01/11/2019
Environment

กรุงเทพฯ เมืองน้ำท่วม: คงเป็นบุพเพสันนิวาส เมื่อกรุงเทพฯ กับน้ำท่วมเป็นของคู่กันมานานแล้ว

The Urbanis
 


คงจำกันได้เมื่อครั้งน้ำท่วมใหญ่ปี 54 โลกอินเทอร์เน็ตมีการเปรียบเทียบสภาวะน้ำท่วมเป็น ‘น้องน้ำ’ ที่ค่อยๆ เดินทางมาหา ‘พี่กรุง’ โดยมี ‘นังทราย’ เป็นตัวขวางกั้น เกิดเป็นเรื่องราวความรักชวนหัวที่สร้างเสียงหัวเราะ และช่วยให้บรรยากาศผ่อนคลายในสภาวะวิกฤติขณะนั้น แม้จะฟังดูเป็นเรื่องราวโรแมนติก แต่ในโลกแห่งความจริงมวลน้ำมหาศาลก็พร้อมเดินทางมา ยังกรุงเทพมหานครทุกปี ทุกภพ ทุกชาติเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว หนำซ้ำเร็วๆ นี้มวลน้ำกำลังจะมาเยือนกรุงเทพมหานครอีกครั้ง

วันนี้ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) จะมาเล่าให้ฟังว่า อะไรเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้กรุงเทพมหานครต้องเผชิญหน้ากับสภาวะน้ำท่วมทุกปี และเรามีวิธีการรับมือกับมันอย่างไรบ้าง 

มันอาจเป็นความรัก โชคชะตา พรหมลิขิต หรือจริงๆ แล้วมันเป็นยถากรรมของกรุงเทพมหานครกันแน่

(หากดูจากพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์ จะเห็นว่ากรุงเทพฯ อยู่ปลายสุดของลำน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล)

ทำความรู้จักร่างกายกรุงเทพฯ 

หากเป็นนิยาย อันดับเราต้องมาทำความรู้จักตัวละครหลักของเราก่อน ในที่นี้อาจหมายถึง กรุงเทพมหานคร ที่เปรียบเทียบพระเอกของเรา

ในเชิงภูมิศาสตร์ กรุงเทพฯ ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่เรียกว่า ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ (River Delta) เป็นแผ่นดินที่รวมกับแม่น้ำสะแกกรังและป่าสักเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยในที่สุด กล่าวได้ว่ากรุงเทพฯ อยู่ราบต่ำน้ำท่วมถึง อยู่ตรงปากแม่น้ำปลายสุดของลำน้ำก่อนไหลลงสู่ทะเล หากมองไล่ขึ้นไปยังตำแหน่งต้นน้ำจะพบว่า แม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นเส้นเลือดหลักของกรุงเทพฯ เกิดการรวมกันของแม่น้ำ 4 สาย ในภาคเหนือ ได้แก่ ปิง, วัง, ยม, น่าน แล้วไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรังและป่าสัก รวมเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร เราจึงเป็นพื้นที่รับน้ำที่ไหลมาจากทุกทิศทางตามภูมิศาสตร์อยู่แล้ว

ขณะเดียวกันหากมองในแนวราบ พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ตั้งแต่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาต่อเนื่องถึงกรุงเทพฯ เป็นที่ราบที่มีความลาดชันต่ำ การไหลของน้ำตามธรรมชาติจึงค่อนข้างช้า เปรียบเสมือนการเทน้ำลงบนโต๊ะที่จะไหลเอื่อยๆ และกระจัดกระจายควบคุมทิศทางไม่ได้ พอมวลน้ำจะเคลื่อนตัวบริเวณนี้จึงต้องใช้เวลาระบายนานพอสมควร 

รวมไปถึงความสูงของกุงเทพฯ ซึ่งจัดว่าเตี้ยพอสมควร โดยมีช่วงระดับความสูงเฉลี่ยเพียง +0.00 ถึง +1.50 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (Mean Sea Level) หนำซ้ำเรายังเตี้ยลงเรื่อยๆ ทุกปีประมาณ 1 เซนติเมตรเสียอีก ประกอบกับระดับน้ำทะเลมีแนวโน้มสูงขึ้นทั่วโลก ก็ยิ่งสร้างความเสี่ยงให้กรุงเทพฯ ทรุดตัวต่ำกว่าระดับน้ำทะเลในอนาคต 

ฉะนั้นเมื่อเรานำองค์ประกอบทางภูมิศาสตร์มาประกอบกัน เราจะเข้าใจร่างกายโดยธรรมชาติของกรุงเทพมหานครที่เกิดมาเพื่อเป็น ‘เมืองน้ำท่วม’ โดยแท้

