19/11/2021
Life

อ.ชัยวุฒิ ตันไชย: อย่าให้เมืองแห่งการเรียนรู้เป็นแค่อีก buzzword ที่เราใช้แล้วทิ้ง

The Urbanis
 


สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

ปัญหาของการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ในไทยจากมุมมองของอาจารย์ชัยวุฒิ ตันไชย

อาจารย์ชัยวุฒิ ตันไชย นักวิชาการอิสระที่มีประสบการณ์ทำงานกับหลายหน่วยงานผ่านการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการ และการขับเคลื่อนด้านนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในฐานแนวคิด และ “กระแส” ที่อาจารย์นิยามว่ามันเป็น buzzword หรือ วาทกรรมที่สวยหรูอยู่หลายๆ ได้เล่าประสบการณ์ของตนเองที่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำแนวความคิดเรื่องเมืองแห่งการจัดการการศึกษาและการสร้าง Learning Ecosystem ในระดับเมือง ผ่านการทำเรื่องเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เนื่องจากว่าหากมองลงไปลึก ๆ เกี่ยวกับเมืองอัจฉริยะก็จะพบว่า ในหลายๆ เมืองอัจฉริยะทั่วโลก มีมิติของการศึกษาและการเรียนอยู่มาก อาจารย์เลยได้ไปสังเกตการณ์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหลายประเทศ

ต่อมาอาจารย์มีโอกาสได้เริ่มคุยกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  เกี่ยวกับการนำเมืองแห่งการเรียนรู้มาใช้ในบริบทของประเทศไทย ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ และถ้าจะนำมาใช้จำเป็นต้องสร้างกระบวนการในการปริวรรตแนวคิดอย่างไร อาจารย์เลยได้ไปศึกษาและพบว่าหน่วยงานที่นำแนวความคิดเกี่ยวกับการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้เข้ามาใช้ในไทยมี 3 หน่วยงาน คือ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (บพท.)  สำนักงานหน่วยนโยบายการศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เพิ่งนำเข้ามาใช้เมื่อปีที่แล้ว และที่สำคัญคือท่านมีความเห็นว่า เมืองแห่งการเรียนรู้ยังเป็นไปได้ยากที่จะสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ เนื่องจากเหตุผลหลัก ๆ ดังนี้

เมืองที่ไม่ชัดเจน

เมืองในประเทศไทย มีขอบเขตไม่ชัดเจน และการให้คำจำกัดความไม่ชัดเจน อย่างเช่น หากจะเราทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ในเขตเขตบางรัก เขตธนบุรี หรือเขตคลองสาน เราก็จะมองว่ามันคือ พื้นที่เมือง แต่หากไปดูนิยามของเมืองแห่งการเรียนรู้จริง ๆ เราจะพบว่าพื้นที่เหล่านี้ไม่ใช่เมือง เพราะว่าเขตในกรุงเทพไม่มีอำนาจการปกครอง (authority) เหนือพื้นที่เขตตัวเอง หากเราต้องการจะสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ตามเขตต่าง ๆ เราต้องไปติดต่อกับหน่วยการปกครองของกรุงเทพมหานครทั้งหมด การไปติดต่อกับผู้ว่าราชการแต่ละเขตไม่สามารถทำให้โครงการเกิดขึ้นได้ มันจึงกลายเป็นว่าเราต้องติดต่อกับระบบราชการ ไม่ได้คุยกับตัวพื้นที่เมืองจริง ๆ ว่า เราจะทำเมืองแห่งการเรียนรู้ได้อย่างไร

การศึกษาที่แตกกระจายไม่เป็นหนึ่งเดียว

ระบบการศึกษาของไทยค่อนข้างกระจัดการจายไม่เป็นหนึ่งเดียว ตัวอย่างเช่นในเรื่องหลักสูตร เด็กหนึ่งคนอาจจะได้รับการศึกษาหลายหลักสูตร ครูที่สอนเองก็ได้รับการฝึกให้สอนต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนที่ศึกษาอยู่สังกัดหน่วยงานใด หากเรียนในโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานประถมศึกษากทม. หลักสูตรก็จะต่างกับ โรงเรียนที่สังกัดสำนักการศึกษากทม. เพียงแค่สิ่งนี้ก็เป็นปัญหาอย่างมากแล้ว โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่า โรงเรียนแต่ละแห่งมีคุณภาพมากพอหรือไม่

