25/11/2021
Public Realm

บทบาทหน้าที่ของสถาปนิกผังเมือง และจรรยาบรรณวิชาชีพที่ต้องรู้

บุษยา พุทธอินทร์
 


เมืองมีองค์ประกอบต่างๆ ที่ต้องการคนดูแล บ้านเรือนและอาคารต้องการสถาปนิกเข้ามาดูแล พื้นที่ภายในอาคารต้องการผู้ออกแบบภายในเข้ามาดูแล ส่วนพื้นที่สีเขียว พื้นที่ธรรมชาติ ต้องการภูมิสถาปนิกเข้ามาดูแล ดังนั้น พื้นที่ระหว่างอาคาร ตลอดจนภาพรวมของเมือง ภูมิทัศน์และโครงสร้างของเมืองที่ทำให้ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จึงต้องการสถาปนิกผังเมืองเข้ามาดูแลเฉกเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ สังคมจะได้ประโยชน์มากที่สุดหากทุกสาขาสถาปัตยกรรมทำงานไปพร้อมกันอย่างมีขอบเขตความรับผิดชอบที่ชัดเจน จึงกล่าวได้ว่า อีกสิ่งสำคัญของภาระหน้าที่อันอยู่ในความรับผิดชอบคือการเข้าไปผลักดันวิชาชีพให้เกิดความชัดเจนขึ้นในอนาคตเพื่อรับใช้สังคมอย่างมีมาตรฐาน

The Urbanis สรุปสาระสำคัญว่าด้วยหน้าที่ของสถาปนิกผังเมืองและจรรยาบรรณที่ต้องรู้ ตลอดจนบทบาทของสภาสถาปนิกและสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) จากการบรรยายสาธารณะ “สถาปัตยกรรมผังเมืองคืออะไร วิชาชีพสถาปนิกผังเมือง จรรยาบรรณ” โดย รศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ รองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่ง, ผศ.ดร. ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และ อาจารย์ธนิชา นิยมวัน อาจารย์พิเศษภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา

รศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ รองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่ง

การมีสิทธิมีเสียงในสภาสถาปนิก คือ อนาคตของวิชาชีพที่แท้จริง 

รศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ รองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ อุปนายกสภาสถาปนิกคนที่หนึ่ง กล่าวว่า หากเรากล่าวถึงเส้นทางในการประกอบวิชาชีพของสถาปนิกผังเมือง ความจำเป็นขั้นต้นนั่นคือการนำตัวเองเข้าไปเป็นสมาชิกสภาสถาปนิก 

สภาสถาปนิก เป็นองค์กรหลักตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ที่มีบทบาทหลักในการควบคุมการปฏิบัติวิชาชีพให้ได้มาตรฐานที่ดีและพัฒนาวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้มีความก้าวหน้าสอดคล้องกับการพัฒนาวิชาชีพในระดับสากล กล่าวคือ บทบาทหนึ่งของสภาสถาปนิกนอกจากการส่งเสริม ผลักดันบทบาทวิชาชีพในระดับประเทศแล้วยังผลักดันวิชาชีพให้เกิดขึ้นได้ในอาเซียน และสามารถไปประกอบวิชาชีพได้ในระดับสากล

ทั้งนี้ การดำเนินงานของสภาสถาปนิก ภายใต้พระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 มีคณะกรรมการสภาสถาปนิกผู้มีบทบาทในการผลักดัน ส่งเสริมและกำหนดขอบเขตวิชาชีพรวม ประกอบไปด้วยสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สถาปัตยกรรมหลัก ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ จากทั้งหมด 20 คน โดย 5 คน มาจากการแต่งตั้งภายใต้กระทรวงมหาดไทย และอีก 15 คน มาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกสภาสถาปนิก ซึ่งการทำงานของสภาสถาปนิกในการผลักดันวิชาชีพ กำหนดบทบาท ขอบเขต และข้อกำหนดทางกฎหมาย จะเป็นการดำเนินการผ่านคณะกรรมการฯ ในการส่งเรื่องต่างๆ เข้าไปในสภาและให้สมาชิกสภาฯเป็นผู้ทำการโหวตตัดสิน 

แต่ในปัจจุบัน กลับพบว่า จำนวนผู้ประกอบวิชาชีพประเภทบุคคล จากทั้งหมด 26,724 คน แบ่งเป็นสถาปัตยกรรมหลัก 23,131 คน สถาปัตยกรรมภายใน 2,094 คน ภูมิสถาปัตยกรรม 949 คน และสถาปัตยกรรมผังเมือง 550 คน ตัวเลขจำนวนสมาชิกเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าผู้ถือใบประกอบวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองนั้นมีจำนวนและสัดส่วนที่น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับผู้ถือใบประกอบสาขาอื่นๆ 

