ ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะทางการเงินของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และสุขภาวะทางการคลังของเมืองได้อีกต่างหาก

 หลายเมืองทั่วโลกเริ่มต้นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมการเดินและการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีเป้าหมายกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเริ่มต้นจากร้านค้าปลีกขนาดเล็กสู่ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจเมือง 

ภาพ : Tristan Cleveland

แผนที่ผสมกราฟิกด้านบนเป็นฝีมือของ Tristan Cleveland นักผังเมืองแห่งศูนย์ Happy City ผู้ศึกษาวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างการเดินและเศรษฐกิจเมือง เขาชวนเราจินตนาการว่า ถ้าทุกบ้านไม่มีห้องน้ำ และทุกครั้งที่ต้องการทำธุระส่วนตัว คุณต้องขับรถจากบ้านไปห้องน้ำสาธารณะเสมอ ถ้าเป็นแบบนั้น รถคงติดมาก และผู้ใช้รถก็เปลืองเงินค่าเติมเชื้อเพลิงรถยนต์ แถมยังเสียเวลา 

ดังนั้น การไม่มีห้องน้ำจึงไม่ใช่แค่ความไม่สะดวกสบาย แต่ยังทำให้เสียทรัพย์ และฉุดรั้งการเติบโตเศรษฐกิจเมืองด้วย  

ในทางตรงข้าม ปัจจุบันไม่ใช่เพียงทุกบ้านมีห้องน้ำในตัวอยู่แล้ว แต่การปลูกสร้างบ้านยังเลือกทำเลที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต อย่างชาวเมืองมินนีแอโพลิส สหรัฐฯ ที่มักปลูกบ้านสร้างชุมชน ซึ่งสามารถเข้าถึงร้านกาแฟ ร้านตัดผม ธนาคาร ฯลฯ ด้วยการเดินเท้า ประหยัดทั้งเวลาและเงิน

“อยากกินขนมปังแต่ต้องขับรถไป ก็ไม่ต่างอะไรกับการขับรถไปเข้าสุขา” Cleveland เปรียบเทียบไว้ 

เขายังชวนตั้งข้อสังเกตอีกว่า สิ่งที่สะท้อนความเป็นย่านใจกลางเมืองและศูนย์กลางเศรษฐกิจ นอกจากอาคารสำนักงาน ระบบขนส่งสาธารณะสะดวกสบาย ก็คือความคึกคักของร้านค้าที่อยู่ในระยะเดินได้  

Cleveland อธิบายว่า การเดินในชีวิตประจำวัน เป็นแบบเดียวกับหัวใจของระบบเศรษฐกิจ นั่นคือ “ทำได้มากในเวลาและต้นทุนที่น้อยกว่า” (doing more in less time and cost) ถ้าคนส่วนใหญ่เลือกเดินไปที่ต่างๆ ได้ถึงในระยะ 5-10 นาที และทำกิจกรรมได้หลายๆ อย่าง ในเวลาอันสั้น ก็จะทำให้พวกเขามีผลิตภาพหรือ ‘โปรดักทีฟ’ มากกว่า

ดังนั้น การสร้าง “ย่านเดินได้” จึงไม่ได้เป็นแค่ความสะดวกสบายส่วนบุคคล แต่ยังส่งผลโดยตรงต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย

หลายเมืองพัฒนาแล้วที่เดินได้ มักมีเลข GDP สูงๆ หรือมีอัตราการบริโภคมวลรวมในเมืองที่สูงมาก ซึ่งหมายถึงเม็ดเงินที่หมุนเวียนในระบบนั่นเอง 

ภาพ Tristan Cleveland นักผังเมืองแห่งศูนย์ Happy City (https://www.thestar.com/opinion/contributors/2019/09/30/tristan-cleveland-the-halifax-cfl-stadium-proposal-is-an-insult-to-taxpayers-and-should-get-sacked.html)

พลังทางเศรษฐกิจจากทางเท้าในเขตเมืองและการดึงดูดแรงงานทักษะขั้นสูง 

The Center for Real Estate and Urban Analysis เพิ่งเปิดเผยรายงาน Foot Traffic Ahead 2019 ได้ศึกษาพื้นที่เมืองขนาดใหญ่ 30 เมืองของสหรัฐฯ ซึ่งล้วนมีโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมการเดิน กล่าวคือ สถานที่ต่างๆ ในย่านหนึ่งๆ ตั้งอยู่ในระยะเดินเท้าถึง พบว่า เมืองเหล่านี้ล้วนมีพลังทางเศรษฐกิจมหาศาล อาทิ  นิวยอร์ก เดนเวอร์ ซานฟรานซิสโก วอชิงตัน ดี.ซี. บอสตัน และชิคาโก เป็นต้น 

ที่เมืองเดนเวอร์ เมืองหลวงของรัฐโคโรลาโด พบว่าตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา เมืองนี้มี GDP เติบโตต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัดเนื่องจากมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมการเดินและระบบขนส่งมวลชน แม้ยังไม่มีข้อเท็จจริงยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างการลงทุนดังกล่าวว่าเชื่อมโยงโดยตรงอย่างไรกับการเติบโตของ GDP แต่ผู้วิจัยก็สันนิษฐานว่า อย่างน้อยโครงสร้างพื้นฐานเมืองที่ดีขึ้นทั้งทางเท้าและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนสภาพแวดล้อมเมืองที่ดีนั้น ช่วยดึงดูดแรงงานทักษะขั้นสูงให้เข้ามาทำงานในเมือง และดึงดูดให้บริษัทใหญ่ๆ เข้ามาลงทุนตั้งสำนักงาน ซึ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองได้โดยตรงจากกำลังการใช้จ่าย และเม็ดเงินที่ไหลเวียนในเมืองเดินได้ก็มักกระจายไปยังธุรกิจขนาดเล็ก-กลางในเมืองนั่นเอง

ตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองและประเทศโดยเฉพาะในยุค “เศรษฐกิจฐานความรู้” ก็คือ การเลือกลงทุนตั้งสำนักงานของบริษัทระดับโลก หรือแม้กระทั่งบริษัทสตาร์ตอัพส์ทางเทคโนโลยี รวมทั้งการย้ายเข้ามาทำงานของแรงงานคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยทักษะขั้นสูง ซึ่งบริษัทเหล่านี้ล้วนต้องการเมืองที่ ‘เดินได้’ และ ‘เดินดี’ ทั้งสิ้น

ภาพ https://www.bizjournals.com/denver/blog/boosters_bits/2014/09/more-on-the-cover-story-what-makes-colorado.html 

ทางเท้า : โครงสร้างกระจายความมั่งคั่งอย่างทั่วถึง 

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล  ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) และหัวหน้าโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี (GoodWalk) เคยกล่าวไว้ว่า การพัฒนาโครงสร้างทางเท้าเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับกลางและระดับย่อย เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองที่ผู้คนนิยมใช้รถยนต์เป็นพาหนะเดินทาง เนื่องจาก ความรวดเร็วในการเคลื่อนที่ แปรผันตรงกับความคึกคักในการจับจ่ายใช้สอย  เพราะฉะนั้น การเดินเท้าจึงมีผลโดยตรงต่อความคึกคักทางเศรษฐกิจ ช่วยกระจายความมั่งคั่งไปยังธุรกิจอย่างทั่วถึง 

นอกจากนี้ เมืองที่มีทางเดินเท้าคุณภาพ จะสร้างสำนึกของความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม ส่งเสริมให้คนมองเห็นความแตกต่างหลากหลาย และ เป็นพื้นที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมด้วย

ราคาที่คน+เมืองต้องจ่ายถ้าเมืองเดินไม่ดี 

ย้อนกลับไปที่แนวคิดของนักผังเมือง Tristan Cleveland เขารวบรวมข้อเสียหากเมืองเดินไม่ได้ ทั้งผลกระทบในระดับบุคคลและในระดับเมือง ดังนี้ 

ระดับบุคคล 

  • ค่าเชื้อเพลิง ค่าจอดรถ ค่าประกัน ค่าซ่อมบำรุง  
  • เสียเวลาหาที่จอดรถ (มีผลการศึกษาในนิวยอร์ก พบว่า การวนหาที่จอดด้วยเวลาเพียง 15 นาที มีค่าใช้จ่ายที่เจ้าของรถต้องเสียมากกว่า 2,243 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี)
  • ค่ารักษาพยาบาลกรณีประสบอุบัติเหตุ 

ระดับเมือง

  • รถติด (มีผลการศึกษา พบว่า ปัญหารถติดในเมืองโตรอนโต แคนาดาทำให้เมืองมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี)
  • การใช้พื้นที่เมืองอย่างไม่คุ้มค่าสำหรับการเป็นที่จอดรถ และการลงทุนสร้างอาคารจอดรถ
  • ต้นทุนสินค้าที่สูงขึ้นจากค่าขนส่งและเชื้อเพลิงในการขนส่ง ที่มีผลต่อต้นทุนสินค้า
  • คนเบื่อรถติดจึงไม่อยากออกจากบ้าน (ผลการศึกษา ระบุว่า โตรอนโตสูญเงินกว่า 1.5-5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในระบบเศรษฐกิจเพราะปัญหารถติดทำให้คนไม่อยากออกมาจับจ่าย)
ภาพ https://medium.com/happy-cities/walking-economics-aaf64898f361

โดยสรุป Cleveland อธิบายว่า ประสิทธิภาพของเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับต้นทุนสองอย่าง

คือ ต้นทุนในการขนส่งสินค้ามายังหน้าร้าน ทั้งการขนส่งด้วยรถไฟ รถบรรทุก หรือเรือ และอีกต้นทุนหนึ่งที่สมัยก่อนอาจมองข้าม คือต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องเดินทางมาจับจ่ายซื้อของ ซึ่งแต่ละคนอาจเดินทางมาด้วยรถยนต์ รถประจำทาง จักรยาน หรือเดิน

และเป็นการเข้าถึงหน้าร้านด้วยการเดินนี่แหละ ที่ไม่สร้างต้นทุนสักบาทเดียวให้กับผู้บริโภคและเมือง นั่นจึงเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมการสร้างเมืองเดินได้เดินดีจึงสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจนัก

ที่มาข้อมูล

  1. https://medium.com/happy-cities/walking-economics-aaf64898f361 
  2. https://urbanland.uli.org/sustainability/houston-economic-case-walkability/ 
  3. https://www.brookings.edu/blog/the-avenue/2019/07/12/the-economic-power-of-walkability-in-metro-areas/
  4. https://www.voicetv.co.th/read/329397

Contributor