02/12/2021
Public Realm
อนาคตงานและการอยู่อาศัยของมหานครแห่งโอกาส(?)
ชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์
“ภายใต้กระบวนการเป็นเมือง กิจกรรมในการดำเนินวิถีชีวิตล้วนแต่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เมือง” จากการศึกษาวิจัยคนเมือง 4.0 ที่กล่าวถึงมิติด้านต่างๆ ของวิถีคนเมือง ไม่ว่าจะเป็น การทำงาน การอยู่อาศัย การเดินทาง ตลอดจนการจับจ่ายใช้สอยในอนาคตโดยวิเคราะห์ร่วมกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงระดับต่างๆ ชี้ชัดว่ารูปแบบการใช้ชีวิตมนุษย์และความต้องการจะเปลี่ยนไป และเมืองก็จำต้องปรับเปลี่ยนตามด้วยเช่นกัน
จากการบรรยายสาธารณะ Urban Design Delivery อาหารสมองสถาปนิกผังเมือง ในหัวข้อ แนวโน้มอนาคตของการทำงานและที่อยู่อาศัย และ แนะนำการทำแผนที่เชิงระบบ (System mapping) ของ อาจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และ อาจารย์ภัณฑิรา จูละยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันนี้ The Urbanis ขอมาเล่าสาระสำคัญของเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาททำให้เกิดสังคมไร้พรมแดนที่หลายๆ สิ่งขับเคลื่อนผ่านโลกออนไลน์ ทั้งยังมีวิกฤตการณ์โควิด 19 ที่เป็นตัวเร่ง ทำให้ใครหลายคนได้สัมผัสกับวิถีการทำงานและการอยู่อาศัยในรูปแบบใหม่ เมืองของเรานั้นจะมีแนวโน้วเปลี่ยนแปลงที่แปรผันเป็นไปตามวิถีชีวิตรูปแบบใหม่อย่างไรบ้าง?
อนาคตงาน(บริการ)ในเมือง
การทำงาน ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญของระบบวิถีชีวิตเมือง เป็นกิจกรรมซึ่งมีความสำคัญและมีการดำเนินการบนพื้นที่เมืองในสัดส่วนค่อนข้างสูง อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการย้ายถิ่นฐานของกลุ่มประชากรจากพื้นที่เมืองชนบทหรือเมืองขนาดเล็กสู่เมืองที่มีขนาดใหญ่กว่า นำไปสู่การแปรสภาพของเมืองให้เติบโตขยายตามสัดส่วนประชากรที่สูงขึ้น จากการศึกษาพบว่าคนเมืองส่วนใหญ่ทำงานบริการ และยังมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของความต้องการเชิงพื้นที่จากออฟไลน์สู่ออนไลน์มากยิ่งขึ้น จากการเพิ่มขึ้นของเซคเตอร์ย่อยของงานบริการอย่างกลุ่มประเภทกลุ่มบริการความรู้ (white collar) และกลุ่มการนำแนวทางใหม่ (gold collar)
ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงกับงานในเมืองจนเห็นเป็นวิวัฒนาการอย่างชัดเจนตั้งแต่จากแรงงานคนสู่เครื่องจักร จากไอน้ำสู่ไฟฟ้า จากอนาล็อกสู่ดิจิทัล และจากแบ่งส่วนสู่ไร้รอยต่อ ดังที่เราต่างเริ่มคุ้นชินกับการที่เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของทุกกลุ่มทุกวัย นอกจากนี้ จากใจความสำคัญของหนังสือ โลกาภิวัตน์กับการทำงาน (the great convergence, Richard Balwin,2016) ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกเกิดขึ้น 3 ครั้งสำคัญ ได้แก่
- ราคาเคลื่อนย้ายสิ่งของที่ลดลง (lower trade cost) ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากการพัฒนาส่วนนโยบาย free trade การลดภาษีอากรระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าขายโลก และระบบเทคโนโลยีเพื่อการขนส่งประเภทต่างๆ
