01/04/2022
Public Realm
เด็กสร้างเมือง: เด็กกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง
ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
ว่ากันว่าเด็กและเยาวชนคืออนาคตของชาติและพวกเขาคือคนที่จะเติบโตและอยู่อาศัยในเมืองนี้ต่อไป ฉะนั้นแล้วการพัฒนาเมืองจะไม่ต้องคำนึงถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนได้อย่างไร ในเมื่อพวกเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเช่นเดียวกัน แล้วในปัจจุบันเมืองของเราได้สร้างอนาคตร่วมกับเด็กมากแค่ไหน
หลายคนคงเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘คนสร้างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้สร้าง’ หลายครั้งที่พื้นที่สาธารณะไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน เพราะผู้ที่เป็นคนสร้างไม่ได้ลงมาใช้จริง หรืออาจไม่เข้าใจความต้องการหรือพฤติกรรมการใช้งานของคนบางกลุ่ม ปัญหาแบบนี้ก็เกิดได้กับกลุ่มเด็กๆ เช่นกัน อาทิ ปุ่มกดไฟข้ามถนนใกล้โรงเรียนอยู่สูงเกินกว่าที่เด็กจะเอื้อมถึง การมีสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นไม่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กในพื้นที่ ฯลฯ แล้วจะดีกว่าไหมถ้าเด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ที่ตนเองอยู่ ในเมื่อเด็กและเยาวชนก็เป็นผู้ใช้งานพื้นที่ภายในเมือง พวกเขาเหล่านี้ก็ควรมีสิทธิในการร่วมสร้างเช่นกัน
วันนี้เราจึงอยากชวนผู้อ่านมารู้จักกับโครงการพัฒนาที่ให้ความสำคัญเด็กๆ ในพื้นที่ และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยกันกับเด็กๆ ในการพัฒนาเมืองจากตัวอย่างในต่างประเทศ วันนี้เราจะมาเล่าและทําให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมและมีเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาเมืองได้ เพราะเราเชื่อว่าเมืองที่ดีคือเมืองที่เป็นมิตรแม้แต่กับเด็ก แล้วเหตุใดในการออกแบบวางแผนเพื่อพัฒนาเมืองจึงจะไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะในท้ายที่สุดเด็กๆ กลุ่มนี้เองคือกลุ่มที่จะเติบโตและอยู่กับเมืองต่อไป
โครงการ Neighbourhood Nature Play เมืองคิทเชนเนอร์ ประเทศแคนาดา
โครงการ Neighbourhood Nature Play ใช้เวลากว่า 2 ปี กับการเปลี่ยนแปลงสวนสาธารณะ Gzowski Park และ Kingsdale Park ที่ทรุดโทรม ให้กลายเป็นพื้นที่ศูนย์กลางชุมชนและเป็นสวนที่สภาพแวดล้อมอุดมไปด้วยธรรมชาติสำหรับเด็กๆ
โครงการนี้จัดทำโดย Evergreen องค์กรพัฒนาเมืองไม่แสวงหาผลกำไรในประเทศแคนาดา มีเป้าหมายในการให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองผ่านการทำโครงการ “Neighbourhood Nature Play” ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาครัฐและภาคประชาชน ไม่ว่าจะเป็น the City of Kitchener the Waterloo Region District School Board และ the Lyle. S. Hallman Family Foundation (องค์กรการกุศลท้องถิ่น)
องค์ประกอบที่สำคัญของโครงการ Neighborhood Nature Play คือการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสวนสาธารณะ ผ่านการทำกิจกรรมของครอบครัว งานเทศกาล และโปรแกรมที่กำหนดไว้เป็นประจำ โดยในระหว่างนี้ก็มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ชุมชน กลุ่มเยาวชน และสมาคมเพื่อนบ้านเพื่อให้แน่ใจว่าเสียงของเด็กๆ จะรวมอยู่ในกระบวนการวางแผนและเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
