14/10/2020
Economy
ทำไมเมืองเดินได้ถึงทำให้เศรษฐกิจดี
กรกมล ศรีวัฒน์
เมืองคือพื้นที่แห่งโอกาสที่คนจำนวนมากเข้ามาแสวงหาโชค กระโจนเข้ามาแหวกว่ายในสายพานการทำงาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองและคนที่อยู่ด้านหลังให้ดีขึ้น และเมื่อคนหนาแน่นก็มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นมากมาย โครงสร้างของเมือง ผังเมืองจึงส่งผลอีกหลากมิติต่อเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นๆ ในการดำรงชีวิต
ผศ.ดร นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมืองได้ร่วมสะท้อนมุมมองในงาน BOT SYMPOSIUM 2020 ในหัวข้อใหญ่ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ทำอย่างไรให้เกิดได้จริง – Restructuring the Thai Economy ในงานวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา โดยผศ.ดร. นิรมล เสนอว่าการเดินดีในเมืองนอกจากจะกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต แล้วยังกระตุ้นเศรษฐกิจให้ไหลเวียนด้วย ยิ่งกับชุมชนและย่านโดยรอบ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ แถมยังทำให้ “ร้านค้ารายเล็กรายน้อยสามารถเข้าถึงโอกาสแห่งความมั่งคั่งพอๆ กับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่”
“ร้านค้ารายเล็กรายน้อยสามารถเข้าถึงโอกาสแห่งความมั่งคั่งพอๆ กับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่”
เพราะเมืองเดินได้ถึงทำให้เศรษฐกิจดี
“งานวิจัยหลายชิ้นบอกว่ายิ่งเคลื่อนที่ช้า ยิ่งมีโอกาสในการบริโภคมาก ลองหลับตาจินตนาการถึงความเร็วของการเดินของคนด้วยความเร็ว 3-5 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นคือการเดินกับเมืองที่คนเคลื่อนที่ 80-100 กิโลเมตร/ชั่วโมง นั่นคือรถยนต์ โอกาสในการที่จะแวะพัก ความสะดวกที่จะหยุดจับจ่ายใช้สอยมันแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นท่านจะเห็นว่าเมืองทั่วโลกลงทุน (invest, reinvest) กับทางเท้า เพื่อให้เกิดความมั่งคั่งโดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมือง หรือว่าเป็นเมืองแบบนี้ที่ต่อแรก (first mile) และต่อสุดท้าย (last mile) ผู้คนไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะว่าเดินถึง สามารถจ่ายเงินครั้งเดียวในการขึ้นขนส่งมวลชน (transit) ไม่ว่าจะเป็นรถ ราง เรือ นี่คือการลดต้นทุนของคนในเมือง”
จะเห็นได้ว่านอกจากการเดินจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในร้านค้าปลีก แล้วยังช่วยให้ผู้คนที่อยู่ในเมืองเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางน้อยลง ส่งผลให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีอำนาจในการใช้เงินจับจ่ายใช้สอยในสิ่งของที่มีมูลค่า
รูปแบบเมืองแบบไหนที่เหมาะสมกับการเดิน
หน้าตาของแต่ละเมือง แต่ละพื้นที่ย่อมมีความแตกต่างกันทางภูมิศาสตร์ แต่เมืองเดินดีหลายแห่งมีคุณสมบัติ และรูปแบบเมืองร่วมกัน คือ การออกแบบให้เมืองที่มีบล็อกที่เล็ก เพื่อให้การเข้าถึงในพื้นที่ต่างๆ ทำได้ง่ายขึ้น สามารถเดินเท้าแล้วเข้าถึงขนส่งมวลชนได้โดยตรง กลับกันหากมีการออกแบบเมืองให้มีบล็อกขนาดใหญ่ (Super Block) ผู้คนที่อาศัยในบ้านที่อยู่ภายในบล็อกก็ไม่สามารถจะเดินเท้า เพื่อมาใช้ขนส่งมวลชนได้ทันที จำเป็นต้องอาศัยยานพาหนะอื่นๆ เช่น สองแถว สามล้อ มอเตอร์ไซด์ออกมาทางถนนใหญ่ก่อนต่อขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นภาระการเดินทางของคนในเมือง
