17/12/2021
Insight

พลวัติเมืองเชียงใหม่: ช่วงเวลาของการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมือง

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


เมืองเชียงใหม่ในปัจจุบันกับอายุร่วม 725 ปี เมืองที่มีพลวัติทางการเมืองและการพัฒนาเมืองมาอย่างยาวนาน จากการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการปกครอง ระบบความคิดความเชื่อ วัฒนธรรม และโครงสร้างทางกายภาพของเมือง จนตอนนี้กลายเป็นเมือง มีวิถีชีวิตแบบเมือง ทีมีความหลากหลายสลับซับซ้อนของผู้คนและปัญหาที่เกิดขึ้นภายในเมือง ดังนั้น รูปแบบการพัฒนาเมืองและลักษณะทางกายภาพ อาคาร รูปแบบกิจกรรม กิจการของเมืองจึงเป็นเครื่องสะท้อนเรื่องราว ความเป็นมาของเมือง ซึ่งผ่านห้วงของการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงที่หลากหลายและยาวนาน

เชียงใหม่ในฐานะหัวเมืองมณฑลพายัพ

เริ่มต้นตั้งแต่เชียงใหม่ในการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งเน้นการพัฒนาพื้นที่ในระบบที่สนับสนุนการทำงานของราชการ โครงสร้างพื้นที่ฐาน มีการสร้างโรงเรียน สถานีรถไฟ โรงพยาบาล ตลาด และโรงสี

เชียงใหม่ในหน้าตาของเมืองสมัยใหม่

เข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงเมืองในขั้นถัดมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในรูปแบบการบริหารราชการในรูปแบบ จังหวัด และเป็นช่วงที่เชียงใหม่กลายเป็นเมืองสมัยใหม่ จากการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่ทันสมัยมากขึ้น การก่อตั้งโรงเรียนแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการรื้อกำแพงเมืองชั้นในบางส่วนเพื่อขยายถนน (เหลือทิ้งไว้เพียงแจ่ง และประตูเมือง) มีการตัดถนนวงแหวนรอบใน (ถนนมหิดล-ซูปเปอร์ไฮเวย์) เกิดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ สร้างสถานีขนส่งผู้โดยสาร (อาเขต) และการเกิดขึ้นของตลาดในฐานะพื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่จับจ่ายใช้สอยของเมือง อาทิ ตลาดนวรัฐ ตลาดประตูเชียงใหม่ ตลาดประตูข้างเผือก

เชียงใหม่ในฐานะเมืองท่องเที่ยวและเมืองอนุรักษ์

ในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5- 6 รัฐมีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และเมืองเชียงใหม่เองก็เปิดรับการท่องเที่ยว ทำให้เกิดกิจการเฉพาะบางรูปแบบ เช่น กิจการโรงแรม กิจการรถทัวร์ ร้านอาหาร ร้านค้า ย่านธุรกิจหัตถกรรมรอบเมือง เกิดการขยายตัวของเมืองเป็นบริเวณกว้าง ส่งผลให้เกิดการประกาศใช้ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ฉบับแรก 2527 และมีการย้ายศูนย์ราชการเดิมไปยังศูนย์ราชการแห่งใหม่ เพราะเริ่มเกิดมีปัญหาภายในเมืองมีสภาพแออัด

เชียงใหม่เมืองใหญ่กับความซับซ้อนในบริบของเมืองในเมือง

ในระยะถัดมาการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม และการค้าการบริหารในเมือง การเข้ามาของธุรกิจในเชียงใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ การก่อสร้างสนามกอล์ฟ พร้อมกับการเกิดขึ้นของรูปแบบที่อยู่อาศัยแบบใหม่ คอนโดมีเนียม บ้านและที่ดินจัดสรร จนเกิดรูปแบบของการโตของเมืองออกไปอย่างไร้รูปแบบและประจัดกระจาย (เป็นช่วงที่มีการแก้ไขและปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ฉบับปรับปรุง 2532) มีการตัดถนนวงแหวนรอบกลาง รอบนอก การก่อสร้างสนามกีฬาซีเกมส์ (สนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี) เริ่มมีการสร้างสวนสาธารณะกาญจนาภิเษก การเกิดขึ้นของหอศิลปวัฒนธรรม

