08/10/2021
Life

We!Park แพลตฟอร์มสร้างพื้นที่สาธารณะที่กระตุ้นให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้
 


สัมภาษณ์โดย อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

พื้นที่สาธารณะในประเทศไทย มีไม่พอ และ ที่พอมีก็ดีไม่พอ ไม่ว่าจะวัดด้วยประสบการณ์ตรงจากประชาชนผู้ใช้พื้นที่จริง หรือจะเปรียบเทียบกับหลักสากล วลีข้างต้นก็ยังคงเป็นข้อเท็จจริง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเริ่มมีการพูดถึงการพัฒนาพื้นที่สาธารณะกันเป็นวงกว้างมากขึ้น หนึ่งในผู้ที่ปลุกปั้นและขับเคลื่อนประเด็นนี้อย่างต่อเนื่องคือบริษัท ฉมา จำกัด ที่มี ยศ-ยศพล บุญสม เป็นหนึ่งในหัวเรือใหญ่

ฉมาเองทำงานสองขา ขาหนึ่งเป็นบริษัทภูมิสถาปนิกรับออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้อาคารและโครงการต่าง ๆ อีกขาหนึ่ง ฉมาโซเอ็น บริษัทที่ใช้องค์ความรู้ด้านภูมิสถาปัตยกรรมเช่นกัน แต่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาพื้นที่สาธารณะโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมที่ใส่มิติด้านสังคมเข้าไปในตัวงานเสมอ ล่าสุด ยศ ได้ริเริ่ม We!Park โครงการทดลองเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง โดยต่อยอดจากองค์ความรู้และเครือข่ายที่ยศและทีมสะสมมาตลอดชีวิตการทำงาน We!Park มีรากฐานว่าจะสร้างพื้นที่สาธารณะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่หลากหลาย วางตัวเองเป็นน้ำมันหล่อลื่นที่จะทำให้ทั้งรัฐ เอกชน คนในพื้นที่ รวมถึงคนทั่วๆ ไปที่มีทรัพยากรหลากหลายรูปแบบในมือมาเจอกัน และกระตุ้นให้ได้พื้นที่สาธารณะหนึ่งๆ เกิดขึ้นจริง

โอกาสนี้ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ The Urbanis จึงชวนยศมาพูดคุยว่า We!Park ใช้เครื่องมือแบบใดในการสรรสร้างพื้นที่สาธารณะ องค์ความรู้แบบไหนที่นำมาปรับใช้ และบทเรียนแบบไหนที่ยศได้จากงานครั้งนี้


We!Park มีจุดเด่นอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไรในการสร้างและขับเคลื่อนเรื่องพื้นที่สีเขียว

We!Park เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อทรัพยากรที่แต่ละ Stakeholder มี ไม่ว่าจะเป็นชุมชน เอกชน รัฐ หรือนักวิชาการอาชีพ เพื่อเปลี่ยนพื้นที่ร้างในเมือง เป็นพื้นที่สีเขียวสาธารณะขนาดย่อมๆ  โดยสิ่งสำคัญคือ เราอยากทดลองกลไกว่าการพัฒนาพื้นที่สีเขียวไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับรัฐอย่างเดียว แล้วมันเกิดความยั่งยืนทั้งในเชิงสิ่งแวดล้อมและความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ อีกส่วนคือ เราอยากทำให้เรื่องการสร้างพื้นที่สีเขียวในการพัฒนาเมือง เป็นบทสนทนาที่เป็นเรื่องของทุกคน และทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ 

เป้าหมายระยะสั้น เราได้รับเงินทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อทำ 4 โครงการนำร่องในกรุงเทพมหานคร และพยายามถอดบทเรียนว่าในการทำพื้นที่สาธารณะ รัฐต้องการเราไหม เราเป็นส่วนเชื่อมต่อให้ชุมชนได้หรือไม่ หรือแม้แต่เอกชนเองเขาเห็นคุณค่าของการลงทุนในบริบทเหล่านี้หรือไม่

พื้นที่การทำงานในโครงการนี้อยู่บริเวณไหนบ้าง

เราทำงานมาประมาณ 2 ปี ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ 1) ริมคลองผดุงกรุงเกษมช่วง River City ถึงหัวลำโพง 2) บริเวณเอกมัย 3) ใต้ทางด่วนอ่อนนุช 4) พื้นที่ซอยหน้าวัดหัวลำโพง 5) พื้นที่กะดีจีน – คลองสาน พื้นที่นี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ไม่ใช้ส่วนหลักที่ได้งบจากสสส. เป็นพื้นที่ต่อเนื่องโดยได้งบสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในช่วงแรก 