- ราคาแลกเปลี่ยนไอเดียความคิดลดลง (lower comm. cost) ในช่วงหลัง ค.ศ.1990 ซึ่งเกิดการพัฒนา Internet of Things (IoT) ที่ส่งเสริมให้เกิดการสื่อสารที่สะดวก นำมาซึ่งการเกิดแหล่งงาน บริษัทย่อยในเครือที่กระจายตัวทั่วโลก เกิดการย้ายเข้ามาของกลุ่ม expat ที่สูงขึ้น ตลอดจนกลุ่มแรงงานบริการเพื่อรองรับบริษัทลูกเพิ่มขึ้นเช่นกัน
- ราคาในการย้าย(ความรู้สึก)คนลดลง (lower face-face cost) ที่จะเริ่มเห็นชัดเป็นรูปเป็นร่างมากยิ่งขึ้นในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 ทำให้โปรแกรมหลายโปรแกรมถูกหยิบยกมาใช้ทดแทนการพบปะจริง
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวชวนให้คิดว่ารูปแบบการทำงานในอนาคตจะเป็นไปในทิศทางใด พื้นที่ทำงานอาจกลายเป็นเพียงพื้นที่ขนาดเล็กไม่เกิน 2 ตารางเมตรสำหรับวางเครื่องมือที่จำเป็นและไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพื้นที่ 2nd place หรือแหล่งงานที่เป็นอาคารสิ่งสร้างอีกต่อไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เมืองจะยังคงเป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับการทำงานอยู่หรือไม่ หรือโอกาสของการทำงานจะถูกเคลื่อนย้ายเข้าสู่ระบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบโดยสิ้นเชิง
ทำงานแบบไหนในเมือง 4.0
จากการวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงโดยตั้งอยู่บนฐานของปัจจัยความไม่แน่นอนและผลกระทบในระดับต่างๆ พบว่า แนวโน้มสู่อนาคตฐานเมืองหลวง เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงสำหรับการพัฒนาเมืองในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทเชื่อมโลกให้ใกล้กันมากขึ้นจนเกิดการขยายฐานการตลาดแต่ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการแข่งขันทางธุรกิจด้วยในทางเศรษฐกิจ การเกิดตลาดแรงงานมีความหลากหลายทั้งในเชิงอายุและทักษะเพื่อกระจายความเสี่ยงของงานบางประเภทที่ถูกลดบทบาทลง การขาดความยืดหยุ่นของพื้นที่เมืองที่ไม่สามารถตอบรับคนเมืองที่ทำงานไร้ที่ทางหรือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากการปรับใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือแม้แต่การที่มหานครกรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและมลพิษทางสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นจนกลายเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตเมืองไปโดยสิ้นเชิง (รายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ อนาคตของงานบริการกับชีวิตคนเมือง 4.0)
นอกจากนี้ ในการศึกษาเพิ่มเติมถึงแนวโน้มสู่ภาพอนาคตฐานเมืองหลัก อาทิ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา ฯลฯ ซึ่งเป็นแหล่งงานรองที่สำคัญของภูมิภาค พบว่ามีสภาพการณ์ที่น่าสนใจ ดังนี้ (การศึกษาดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและวิจัยเบื้องต้นเท่านั้น)
- คนในจำเป็นต้องออก คนนอกไม่จำเป็นต้องเข้า จากการเปลี่ยนแปลงสู่เมืองที่เริ่มพึ่งพาการทำงานบนแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้น ประกอบกับการที่เศรษฐกิจในท้องที่ไม่สามารถตอบโจทย์แรงงานและการศึกษาไม่ตอบโจทย์ผู้ว่าจ้าง
- ธุรกิจท้องถิ่นดิ้นรนกับการแข่งขันระดับโลก จากการเติบโตของเทคโนโลยีที่ส่งเสริมให้การเชื่อมต่อบนโลกออนไลน์สะดวกขึ้น ทำให้รอยต่อและระยะห่างของการติดต่อสื่อสารลดลง เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยผู้ลงทุนจากทั้งภายในและภายนอกที่สูงขึ้น