เจาะเวลาหาอดีต เมื่อน้ำท่วมยังไม่ใช่ปัญหาของคนไทย

ในยุคปัจจุบันเราต่างขัดขว้างการเดินทางของมวลน้ำไม่ให้มาถึงกรุงเทพฯ อยู่เสมออาจเพราะปัจจุบันกรุงเทพฯ ได้เปลี่ยนตัวเองจากเมืองหน้าด่านกลายเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 21 เมษายน พ.ศ.2325 ต่อมาก็ค่อยๆ ขยายตัวกลายเป็นเมืองเศรษฐกิจที่กลายเป็นหัวใจหลักในพื้นที่ห้ามท่วมไปแล้ว และเมื่อเราเอาสภาวะน้ำท่วมไม่อยู่ ความเจ็บปวดของมนุษย์กรุงเทพฯ ก็พลั่งพลูออกมาอย่างมหาศาล

แต่คุณรู้หรือไม่ว่า สมัยก่อนนั้นสภาวะน้ำท่วมมิได้สร้างปัญหามากมายเหมือนปัจจุบันเลย

หนึ่งในหลักฐานชั้นดีก็คือจดหมายเหตุของ นิโกลาส์ แชรแวส นักเดินทางชาวฝรั่งเศสผู้ร่วมคณะราชทูตฝรั่งเศสของ เชอวาเลียร์ เดอ โชมอง ที่เข้ามาในประเทศไทยใน พ.ศ. 2228 ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เขาบันทึกสภาวะน้ำท่วมในหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม’ ไว้ว่า “น้ำท่วมใหญ่ซึ่งดูเป็นที่น่ารำคาญและทำความเสียหายให้มากนี้ กลับนำประโยชน์และความชื่นชอบมาสู่คนสยามเป็นอันมาก เพราะมันเหมือนกับแม่น้ำไนล์ คือให้พื้นดินอุดมและนำความมั่งคั่งมาสู่ประเทศ… สิ่งที่ให้ประโยชน์อีกประการหนึ่งในกรณีที่มีน้ำท่วม ก็คือมีปลาเป็นอันมากและมากเสียจนกระทั่งว่า แม้จะไม่ต้องลงจากเรือน คนๆ หนึ่งจะตกปลาได้ภายในหนึ่งชั่วโมงพอใช้บริโภคไปได้หลายวันทีเดียว อนึ่งตลอดเวลาที่น้ำท่วม จะมีการเล่นสนุกสนานบนน้ำและการแข่งยานทางน้ำ ซึ่งคนสยามเรียกว่า เรือ (rua) และคนโปรตุเกสเรียกว่า บาล็อง (balon) ดูสนุกมาก ใครพายไปถึงหลักชัยซึ่งมีของรางวัลรอยู่ก่อน ก็จะได้รับการต้อนรับด้วยเสียงเครื่องมโหรีประโคมให้เกียรติในความแข็งขันและสามารถ”

มันช่างเป็นบรรยากาศที่ต่างจากปัจจุบันเสียจริงๆ ตอนนี้เรามองเห็นน้ำท่วมใหญ่เป็นเรื่องน่ารำคาญทำความเสียหายไร้ซึ่งประโยชน์และสร้างความเกลียดชังมาสู่คนสยามในปัจจุบัน

http://www.uddc.net/sites/default/files/image/wysiwyg/3_phaaphbaaneruuenaithyobraan.png
Simon de la Loubère, a French envoy in Ayutthaya, Siam in 1687-88

การปรับตัวที่พลิ้วไหวตามสายน้ำ

จากภูมิศาสตร์กรุงเทพฯ ที่เป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ ภูมิภาคนี้จึงอุดมสมบูรณ์จากการทับถมของดินและโคลนตะกอน ทำให้เอื้อต่อการเพาะปลูกเป็นอย่างดี ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายๆ แหล่งบ่งชี้ว่า ดินแดนแห่งนี้เป็นแหล่งทำมาหากินของมนุษย์หลากหลายชาติพันธุ์ อาชีพของผู้คนริมสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาส่วนใหญ่ทำเรือกสวนไร่นา โดยเฉพาะจากสวนฝั่งธนบุรี เมืองบางกอกจนถึงเมืองนนทบุรี 