หากจะนำเมืองแห่งการเรียนรู้มาใช้กับประเทศไทยตรง ๆ ความเป็นไปได้นั้นแทบจะไม่มีเลย แต่ก็ยังมีบางพื้นที่ที่นำมาใช้ได้ อย่างเช่น บางลำพู ที่ทำตัวเองให้เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning community) บางลำพูเป็นย่านในเขตเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร ทั้งย่านเป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ มีการจัดตั้งกลุ่มในชุมชนเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้เกี่ยวศิลปะวัฒนธรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากตัวชุมชนไม่ว่าจะเป็นวัด คนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน หรือเป็นศิลปินแห่งชาติที่ซ่อนตัวอยู่ในชุมชน หรือกลุ่มคนวัยทำงานที่เกิดในบางลำพู หลักสูตรที่เขาใช้สอนกันในกลุ่มเลยมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามบางลำพูมีประชากรไม่ถึงเกณฑ์ และหากจะมองในพื้นที่ใหญ่ขึ้นเป็นเทศบาลนครก็มีปัญหา เช่น กรณีของเทศบาลนครนนทบุรี ที่มีโรงเรียนสังกัดตัวเองอยู่เพียง 8 โรงเรียน แต่โรงเรียนที่ไม่ได้สังกัดมีอย่างน้อย 30-40 โรงเรียน รวมวิทยาลัยเทคนิคต่าง ๆ แต่ละโรงเรียนก็จะมีหลักสูตรต่างกัน เทศบาลนนทบุรีก็ไม่ได้เข้าไปจัดการปัญหานี้มากพอ 

อาจารย์ชัยวุฒิ ตันไชย นักวิชาการอิสระ

ความเข้าใจ และการปรับใช้ที่ไม่สมบูรณ์

หน่วยงานที่ต้องการจะนำเมืองแห่งการเรียนรู้เขามาใช้ในไทย ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเมืองแห่งการเรียนรู้มากพอ ที่เอาเข้ามาใช้ก็เพราะกระทรวงศึกษาธิการสั่งการ เนื่องจาก UNESCO สนับสนุนให้ทำ หน่วยงานที่เอามาใช้อย่างกรณีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (บพท.) ตัวหน่วยงานเอง ก็ยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินงาน เนื่องจากยังไม่มีกระบวนการในการปริวรรตแนวคิดสำหรับประเทศไทยชัดเจน พูดง่ายๆเราเข้าใจกระบวนการของ UNESCO ในมิติของงการประเมิน การทำเอกสารเข้าประกวดค่อนข้างดี เราเข้าใจไอเดียกว้างๆละเอียดมาก มีผู้เชี่ยวชาญที่สนใจในการนำ package ของ UNESCO มาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งที่สุดแล้วเป็นคนละเรื่องเดียวกันกับการปริวรรตเพื่อพัฒนาการศึกษาและการเรียนรู้ในระดับเมืองของประเทศไทย

 หรือกรณีของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสส.) ที่ต้องเอาเมืองแห่งการเรียนรู้มาใช้ในประเทศไทยเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาซึ่งถือว่าเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของผลงานของหน่วยงานนี้ (Key Performance Indicator) แต่ทว่าเมืองแห่งการเรียนรู้มันเกี่ยวข้องกับการสร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้ (learning ecosystem) ภายในเมือง ซึ่งมันไปไกลกว่าการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เป็นต้น อย่างไรก็ตามมันสามารถทำได้ เพราะว่าเมืองแห่งการเรียนรู้มีขอบเขตค่อนข้างกว้างเกี่ยวข้องการประเด็นการทำงานหลาย ๆ อย่าง สิ่งนี้ช่วยดึงดูดให้คนเข้ามาทำเกี่ยวกับเมืองแห่งการเรียนรู้ ประเด็นสำคัญ คือ หน่วยงานที่จะทำต้องไปทำความเข้าใจสองเรื่อง เรื่องแรกคือหน่วยงานต้องการอะไรจากการเอาเมืองแห่งการเรียนรู้มาใช้ และ สอง แนวทางในการใช้เราจะใช้อย่างไร ? 