ส่วนใหญ่เราเริ่มต้นด้วยการพัฒนาพื้นที่ของรัฐ แต่ในส่วนคลองสานพอเป็นการขยายผล เราก็นำพื้นที่เอกชนที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการมาพัฒนาด้วย ยังธน มาทำโปรแกรมร่วมกับชุมชนในเบื้องต้นมาแล้ว ว่าพื้นที่ส่วนนี้สามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง เราก็เข้าไปช่วยทำแผนงานต่าง ๆ เสนอกทม. เพื่อนำไปสู่การของงบปี 2565 ที่กำลังจะถึงนี้

สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์

กระบวนการทำงานของ We!Park มีการใช้ฐานข้อมูลหรือหยิบองค์ความรู้ไปใช้อย่างไรบ้าง

มีหลายส่วน ส่วนแรกเรื่องของฐานข้อมูล We!Park เราทำงานกับทางทีม More and Farmer เพื่อเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ผ่านทางภาพถ่ายทางอากาศ และสำรวจพื้นที่ เพื่อระบุพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นส่วนของข้อมูลเริ่มต้น เพื่อที่จะวางแผนเพื่อให้ครอบคลุมการกระจายตัวทุกๆ ทุก ๆ 400 เมตร พื้นที่ตรงไหนที่เราควรจัดทำให้เป็นที่สาธารณะ 

ส่วนที่สอง เป็นการเชื่อมโยงข้อมูลกับเครือข่ายในพื้นที่เขาทำงานแต่เดิม เช่นที่ที่มีกลุ่มปั้นเมือง บริเวณชุมชนโชฎึก ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายเพื่อต่อยอดสิ่งที่เขาได้ทำมาแล้ว ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ 

ส่วนถัดมา เป็นการเชื่อมโยงองค์ความรู้เดิม ซึ่ง We!Park เอง ก็ต่อยอดโครงการที่เราทำตั้งแต่ลานกีฬาพัฒน์ 1 และ 2 โครงการที่ทำกับทาง สสส. ระหว่างที่เราพัฒนามาเรื่อย ๆ เราเห็นองค์ความรู้บางอย่างที่สามารถต่อยอดได้ เป็นความรู้ที่เราได้เรียนรู้จากการเข้าไปมีส่วนร่วม หรือการที่เห็นชุมชนสามารถบริหารจัดการพื้นที่ได้ดี เราก็พยายามนำสิ่งเหล่านี้ มาส่งต่อให้กับพื้นที่อื่น ๆ 

นอกจากนี้คือ เรารู้จักกับภาคเอกชนผ่านการทำงาน ไม่ว่าจะจากการออกแบบโครงการที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียม หรือมิกซ์ยูสต์ เราก็เชื่อมโยงทรัพยากรจากเอกชน ชวนเขามาสร้างความร่วมมือ เพื่อที่จะสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการอีกด้วย

ทราบมาว่ามีการทำ crowdfunding ด้วย แนวคิดนี้พัฒนามาจากอะไร

มันเกิดจากการที่เราอยากให้พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วม บางคนอาจจะมีที่ดิน บางคนอาจจะมีความรู้ บางคนมีแรง หรือคนที่ไม่มีเวลาก็สามารถที่จะสนับสนุนในรูปแบบของทุน เราเลยใช้โอกาสนี้ทดลองว่าคนเขาเห็นคุณค่าของการลงทุนเรื่องสวนอย่างไร อย่างโปรเจกต์บริเวณหัวลำโพง 95% เป็นเงินทุนที่ได้จากรัฐ และอีก 5% มาจากการระดมทุน โดยเราร่วมมือกับ เทใจ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถืออยู่แล้วมาเป็นกลไกในการระดมทุน