ปัจจุับัน เชียงใหม่ก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการพัฒนาทางด้านอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการท่องเที่ยว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้างสรรพสินค้า (ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา เชียงใหม่เฟสติวัล เมญ่า และพื้นที่พาณิชยกรรมประเภทเอวินิว และพื้นที่พาณิชยกรรมรูปแบบคอมมูนิตี้มอลต่างๆ)

1970 (พ.ศ. 2513)

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความพูดว่า "Chiang Mai 1970s [2513] 2500 วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ 25XX สถานีขนส่ง ช้างเผือก 2507 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2503 วิทยาลัยครูเซียงใหม่ 2453 กาดหลวง กองพลที 8 ค่ายกาวิละ 2491 สถานีรถไฟเชียงใหม่ 2513 สนามบินนานาชาติเชียงใหม่ The byUDDC Urbanis 1.25 URBANTH URBAN KM"

ช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-3 เมืองเชียงใหม่ ถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงเมืองครั้งสำคัญจากการวางรากฐานโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ทั้งการพัฒนาทางหลวง การชลประทาน การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง อาทิ การสร้างสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ สถานีขนส่งผู้โดยสารช้างเผือก การพัฒนาในพื้นที่รอบสถานีรถไฟเชียงใหม่ รวมถึงการเติบโตของย่านตลาดการค้าขอองเมือง อย่างกาดหลวงหรือตลาดวโรรส อีกทั้งยังเป็นช่วงของการวางรากฐานการเป็นเมืองการศึกษาระดับภูมิภาค ภาคเหนือ จากการเป็นสถานที่ตั้งของสถาบันการศึกษา โรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ (ชื่อในสมัยนั้น) วิทยาลัยเทคนิคภาคพายัพ (ชื่อในสมัยนั้น) รวมถึงบทบาทการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงพื้นที่ของเมืองของกองทัพหรือการใช้งานประเภทพื้นที่ทหารในเมือง อาทิ กองพลที่ 8 ค่ายกาวิละ กองพันสัตว์ต่าง กองบิน 41 เป็นต้น นอกจากนี้ในพื้นที่เมืองเก่ามีการรื้อกำแพงเมืองชั้นในและขยายพื้นที่คูเมืองเพื่อสร้างและอำนวยความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อ

จะเห็นได้ว่าในช่วงนี้ ศูนย์กลางการพัฒนาและเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของเมืองอยู่บริเวณพื้นที่ขนาบเเม่น้ำปิง บนถนนท่าแพ ถนนเจริญเมือง กาดหลวง สถานีรถไฟเชียงใหม่ เชื่อมพื้นที่เขตคูเมืองเก่าทางด้านตะวันออกกับพื้นที่ทางด้านทิศเหนือบริเวณช้างเผือก ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีขนส่งผู้โดยสารช้างเผือก

1980 (พ.ศ. 2523)

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

หลังจากนั้นการพัฒนาเมืองก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องย่านเศรษฐกิจปรากฎชัดเจนขึ้นบริเวณถนนท่าแพ เจริญเมือง และช้างคลาน มีการวางโครงสร้างทางกายภาพของเมืองผ่านระบบถนนวงแหวนรอบที่ 1 ซึ่งเชื่อมกับถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ บริเวณถนนมหิดล เมืองเชียงใหม่เริ่มมีการขยายตัวมากขึ้น ทำให้มีการขยายขอบเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงใหม่ให้มีเนื้อที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งให้ดีขึ้น มีการสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารแห่งที่ 2 ขึ้น บริเวณอาเขต ซึ่งเป็นพื้นที่ขอบนอกของเมืองสมัยนั้น เชื่อมต่อกับเส้นทางถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ และการเกิดขึ้นและเข้ามาของการใช้งานพื้นที่ในรูปแบบใหม่ๆ ของเมือง อาทิ สนามกอลฟ์ลานนา ศูนย์วัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น

ศูนย์กลางการพัฒนาเมืองยังคงอยู่บริเวณพื้นที่เศรษฐกิจขนาบสองฝั่งเเม่น้ำปิง และขยายไปบ้างในพื้นที่ที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคสาธารณูปการที่สำคัญของเมือง อย่างเช่น บริเวณโดยรอบสนามบิน รอบมหาวิทยาลัย

1990 (พ.ศ. 2533)

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

เข้าสู่ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 6-7 ซึ่งส่งเสริมการท่องเที่ยว เศรษฐกิจของเมืองมีการเติบโตสูงสุด มีการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเพิ่มเติม อาทิ การสร้างถนนและสะพานรัตนโกสินทร์ การประกาศใช้ผังเมืองรวมเชียงใหม่ฉบับแรก (พ.ศ. 2527) ตลอดจนการวางโครงสร้างถนนวงแหวนรอบที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการขยายตัวของธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท ศูนย์การค้า สนามกอล์ฟ คอนโดมิเนียม บ้านและที่ดินจัดสรรที่ตอบรับโจทย์ของการเป็นเมืองท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเมืองเชียงใหม่ที่ถือได้ว่าเป็นช่วงที่มีการเติบโตอย่างมาก จนทำให้เกิดปัญหาด้านทัศนียภาพของเมืองและปัญหาที่เกิดจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารสูง จนนำมาซึ่งการปรับปรุงผังเมืองรวมเชียงใหม่ ( ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 พ.ศ. 2532)

นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวก็เกิดรูปแบบการใช้งานพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองในรูปแบบใหม่นอกเหนือจากพื้นที่ตลาดและย่านการค้าแบบเดิมในอดีต เริ่มมีการเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นช่วงที่มีการเติบโตของธุรกิจการค้าปลีกในเมือง เกิดห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นหลายแห่ง อาทิ ห้างตันตราภัณฑ์ สาขา แอร์พอร์ต และสาขาช้างเผือก ห้าง ส.การค้า ห้างสีสวนพลาซ่า และริมปิงซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น

2000 (พ.ศ. 2543)

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

10 ปีหลังจากนั้น เมืองเชียงใหม่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจนขยายตัวไปเชื่อมกับพื้นที่เมืองลำพูน มีการเสนอและผลักดันนโยบายเมืองแฝดเชียงใหม่-ลำพูน อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในช่วงนี้คือการที่เมืองเชียงใหม่ได้รับเลือกให้เป็นพื้นที่จัดการเเข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 18 (พ.ศ.2538) และการจัดงานสมโภชเมืองเชียงใหม่ 700 ปี (พ.ศ. 2539) จึงมีการลงทุนโครงส้รางพื้นฐานเมืองที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนทั้งทางกีฬาและระบบคมนาคมขนส่ง ที่พักอาศัยต่างๆ มีการก่อสร้างสนามกีฬา 700 ปี การขยายสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ การย้ายศูนย์ราชการจากในพื้นที่เขตคูเมืองเดิมไปยังพื้นที่ในปัจจุบัน การเข้ามาของทุนต่างชาติ การพัฒนาห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าสมัยใหม่อาทิ อุทยาการค้ากาดสวนแก้ว ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าเชียงใหม่ แอร์พอร์ต ห้างเเมคโครเชียงใหม่ มีโชคพลาซ่า(จุดเริ่มต้นรูปแบบย่านการค้าแบบคอมมูนิตี้มอลตามสี่แยกและพื้นที่สำคัญของเมือง)

ถือเป็นช่วงที่มีเชียงใหม่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและเห็นได้ชัด ในกระบวนการวางผังเมืองเริ่มนำแนวคิดเกียวกับการสร้างเมืองบริวารของเมืองเชียงใหม่ ที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางรองรอบเมืองเชียงใหม่ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นั้นคือ วิกฤตเศรษฐกิจ “ฟองสบู่แตก” ในปี 2540

2010 (พ.ศ. 2553)