สะท้อนให้เห็นว่าการเป็นสมาชิกสภาสถาปนิกนั้นเป็นเรื่องสำคัญขั้นต้นที่ต้องตระหนักถึงในเส้นทางการประกอบวิชาชีพ กล่าวคือ การเพิ่มจำนวนคนถือใบประกอบวิชาชีพให้สามารถเข้าไปมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งและโหวตเสียง คืออนาคตของวิชาชีพที่แท้จริง เพราะว่า จำนวนสมาชิกในวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง จะเป็นส่วนช่วยเลือกคณะกรรมการสภาสถาปนิกอันเป็นตัวแทนทางวิชาชีพเพื่อเข้ามากำหนดบทบาท ขอบเขต ข้อกำหนดทางกฎหมาย ลดข้อขัดแย้ง ควบคุมมาตรฐาน เพื่อผลักดันวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองให้ก้าวหน้าและชัดเจนในอนาคต ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มาพร้อมกับหน้าที่บทบาทของสถาปนิกผังเมืองที่ต้องมองถึงประโยชน์ในภาพรวมระยะยาว 

ผศ.ดร. ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย

ที่มาของวิชาชีพและบทบาทสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย

ผศ.ดร. ปริญญ์ เจียรมณีโชติชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) ได้ย้อนเล่าที่มาของวิชาชีพว่าการประกาศใช้พระราชบัญญัติวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2508 ว่ามีที่มาจากความจำเป็นของการพัฒนาบ้านเมือง

คำว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรม หมายถึง วิชาชีพการช่างในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมอุตสาหการ สาขาสถาปัตยกรรมมัณฑนศิลป์ และสาขาสถาปัตยกรรมอื่นใดซึ่งจะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา ในเวลาถัดมา เนื่องจากวิชาชีพสถาปัตยกรรมเป็นวิชาช่างเทคนิคที่สลับซับซ้อนคาบเกี่ยวถึงวิชาการอื่นหลายแขนง จึงให้มีการแยกสาขาของสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกับต่างประเทศที่นิยมแยก พ.ร.บ. ออกเป็นแต่ละสาขา เช่น พ.ร.บ.สถาปัตยกรรม พ.ร.บ.วิศวกรรมโครงสร้าง และ พ.ร.บ.ผังเมือง

ช่วงเวลาถัดมาจึงได้เกิดพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 โดยมีเนื้อหาและวัตถุประสงค์ให้แยกสาขาออกไป เพื่อส่งเสริมคุณภาพการประกอบวิชาชีพให้พร้อมกับการแข่งขันกับต่างประเทศ โดยให้นิยามทั้ง 4 สาขาไว้อย่างชัดเจน ว่า “วิชาชีพสถาปัตยกรรม” หมายความว่า วิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์สร้างสรรค์สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อมในสาขาสถาปัตยกรรมหลัก สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์และสาขาสถาปัตยกรรมอื่นๆ ที่กำหนดในกฎกระทรวง 

ทั้งนี้ กฎกระทรวงกำหนดวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม พ.ศ.2549 นิยามสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง ไว้ว่า เป็นวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังเพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบ และสภาพแวดล้อมทางกายภาพของเมือง ชุมชนเมือง ชุมชน และโครงการกลุ่มอาคารที่มีการใช้งานประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท รวมถึงการวางผังเพื่อกำหนดกิจกรรม พื้นที่ ขนาด ความหนาแน่น ความสูง ที่โล่งหรือที่ว่างระหว่างอาคาร และโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการภายในพื้นที่ดังกล่าว

โดยกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2549 ยังได้กล่าวถึง สาระสำคัญของขอบเขตงานของวิชาชีพสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง ในงานที่เกี่ยวกับการวางผังสำหรับพื้นที่ หรือกลุ่มอาคาร ซึ่งทำได้ 7 สิ่ง ดังต่อไปนี้

  1. พื้นที่ที่มีการใช้บังคับผังเมืองรวม และจัดทำผังเมืองเฉพาะตามกฎหมาย
  2. พื้นที่ที่มีการจัดรูปที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่
  3. พื้นที่ที่มีการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรที่ดิน
  4. พื้นที่อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
  5. พื้นที่ในเขตเพลิงไหม้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร หรือพื้นที่ที่มีภัยพิบัติและอุบัติภัยตามที่กฎหมายกำหนด
  6. นิคมอุตสาหกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือพื้นที่พัฒนาพิเศษตามที่กฎหมายกำหนด
  7. กลุ่มอาคารที่ประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารสาธารณะ อาคารสูง และอาคารพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารที่มีพื้นที่รวมกันตั้งแต่ 30,000 ตารางเมตรขึ้นไป