หนึ่งในกลยุทธ์หลักในการดึงดูดเด็ก ๆ คือการเปิดโอกาสให้เด็กได้ ‘เล่นอย่างอิสระ’ เพื่อจุดประกายกระบวนการออกแบบร่วม ที่ Gzowski Park เด็กๆ ได้เป็นผู้นำในการออกแบบสวนร่วมกัน ผ่านพื้นที่ทดลองซึ่งเป็นผืนป่าขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘ป่ามรณะ (dead forest)’ เป็นผืนป่าที่ถูกละเลยและละเลยกลายเป็นโอกาสให้เด็กๆ ได้ลองใส่จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ลงบนภาพผืนป่าในแบบของตัวเอง เด็กๆ ใช้แผ่นไม้ สิ่งทอที่นำกลับมาใช้ใหม่ ท่อนไม้ ตอไม้ กิ่งไม้ และเชือกในการออกแบบพื้นที่ เด็กๆ สร้างป้อม พื้นที่ชุมนุม ร่วมกันสร้างหมู่บ้านขนาดเล็ก และเริ่มเล่าเรื่องเกี่ยวกับบ้านในป่าหลังใหม่ของพวกเขา วิธีการนี้ได้เปลี่ยนสถานที่จากการถูกลืมให้น่าจดจำ
โครงการ Neighborhood Nature Play สร้างผลลัพธ์ที่น่าประทับใจในการทำพื้นที่สวน Gzowski Park และ Kingsdale Park ให้เป็นที่ที่ให้ความสำคัญกับการเล่นของเด็กๆ เป็นหลักโดยที่เด็กๆ ในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างสรรค์พื้นที่ในแบบที่ตนเองต้องการ ด้วยเหตุนี้ เมืองคิทเชนเนอร์จึงเปลี่ยนแนวทางในการวางแผน การพัฒนาอุทยาน เพื่อสนับสนุนแนวทางการจัดสถานที่ที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางมากขึ้น
โครงการ Illustrated postcards of Guimarães เมืองกีมาไรช์ ประเทศโปรตุเกส
“Illustrated postcards of Guimarães” เป็นโครงการในการศึกษาภูมิทัศน์เมืองและเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการวางแผนภูมิทัศน์ (Guimarães’ Landscape Plan) ของเมืองกีมาไรช์ (Guimaraes) ประเทศโปรตุเกส โครงการนี้ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กในเรื่องภูมิทัศน์และอนาคตของเมือง Guimarães โดยใช้โปสต์การ์ดเป็นเครื่องมือสื่อสารเพื่อที่จะให้เยาวชนเห็นภาพและเกิดความเข้าใจภูมิทัศน์ของเมือง
โดยจะมีการเรียนการสอนให้เยาวชนเข้าใจกรอบแนวคิดของ พื้นที่-สถานที่-ภูมิทัศน์ ก่อนที่จะมีการให้อภิปรายเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ของเมืองด้วยการเรียงลำดับโปสต์การ์ดตามประวัติศาสตร์ของจัตุรัส Toural Square ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมืองกีมาไรช์ และต่อมาจะให้เด็กๆ ทดลองศึกษาภูมิทัศน์เมืองผ่านสำเนาโปสต์การ์ดปัจจุบัน 6 ใบ ที่มีรูปของถนน จัตุรัส และสถานที่ทางประวัติศาสตร์ โดยที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้นำเสนอมุมมองและความต้องการใหม่ ๆ สร้างความรู้สึกใหม่ ๆ ที่มีต่อสถานที่ภายในเมือง ซึ่งอาจไปนำสู่แนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคต
โดยกลุ่มโฟกัสของโครงการนี้ประกอบด้วยเด็กๆ จากศูนย์กิจกรรมสำหรับเด็ก ศูนย์การศึกษา และโรงเรียน โดยมีอายุระหว่าง 6-13 ปี โครงการนี้ยังแสดงให้เห็นว่าเมืองต่างๆ สามารถส่งเสริมให้เยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองได้จากการศึกษาเรียนรู้จากเครื่องมือง่ายๆ อย่างโปสต์การ์ด และเครื่องมือที่ใช้งานได้จริง ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดไอเดียใหม่ในการสร้างภูมิทัศน์ภายในเมืองที่ดีขึ้น
โครงการ Public Spaces for Children เมืองมาปูโต ประเทศโมซัมบิก
มาปูโต (Maputo city) เมืองหลวงของประเทศโมซัมบิก (Mozambique) เป็นเมืองหนึ่งที่ประสบกับปัญหาพื้นที่สาธารณะที่ลดลงและไม่ปลอดภัย เด็กๆ ถูกปฏิเสธไม่ให้ออกมาเล่นนอกบ้าน ทำให้เทศบาลเมืองมาปูโตหันมาทำงานร่วมกับ UNICEF และ UN-Habitat ในการนำเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง
โครงการนี้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กในการสะท้อนและการออกแบบพื้นที่ในเมืองในมาปูโต ผ่านการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อยกระดับความรู้และความคิดเห็นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน และเพื่อให้แน่ใจว่าได้ยินเสียงของเด็กๆ เหล่านี้ได้รับการตอบรับและนำไปสู่การปฏิบัติจริง
