03/05/2021
Insight

10 data insight เชียงใหม่ เมืองขับได้ขี่ดี vs เมืองเดินได้เดินดี

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ กรกมล ศรีวัฒน์
 


วิเคราะห์ข้อมูลโดย อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

ช่วงเข้าใกล้หน้าหนาวทีไร เชียงใหม่คงเป็นตัวเลือกแรกของใครหลายๆ คน แต่นอกจากความสวยงามของวัฒนธรรมและธรรมชาติที่เผยโฉมให้นักท่องเที่ยวได้เห็นแล้ว เมืองเชียงใหม่ยังมีประเด็นหลากหลาย โดยเฉพาะเกี่ยวกับเมืองที่ถูกซุกซ่อนอยู่

The Urbanis ชวนอ่านเมืองผ่านข้อมูล Data Insight “10 ข้อเท็จจริงของเชียงใหม่: จากเมืองขับได้ขับดี สู่เมืองเดินได้เดินดี” ที่ผ่านการวิเคราะห์ โดยคุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ฝ่าย Urban Intelligence เพื่อทำความเข้าใจเมืองเชียงใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง มาชวนทุกคนได้อ่านเมืองเชียงใหม่ไปพร้อมๆ กัน

ข้อมูลนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาย่านเดินได้เดินดี เพื่อยกระดับสุขภาวะคนเมือง นำร่องในพื้นที่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ดำเนินการโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (CE.US) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเทศบาลนครเชียงใหม่ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ใจบ้านสตูดิโอ บริษัท ระฟ้า จำกัด กลุ่มเขียวสวยหอม เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ กรรมาธิการสถาปนิกผังเมืองล้านนา สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมการส่องสว่าง (LRIC) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีพัฒนาย่านเดินได้เดินดีเชียงใหม่

เชียงใหม่เข้าถึงได้แค่ไหน และ เชื่อมต่อเป็นอย่างไร ?

ภาพด้านบนคงช่วยตอบคำถามได้เป็นอย่างดี เมื่อแบ่งพื้นที่เมืองใหญ่ออกเป็นกริดขนาด 1 ตารางกิโลเมตรจะพบว่าแต่ละพื้นที่จะมีสัดส่วนถนนที่แตกต่างกัน ยิ่งสัดส่วนถนนมาก ยิ่งสะท้อนถึงโอกาสการเชื่อมต่อ (connectivity) ของเชียงใหม่มากตามไปด้วย ดังนั้น สัดส่วนของพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองจึงถูกนำมาใช้เป็นดัชนีในการบอกคุณภาพของการเดินทางเชื่อมต่อของเมืองต่างๆ ทั่วโลก

แม้จะดูว่ามีสีเข้มจำนวนมากพอสมควร แต่แท้จริงแล้ว ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่มีสัดส่วนพื้นที่ถนนต่อพื้นที่เมืองเพียง 5% เท่านั้น พื้นที่ที่มีความหนาแน่นของพื้นที่ถนนสูงสุดคงหนีไม่พ้นภายในสี่เหลี่ยมคูเมือง และพื้นที่ส่วนเหนือในย่านช้างเผือก (กรุงเทพมหานคร 7% ) ในขณะที่เมืองใหญ่ทั่วโลกมีสัดส่วนของถนนสูงถึง 20-30% ไม่ว่าจะเป็นพอร์ทแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนถนน 47% มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกามีสัดส่วนถนน 28% กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นมีสัดส่วนถนน 20% เป็นต้น

นอกจากสัดส่วนพื้นที่ถนนแล้ว อีกดัชนีที่สำคัญคือ รูปแบบของโครงข่ายของถนนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะสะท้อนถึงการเชื่อมต่อและความสามรถในการเข้าถึงที่ต่างกัน พื้นที่โดยส่วนใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ มีลักษณะโครงข่ายถนนในระบบกริด (Grid System) ไม่ได้มีลักษณะเป็น มหานครซอยตันเหมือนกรุงเทพฯ สัดส่วนซอยตันของเชียงใหม่อยู่ที่ 15% ในขณะที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ นั้นมีมากถึง 45%

