01/11/2019
Mobility

เดินบ้านเรา เข้าบ้านเธอ อารีย์-ประดิพัทธ์

The Urbanis
 


หากความงามของศิลปะขึ้นอยู่กับดวงตาของผู้มองฉันใด ความเป็นเมืองก็น่าจะขึ้นอยู่กับความรู้สึกและประสบการณ์ร่วมของผู้อยู่ฉันนั้น สำหรับ “โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ในระยะที่ 3” ที่กำลังจะมาชวนทุกคนสนุกไปกับวัฒนธรรมการเดินเปลี่ยนเมือง โดยมีพื้นที่นำร่องศึกษาแห่งแรกคือ อารีย์-ประดิพัทธิ์ นอกจากเราจะทำงานกับพื้นที่และคนในย่านผ่านวิสัยทัศน์ของสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านผังเมืองอย่างที่เป็นมาในโครงการระยะที่ 1-2 แล้ว กลับมาทั้งทีต้องไฉไลกว่าเดิมด้วยยกระดับการทำงานให้สถาปนิกมามองเมืองร่วมกับนักสังคมศาสตร์ ด้วยความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการพัฒนาพื้นที่ย่อมต้องมาจากรับฟังความเห็นอันรอบด้านและจากทุกคนที่เดินอยู่บนทางเท้าเดียวกันในเมือง

เอาล่ะในฐานะนักวิจัยประจำโครงการฯ ฉันขอพาทุกคนไปสำรวจย่านทั้งสองผ่านมิติทางสังคมกันบ้าง อารีย์กับประดิพัทธิ์มีขอบเขตทางพื้นที่ที่ห่างกันแค่ราว 1 กิโลเมตรเท่านั้น แต่กลับมีทั้งกายภาพและเอกลักษณ์เฉพาะย่านแตกต่างกันราวหน้ามือเป็นหลังมือ อารีย์คือ ภาพแทนของความชิคประหนึ่งวัยรุ่นหนุ่มสาวกำลังเริงร่า ขณะที่ประดิพัทธิ์หลากหลายไปด้วยผู้คนจากสารพัดทิศทั่วไทยมารวมตัวกัน

เตรียมร่างกายของคุณให้พร้อม แล้วออกเดินส่องย่านไปกับเรา… สาม สี่ เริ่ม!

ภาพร้านค้าริมถนนย่านประดิพัทธิ์
(ภาพจาก ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง)

ประดิพัทธิ์: ความม่วนชื่นเป็นกันเองแบบบ้านๆ

ประดิพัทธิ์เป็นชื่อของถนนที่ตั้งอยู่ในย่านสะพานควาย กล่าวย่อลงมาหน่อย ประดิพัทธิ์คือ ถนนสายของกินราคาประหยัด แถมยังเนื้อหอมขึ้นทุกวันหากวัดจากจำนวนคอนโดที่ผุดขึ้นโดยรอบมากกว่า 5 เจ้า และยังมีผู้ประกอบกิจการที่สนใจมาเปิดร้านชิคๆ ในพื้นที่ ความน่าสนใจของประดิพัทธิ์ก็คือ ที่นี่เป็นแหล่งรวบที่พักอาศัยของทั้งคนเมืองและคนที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ยิ่งซอยประดิพัทธิ์ 23-25 ที่หากเดินเข้าไปจะพบว่าซอยทั้งสองนี้เต็มไปด้วยหอพักรายเดือนตั้งแต่หน้าซอยจนถึงท้ายซอย

ความเฉพาะตัวเช่นนี้เองที่ช่วยประสานให้ประดิพัทธิ์เต็มไปด้วยความหลากหลายของผู้คน ตัวอย่างอันชัดเจนคือ แรงงานอีสานที่ปักหลักอาศัยและทำกินอยู่ในละแวกนี้ เพราะพวกเขาไม่เพียงแต่เดินทางมาตัวเปล่าเท่านั้น แต่ยังนำวิถีชีวิตจากถิ่นที่เดิมมายังที่อยู่ใหม่นี้อีกด้วย

สิ่งบ่งชี้ถึงการเชื่อมโยงความผูกพันของดินแดนที่จากมากับการปรับประสานตนเองเข้ากับพื้นที่ใหม่ได้ดีที่สุดก็คือ อาหารการกิน หากสังเกตหาบเร่แผงลอยในย่านประดิพัทธิ์ เราจะพบว่าของกินส่วนใหญ่คือ อาหารที่คนรับรู้ร่วมกันว่าเป็นอาหารอีสาน ไม่ว่าจะเป็น ส้มตำ ไก่ย่าง ลาบ น้ำตก (ว่าแล้วก็อยากกิน) หรือไม่อย่างนั้นผู้ประกอบการในพื้นที่ก็มักจะเป็นพี่น้องชาวอีสานทั้งสิ้น