เราเริ่มระดมทุนจากอุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่ใช่ infrastructure เช่นเครื่องเล่น สี ที่นั่งต่าง ๆ ซึ่งก็ยังไม่ถึงกับประสบความสำเร็จมาก ซึ่งเราก็เข้าใจว่าในช่วงนี้อาจจะมีบางประเด็นที่เร่งด่วนและอยู่ในความสนใจมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเครื่องมือแพทย์ การดับไฟป่า แต่เราก็ได้เห็นผลตอบรับในเชิงบวกว่าบางคนก็พยายามเข้ามาสนับสนุนอุปกรณ์ก่อสร้าง ต้นไม้ และอยากมีส่วนร่วม ซึ่งเราก็ต้องปรับกันไปตามงบประมาณที่ระดมได้ และพื้นที่ตั้งของโครงการ แต่สิ่งที่เราคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเลยในอนาคต คือการที่เอกชนหันมาลงขึ้นในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว

ยศพล บุญสม (หมวกสีขาว) ขณะตรวจพื้นที่ก่อสร้างร่วมกับเจ้าหน้าที่ กทม.

We!Park ได้เชื่อมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการแค่ไหน

โครงการริมคลองผดุงกรุงเกษมเป็นโครงการที่เชื่อมกับ art4d ซึ่งได้ทุนจากงบ CSR ของเอกชน อีกส่วนก็มีการติดต่อจากกลุ่มปั้นเมือง ซึ่งเขากำลังมีโครงการในส่วนนี้อยู่ในพื้นที่ และต้องการ funding ซึ่งเราก็ทำให้ชัดว่าบทบาทของ platform มันสามารถสร้างประโยชน์ได้ในการเชื่อมทรัพยากรเข้าถึงกัน ทำให้เราสามารถนำงบของเอกชนมาสนับสนุนโครงการได้ 100% 

ส่วนโครงการเอกมัย ตอนนี้อยู่ในช่วงประกวดแบบ ซึ่งเราได้บทเรียนสำคัญคือ ระบบราชการจะไม่มีงบให้สำหรับโครงการลักษณะนี้ เขาจะให้เราทำทุกอย่าง ตั้งแต่ขั้นตอนการศึกษา ออกแบบ ประกวดแบบ โดยเขาจะสนับสนุนแค่งบก่อสร้างเท่านั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องยากในความเป็นจริง เราก็ไปคุยกับเอกชนเพื่อขอการสนับสนุนว่าพอเข้ามามีส่วนสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง อย่างบริเวณอ่อนนุช จะมีเอกชนรายใหญ่อยู่ในพื้นที่ เขาก็สนับสนุนเต็มที่ แต่พอเราจะทำโครงการต่อเนื่อง มันก็ต้องมาประเมินกันว่าเขาจะให้การสนับสนุนให้ทำต่อไปไหม จะเห็นได้ว่าแต่ละพื้นที่ก็จะมีปัจจัย ความพร้อมแตกต่างกันไป

แล้วการทำงานกับแต่ละภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาครัฐ นักวิชาชีพ รวมถึงกับชุมชน เป็นอย่างไร แต่ละภาคส่วนมีการเชื่อมโยงกันแค่ไหน

อันดับแรกเลย เราต้องเชื่อมกับกทม. ไม่ว่าจะทั้งในแง่ของความร่วมมือและองค์ความรู้ที่เขามี ข้อมูลทางกายภาพ ลักษณะพื้นที่จากศูนย์ข้อมูลเมือง รวมไปถึงฝ่ายพัฒนาชุมนของแต่ละเขต เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่สำคัญว่า ชุมชนมีปัญหาอะไร เข้มแข็งไหม ผู้นำชุมชนคือใคร ซึ่งเป็นการประเมินศักยภาพพื้นที่เบื้องต้น สิ่งสำคัญคือการที่ทำให้ทุกฝ่ายตกลงร่วมกับเราว่าจะพัฒนาไปด้วยกัน 

นอกจากนี้บางครั้งสำนักสิ่งแวดล้อมก็ให้ข้อมูลและแนวทางที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการชี้เป้าแนะนำว่าเขตไหนมีความพร้อมในการพัฒนามากกว่ากัน

ในส่วนของระดับกลาง เป็นระดับของวิชาชีพที่เชื่อมโยงกับสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทยในการหานักออกแบบ ตลอดจนสหสาขาวิชาชีพอื่นๆ มาร่วม เพื่อวิเคราะห์จากการลงพื้นที่โดยตรงเพื่อต่อยอดข้อมูลพื้นฐานจากกทม. ซึ่งเหล่านี้จะเริ่มเป็นประเด็นที่มีความเฉพาะเจาะจงในการทำงาน