หากสนใจสามารถตามอ่านบทความ มหานครซอยตัน

คนเชียงใหม่เปลี่ยนจากปั่นรถถีบหันมาขี่มอเตอร์ไชค์

ทุกระยะทางจากบ้านถึงสถานที่ต่างๆ ของคนเชียงใหม่ เป็นระยะมอเตอร์ไชค์ ที่สามารถขี่ไปถึง ดังนั้น ไม่ว่าจะ 100 หรือ 800 เมตร หรือ 20-60 กิโลเมตร มอเตอร์ไซค์ก็จะเป็นทางเลือกแรกเสมอของการเดินทางในเมืองเชียงใหม่

จากสัดส่วนยานยนต์จดทะเบียนก็เป็นที่แน่ชัดว่า คนเชียงใหม่นิยมใช้จักรยานยนต์มากกว่ารูปแบบการสัญจรประเภทอื่นๆ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 55% รองลงมาคือรถยนต์ 42% และอื่นๆ 3% ซึ่งรวมระบบขนส่งสาธารณะ รถสี่ล้อแดง และการเดิน สอดคล้องกับจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากจักรยานยนต์มี มากกว่า 40 คัน/วัน และรถยนต์ 1 ราย/วัน สะท้อนถึงความปลอดภัยในการใช้รถและถนนที่ค่อนข้างต่ำ

หากย้อนกลับไปอธิบายเพิ่มเติมของการมีสัดส่วนของถนนน้อย อาจจะไม่สร้างปัญหาให้กับเมืองมากนัก หากไม่ตามมาด้วย ปริมาณการสัญจรที่คับคั่งจนระบบถนนไม่สามารถกระจายการเดินทางได้อย่างทันท่วงที ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีปริมาณการใช้ยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับสัดส่วนถนนที่คงที่มานานพอสมควร ในปี 2562 มียานยนต์จดทะเบียนสะสมกว่า 1.5 ล้านคัน เป็นรถยนต์ประมาณ 650,000 คันและรถจักรยานยนต์ประมาณ 850,000 คัน ซึ่งนั่นก็อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ เมืองเชียงใหม่เผชิญสภาพการจราจรที่คับคั่งในปัจจุบัน

นอกจากจะมีการจราจรที่ติดขัดแล้ว เชียงใหม่เป็นเมืองอันตรายสำหรับการสัญจรพอสมควร โดยจากภาพจะเห็นว่ามีระดับอุบัติเหตุเกิดขึ้นในเมืองเชียงใหม่ แปรผันตามเส้นทางที่มีปริมาณการสัญจรในเส้นทางนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บนถนนเส้นเลียบคลองชลประธาน ถนนสุเทพ(ย่านหลัง มช.) ถนนบำรุงเมือง(บริเวณหน้า รร.วัฒโนทัยพายัพ) และถนนหัสดิเสวี (ย่านสันติธรรม) เป็นต้น

รถราแล่นกันวุ่นวาย จอแจ เสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ

เสียงในเมืองถือเป็นมลพิษแบบหนึ่งที่ส่งผลต่อผู้อยู่อาศัย ทำให้นอนหลับยาก และอาจจะเป็นปัญหากับการได้ยินในระยะยาว

ส่วนใหญ่ในเมืองทั่วโลก มลพิษทางเสียงที่เกิดขึ้นและกระทบต่อผู้คนในเมืองสูงสุดกว่า 70% คือ เสียงที่เกิดจากการคมนาคมขนส่งในเมือง โดยเฉพาะเมืองมอเตอร์ไชค์เหมือนเชียงใหม่ การวิเคราะห์พื้นที่เสียงมลพิษทางเสียงจากการจราจรหรือการคมนาคมขนส่งในเมืองนั้น อาจพิจารณาจากข้อมูลประกอบข้างเคียง เช่น แยกที่มีจราจรติดขัดสูง เพราะก่อนรถจะออกตัว เครื่องยนต์จะทำงานทำให้เกิดเสียงที่ดังขึ้น ลักษณะของรถที่วิ่ง ยิ่งรถคันใหญ่ เสียงของเครื่องยนต์ก็จะดังไปด้วย รวมไปถึงยังมีปัจจัยเกี่ยวกับศักย์ของถนน และการจราจรที่ติดขัดก็ส่งผลต่อระดับเสียง

