30/03/2020
Environment

ไขปัญหามลภาวะเมืองยุค 4.0 พลเมืองต้องตื่นรู้และมีส่วนร่วม

The Urbanis
 


ชีวิตคนเมืองทุกวันนี้ต้องปะทะกับมลภาวะทุกรูปแบบ ตั้งแต่อากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่น PM2.5 เสียงแตรกลางสี่แยกจราจร ไปจนถึงแสง LED จากป้ายโฆษณาที่จ้าเกินมองเห็น

เราใช้ชีวิตร่วมกับมลภาวะเหล่านี้ทุกวัน แต่เราจำเป็นต้องยอมรับมันจริงหรือ?

“ทำอย่างไร พลเมืองถึงจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเมืองได้?” นี่คือคำถามสำคัญที่ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นในเวทีเสวนาสาธารณะ Citizen’s Sense of The City ชีวิตคนเมืองในมลภาวะ “อากาศ แสง เสียง” เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 โดยมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

ชวนคนมาจัดเก็บข้อมูล สร้างความสำคัญของพลเมือง

ผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) เริ่มต้นพูดถึงโครงการสังเกตการณ์ชีวิตคนเมือง 4.0 (Urban Observatory & Engagement) ว่าปัญหาของข้อมูลเมืองในปัจจุบันยังขาดความถูกต้องและเป็นประโยชน์ หากภาคส่วนต่างๆ ชักชวนประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จัดเก็บข้อมูลเมืองที่ซับซ้อน เพื่อประมวลใช้ในการออกแบบนโยบายสาธารณะที่ดีต่อไปก็น่าจะเป็นการแสดงพลังสำคัญได้ สอดคลองกับคีย์เวิร์ด ‘ใครกุมข้อมูล คนนั้นกุมอำนาจ’ ที่ รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ รองศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าโครงการวิจัยคนเมือง 4.0 เน้นย้ำว่ายุคนี้ไม่ใช่ยุคที่ประชาชนเป็นเพียงฝ่ายรับข้อมูลอีกต่อไปแล้ว

เมื่อก่อน ประชาชนยังไม่มีเครื่องมือในการเข้าถึงและผลิตข้อมูล แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและข้อมูลข่าวสาร ทำให้ข้อมูลจากภาครัฐเริ่มถูกตั้งคำถาม เช่น ทำไมตัวเลขรายงานมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมจากรัฐบาลถึงขัดแย้งกับชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดทางเทคโนโลยีหรือมาตรฐานในการวัดผล กรณีเช่นนี้ทำให้กระบวนการ ‘วิทยาศาสตร์ภาคพลเมือง (Citizen Science)’ เกิดขึ้นทั่วโลก เพื่อเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจในการผลิตข้อมูลมาอยู่ที่ประชาชนเป็นสำคัญ

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องหลุดพ้นจากกับดักปัญญาปานกลาง ด้วยการระดมปัญญาจากการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน (Collective Intelligence) ว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิตั้งคำถาม แสดงความรู้ความเชี่ยวชาญของตัวเอง และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน วิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองคือมิติการสร้างองค์ความรู้และข้อมูลเมืองแบบใหม่ ที่พลเมืองคือคนสำคัญในการมีส่วนร่วมสร้างนโยบายสาธารณะที่น่าเชื่อถือและมาจากข้อมูลที่ถูกต้อง แท้จริง 

เมื่อมลภาวะเต็มเมือง คนเมืองจะช่วยแก้ไขได้อย่างไร

ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ ยุคนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายๆ ตลอดเวลาผ่านสมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชัน ที่สามารถเข้าไปรายงาน ตรวจสอบ และร่วมเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ ได้อย่างเรียลไทม์ ซึ่งมีแอปพลิเคชันจำนวนไม่น้อยที่ออกแบบมาเพื่อชักชวนพลเมืองมาสร้างฐานข้อมูลเมืองและรายงานปัญหาร่วมกัน