ในส่วนของการสื่อสารสาธารณะก็มีการใช้เครื่องมือ สื่อออนไลน์เพื่อขยายผล มีการร่วมมือจาก citycracker.co ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ที่ทำประเด็นเมือง อีกทั้งเราเองก็ยังมีช่องทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ของ We!Park อีกด้วย

ส่วนที่สำคัญที่สุด คือการทำงานในพื้นที่จริงๆ เป็นการทำงานเชิงลึก ดูว่าเป็นไปตามที่ศึกษาที่วางแผนไหม มีปัญหาอะไรซ่อนอยู่ หากเรามีเครือข่ายที่ได้ทำงานเดิมไว้อยู่แล้ว มันช่วยได้มากจริงๆ มันช่วยร่นระยะเวลาการสร้างความไว้ใจในพื้นที่ ที่ทำได้มาอย่างเข้มแข็งอยู่แล้ว เราแค่มาเติม มาต่อยอดสิ่งที่เขาทำต่อ เติมเรื่องการออกแบบองค์ความรู้ และทุนเป็นต้น นอกจากนี้การทำงานร่วมกับเครือข่ายยังช่วยให้การได้มาซึ่งข้อมูลต่างๆ มันกว้างออกไปกว่ามิติที่เรามี และช่วยให้การทำงานตรงเป้าของพื้นที่มากขึ้น

กระบวนการมีส่วนร่วมพัฒนาพื้นที่ว่างหน้าซอยวัดหัวลำโพง ภาพโดย City Cracker

ด้านสำนักงานเขตเองมีบทบาทอย่างไรบ้าง

พอมีการผลักดัน Green Bangkok 2030 โครงการของกทม.ที่ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวจาก 6.99 ตารางเมตรเป็น 10 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คนภายในปี 2030 ส่วนตรงนี้ช่วยให้งานมีระดับใหญ่ขึ้น หากขาดยุทธศาสตร์ในส่วนนี้ไป เวลาเราทำอะไรจะมีความยุ่งยากกว่านี้มาก ซึ่ง We!Park เองก็เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมนี้ เพราะฉะนั้นจะได้รับการร่วมมือจากเขตเป็นอย่างดี 

การเข้ามาร่วมมือของเขตก็มีหลายรูปแบบ บางครั้งก็เข้ามาในลักษณะที่ค่อนข้างแอคทีฟ อยากทำช่วยเต็มที่ บางครั้งก็มาแบบยังไม่มั่นใจ ถึงแม้ว่าอาจจะมียุทธศาสตร์นโยบายมาแล้ว แต่เขาก็อาจจะรู้สึกว่าการทำงานในบางพื้นที่ มันอาจไปกระทบเรื่องอื่นที่ยังไม่พร้อม ซึ่งก็เป็นกำแพงและอุปสรรคที่เกิดขึ้น แต่เราก็พยายามทำให้โครงการเราเข้าไปช่วยในสิ่งที่เขาขาด และแบ่งบทบาทการทำงานร่วมกัน เพื่อที่จะทำให้การทำงานบรรลุเป้าหมาย

เมื่อได้พื้นที่สาธารณะออกมาแล้ว มีการวางแผนเรื่องการดูแลรักษา (maintainance) อย่างไร

เบื้องต้นเลย เราคิดว่าเขตน่าจะเป็นเจ้าภาพหลัก แต่เราก็พยายามปรับรูปแบบที่เคยใช้กับลานกีฬาพัฒน์ ที่มีคณะกรรมการร่วมเข้ามาช่วยดูแล แต่แต่ละพื้นที่ก็มีความแตกต่างกันออกไป อย่างบริเวณโชฎึก เนื่องจากเป็นพื้นที่ขนาดย่อม จะเห็นว่าชุมชนมีบทบาทนำในการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างดี 

แต่พอโครงการเริ่มใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ส่วนตรงนี้ก็น่าจะกลายเป็นความรับผิดชอบของเขต แต่ตอนนี้ที่เรากำลังศึกษาอยู่ คือเรื่องการใช้เงินกองทุน สปสช. หรือส่วนอื่นที่สามารถเอางบมาทำให้ชุมชนจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นสุขภาวะในพื้นที่ เพราะหากไม่มีในส่วนนี้ พื้นที่กะจะเงียบ ร้าง และเสื่อมโทรมไปเรื่อย ๆ