ศักยภาพของไทยมีมากพอหรือไม่? 

จริงๆแล้วเมือองในเมืองไทยหลายเมืองเก่งมาก อย่าลืมว่าเมืองหลายเมืองโตขึ้นมาเยอะมากในระยะเวลา 20ปี ที่มีการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ก็นั่นแหละว่าเมืองเก่ง แต่ระดับ และแนวคิดเราจำผิดเมืองมาก เราไม่ได้ให้อำนาจจริงๆกับเมืองเท่าไหร่ เมืองที่เก่งก็เป็นเมืองที่ “ทะลุปล้อง” ออกมา ถ้าเราไปดูหลายเมือง โดยโฟกัสไปที่ความสำเร็จและประสบการณ์ในการจัดการศึกษา และการเรียนรู้ หลายเมืองไปไกลมากนะครับ ไปไกลจนเรานึกไม่ถึงเลย 

ดังนั้นหากจะมองหาเมืองที่มีศักยภาพพอที่จะทำได้ ในไทยจะมีสามส่วนหลักๆ ซึ่งผมค่อนข้างให้น้ำหนักกับสองอย่างแรกมาก คือ ประการแรก เมืองมีประสบการณ์ในการจัดการศึกษาหรือไม่? ซึ่งถ้าเราไปดูเมืองหลายเมืองทำเรื่องการศึกษาเยอะมาก หลายเมืองเก่งมาก และใครจะไปคิดว่าโรงเรียนสังกัดเทศบาลลำพูนนี่เอาวิธีการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กประถมผ่านการสอน phonetic หรือ โรงเรียนวัดสระทอง ของเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด นี่เด็กจำนวนมากพูดภาษาจีนได้ และได้ทุนรัฐบาลจีนปีละหลายทุน หรือเทศบาลนครเชียงนี่ทำโรงเรียนวิเทศน์ศึกษาที่ดังมากๆ มีคุณภาพมาก มีแต่คนแย่งกันเข้า หรือ อบจ กระบี่ก็น่าสนใจ ตั้งโรงเรียนเพื่อความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แบบโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์เลย ผมไปเยี่ยมโรงเรียนมา เด็ก ม.1 นี่โค้ดดิ้งกันได้แทบทุกคน อันนี้คือตัวอย่างของการศึกษา

การเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษของโรงเรียนเทศบาลประตูลี้ จ.ลำพูน

ประเด็นที่สอง คือการเรียนรู้ สำหรับผมคือการเรียนนอกห้องเรียน ถ้าลองไปดูอย่างภูเก็ต นี่เก่งมากนะครับ เอาเรื่องอาหาร สถาปัตยกรรม ประเพณีและวัฒนธรรม มาทำเมืองให้พิพิธภัณฑ์เลย หรืออย่างลำพูนนี่ก็น่าสนใจ มีการสร้างวัฒนธรรมประดิษฐ์จากความเชื่อของเมืองจนกลายเป็น festival เล็กๆทุกปี มีการจัดกลุ่มเรียนรู้ในมิติต่างๆ ด้วย อันนี้แค่ตัวอย่างเบื้องต้น ซึ่งหลายๆเมืองเก่งมาก ซึ่งตรงนี้มันคือการบอกว่าเมืองมีความพร้อม มีองค์ความรู้นะ หลายเมืององค์ความรู้พวกนี้ขับเคลื่อนด้วยเครือข่ายคนสูงวัยนะครับ มีการเอาคนสูงอายุมาทำงานฝีมือ หรือ เอาคนสูงอายุมาถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆให้คนรุ่นถัดมา ผมคิดว่าพวกนี้คือความพร้อมหลายอย่างที่เมืองทำมาแล้ว