นอกจากนี้เมืองเดินดียังต้องมีโครงข่ายถนนที่เชื่อมโยงกัน และมีคุณภาพทางเท้าที่ดี กล่าวคือทางเท้ามีพื้นเรียบเสมอกัน มีความกว้างเพียงพอ และปลอดภัย รวมไปถึงในเมืองยังต้องมีการผสมผสานของกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย พาณิชยกรรม สวนสาธารณะ ที่เรียนที่ทำงานรวมไปถึงอาคารสาธารณะต่างๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายเวลา หลากหลายโอก่าส เพื่อให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตโดยไม่ยึดกับการคมนาคมทางล้อ
สถานการณ์ของประเทศไทย
“กรุงเทพฯ เต็มไปด้วยปัญหาและเต็มไปด้วยศักยภาพ”
ผศ.ดร นิรมล นำเสนอแผนที่เมืองเดินได้เมืองเดินดี (GOODWALK MAP) เครื่องมือที่ใช้คำนวณและวัดค่าการเดินที่พัฒนาโดย UDDC โดยการสนับสนุนจาก สสส. ซึ่งเป็นการคำนวณจากความสามารถในการเข้าถึงด้วยการเดินเท้า สู่จุดหมายปลายทางในชีวิตประจำวันซึ่งมีอยู่ 6 ประเภทได้แก่ ที่เรียน ที่ทำงาน ที่จับจ่ายใช้สอย ที่พักผ่อน ที่ประกอบธุรกรรม ที่เปลี่ยนถ่ายการสัญจร สะท้อนให้เห็นว่าแผนที่บอกทั้งโอกาสและความเหลื่อมล้ำ
“ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1,500 ตารางกิโลเมตร 50 เขตต้องบอกว่าในพื้นที่เฉพาะเขตเมืองชั้นใน 17 เขตที่มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบรางอยู่อย่างหนาแน่นเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เพราะว่าประมาณ 60% ของเมืองชั้นในนับว่าเป็นพื้นที่ที่เดินได้ คือพื้นที่เกินครึ่งมี 55 คะแนนโดยเฉลี่ย แต่ถ้าเราซูมออก ท่านจะเห็นว่ามีเพียงแค่ 11% ที่เรียกว่าเป็นย่านที่เดินได้ แล้วค่าเฉลี่ย 16 คะแนนเท่านั้น” ผศ.ดร นิรมลกล่าว
ไม่ใช่เพียงพื้นที่ศักยภาพการเดินได้ เดินดีที่แตกต่างกันในเมืองชั้นในและเมืองชั้นนอกเท่านั้น แต่ในระดับย่านก็มีศักยภาพในการเดินไม่เท่ากัน เช่น ย่านศูนย์กลางพาณิชยกรรมของเมืองเก่า (Central Business District) บางรัก-สีลม-สาธร เป็นพื้นที่ที่มีคะแนนเดินได้ 75 เต็มร้อยมาจากบล็อกที่ไม่ใหญ่ โครงสร้างทางเท้าที่เชื่อมโยง เพราะฉะนั้นก็เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกระจายไปด้านใน มีกิจกรรมหลากหลายอยู่ทั่วย่านไม่ได้เกาะอยู่ที่ตรงถนนสีลมหรือสาธร ขณะที่ศูนย์กลางพาณิชยกรรมใหม่ของเมืองตรงพื้นที่ย่านพระราม 9 ที่ถูกกำหนดตามผังเมืองรวมฉบับล่าสุดและผังภาพมหานครและปริมณฑล จากความต้องการให้มีการกระจายหนาแน่นการลงทุนให้ออกจากสีลม สาธร จะพบว่าแม้พระราม 9 จะมีรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่ค่าคะแนนเดินดีต่ำกว่ามาตรฐานแค่ 35 เพราะบล็อกมีขนาดใหญ่ ทางเท้าเดินยากมากและไม่เชื่อมไปพื้นที่ด้านใน จึงเป็นโจทย์ของภาครัฐที่จะต้องปรับปรุงโครงข่ายถนน และทางเดินเท้า เพี่อรองรับกิจกรรมในเขตพาณิชยกรรมในอนาคต