สำหรับเมืองเชียงใหม่ พบว่า 5 ถนนที่มีระดับเสียงจากการคมนาคมค่อนข้างสูง ได้แก่ ถนนคลองชลประธาน ถนนสุเทพ ถนนบำรุงเมือง ถนนแก้วเนาวรัฐ ถนนเจริญเมือง

บล็อกขนาดเล็ก เดิน 3 เลี้ยวแล้วยังไม่เหนื่อย

ข้อดีอีกอย่างของเมืองเชียงใหม่ คือการที่เมืองมีบล็อกเล็ก พื้นที่บล็อกอยู่ในระยะกริด 500 x 500 เมตร หรือหากคิดง่ายๆ คือ เราสามารถเดินเล่น เพลินๆ เปลี่ยนเลี้ยวขวา หรือซ้าย 3 ครั้ง แล้วกลับมาที่เดิบแบบที่ยังไม่ทันเหนื่อย นอกจากขนาดบล๊อกที่เล็กที่อยู่ในระยะเดินแล้ว ระหว่างทางของเมืองเชียงใหม่ ยังเต็มไปด้วยจุดแวะพัก แวะชมให้เราลืมนึกถึงเรื่องระยะทางกันเลยทีเดียว

บล๊อกขนาดเล็กยังช่วยให้ความสามารถในการเข้าถึง (accessibility) และการเชื่อมต่อ (connectivity) ของเมืองดีขึ้น เพราะเมืองมีความพรุนมากขึ้น เส้นทางต่างๆ สามารถเชื่อมต่อกันได้หลายทิศทาง มีหลายทางเลือก ซึ่งนัยยะของความพรุนนี้คือ การเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัสให้กับเมืองที่มากขึ้น เพิ่มโอกาสให้เกิดหน้าร้าน กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นในเมือง

ความพรุนของเนื้อเมืองอันเนื่องมากจากระบบบล็อกที่มีขนาดเล็กนี้ ยังสอดคล้องกับ ค่าความเป็น “ซอยตัน” ที่กล่าวถึงไปในชุดข้อมูลก่อนหน้านี้ ว่าเชียงใหม่นั้นมีซอยตันเป็นสัดส่วนที่น้อย หรือคิดเป็นแค่ 15% ซึ่งส่งเสริมความเป็นย่านและการเดินเท้าได้ดีมากขึ้น

หลากหลายและคงความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต ผู้คน บ้าน ย่าน ถิ่น

ความหลากหลายและการใช้ประโยชน์อาคารในพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่มีความผสมผสานอย่างมาก ด้วยสัดส่วนที่อยู่อาศัยกว่า 50% และกิจกรรมพาณิชยกรรม ร้านค้าต่างๆ กว่า 30% และหน่วยงาน สถาบันอื่นๆ อีก 20% ทำให้เมืองเก่าเชียงใหม่ยังมีชีวิตชีวา ทั้งผู้คน ชุมชนดั้งเดิมที่ยังคงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแบบ “พหุขั้ว” ในเมืองเก่าที่ยังคงปรับตัวและรองรับการพัฒนาและพลวัติของการเปลี่ยนแปลงอย่างทันสมัยในปัจจุบัน

ความเป็นย่านหลากมิติของเมืองเชียงใหม่มีความชัดเจนและโดดเด่นมากๆ ปัจจุบันยังคงมีชุมชนในเขตคูเมืองเดิมกว่า 13 ชุมชนและในเขตคูเมืองเดิมอีกกว่า 20 ชุมชน ซึ่งปัจจุบัน บางส่วนยังคงสืบทอดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตในกลุ่มชุมชนสกุลช่างของล้านนาเอาไว้ อาทิ ชุมชนพวกแต้ม ชุมชนวัดศรีสุพรรณ

แม้ว่าบางชุมชน และบางพื้นที่กำลังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางด้านอุปสงค์ และอุปทานที่ขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวจนบางพื้นที่กำลังเกิดการเข้ามาแทนที่ของกลุ่มคนและกิจกรรมใหม่ๆ