เริ่มจากมลภาวะยอดนิยมอย่างฝุ่น ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้พูดถึง Receptor modeling เทคโนโลยีการวัดคุณภาพและตรวจหาสารพิษในอากาศ ที่สามารถชี้แหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ในเมืองได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ตรงจุด หรือแอปพลิเคชัน AirVisual ที่แสดงข้อมูล Air Quality Index (AQI) ของเมืองต่างๆ ทั่วโลก ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงให้ประชาชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศมากขึ้น พร้อมยังย้ำถึงหลักการกระจายอำนาจในการรายงานข้อมูลให้ประชาชนเป็นเหมือนผู้สื่อข่าวพลเมือง โดยรัฐบาลควรเป็นพี่เลี้ยงทำหน้าที่ส่งเสริมและตรวจสอบไปด้วยกัน

มลภาวะทางแสงอาจเป็นมลภาวะในเมืองที่หลายคนยังไม่ค่อยมองเป็นปัญหา แต่ ผศ.ดร.จรรยาพร สไตเลอร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและออกแบบการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ธนบุรี ย้ำให้เราเริ่มตระหนักว่าแสงจากสปอตไลท์ท่าเรือที่จ้าเกินไป หรือแสง LED จากป้ายโฆษณาที่ล่วงล้ำเข้ามาในห้องนอนก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาวโดยที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะสุขภาวะในการนอน (Melatonin Suppression) กรณีนี้ เราสามารถเริ่มป้องกันได้โดยควบคุมการส่องสว่างของแสงภายในบ้านเรือนและสถานประกอบการตนเอง เพราะหากก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น อาจถูกฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน Light Pollution Map ที่พัฒนาโดย Dunbar Technology ซึ่งเป็นฐานข้อมูลเปิดรายงานพื้นที่ที่มีมลภาวะทางแสงด้วยเช่นกัน

มลภาวะทางเสียงเป็นอีกหนึ่งมลภาวะเมืองที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพกายและใจของคนเมืองโดยที่เราไม่รู้ตัว อ.ขจรศักดิ์ กิตติเมธาวีนันท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมสังคีต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่าปัจจุบันมีคนกว่า 466 ล้านคนทั่วโลกที่สูญเสียการได้ยิน และคนอายุ 12-35 ปี กว่า 1 ล้านล้านคนกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินอันเนื่องมาจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมเสียงดังนานเกินไป เสียงที่ดังในเมืองไม่ว่าจะจากการคมนาคม ดนตรีคอนเสิร์ต หรือเสียงเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ อีกต่อไป นอกจากการร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่รัฐผ่านสำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร หรืออบต. และเทศบาล กรณีได้รับความรำคาญจากเสียงรบกวนแล้ว สิ่งที่ต้องตระหนักร่วมกันคือการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันซึ่งถือเป็นหน้าที่สำคัญของคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันในเมืองใหญ่

โครงการทดลองพัฒนาแผนที่มลพิษทางเสียง (Noise Map) ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ถือเป็นโครงการต้นแบบที่อาศัยการเก็บข้อมูลด้วยเทคโนโลยีเพื่อหาพื้นที่เสี่ยงด้านมลภาวะเสียงในกรุงเทพฯ สำหรับใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาต่อไป ซึ่งหากใครสนใจอยากลองเก็บข้อมูลเสียงในเมือง คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ฝ่ายวิจัย (Urban Intelligence) ได้แนะนำแอปพลิเคชัน Noise Tube ที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังเรื่องมลภาวะเสียงในเมือง และแอปพลิเคชัน Noise Capture ที่สามารถรายงานและบันทึกแหล่งกำเนิดเสียงรบกวนในเมืองในแต่ละพื้นที่ไว้ได้อย่างเรียลไทม์ ให้ได้ดาวน์โหลดไว้และแสดงพลังเป็นพลเมืองตื่นรู้กัน

การแก้ปัญหามลภาวะเมืองในยุค 4.0 จึงไม่ใช่แค่การรอคอยนโยบายจากรัฐอยู่ฝ่ายเดียว แต่พลเมืองทุกคนคือพลังสำคัญที่จะต้องตระหนักรู้ และไม่ผ่อนปรนต่อคุณภาพอากาศที่เราหายใจ เสียงดังที่ได้ยิน และแสงที่จ้าเกินเรามองเห็น เพราะเหล่านี้คือสมบัติส่วนรวมของเมืองที่เราทุกคนมีส่วนร่วมแก้ไขปรับเปลี่ยนได้ด้วยเทคโนโลยีโดยไม่เพิกเฉยอีกต่อไป เพราะ Active Citizen คือคำตอบสำคัญของการแก้ปัญหาเมืองในยุคนี้อย่างแท้จริง


Contributor