จะเห็นได้ว่านิยามของสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองที่มีการปรับเปลี่ยนมาจนกระทั่งปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มาจากการร่างพิจารณาข้อบังคับทางกฎหมายจากสมาชิกในวิชาชีพที่ตระหนักถึงขอบเขตเนื้องานที่กว้างขวางมีความสลับซับซ้อน รวมไปถึงการกำหนดขอบเขตในงานสถาปัตยกรรมผังเมือง 7 ข้อ ในปัจจุบันก็สะท้อนให้เห็นว่าวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองนั้นมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของเมืองในภาพรวม

ด้าน สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) ปัจจุบันเป็นองค์กรที่มีบทบาทต่อวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองเป็นอย่างมาก โดยการบริหารสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทยวาระ 2564-2566 มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

1) เพื่อสนองตอบตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติสถาปนิกสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง พ.ศ. 2543

2) เพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่น ความรักสามัคคี มีจรรยาบรรณ และจริยธรรม ในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง

3) เพื่อส่งเสริม สร้างสรรค์ พัฒนา วิทยาการ ความรู้ วิชาการและทักษะของสมาชิกเพื่อให้ประกอบวิชาชีพเป็นไปอย่างถูกต้อง

3) เพื่อประสาน เสริมสร้าง ร่วมมือในกิจกรรม กับผู้ร่วมสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมอื่น ตามพระราชบัญญัติสภาสถาปนิก พ.ศ. 2543

ภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ สร้างมาตรฐานด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมืองเพื่อเป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับสมาชิกและสถาปนิกผังเมืองที่เปิดกว้างเข้าถึงง่ายและส่งเสริมการสร้างสังคมเมืองคุณภาพ

อ.ธนิชา นิยมวัน อาจารย์พิเศษภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปนิกผังเมือง

อาจารย์ธนิชา นิยมวัน อาจารย์พิเศษภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2558 ซึ่งนิยามคำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพ หมายถึง บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยสถาปนิก กล่าวคือ ผู้ประกอบอาชีพสถาปนิกผังเมืองจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพ หากเป็นบริษัทก็จะต้องมีใบประกอบวิชาชีพของบริษัทในประเทศไทย จึงจะเป็นไปตามหลักแห่งจรรยาบรรณ หากฝ่าฝืนจะมีคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบ

ว่าด้วยเรื่องจรรยาบรรณ จะกล่าวถึงหมวดหลักๆ ที่สำคัญ ซึ่งจะต้องมีการตีความ และตระหนักไว้เป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ ได้แก่ จรรยาบรรณต่อสาธารณะ วิชาชีพ ผู้จ้างงานและผู้ร่วมวิชาชีพ รายละเอียดดังนี้

1) จรรยาบรรณต่อสาธารณะ มีข้อบังคับไว้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพต้องปฏิบัติตนให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยสถาปนิกและบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม

2) จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ มีข้อบังคับว่า

  • ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
  • ปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามหลักปฏิบัติหรือวิชาการตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม
  • ต้องไม่กระทำการใดๆ ซึ่งเป็นการเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
  • ไม่ใช้ความไม่ชอบธรรมเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่น ได้รับหรือไม่ได้รับงานสถาปัตยกรรมควบคุม
  • ไม่เรียก รับ ยอมจะรับ ให้ หรือจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ จากผู้ซึ่งเกี่ยวข้องในงานสถาปัตยกรรมควบคุมที่ทำอยู่
  • ไม่แสดงด้วยวิธีใดๆ ว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพในงานสถาปัตยกรรมควบคุมที่ตนไม่ได้ทำ ร่วมทำ ตรวจสอบ หรือควบคุม
  • ไม่โฆษณา ใช้ จ้าง วานหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาด้วยประการใดๆ ซึ่งการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมของตนเอง เว้นแต่การประชาสัมพันธ์การประกอบวิชาชีพของตนที่ไม่เกินความจริง หรือไม่เปรียบเทียบกับงานสถาปัตยกรรมของผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่น
  • ไม่โฆษณา ใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นเอาตนหรือชื่อของตนโฆษณาสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับงานวิชาชีพสถาปัตยกรรมทั้งปวง