เมืองมรดกโลกที่สามารถไหว้พระ 9 วัดได้ ใน 1 กิโลเมตร

สิ่งที่มีมากพอๆ กับคาเฟ่ และร้านกาแฟ คงหนีไม่พ้นวัดวาอารามที่เก่าแก่ และงดงาม ในพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่มีวัดและโบราณสถานที่สำคัญกว่า 100 แห่ง ตั้งแต่ พระอารามหลวงชั้นเอก ถึงวัดร้าง ที่มีอยู่อย่างละลานตาในเขตเมืองเก่า

วัดร้าง เป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของการคงอยู่อย่างร่วมสมัยของเมืองประวัติศาสตร์ และเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นพลวัติของเมือง วัดร้างถือเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ที่รอการพลิกฟื้นและเชื่อมโยงส่งเสริม เศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่

หากพิจารณาการกระจายตัวและระยะการเข้าถึงสาธารณูปการของศาสนสถานในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ จะพบได้ว่าเป็นเมืองเก่าที่มีความรุ่มรวยของศาสนาและวัฒนธรรมอย่างมาก ลองนึกดูเอาว่าเราสามรถปิดจบทริปเที่ยว ไว้พระ 9 วัดได้บนถนนเส้นเดียว ในระยะทางเพียง 1 กิโลเมตร

เมืองคาเฟ่กับการพัฒนาต้นทุนเมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสุดขั้ว (hyper tourism dependency)

ทั้งนี้ หากพิจารณาร้านค้าและกิจกรรมพาณิชยกรรม ที่กระจายอยู่ในพื้นที่เมืองเก่ากว่า 30% ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งเป็นร้านค้าและประเภทพาณิชยกรรมที่สนับสนุนการท่องเที่ยว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น รูปแบบการพัฒนาและขับเคลื่อนเศษฐกิจของเมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวแบบสุดขั้ว

และนี่เป็นเหรียญสองด้านสำหรับความยั่งยืนของเมือง เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว คงไม่แปลกอะไรที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะสนับการท่องเที่ยว แต่ใครจะรู้ว่าเจ้า COVID-19 คือตัวที่ทำให้เราต้องหันกลับมามองว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานการท่องเที่ยวอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ความยั่งยืนของเมือง เศรษฐกิจ และผู้คนที่อยู่ในเมือง

เพราะในช่วงหลัง COVID-19 ที่ผ่านมาร้านค้า หรือกิจกรรมที่ต้องขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวแบบสุดขั้วเช่นนี้ต่างกำลังรับศึกหนัก เพราะไม่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่

อัดแน่นด้วยสาธารณูปการทางปัญญา

อีกหนึ่งอย่างที่สำคัญในเมืองเชียงใหม่ คือ การมีบทบาทเป็นเมืองหลวงเเห่งการศึกษาของภูมิภาค เมืองเชียงใหม่มีมหาวิทยาลัยกว่า 12 แห่ง และโรงเรียนจำนวนมาก ซึ่งนี่คือแหล่งพลังงานใหม่ของเมือง ที่ทำให้เมืองมีทั้งความเก่าแก่ และมีผู้คนที่หลากหลาย มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่กระจายอยู่ตามมุมต่างๆ ของเมือง จึงไม่น่าแปลกใจว่า เมืองเชียงใหม่ เป็นเมืองที่มีการรวมกลุ่มของผู้คน เยาวชนรุ่นใหม่ ตามความสนใจจำนวนมาก

นอกจากมหาวิทยาลัย และสถานศึกษาในระบบแล้ว เมืองเชียงใหม่ยังมีความหลากหลายของพื้นที่เรียนรู้ในเมือง ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ รวมถึงพื้นที่เรียนรู้ระดับชุมชนอย่างอัดแน่นในพื้นที่เมือง กว่า 100 แห่ง

นี่เป็นอีกหนึ่งสาธารณูปการที่ส่งเสริมกับแนวโน้มด้านการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเรียนรู้เชิงลึก หรือเชิงกว้าง และการเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมถึงโจทย์ของการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดเพียงการศึกษาในระบบเท่านั้น

พื้นที่การเรียนรู้ไม่จำกัดเพียงพื้นที่ของโรงเรียน และสถานศึกษา แต่หมายถึงพื้นที่เมืองที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ได้