นอกจากบทบาทของการเป็นผู้ผลิตและรองรับปากท้องของคนเมืองแล้ว พวกเขายังมีบทบาทเป็นผู้บริโภคอีก ไม่มีทางไหนจะดีไปกว่าการพยายามทำที่อยู่ใหม่ให้คล้ายคลึงกับบรรยากาศเก่าที่ตนจากมา พวกเขาส่งผ่านความต้องการและตอบสนองความต้องการกันผ่านอาหาร สินค้า และบริการ การดำรงอยู่ของพวกเขาจึงมีส่วนสำคัญที่ประกอบสร้างวิถีเศรษฐกิจในย่านได้อย่างแนบเนียน ผ่านการบริโภคกันเองและสนับสนุนปากท้องของคนเมืองไปด้วยในคราวเดียวกัน

วิถีที่ดำเนินไปเช่นนี้เองที่ยังคงคานความเป็นเขตย่านชุมชนของประดิพัทธิ์ที่ปะทะกับพัฒนาการใหม่ เช่น การโอบล้อมของคอนโด และการเพิ่มขึ้นของบรรดาร้านชิคในประดิพัทธิ์ และยังเป็นหน่วยช่วยชะลอการปรับรูปโฉมของพื้นที่ ดังนั้น แม้จะเริ่มมีกลุ่มคนใหม่ๆ เข้าบุกเบิกสร้างพื้นที่สร้างสรรค์หรือพื้นที่ทางกิจกรรมแบบใหม่ ก็อาจจะไม่ได้ทำให้ประดิพัทธิ์กลายสภาพไปเป็นดั่งเพื่อนบ้านอย่าง “อารีย์”

ภาพร้านค้ากาแฟย่านอารีย์
(ภาพจาก ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง)

อารีย์: เพราะเราล้วนเป็นส่วนประกอบของความรื่นรมย์

สำหรับอารีย์ที่เป็นพื้นที่ผสมผสานระหว่างการเป็นที่อยู่อาศัย พานิชยกรรมสำนักงาน และรุ่มรวยไปด้วยความชิค-ฮิป-คูล อารีย์จึงกลายเป็นย่านแห่งการรับรู้ร่วมกันของคนในและคนนอกว่า มีมูลค่าสูงกว่าย่านประดิพัทธิ์ทั้งๆ ที่อยู่ห่างกันแค่ราว 1 กิโลเมตร เพราะชีวิตคือ การเชื่อมต่อกับคนอื่นไม่มากก็น้อย การบริโภคที่เกิดขึ้นในย่านอารีย์ เช่น การกินดื่มสังสรรค์ที่ร้านคราฟต์เบียร์ (Craft Beer) นั่งเล่นในคาเฟ่ หรือร้านเบเกอรี่แสนเก๋ จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสะท้อนฐานะทางสังคมจนถึงรสนิยมในการใช้ชีวิต

ซึ่งนอกจากกลุ่มคนสัญจรที่เข้ามาบริโภคเหล่านี้แล้ว การวางตัวเช่นนี้ของอารีย์ยังดึงดูดให้มีผู้ประกอบการเข้ามาเปิดกิจการในพื้นที่อยู่เรื่อยๆ อารีย์จึงมีพลวัตของความชิคเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา สภาพเช่นนี้เองที่เรียกว่า ‘Becoming Chic’ นั่นคือ มีการหมุนเวียนของกิจกรรมลักษณะนี้อยู่อย่างไม่จบไม่สิ้น และปรากฏการณ์ที่ว่าก็ยิ่งส่งเสริมให้พื้นที่ สถานะของคนในพื้นที่ และคนที่เข้ามาใช้พื้นที่มีความชิคและดูดีตามไปด้วย

นอกจากนั้นอีกหนึ่งคนกลุ่มใหญ่ในอารีย์ก็คือ พนักงานราชการและคนทำงานเอกชน ตามการกระจุกตัวของสำนักงานราชการในซอยพหลโยธิน 7(ซอยอารีย์) และซอยพหลโยธิน 12 ที่อยู่ตรงข้ามกัน การมีอยู่ของสำนักงานเหล่านี้เองที่เป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดเศรษฐกิจขนาดเล็กของกลุ่มผู้ค้าในพื้นที่ทั้งสองฝั่งอารีย์ เช่น ร้านขายเสื้อผ้าคนทำงาน ร้านค้าหาบเร่แผงลอยที่เน้นขายอาหาร รวมไปถึงบริการขนส่งมวลชนอย่างวินมอเตอร์ไซค์ที่มีมากกว่า 10 จุดโดยรอบ

เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งานของผู้คนที่สัญจรอย่างหนาแน่นภายใน ย่านอารีย์จึงเต็มไปด้วยสีสันของกิจกรรมสังสรรค์และกิจการที่ตอบสนองปากท้องของผู้ค้า คนเมือง รวมไปถึงคนเล็กคนน้อยที่เป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมวลรวมของพื้นที่อยู่เรื่อยๆ

ลักษณะเฉพาะของอารีย์และประดิพัทธิ์ นำมาสู่โจทย์ใหม่ในการออกแบบเมืองที่เน้นพิจารณาความครอบคลุมและการรองรับผู้คนอันหลากหลายภายใต้กายภาพที่แตกต่างกัน ทางเดินเท้าจะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงและเชื่อมต่อคนกับเมืองรวมถึงย่านที่พวกเขาอยู่อาศัยได้อย่างไรบ้าง มาร่วมติดตามการเปลี่ยนแปลงเมืองที่สนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการเดินเท้าไปกับเรา โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี


Contributor