เมื่อโครงการสิ้นสุด We!Park มีแผนส่งต่อความรู้ให้อยู่ต่อกับชุมชนหรือไม่ อย่างไร

ตรงนี้กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา สิ่งสุดท้ายที่เราจะทำคือคู่มือ เพื่อบอกวิธีการง่าย ๆ เป็นเช็คลิสต์เพื่อให้ไว้กับหน่วยงานท้องถิ่น หรือชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลและองค์ความรู้เพื่อที่การทำพื้นที่สาธารณะมันเป็นไปได้จากเราทุกคนแน่นอน ชุมชนอาจจะเริ่มจากการประเมินพื้นที่ ประเมินศักยภาพ อาจจะไม่ได้เริ่มแล้วออกแบบเองเลย แต่อย่างน้อยชุมชนก็จะได้เรียนรู้ว่าศักยภาพมันเป็นอย่างไร แล้วถ้าหากต้องการที่จะเริ่มควรติดต่อหน่วยงานไหน ต้องให้ใครมาช่วยออกแบบ

ส่วนที่สองที่คิดว่าสำคัญมาก คือเรื่องการสร้างคน และบุคลากร ที่ผ่านมา We!Park เน้นการทำเวิร์กช็อปกับเยาวชน คนรุ่นใหม่ทั้งในและนอกพื้นที่ อย่างตอนที่เราทำสวนที่หัวลำโพง เป้าหลักที่เราอยากให้เข้ามามีส่วนร่วมคือ มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ เพราะเขาน่าจะมีส่วนร่วมในการสานต่อพื้นที่ตรงนี้ได้ และเราก็วางแผนเรื่องของคณะกรรมการร่วมเพื่อไม่ให้มีแค่ชุมชนอย่างเดียว แต่เป็นการผสมผสานที่หลากหลาย ตั้งแต่ผู้ประกอบการในพื้นที่ ไปจนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อให้คณะกรรมการมีความเข้มแข็ง และเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ต่อกันไป นี่คือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการลานกีฬาพัฒน์ [โครงการลานกีฬาซึ่งฉมาโซเอ็นมีส่วนร่วมที่ปรับภูมิทัศน์พื้นที่ออกกำลังกายและกิจกรรมนันทนาการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบจนถึงการบริหารจัดการและเราอยากผลักดันให้เกิดขึ้นต่อไป ซึ่งกีฬาพัฒน์มีคณะกรรมการร่วมที่เข้มแข็ง จนพื้นที่เกิดการบริหาร ซ่อมแซม เกิดกิจกรรมการใช้พื้นที่ได้ด้วยตัวเอง]

ลานกีฬาพัฒน์ 2 ภาพโดย We!Park

คนรุ่นใหม่มีส่วนสำคัญในการทำให้กระบวนการสร้างพื้นที่สาธารณะเติบโตและขับเคลื่อนต่อไปอย่างไรบ้าง

คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากดังเห็นได้จากการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของเราอย่างต่อเนื่อง

อย่างกรณีคือกลุ่มยังธน กลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ฝังตัวในพื้นที่คลองสานอยู่แล้ว และเป็นหนึ่งในทีมพาร์ทเนอร์ของเราด้วยก็เป็นกุญแจสำคัญ เราเห็นว่าคนรุ่นนี้สามารถเชื่อมกับคนรุ่นอื่นๆ ได้ง่าย และพร้อมที่จะต่อยอดการพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งสุดท้ายแล้วคือการทำงานร่วมกันของคนทุกรุ่น

แม้โครงการนี้จะทำงานเชิงพื้นที่เป็นหลัก แต่หากให้ถอยมามองภาพใหญ่เรื่องพื้นที่สาธารณะ คุณมองเห็นโอกาสและข้อท้าทายอะไรในเรื่องนี้บ้าง

หากพูดถึงการเติบโต การที่มี Green Bangkok 2030 เกิดขึ้น เรารู้สึกตื่นเต้นมาก เราจินตนาการการทำงานร่วมกันของ 10 หน่วยงานช่วยกันพัฒนาเมือง แต่จริงๆ แล้ว ภาพนั้นยังไม่เกิดขึ้น  การทำงาน การตั้งงบประมาณ และระบบต่างๆ ยังคงเป็นแบบเดิม เราจึงรู้สึกว่านโยบายเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากนโยบายมีความชัดเจน มีงบประมาณ มีทรัพยากรทุกๆ อย่าง มีแรงจูงใจ ให้กลุ่มคนที่ทำงานเรื่องเมืองเหล่านี้มีทรัพยากรที่จะไปขับเคลื่อนได้มันจะดี ตอนนี้ทุกคนที่ทำงานในส่วนนี้ ยังอยู่ในรูปแบบของโครงการเฉพาะกิจ ยังไม่มีคำตอบของปัญหาในระยะยาว ที่สามารถเป็นพลวัต ขับเคลื่อนให้สิ่งนี้เกิดซ้ำๆ และไปต่อได้เรื่อยๆ