- เทคโนโลยีรุดหน้า แต่คุณค่าเดิมไม่รั้งท้าย จากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ทำให้เมืองมีโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างใกล้เคียงกัน การคงคุณค่าอัตลักษณ์เดิมของพื้นที่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่จะช่วยสร้างแบรนด์และแรงจูงใจในการลงทุนในอนาคต สู่โจทย์การสร้างเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีแต่ยังสามารถคงจิตวิญญาณในท้องถิ่นตนได้
- ความเปราะบางท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโต จากการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมสูงวัยที่ทำให้เกิดแรงงานหลากหลายอายุและทักษะ เกิดงานและการทำงานรูปแบบที่หลากหลายและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น และตระหนักถึงสวัสดิการและคุณภาพแรงงาน
จากการศึกษาแนวโน้มงานอนาคตในข้างต้น ทำให้เห็นว่าแม้กระบวนการเมืองที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องของงานแต่การทำงานเป็นเรื่องของการใช้พื้นที่เมือง หากงานเปลี่ยนเมืองซึ่งเป็นภาชนะรองรับกิจกรรมก็ย่อมต้องเปลี่ยนตามกันไป ดังนั้นเมืองต้องปรับตัวมุ่งเน้นการพัฒนาไปในทิศทางใดและอย่างไร ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ท้าทายโดยที่ยังคงคุณค่าเดิมไว้ได้ เพื่อให้เมืองยังคงเป็นพื้นที่แห่งโอกาสและมีส่วนช่วยสร้างความเป็นธรรมสำหรับแรงงานในอนาคต จะเป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญของการพัฒนาเมือง
อนาคตการอยู่อาศัยในเมือง
นอกเหนือจากงานแล้วอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีสัดส่วนการใช้งานพื้นที่สูงอีกอย่างหนึ่งคือ การอยู่อาศัย หนึ่งในปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต จากการศึกษาวิวัฒนาการอยู่อาศัยในเมืองพบว่าในกลุ่มประเภทที่อยู่อาศัยทั้งหมด ที่อยู่อาศัยแนวตั้งถือเป็นที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ของกรุงเทพฯ และยังเป็นทางเลือกของการอยู่อาศัยในยุคใหม่ที่ได้รับความนิยมสูงอย่างมาก แม้จะเห็นวิวัฒนาการหลากหลายเรื่อยมาตั้งแต่รูปแบบแฟลต อพาร์ตเมนท์ ตลอดจนคอนโดมิเนียมในปัจจุบัน แต่หากพิจารณาถึงระยะการพัฒนาจะพบว่าที่อยู่อาศัยแนวตั้งนั้นเริ่มเกิดขึ้นเพียงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาเท่านั้นซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่สั้นหากเทียบกับที่อยู่อาศัยประเภทอื่น ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยดังกล่าวยังขาดการวางแผนพัฒนาที่สอดคล้องกับทิศทางอนาคตเมืองที่จะเกิดการอยู่อาศัยหนาแน่นสูงหลายหมื่นแสนยูนิตในอนาคต
อยู่อย่างไรในเมือง 4.0
ในปัจจุบัน สถานการณ์การอยู่อาศัยแนวตั้งมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจที่จะนำไปใช้วิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยขับเคลื่อนอื่นๆ ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่าง 3 สถานการณ์สำคัญของการอยู่อาศัยแนวตั้ง ดังนี้
- ห้องคอนโดขนาดเล็ก เนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างที่สูงขึ้น ผนวกกับกำลังซื้อของกลุ่มคนโดยทั่วไปยังคงอยู่ที่ฐานเท่าเดิม ดังนั้นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงจำต้องมีการปรับรูปแบบการพัฒนา ลดขนาดพื้นที่เพื่อให้คนสามารถซื้อสินค้าต่อไปได้