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

หลังวิฤตเศรษฐกิจปี 2540 เชียงใหม่เริ่มกลับมาพัฒนาและเติบโตอีกครั้งจากการพัฒนาโครงสร้างของเมืองในเชิงนันทนาการที่สำคัญ เช่น การพัฒนาโครงการไนท์ซาฟารี และการเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก ในปี 2549 ในทางตอนใต้ของเมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดการพัฒนาเพื่อรองรับมหกรรมและการกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งของเศรษฐกิจเมือง ทำให้เมืองเชียงใหม่ก็ยังคงมีการเติบโตและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างและพัฒนาพื้นที่ย่านการค้า พักผ่อนหย่อนใจในรูปแบบใหม่ อาทิ การพัฒนาพื้นที่บริเวณแยกรินคำ จากพื้นที่รกร้างและที่ดินเปล่า เปลี่ยนเป็นพื้นที่การค้าหัวมุมถนนซึ่งเชื่อมกับย่านนิมมานเหมินห์ การขยายตัวของเมืองจากบทบาทของเมืองการศึกษาและพื้นที่โดยรอบมหาวิทยาลัย การขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บ้านจัดสรร และคอนโดมีเนียม จากการที่ผังเมืองรวมเชียงใหม่หมดอายุ ในปี 2549

การขยายตัวของอสังหาริมทรัพย์ก็ยิ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหน้าตาของเมือง ที่มีรูปแบบที่หนาแน่นมากขึ้น ผู้คนหลากหลาย มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ซับซ้อน ไม่แพ้เมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ประกอบกับทุนทางกายภาพของเมือง ทุนทางวัฒนธรรม ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติของเมือง ทำให้เืมองเชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวการพักผ่อนหย่อนใจของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ

2020 (พ.ศ. 2563)

อาจเป็นรูปภาพของ ข้อความ

ถึงปัจจุบัน เชียงใหม่ในฐานะเมืองหลักของภูมิภาคและเมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับประเทศและระดับโลก จากค่านิยมของชาวต่างชาติเข้ามาพำนักในระยะยาว ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยวมีการขยายตัวอย่างถึงที่สุด หลังปี 2555 เป็นต้นมา เกิดการลงทุนโครงการศูนย์การค้าหลายขนาด เช่น ห้างสรรพสินค้าพรอมเมนาดา (Promenada Resort Mall) เซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่ (Central Festival Chiang Mai) ห้างสรรพสินค้าเมญ่า (Maya Lifestyle Shopping Center) สตาร์อเวนิว (Star Avenue) ประกอบกับการเข้ามาของการท่องเที่ยวของต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนซึ่งเป็นช่วงที่เชียงใหม่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมากในเชิงของรูปแบบกิจกรรมเศรษฐกิจและหน้าตาอาคารที่รองรับกับการท่องเที่ยวในรูปแบบเฉพาะ

จนถึงปี 2563 คงปฎิเสธไม่ได้ว่าเมืองเชียงใหม่เองก็ได้รับผลกระทบจาก วิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติด้านสาธารณสุขจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งกระทบกับธุรกิจการค้า เศรษฐกิจของเมืองโดยตรง โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันนี้เชียงใหม่กำลังกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง จากการเปิดเมืองเพื่อรอบรับการท่องเที่ยว แม้ว่าการเข้ามาของต่างชาติจะลดน้อยลง แต่การท่องเที่ยวและกิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศก็ยังคงเดินหน้า และกำลังกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง

ข้อมูลและบทวิเคราะห์ของบทความชิ้นนี้ เกิดจากความร่วมมือของ The Urbanis และ URBAN TH ผ่านการวิเคราะห์และแปลภาพถ่ายดาวเทียม Landsat : https://earthexplorer.usgs.gov/

สามารรถติดตามบทความของเมืองเชียงใหม่อื่นๆ ได้จากการสังเกตการณ์และเสริมสร้างพฤติกรรมคนเมือง เพื่อขับเคลื่อนและสร้างกา่รเปลี่ยนแปลงเมืองเชียงใหม่ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมายด้านสังคม แผนงานคนไทย 4.0


Contributor