อย่างปัจจุบันที่เราค่อนข้างรู้จักกับภาคเอกชน เวลาของบก็ได้แค่เป็นโครงการต่อโครงการ ไม่ได้มีอะไรมาการันตีความต่อเนื่อง แต่โครงการด้านนี้มันต้องมีความต่อเนื่อง มันต้องมีการสเกลอัพ มันต้องมีการปลูกฝังเรื่อยๆ อยากให้นโยบายมองเห็นว่าตอนนี้ ทั้งเมืองมันมีปัญหามหึมา และหากคุณไม่ช่วยทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ทำงานได้ง่ายขึ้น ดึงดูดคนเข้ามามีส่วนร่วม รัฐเองก็ทำคนเดียวไม่ไหว สุดท้ายแล้วผลกระทบมันก็ส่งผลต่อเราทุกคนที่อยู่ในเมือง

ยศพล บุญสม ภาพโดย We!Park

สุดท้ายนี้ ทำไมการพัฒนาเรื่องพื้นที่สาธารณะไปไม่ไกลเท่าที่ควร และในฐานะคนทำงานมีข้อเสนอสู่ทางออกอย่างไรบ้าง

 ในมุมมองพื้นที่สีเขียว รัฐยังติดกับดัก มองส่วนนี้เป็นแค่พื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ หรือเป็นการแค่เติมสีเขียวในเมือง เขาไม่ได้มองเห็นประโยชน์ที่ตามมาด้านอื่นทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อาจจะเป็นเพราะเรายังไม่สามารถแสดงให้เขาเห็นถึงผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน ทำให้นโยบายเอง มันไม่ได้มองว่าจุดนี้เป็นเรื่องสำคัญในระดับโครงสร้างพื้นฐานของเมือง 

ขณะเดียวกันสิ่งที่เราทำได้ก็อาจต้องผลักดันให้เกิดสัญญาประชาคม เพื่อแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองคือสิ่งที่สังคมต้องการ แล้วรัฐเองก็ต้องไปผลักดันร่วมกับสังคมให้เกิดขึ้นจริง

สิ่งที่เราทำได้อีกส่วน คือการทำให้เกิด business model หรือ ecosystem ให้เกิดการลงทุนเรื่องเมือง จากการเชื่อมโยงแต่ละจุดที่สามารถทำได้เอง มีความยั่งยืน โดยไม่ต้องไปรอการเปลี่ยนแปลงจากรัฐทั้งหมด ซึ่งมันอาจเกิดขึ้นได้เร็วกว่า

นอกจากนี้การสื่อสารก็เป็นเรื่องสำคัญเพื่อสร้างค่านิยมร่วมของสังคมให้เห็นความสำคัญต่อการพัฒนาเรื่องพื้นที่สีเขียว ให้มีพลังพอเพื่อที่จะขับเคลื่อนเมืองต่อไปข้างหน้า

We Park เอง ระหว่างทำงานจะมีอาจารย์ที่ทำงานวิจัยถอดบทเรียน ซึ่งเราพบว่าประเด็นการมีส่วนร่วมพัฒนาเมืองน่าอยู่ มีคนทำอยู่หลายคน มันมีองค์ความรู้บางอย่างที่มีคนทำไว้แล้ว แต่ไม่เคยถูกสังเคราะห์ออกมา ไม่ได้ทำให้เกิดการเชื่อมโยง และเข้าถึงได้ เพื่อที่จะทำให้คนที่มาทำต่อสามารถต่อยอดโดยไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เราสามารถเรียนรู้ได้จากโครงการที่ล้มเหลวและประสบความสำเร็จ เราจะทำอย่างไร ให้บทเรียนที่มีเหล่านี้ มันสามารถต่อยอด เพื่อให้มันทันที่จะสู้กับอุปสรรคทั้งหลายได้ 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนาคตเมืองแห่งการเรียนรู้ (The Future of Learning City) ได้รับทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) / หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) / ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ป่าสาละ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor