01/11/2019
Mobility

Good Walk, Save Cost เมืองไม่จน เพราะคนเดิน

The Urbanis
 


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบคำนวณค่าใช้จ่ายรายเดือน คุณก็คงสังเกตว่าแต่ละเดือนนั้นคุณจ่ายเงินสำหรับค่าเดินทางไปเท่าไหร่ แน่นอนว่าเราปฏิเสธรายจ่ายส่วนนี้ไม่ได้ หากเรายังต้องเดินทางในเมือง

แต่คุณรู้หรือไม่ว่าแต่ละเดือนเราจ่ายค่าเดินทางกันเยอะเกินไป

คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และผู้จัดการโครงการเมืองเดินได้ เมืองเดินดี กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติในแต่ละเดือน เราเสียเงินกับค่าเดินทางประมาณ 20% ของรายได้ ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยหากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ใช้จ่ายเงินส่วนนี้เพียง 10% เท่านั้น

ซึ่งปัญหาหลักๆ ก็คือเราไม่สามารถพึ่งพาระบบขนส่งสาธารณะของเราได้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น การจะมาขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือรถไฟใต้ดินเอ็มอาร์ทีที่เป็นขนส่งหลัก ในบางพื้นที่ก็ต้องนั่งมอเตอร์ไซต์รับจ้างมายังสถานี ซึ่งราคาค่าโดยสายพอๆ กับค่ารถไฟฟ้าในแต่ละเที่ยวด้วยซ้ำ แต่ในต่างประเทศเส้นทางของขนส่งหลักจะครอบคลุมแทบทั้งเมือง และใช้การเดินเป็นระบบขนส่งรองแทน

แนวทางในการลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้ด้วยตัวเองก็คือ การปรับตัวของเรา ซึ่งหนึ่งในวิธีที่สะดวกและง่ายที่สุด นั่นคือ การเดิน แต่ก็ไม่ง่ายเลยที่เราจะเดินได้อย่างสะดวกในเมืองนี้ เพราะปัญหาหนึ่งที่ถูกเพิกเฉยตลอดมานั่นคือ ทางเท้าที่ไม่มีคุณภาพ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่ไม่ชวนให้อยากเดิน ทางจักรยานที่ใช้ไม่ได้จริง

แต่เชื่อหรือไม่ว่าปัญหาอย่างทางเท้าหากได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้อีกด้วย  มีหลายเมืองในโลกที่หันมาสนใจพัฒนาทางเท้าให้เอื้อต่อการเดินมากขึ้น จนท้ายที่สุดเศรษฐกิจเมืองดีขึ้น คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อเศรษฐกิจเมืองเติบโตดีขึ้น แล้วสภาพคล่องในกระเป๋าเงินของเราล่ะ จะเป็นอย่างไร?

เดินได้เพราะเมืองดี

มีงานวิจัยที่บอกว่า ความเร็วของการเคลื่อนที่มีผลต่อการจับจ่าย  นั่นหมายความว่ายิ่งคุณเคลื่อนที่เร็วเท่าไหร่ คุณก็จะแวะซื้อของได้ลำบากมากขึ้น เพราะฉะนั้นหากเมืองไหนที่มีคนใช้แต่รถ การจับจ่ายใช้สอยก็จะไปกระจุกตัวอยู่ในห้างสรรพสินค้าในวันหยุดสุดสัปดาห์ หรือการซื้อของแบบ Drive through ที่ต่างคนต่างซื้อแล้วไปยังจุดหมายปลายทางของตน ซึ่งเป็นการไม่เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็ก หรือร้านค้าปลีกรายย่อย และคนที่เป็นผู้ซื้อเองก็ไม่มีโอกาสที่จะได้จับจ่ายสินค้าท้องถิ่นที่มีคุณภาพ เพราะทางเท้าหน้าร้านหรือที่จอดรถไม่เอื้อต่อผู้ซื้อนั้นเอง 

อีกหนึ่งงานวิจัยนั่นคือของ Roney Tolley ในปี 2011 ที่ประเมินผลกระทบของผู้ค้าปลีก (Retail) และผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านนั้นจากการพัฒนาทางเดินเท้าและทางจักรยาน พบว่า การพัฒนาถนนภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีทางเท้าที่เดินดีและ มีทางสำหรับจักรยานนั้นมีแนวโน้มทำให้มูลค่าของที่ดินหรือบ้านเช่าเพิ่มสูงขึ้น และพื้นที่เดียวกันจะสามารถดึงดูดนักธุรกิจรายย่อย Startups คนรุ่นใหม่เข้ามาทำธุรกิจถือเป็นการเพิ่มกิจกรรมเศรษฐกิจในท้องถิ่น

เมืองที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในการปรับปรุงพื้นที่ทางเท้า และทางจักรยานซึ่งสร้างเศรษฐกิจมวลรวมให้แก่เมือง ได้แก่ เมืองพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา จากงาน TED TALK ของ JEFFSPEAK นักวางแผนและออกแบบเมือง ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเมืองพอร์ตแลนด์ในปี 1970 ว่า ช่วงนั้นในช่วงที่ประเทศอเมริกากำลังมุ่งหน้าไปยังตลาดการทำล้ออะไหล่รถยนต์จนทุกเมืองไม่มีความแตกต่างกัน กลุ่มคนในพอร์ตแลนด์และหน่วยงานของเมืองจึงร่วมกลุ่มกันเพื่อจะสร้างให้พอร์ตแลนด์แตกต่างในเมืองอื่นๆ

ในขณะที่การลงทุนกับถนนและทางด่วนเพื่อรองรับรถเป็นหัวใจสำคัญของเมืองอื่นๆ แต่พอร์ตแลนด์กลับเลือกที่จะลงทุนในการใช้จักรยานและเดิน ด้วยการทุ่มเงิน 60 ล้านดอลลาร์สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกในเรื่องจักรยาน และปรับปรุงทางเท้า ทำให้ปัจจุบันคนพอร์ตแลนด์ขับรถเพียงระยะทาง 4 ไมล์และ 11 นาทีต่อวัน

นักเศรษฐศาสตร์คำนวณว่าระยะทางและระยะเวลาดังกล่าว ได้เพิ่มเศรษฐกิจมวลรวมให้แก่เมืองได้ถึง 3.5 เปอร์เซ็นต์ เหตุเพราะพวกเขาไม่ต้องเสียเงินกับการเดินทางในแต่ละวัน เงินจำนวนนั้นจึงถูกจับจ่ายกับธุรกิจท้องถิ่นในเมือง เพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง จึงไม่แปลกนักที่พอร์ตแลนด์จะมีร้านหนังสืออิสระตามข้างทาง และร้านสถานที่ชิคๆ คูลๆ ที่ดึงดูดนักศึกษาและนักธุรกิจรุ่นใหม่เข้าไปอยู่และลงทุนในพื้นที่เพียงเพราะเป็นเมืองที่อยู่ง่าย เดินง่ายนั้นเอง

ที่มา : https://www.youtube.com/watch?v=3wPC4YGgjg8

อีกหนึ่งประเทศที่เป็นเพื่อนบ้านกับไทย นั่นคือ ประเทศสิงคโปร์ที่ไม่เคยหยุดยั้งเรื่องการพัฒนาพื้นที่ทางเท้าและจักรยาน รัฐบาลของสิงคโปร์จำกัดจำนวนรถยนต์อย่างเข้มงวดมาก กว่าจะได้ซื้อรถยนต์ส่วนตัวแต่ละคันนั้นต้องมีจะต้องมีใบอนุญาตซื้อรถ (Certificate of Entitlement) ซึ่งมีราคาสูงพอๆ กับรถ และส่งเสริมให้ประชากรใช้ขนส่งสาธารณะ ซึ่งถูกพัฒนาแบบคำนึงถึงผู้ใช้ อาทิ การสร้างหลังคาคลุมเชื่อมต่อระหว่างอาคารกับรถไฟฟ้า อีกทั้งยังส่งเสริมให้ประชาชนสิงคโปร์เดินและปั่นจักรยานด้วยการเปลี่ยนช่องรถยนต์ส่วนหนึ่งให้เป็นทางเท้า ทางจักรยาน ทำให้ย่านสถานที่ราชการและย่านศิลปวัฒนธรรมน่าเดินมากขึ้น

ซึ่งผลพลอยได้ที่ตามมาก็คือ สิงคโปร์ถูกจัดอันดับจากสหประชาชาติว่าเป็นประเทศที่มีความสุขเป็นอันดับ 26 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ซึ่งความสุขดังกล่าวนั้นวัดจากหลายปัจจัย ได้แก่ ผลผลิตมวลรวมต่อหัว หรือจีดีพี เสรีภาพในการใช้ชีวิตและการทำงาน เป็นต้น จึงเป็นไปได้ว่าการที่คนสิงคโปร์สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสบายใจ สบายกาย ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และการเผชิญหน้ารถติด อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนสิงคโปร์มีความสุข

ที่มา : https://www.goingplacessingapore.sg/people/2015/Walkability

กรุงเทพฯ ล่ะ หากเดินดี จะได้อะไร

การเดินและขนส่งสาธารณะจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของคนเมือง เพราะจริงๆ แล้วนั้นการเดินเป็นส่วนผสมสำคัญที่ทำให้เมืองสดใส ในย่านไหนก็ตามที่มีคนออกเดิน ร้านรวงต่างๆ ก็จะตามมา ทางเท้าที่คึกคักกระตุ้นให้คนออกมาจับจ่าย ในระบบเมืองที่มีการเดินเท้าที่ดี และมีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อการเดินจะทำให้ผู้คนในเมืองมีปฏิสัมพันธ์ได้แลกเปลี่ยนความคิดเจ๋งๆ และประสบการณ์ที่สร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

และหากถามว่า ทำไมต้องเดิน จริงๆ แล้วการเดินเป็นกิจกรรมการสัญจรที่ใช้แรงกาย (Active Transport) (ธงชัย พรรณสวัสดิ์ 2556) ที่มีราคาถูกและยืดหยุ่นได้ มีการสำรวจมาว่า ในปีๆ หนึ่งเขตกรุงเทพชั้นในใช้น้ำมันสำหรับคมนาคมถึงปีละ 2.5 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 100 ล้านบาท ทุกครั้งการสัญจรติดหนึบ รถยนต์กำลังเผาผลาญน้ำมันไปอย่างเปล่าประโยชน์และเงินที่เสียไปเป็นเงินในกระเป๋าเงินเราเสียด้วย 

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เราเดินกันมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนจากการนั่งวินมอเตอร์ไซต์เป็นการเดินไปยังสถานีรถไฟฟ้า หรือป้ายรถเมล์ หรือ ใช้ขนส่งสาธารณะที่รัฐบาลจัดสรรให้ นั้นอาจจะช่วยให้เราประหยัดเงินจากการเดินทางวันละแค่ 10 – 20 บาท แต่เชื่อว่าหนึ่งเดือนผ่านไปเราจะมีเงินเหลือจากค่าเดินทางไปใช้จ่ายในส่วนอื่นแน่นอน และหากเราออกมาเดินกันเยอะๆ เดินให้เมือง (และหน่วยงานใดๆก็ตาม) รู้ว่า ทางเท้านั้นก็สำคัญพอๆ กับทางด่วนและถนน เชื่อว่าอีกไม่นานเราจะมีทางเมืองที่ดี และเงินในกระเป๋าที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ยังมีอีกหลายคุณประโยชน์ที่คุณจะได้รับง่ายๆ เพียงแค่เริ่มเดิน มาร่วมติดตามการเปลี่ยนแปลงเมืองที่จะเกิดขึ้นผ่านการสนับสนุนให้เกิดวัฒนธรรมการเดินเท้าไปกับเรา โครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ในระยะที่ 3 ที่กำลังจะกลับมาอีกครั้ง เร็วๆ นี้


Contributor