เมืองเขียว ใกล้ตา แต่ไกลเท้า

เชียงใหม่ขึ้นชื่อในเรื่องธรรมชาติที่สวยงาม ในเขตเมืองเชียงใหม่ ถนนบางเส้นมีร่มไม้ที่เหมาะกับการเดินเท้า แต่พบว่าต้นไม้ยังถูกตัดไม่ถูกต้อง และมีปัญหาเรื่องสายไฟ/สายระบบสื่อซึ่งกำลังจะมีการดำเนินการนำสายไฟลงดินทั้งเมือง ในพื้นที่นำร่องที่ถนนท่าเเพ

หากพิจารณาข้อมูลพื้นที่สีเขียวของเมืองเชียงใหม่ มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียว 12 ตารางเมตร/คน ตัวเลขนี้เกินกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดว่า ขนาดของพื้นที่สีเขียวเพื่อสุขภาพที่ดีของประชากรควรมีขนาดอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน แต่เมื่อลงลึกรายละเอียดกลับพบว่าพื้นที่สีเขียวส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ของประชาชน ภาคเอกชนเองซึ่งปลูกต้นไม้ไว้ให้ความร่มรื่น แต่สวนพื้นที่สาธารณะสีเขียวของเมืองไม่ได้มีมากนัก

เชียงใหม่มีสัดส่วนสวนสาธารณะต่อคน 4.6 ตารางเมตร มีระยะเข้าถึงเฉลี่ย 1.5 กิโลเมตร เป็นระยะทางที่ไกลพอตัวเลย สำหรับการเดินเข้าถึงของคนไทย ซึ่งเป็นความท้าทายของการจัดการในภาครัฐ

เชียงใหม่ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี

จากการวัด Good Walk Score คะแนนที่บอกถึงระดับศักยภาพการเดินของพื้นที่ โดยคำนวณจากสถานที่ดึงดูดการเดิน ทั้ง 6 ประเภท ประกอบด้วย 1.แหล่งงาน 2.สถานศึกษา 3.แหล่งจับจ่ายใช้สอย 4.พื้นที่นันทนาการ 5.สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม 6.สถานที่ขนส่งสาธารณะ ซึ่งหากมีสถานที่ดึงดูดการเดินจำนวนมากภายในระยะเดินเท้า คะแนนความเดินได้ของจุดหรือพื้นที่นั้นๆ จะมีค่าสูงกว่าจุดหรือพื้นที่ที่มีสถานที่ดึงดูดการเดินน้อยกว่า พบว่าบริเวณเมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่มี Good Walk Score ระดับเมืองเดินได้สูง

9 ถนนที่มีศักยภาพสูง ได้แก่ ถนนท่าแพ ถนนราชดำเนิน ถนนช้างเผือก ถนนพระปกเกล้า ถนนสิงหราช ถนนช้างคลาน ถนนเจริญเมือง ถนนราชภาคินัย ถนนห้วยแก้ว

เเต่เมืองเดินได้ไม่ใช่เมืองเดินดี การที่มีสถานที่ต่างๆ อยู่ในระยะก้าวเท้า ไม่ได้หมายถึงคุณภาพของการเดินเท้าที่ดีตามไปด้วย จากการลงพื้นที่เก็บรวบรวมข้อมูลสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการจะเดินในเมืองเชียงใหม่พบว่า คุณภาพการเดินเท้าในเมืองเชียงใหม่ ยังมีข้อจำกัด และปัญหาอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นความกว้างเฉลี่ยของทางเท้า ที่มีความกว้างเฉลี่ยเพียง 1.2 เมตร และทางเท้าบางแห่งยังมีสิ่งกิดขวางทางเดินเท้า

อย่างไรก็ตาม ในวาทะกรรมของเมืองขับได้ขี่ดี และเมืองเดินได้เมืองเดินดี ที่นำมาเล่าสู่กันฟังนี้ คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการตั้งคำถามสู่การปรับเปลี่ยนเมืองเชียงใหม่ ให้เป้นเมืองเดินได้ น่าอยู่ และส่งเสริมเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของผู้คนในเมืองให้ดีขึ้นได้

ติดตามความก้าวหน้าของโครงการ เชียงใหม่ เมืองเดินได้ เมืองเดินดี ได้ที่ www.good walk.org และโครงการที่น่าสนใจอื่นๆ ของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ได้ที่ www.uddc.net หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ UDDC – Urban Design and Development Center


Contributor