3) จรรยาบรรณต่อผู้จ้างงาน มีข้อบังคับว่า

  • ไม่ละทิ้งงานสถาปัตยกรรมควบคุมที่ได้รับทำโดยไม่มีเหตุอันสมควร
  • ไม่เปิดเผยความลับของงานสถาปัตยกรรมที่ตนได้ทำ เส้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของงานนั้นแล้ว
  • ไม่ทำงานโดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมควบคุมอย่างเดียวกับที่เคยทำให้แก่ผู้ว่าจ้างรายใหม่ เว้นแต่จะเป็นการตกลงหรือยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรกับผู้ว่าจ้างรายเดิมและแจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายใหม่นั้นทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นชิ้นงานที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบวิชาชีพโดยตรงอยู่แล้ว
  • ไม่ทำงานชิ้นเดียวกันให้แก่ผู้ว่าจ้างรายอื่น เพื่อการเปรียบเทียบ ประกวด ประมูล หรือแข่งขัน เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ว่าจ้างรายเดิมและได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างรายใหม่นั้นทราบล่วงหน้าเป็นลายลักษณ์อักษรหรือเป็นชิ้นงานที่เป็นลิขสิทธิ์ของผู้ประกอบวิชาชีพโดยตรงอยู่ก่อนแล้ว

4) จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมวิชาชีพ มีข้อบังคับว่า

  • ไม่แอบอ้างความคิดหรือผลงานของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมรายอื่นว่าเป็นของตน
  • ไม่แสวงหางานด้วยการแข่งขันราคากับผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่น
  • ไม่เข้าแย่งรับทำงานชิ้นเดียวกันและในขอบเขตงานเดียวกันจากผู้เสนองานหรือผู้ว่าจ้างรายเดียวกันที่ได้ว่าจ้างผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่นอยู่แล้ว เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่นนั้นแล้ว หรือผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญานั้นแล้ว
  • ไม่ตรวจสอบงานของผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่น เว้นแต่เป็นการตรวจสอบตามหน้าที่หรือขอบเขตของงานที่รับทำ
  • ไม่ลอก หรือใช้ แบบ รูป แผนผัง ผัง หรือเอกสารที่เกี่ยวกับงานของผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต เว้นแต่เป็นการนำงานเดิมมาใช้เพื่อการซ่อมแซม ดัดแปลง ปรับปรุง ต่อเติมหรือเคลื่อนย้ายหรือเป็นการเผนแพร่ผลงานเพื่อการศึกษาภายใต้กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์
  • ไม่กระทำการใดๆ ให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่ผู้ประกอบวิชาชีพรายอื่น

นอกจากนี้ ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ ได้มีข้อบังคับออกมาเพิ่มใน พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ระบุเอาไว้ว่ากรณีใดบ้างที่ถือว่าผิด ดังนี้

  1. ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลาตั้งแต่สองปีขึ้นไป แต่ยังประพฤติผิดอีกโดยไม่หลาบจำหรือไม่มีความเกรงกลัวต่อการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม
  2. เคยถูกลงโทษ เนื่องจากประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม โดยคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนใบอนุญาต หรือพักใช้ใบอนุญาตเป็นเวลาตั้งแต่สองปีขึ้นไป แต่ยังประพฤติผิดอีกโดยไม่หลาบจำหรือไม่มีความเกรงกลัวต่อการประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม
  3. กระทำความผิดในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 227 หรือมาตรา 269 โดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
  4. กรณีอื่นที่คณะกรรมการจรรยาบรรณเห็นว่าเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

ทั้งนี้ การตีความข้อบังคับของจรรยาบรรณวิชาชีพจะต้องมีการตระหนักถึงความถูกต้องและเหมาะสม ยกตัวอย่างกรณีข้อบังคับห้ามแข่งขันด้านการเสนอราคา โดยการแข่งขันทางด้านราคาในการประกวดการออกแบบถือว่าเป็นความผิดทางจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมไประเบียบอื่นๆ ของสำนักงบประมาณที่มีข้อห้าม แต่หากเป็นการแข่งทางด้านราคาในส่วนของการประมูลการก่อสร้างสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้

อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติทางวิชาชีพควรคำนึงถึงขอบเขตการปฏิบัติงาน และพิจารณาในเรื่องจรรยาบรรณอย่างถี่ถ้วน หากผู้ประกอบวิชาชีพมีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องตามตามครรลอง คลองธรรม ก็จะทำให้ไม่ต้องกังวล และท้ายที่สุดนี้การเป็นสมาชิกสภาสถาปนิก มีใบประกอบวิชาชีพ และเข้าไปมีสิทธิมีเสียง จะเป็นรากฐานสำคัญในการกำหนดทิศทางอนาคตของวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองต่อไปให้มีความชัดเจน และสามารถออกไปรับใช้สังคมได้อย่างมีมาตรฐาน 


Contributor