เด็กๆ มีส่วนร่วมในการรวบรวมข้อมูล ผ่านการใช้แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนติดตามเส้นทางจากบ้านไปโรงเรียน ตลอดจนพื้นที่หรือจุดที่เกี่ยวข้อง ระหว่างการใช้ GPS เด็กๆ จะถูกจัดกลุ่มกับเพื่อนๆ ที่พวกเขามักจะเดินทางไปโรงเรียนและกลับบ้านด้วยกัน แต่ละกลุ่มจะได้รับโทรศัพท์พร้อมแอปพลิเคชันที่ติดตั้งไว้เพื่อแมพสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวันและปัญหาตามเส้นทางต่างๆ นอกจากนี้ยังบันทึกปัญหา ความรู้สึก และความคิดเห็นในแต่ละวันเกี่ยวกับพื้นที่สาธารณะต่างๆ หรือจุดที่น่าสนใจ ในระหว่างการรวบรวมข้อมูล เด็กๆ ได้ระบุสถานที่และจุดต่างๆ มากมาย รวมถึงตำแหน่งต้นไม้ ทางเท้า ถนน พื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก และสนามฟุตบอล และอื่นๆ อีกมากมาย แอปพลิเคชันนี้ยังช่วยในการบันทึกภาพสถานที่ต่างๆ เพื่อช่วยให้เด็กๆ อธิบายสิ่งที่เจอด้วยหลักฐานและข้อพิสูจน์โดยใช้ข้อมูลแบบเรียลไทม์สำหรับให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้กำหนดนโยบายในการวางผังเมืองนำไปต่อยอด
หลังจากการเก็บข้อมูลและการนำข้อมูลมาพูดคุยกันระหว่างการตรวจสอบ เด็กๆ ใช้กระดาษแข็ง กาว ดินเหนียว และดินสอสีบนภาพถ่ายทางอากาศเพื่อแสดงความคิดเห็นในการแปลงโฉมพื้นที่สาธารณะประเภทต่างๆ โดยเน้นถึงสาเหตุและวิธีการทำให้พวกเขาปลอดภัยและสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งการที่เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการวางแผนนั้น สามารถนำไปสู่ปรับเปลี่ยนรูปแบบเมืองและพัฒนาเมืองที่ยั่งยืนได้ ด้วยข้อมูลจากการสังเกตและบันทึกผ่านสายตาของเยาวชนตัวน้อย ข้อมูลเหล่านี้จะนำสู่กระบวนการตัดสินใจและกำหนดนโยบายสำหรับการวางผังเมือง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพื้นที่ใกล้เคียง และการฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน
เพราะเด็กและเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของเมือง พวกเขาจึงมีสิทธิร่วมสร้างเมืองที่ตนอยู่
จากทั้งสามโครงการที่เราได้หยิกยกมาเล่าในวันนี้ ทำให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ไม่ควรถูกมองข้ามในกระบวนการพัฒนาเมือง เพราะพวกเขาสามารถเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองของตนเองได้ และสามารถนำเสนอให้เห็นถึงมุมมองที่แปลกใหม่ ไอเดียการออกแบบใหม่ๆ ที่ผู้ใหญ่หลายคนอาจมองข้ามไป
โดยการนำเด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองนั้น สามารถทำได้ในหลายรูปแบบและลายขั้นตอน ตั้งแต่การเรียนรู้และออกแบบผ่านรูปภาพจากโครงการ Illustrated postcards of Guimarães เพื่อทำความเข้าใจภูมิทัศน์ของตนเอง หรือผ่านการสำรวจและเก็บข้อมูลจากตัวอย่างโครงการ Public Spaces for Children ที่ให้เหล่าเด็กๆ ในพื้นที่เก็บข้อมูลพื้นที่ของตนเองอยู่และแบ่งปันสิ่งที่พบเจอในมุมมองความคิดของพวกเชา หรือผ่านการทดลองพื้นที่ทดลองเหมือนในโครงการ Neighbourhood Nature Play ที่ให้เหล่าเด็กสร้างสรรค์พื้นที่เล่นในแบบของตัวเองบนพื้นที่ที่ไม่มีอะไรเลย หรือจะผ่านการเล่นเกม ผ่านการลงมือทำร่วมกัน และอีกสิบอีกร้อยวิธีการที่จะพาเหล่าเด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในเมืองที่เขาอยู่
กระบวนการมีส่วนร่วมเหล่านี้นอกจากจะทำให้เด็กๆ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเมืองมากขึ้น ยังนำไปสู่การพัฒนาเมืองน่าอยู่ได้อีกด้วย เพราะเมืองที่หน้าอยู่ในสายตาของเด็กๆ ก็เป็นเมืองที่หน้าอยู่สำหรับทุกคนเช่นกัน นอกจากนี้ ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งความคิดเห็น ภาพวาด ผลงานที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์และการลงมือทำของเด็กๆ สามารถนำไปใช้ต่อยอดการวางแผนออกแบบเมืองในอนาคตได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS
ที่มาข้อมูล
THE POWER OF PLAY: CHILD-LED PLACEMAKING IN PARKS
ILLUSTRATED POSTCARDS OF GUIMARÃES
MAPUTO’S CHILDREN TRANSFORM AREA THROUGH DIGITAL DATA COLLECTION