- คอนโดราคาสูง เนื่องจากราคาที่ดินที่สูงขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและโครงข่ายคมนาคมระบบราง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตขยับสูงขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้จากการศึกษายังพบว่าอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้คอนโดมีราคาที่สูงขึ้นเกิดจากเทรนด์ของธุรกิจการเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ร่วมด้วย
- การปล่อยเช่าที่สูงขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองพึ่งพาการท่องเที่ยว ประกอบกับการที่กรุงเทพฯ มีบทบาทแหล่งงานหลักของประเทศ ทำให้มีปริมาณกลุ่มนักท่องเที่ยวและกลุ่มคนทำงานที่ย้ายจากนอกเมืองจำนวนมาก นำมาซึ่งการจับจองอสังหาริมทรัพย์เพื่อการปล่อยเช่า สำหรับรองรับกลุ่มคนทำงานนอกเมืองที่ไม่มีกำลังซื้อผูกขาดและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องอาศัยที่พักชั่วคราวระยะสั้น
นำมาสู่การคาดการณ์แนวโน้มอนาคตฐานของการอยู่อาศัย โดยวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่ตั้งอยู่ฐานข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันร่วมกับปัจจัยขับเคลื่อนในมิติต่างๆ อาทิ IoT การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีทำให้วิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยนไปพึ่งพาและเชื่อมโยงกันบนระบบคลาวน์มากยิ่งขึ้น Privatization of Cities การพัฒนาแบบล้อมรั้วใช้งานเป็นส่วนตัว Aging Society การเข้าสู่สังคมสูงวัย Individualism การใช้ชีวิตปัจเจคนิยม เป็นต้น ปรากฏเป็นอนาคตฐานทั้งหมด 7 อนาคตฐาน ได้แก่ 1) คอนโดเก่า ถูกทุบและสร้างใหม่เพื่อการอยู่อาศัยที่ฉาบฉวย 2) คอนโดยุคใหม่ คับที่จนคับใจ 3) แก่ตัวคนเดียวโดดเดี่ยวในคอนโด 4) เด็กคอนโดไม่เคยสัมผัสดิน ไม่เคยกินรสมือแม่ 5) โรงแรมข้างห้อง 6) ยุคเฟื่องฟูของแพลตฟอร์มการเช่า 7) ติดเกาะในคอนโดชุ่มน้ำ (รายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ เมือง4.0: จะอยู่อย่างไรในแนวตั้ง)
ทั้งนี้ ฉากทัศน์อนาคตดังกล่าวเป็นเพียงอนาคตฐานของการอยู่อาศัยเท่านั้น ซึ่งหากวิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและผลกระทบสูง โดยกำหนดแกนความเป็นไปได้ 2 แกน ได้แก่ แกนที่ 1: “การอยู่ร่วม” เป็นลักษณะที่โดดเด่นในสังคมไทย เช่น การอยู่อาศัยแบบสังคมขยายและพึ่งพากัน “การอยู่เดี่ยว”จากอิทธิพลความเป็นปัจเจคนิยมและการเปลี่ยนแปลงของที่อยู่อาศัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจด้าน
โครงสร้างครอบครัว แกนที่ 2: “การเติบโตดึงกลับสู่กลางเมือง”การที่เมืองเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาในทุกมิติ ทุกด้านมีความเหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตที่ครบครัน “การแผ่ขยายสู่ชานเมือง”พื้นที่ชานเมืองรองรับการขยายตัวของการอยู่อาศัยจากเมือง นำมาสู่ 4 ภาพอนาคตทางเลือกที่มีความเป็นไปได้ทั้งภาพอนาคตไม่พึงประสงค์ไปจนถึงภาพอนาคตที่พึงประสงค์ ตามลำดับ ดังนี้ 1) รังไหมในชั้นคอนกรีต 2) โพรงนกฮูกในป่าดิบ 3) เหล่ากระต่ายในถ้ำใต้ทะเลทราย 4) เมืองนกกระจาบ ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่ส่งเสริมการดึงการพัฒนากลับเข้าสู่ศูนย์กลางและสร้างการอยู่ร่วมของกลุ่มคนที่หลากหลายอย่างสมดุล