ประเด็นที่สาม คือการทำสองอย่างแรกเชื่อมหากัน หรือพูดแบบผมคือทำให้มันทางการหน่อย อาจจะมีแผนหรือมียุทธศาสตร์ หรือมีการปรุงแต่ง ปรับเปลี่ยนอะไรให้ต่อยอดได้เป็นระบบ และที่สำคัญคือสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง

ปัญหาที่สำคัญ คือ สิ่งที่ประเทศไทยทำ เหมือนแค่จะทำเพื่อเอารางวัลเท่านั้น เราไม่เคยกลับไปดูที่มาที่ไปเรื่อง เมืองแห่งการเรียนรู้เลย เราไม่รู้เลยว่าเมืองแห่งการเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่การจัดการมาตรฐานการศึกษาในระบบอย่างเดียว แต่มันมาจากยุทธศาสตร์การทำการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong education) ของ UNESCO ซึ่งมันกว้างมาก และมันเกี่ยวข้องกับการนิยามพื้นที่ของการเรียนรู้ ว่าเมืองจะนิยามการเรียนรู้ นิยามองค์ความรู้ และ กระบวนการในการถ่ายทอดอย่างไร และเมืองจะสร้าง หรือ สนับสนุนให้เกิดอะไรได้บ้าง

จากการไปศึกษาว่าประเทศอื่น ๆ ว่าเขาทำเกี่ยวกับเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างไร ก็จะมีประเทศที่น่าสนใจอย่างแคนาดา เขานำเอาแนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้จากยุโรปมาปรับใช้ภายหลัง เป็นเหมือนกระแสการทำชุมชนแห่งการเรียนรู้ที่เริ่มมาจากยุโรปตั้งแต่ช่วงปี 1970-1980 แคนาดาก็เอามาปรับใช้โดยการทำ composite learning index ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO เลย ซึ่งมันเป็นรูปแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ของแคนาดาเอง หรือในกรณีของประเทศจีน เมืองแห่งการเรียนรู้จริง ๆ ยังไม่ได้เกิดขึ้น แต่ก็มีการประชุม เพื่อที่จะยกร่าง เป้าหมายในการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ของจีนขึ้นมาเพื่อขนานไปกับของ UNESCO เป็นต้น หากกลับมามองที่ไทย ประเด็นสำคัญก็กลับมาที่เดิม เราต้องกลับมาคุยกันก่อนว่า เราต้องการอะไรจากเมืองแห่งการเรียนรู้ เราจะจะมีกรอบการทำงานอย่างไร 

ที่สำคัญที่สุด เวลาลงไปคุยกับเมือง สื่อสารกับเมือง มันต้องชัดว่าจะเราอยากเห็นอะไร ต้องเข้าใจเป้าหมายและข้อจำกัดของเมืองด้วย และที่สุดจะสร้างเป้าหมายร่วมกันอย่างไร ไม่อย่างนั้นมันจะยุ่งเหยิง ยกตัวอย่างงานวิจัยที่มีโอกาสลงไปสำรวจความเข้าใจต่อประเด็นเมืองอัจฉริยะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศกว่าพัน แห่ง สิ่งที่เจอคือ แต่ละเมืองเข้าใจต่างกัน บางเมืองไม่เข้าใจเลย อันนี้คนที่ทำเรื่องนี้เลยต้องชัด

มองเมืองแห่งการเรียนรู้กับประเทศอื่น ๆ เทียบกับไทย

กลุ่มประเทศยุโรปมีนโยบายเกี่ยวกับการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้อยู่ในนโยบายทั่วไป โดยเข้าจะใช้คำว่าชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning community) และคำ ๆ นี้ก็เป็นเหมือนกรอบการทำงานของเขาในด้านการสร้าง4สังคมการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ต่าง ๆ แต่ในเวลาต่อมาเมื่อคนเริ่มอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองมากขึ้น ก็เลยเริ่มเปลี่ยนจากชุมชนแห่งการเรียนรู้ เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้แทน เป็นเหมือนการต่อยอดจากรากฐานเดิมที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เมื่อมองใน 2 ลักษณะนี้ เมืองแห่งการเรียนรู้ในยุโรปจึงหมายถึง ทั้งการเรียนรู้และวัฒนธรรม เป็นสังคมแห่งเรียนรู้ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างสมัครใจของชุมชน สถานศึกษา หรือแม้กระทั่งองค์กรทางศาสนา สิ่งเหล่านี้ก็คือรากฐานชุมชนที่นำไปสู่การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ จากเครือข่ายของชุมชนแห่งการเรียนรู้ในเมืองนั้นเอง