อีกหนึ่งพื้นที่ภาคการท่องเที่ยวที่สำคัญ อย่างเขตรัตนโกสินทร์และธนบุรี ซึ่งเต็มไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยในฝั่งรัตนโกสินทร์มีแหล่งวัฒนธรรมอยู่กว่า 200 แห่ง ขณะที่ฝั่งธนบุรีเฉพาะตรงริมแม่น้ำมีอยู่ 120 แห่ง เมื่อลงไปสำรวจการเดินได้ การเดินดี พบว่ามีเพียง 54% ของทางเท้าในย่านนี้ที่จัดได้ว่าเดินดี และสองฝั่งแม่น้ำไม่เชื่อมโยงกันด้วยการเดินเท้าอย่างสะดวกนัก เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยว 2 ล้านคนทุกปีที่ไปวัดพระแก้วอาจจะไม่ได้เหนี่ยวนำให้เกิดการกระจายรายได้ให้กับย่านโดยรอบ
“งานวิจัยหลายฉบับบอกว่าโครงสร้างพื้นฐานชีวิตประจำวันในระดับย่านเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายๆ เมืองในประเทศไทยติดกับดักรายได้จากการท่องเที่ยวปานกลาง คือเราไม่สามารถยกระดับไปเป็นเวิลด์คลาสหรือพรีเมี่ยมได้”
ประโยชน์ของแผนที่เดินได้ เดินดี
แผนที่เดินได้ เดินดีจึงมีประโยชน์ต่อผู้กำหนดนโยบายในการตัดสินใจด้วยการชี้ให้เห็นถึงพื้นที่ที่เหมาะสมกับ “นโยบายการฝังเข็มเมือง” เจ็บน้อย ลงทุนน้อย ไม่กระทบชุมชน แต่มีผลกระทบสูง และช่วยให้การลงทุนของภาครัฐมีความแม่นยำมากขึ้น เมื่อรวมกับโครงการกรุงเทพฯ 250 จึงเกิดเป็นโครงการสวนลอยฟ้าเจ้าพระยาที่พลิกเอาโครงสร้างรถไฟฟ้าที่สร้างไม่สำเร็จ ปรับปรุงเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียวลอยฟ้า แหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่อันเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง กทม., การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และกรมทางหลวงชนบท ภายใต้กระทรวงคมนาคม นอกเหนือจากความสวยงามแล้วยังช่วยปลดล็อกศักยภาพของเมืองด้วยการเชื่อมโยงสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งช่วยให้มีคะแนนเดินได้ เดินดีเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
นอกจากนี้แผนที่เดินได้ เดินดียังสามารถนำไปพัฒนาเมืองในรูปแบบ “เมือง 15 นาที” (15 MINUTE CITY) ที่เป็นนโยบายของเมืองต่างๆ ในการลดระยะเวลาการเดินทาง สำหรับประเทศไทยสามารถเกิดได้จริงในเมือง โดยเดินทางจากวัดประยุรวงศาวาสไปยังปลายถนนเยาวราชผ่านสวนลอยฟ้าได้ภายใน 15 นาที หรือนำไปต่อยอดพัฒนาเมืองได้อีกหลากหลาย เช่น การเข้าถึงพื้นที่สีเขียว, การพัฒนาพื้นที่สาธารณสุข พื้นที่การเรียนรู้ เป็นต้น
ไม่เพียงแค่ในกรุงเทพมหานครเท่านั้นที่มีปัญหาเรื่องการเดิน แต่เมืองรองก็เช่นเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูง หรือสนามบินในเมืองรองส่วนใหญ่ยังหยุดอยู่แค่อยู่แค่สถานี แต่ไปไม่ถึงย่านหรือชุมชน งานของผู้กำหนดนโยบายยังมีงานที่เชื่อมเมืองไปสู่ท้องถิ่น ทางเท้าไปยังบ้าน ร้านค้าที่ต่างๆ ปลดล็อคศักยภาพของเมือง ย่าน และผู้คนให้สามารถแลกเปลี่ยน รวมพลังกับพัฒนาเศรษฐกิจให้เข็มแข็งให้ประเทศก้าวไปข้างหน้าต่อไป
“ถึงตอนนั้นการลงทุนภาครัฐจะคุ้มค่าเพราะสามารถยังประโยชน์ในการสร้าง WEALTH และ WELLNESS ของผู้คนด้วยการ WALK”
“ถึงตอนนั้นการลงทุนภาครัฐจะคุ้มค่าเพราะสามารถยังประโยชน์ในการสร้าง WEALTH และ WELLNESS ของผู้คนด้วยการ WALK ค่ะ” ผศ.ดร นิรมลกล่าวทิ้งท้าย