ผ่านการปรับตัวเชิงกายภาพ อาทิ การแบ่งพื้นที่ใหม่ในเขตผนังเดิมเป็นแนวทางสำคัญของการปรับปรุงที่อยู่อาศัยใหม่ การเกิดพื้นที่กลางและพื้นที่สีเขียวสอดแทรกตัวระหว่างบ้านในอาคารสูงอย่างทั่วถึง พื้นที่สาธารณะเมืองคือห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 19 นั้นได้สร้างผลกระทบอันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการอยู่อาศัยที่ศึกษาในข้างต้นบางประการเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสของการย้ายที่อยู่อาศัยสู่พื้นที่ชานเมือง ลดการแชร์เน้นอยู่เดี่ยวเนื่องจากลดการแพร่ระบาด ซึ่งจะเป็นอีกแนวโน้มสำคัญที่อาจชักนำให้กรุงเทพฯ เติบโตไปในทิศทางภาพอนาคตทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากภาพอนาคตพึงประสงค์ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์สำคัญของการพัฒนาเมืองต่อไปเช่นกัน
กรุงเทพ – มหานคร(ชั่วคราว)
จากการศึกษาปัจจัยทั้งในเชิงบวกและเชิงลบรวมถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ในข้างต้น กล่าวได้ว่า หากเมืองยังคงเติบโตเช่นเดิมต่อไปในลักษณะเดิมที่ไร้การปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง มีโอกาสที่เมืองจะเริ่มปรับสภาพสู่การเป็นมหานครชั่วคราวที่คนขาดความผูกพันต่อเมืองนำไปสู่ย้ายออก จากการที่เมืองไม่สามารถให้คุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ตอบโจทย์การดำรงชีวิตในอนาคต ผนวกกับกายภาพที่ไม่เอื้อต่อการสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม อีกทั้งยังไม่สามารถรองรับความต้องการของแหล่งงานและรูปแบบงานที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกออนไลน์ตามกระแสเทคโนโลยีที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้เมืองไม่มีจุดดึงดูดหรือแรงจูงใจให้คนเมืองอาศัยอยู่ในเมืองอีกต่อไป
ดังนั้น ในการพัฒนาเมืองไม่ใช่เพียงวางแผนเพื่อลดความรุนแรงหรือรับมือกับแนวโน้มเชิงลบ แต่ควรตั้งเป้าประสงค์เพื่อลดการเกิดภาพอนาคตไม่พึงประสงค์และสร้างทิศทางความเป็นไปได้ของภาพอนาคตพึงประสงค์ให้สูงขึ้น โดยต้องเริ่มผลักดันการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่นโยบายสู่ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมและถ่ายการพัฒนาลงสู่กายภาพในระดับโครงการ เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สร้างแรงดึงดูดและแรงจูงใจให้คนยังคงอยากอยู่อาศัยในเมือง และเพื่อให้เมืองยังคงทำหน้าที่เป็นพื้นที่แห่งโอกาสสำหรับทุกคนได้ต่อไป
หมายเหตุ: เรียบเรียงจากการบรรยายสาธารณะ แนวโน้มอนาคตของการทำงานและที่อยู่อาศัย และ แนะนำการทำแผนที่เชิงระบบ (System mapping) โดย อาจารย์ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ และ อาจารย์ภัณฑิรา จูละยานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 31 สิงหาคม 2564 เป็นส่วนหนึ่งของชุดการบรรยายสาธารณะ URBAN DESIGN DELIVERY อาหารสมองสถาปนิกผังเมือง เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาหลักการวางผังและออกแบบชุมชนและปฏิบัติการวางผังและออกแบบชุมชน (District Planning) ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The Urbanis
ภาพปกบทความจาก brgfx – www.freepik.com