นอกจากนี้ ยุโรปยังมีองค์กรทางการศึกษาที่เรียกว่า วิทยาลัยชุมชน (community college) วิทยาลัยเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่มหาวิทยาลัยที่เรียนเพื่อเก็บใบปริญญาเพียงอย่างเดียว แต่มันอย่างเป็นเหมือนศูนย์แห่งการเรียนรู้ประจำชุมชน ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าไปลงเรียนกับคอรส์ที่วิทยาลัยเปิดสอนเพื่อเก็บหน่วยกิตได้ หลักสูตรที่สอนก็มีหลากหลาย เช่น หลักสูตรเรียนภาษา หลักสูตรการเรียนอาชีพ เป็นต้น นอกเหนือจากยุโรปแล้ว วิทยาลัยชุมชนในประเทศแคนาดาก็มีความน่าสนใจ คนสามารถเรียนในวิทยาลัยชุมชนเพื่อเก็บประกาศนียบัตรรับรอง (certificate) เพื่อการประกอบอาชีพ หรือคนสามารถเข้าไปเรียนเพื่อเพิ่มพูนทักษะในด้านต่าง ๆ ได้อีกด้วย วิทยาลัยชุมชนนี้เองเลยเป็นเหมือนองค์กรที่สามารถเป็นรากฐานในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ ก่อนที่จะต่อยอดไปเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ได้

เมื่อหันมามองที่ไทย คนที่ทำเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ อาจไม่เคยสนใจทำเกี่ยวชุมชนแห่งการเรียนรู้มาก่อน แล้วเมื่อเราเอาเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้มาใช้ มันเลยไปคนละเรื่อง เราจะไปคิดเรื่อง การศึกษาในระบบ หรือ เราจะไปโฟกัสในเรื่อง space หรือ hardware แต่เราไม่ได้เริ่มฐานทางวัฒนธรรมการเรียนรู้อันนี้เป็นปัญหามาก 

นอกจากนี้เราไม่ได้มีรากฐานที่ดีพออยู่เหมือนในยุโรปรวมถึงประเทศไทยเองก็ไม่ไดระบุได้ชัดว่า เมืองคืออะไรด้วย เมื่อเอาเมืองแห่งการเรียนรู้มาใช้อย่างทันที มันก็จะมีปัญหาเกิดขึ้น ทุกวันนี้หากเราอยากทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กับเมือง คำถามที่สำคัญเลยก็คือ เราจะต้องไปติดต่อกับใคร จะเป็นนายกเทศมนตรี ศึกษาธิการจังหวัด หรือศึกษานิเทศก์ หรือใด ๆ เราก็ตอบได้ยาก สาเหตุมันก็ย้อนกลับไปที่ประเด็นเมืองที่ไม่ชัดเจน เมืองที่ขาดอำนาจในการปกครองเหนือเมืองอย่างเต็มที่ แต่หากเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยหน่วยการปกครองย่อย ๆ เต็มไปหมด และการจะทำโครงการใดก็ทำได้ยาก เพราะการจะทำเมืองแห่งการเรียนรู้ต้องอาศัยการบูรณาการจากหลายหน่วยงานค่อนข้างสูง และอีกประเด็นที่สำคัญคือ เราต้องให้ความหมายกับเมืองแห่งการเรียนรู้ที่เป็นของตนเองด้วย เพื่อที่จะได้เป็นกรอบในการนำมาปรับใช้ในอนาคต

ภาพปกโดย โรงเรียนเทศบาลประตูลี้ จังหวัดลำพูน


Contributor