แต่ด้วยภูมิประเทศรับน้ำที่กล่าวไว้ข้างต้น บวกกับภูมิอากาศภายใต้อิทธิพลร่องมรสุม ทำให้ฟ้าฝนสามารถถล่มลงมากลางกรุงได้ทุกเมื่อ หากมีปริมาณน้ำฝนจำนวนมาก บวกกับปริมาณน้ำหลาก ก็จะทำให้กรุงเทพฯ เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมเป็นประจำ การตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสักเท่าไหร่ ถึงกระนั้นภายใต้ข้อจำกัดทางธรรมชาติ คนสมัยก่อนกลับเลือกปรับวิถีชีวิตตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติ และดัดแปลงสภาพแวดล้อมให้เอื้อแก่การอยู่รอดของตน

การยกใต้ถุนสูงของสถาปัตยกรรมบ้านเรือนไทยในภาคกลาง คงเป็นตัวอย่างชั้นดีที่สะท้อนการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ ใช้ประโยชน์จากใต้ถุนในการป้องกันสภาวะน้ำท่วมยามน้ำหลาก รวมไปถึงบ้านเรือนแพ บ้านสะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก หรือวิถีชีวิตอย่างการทำนาโคลนตม การทำสวนยกร่อง และการขุดคลองเป็นเส้นทางคมนาคม เป็นต้น

นี่ยังไม่นับประเพณีวัฒนธรรมไทยทั่วทุกภูมิภาคที่ส่วนใหญ่มีแม่น้ำเป็นองค์ประกอบหลัก ครั้นฤดูน้ำมาถึงเราจึงเห็นประเพณีทางน้ำที่สืบทอดมาแต่โบราณอยู่เป็นประจำ ยกตัวอย่าง ประเพณีทอดกฐินทางน้ำมีมาแต่โบราณ หากตีวงแคบลงมาเฉพาะกรุงเทพมหานคร เรามีประเพณีแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี งานบุญประเพณีประจำปีของเขตภาษีเจริญ ที่เครื่องบ่งบอกความสัมพันธ์ระหว่างคนกับน้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม

นี่จึงถือเป็นแบบอย่างของการตั้งถิ่นฐานให้เหมาะสมกับภูมิภาค และเป็นการปรับวิถีการดำรงชีวิตเป็นไปตามธรรมชาติที่เราอยู่นั่นเอง

จุดเริ่มต้นของปัญหา เมื่อร่างกายกรุงเทพฯ ถูกบังคับให้ฝืนความจริง

ระยะเวลาผ่านไปตามกาลเวลา กรุงเทพฯ ค่อยๆ เปลี่ยนผันทั้งสภาพภายใน (การเมือง) และภายนอก (ผังเมือง) จนไม่เหลือเค้าโครงเดิมอีกต่อไป จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ของร่างกายกรุงเทพฯ คือ ช่วงการเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในปี พ.ศ. 2504 ที่รัฐบาลยุคนั้นถือเอาการเจริญเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาประเทศ ผ่านการลงทุนกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในรูปแบบของการคมนาคม ขนส่งทางหลวง เขื่อนชลประทาน การผลิตไฟฟ้า และสาธารณปูโภค ในปีนั้นจึงมีการระดมสร้างถนนโดยมองเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญ ขณะเดียวก็ละเลยการพัฒนาแม่น้ำลำคลองเพราะถูกมองว่าล้าหลัง คมนาคมทางน้ำค่อยๆ หายไป และเปลี่ยนเป็นคมนาคมทางบกแทน มีการถมคลอง ท้องร่อง ตัดถนน ปลูกอาคารขวางทางน้ำ ทั้งหมดนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศดั้งเดิมไปอย่างสิ้นเชิง นานวันเข้าแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ก็เปลี่ยนฉบับใหม่มาถึงฉบับที่ 12 แล้ว แต่จนแล้วจนรอดระบบคมนาคมทางน้ำก็ยิ่งถูกลดทอนความสำคัญลงอยู่ดี    

เราอาจสรุปคร่าวๆ ได้ว่า แต่เดิมที่กรุงเทพฯ ‘ปรับตัว’ ให้สอดคล้องกลมกลืนไปกับสภาวะธรรมชาติ ปัจจุบันก็เริ่มเปลี่ยนเป็นการ ‘ควบคุม’ สภาพแวดล้อมธรรมชาติเพื่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจแทน ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่ร่างกายของกรุงเทพฯ จะต้องพบกับวิกฤตเรื่องการจัดการน้ำ หนำซ้ำยังเหมือนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น หากรัฐฯ ยังไม่มีนโยบายการจัดการอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่รัฐมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำมากถึง 9 กระทรวง 15 หน่วยงาน เพียงแต่โครงสร้างดังกล่าวมีหน้าที่ทับซ้อน ซับซ้อน และกระจัดกระจาย ซึ่งเราจะลงรายละเอียดเชิงลึกในบทความถัดๆ ไป

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่มองจากภูมิศาสตร์ที่เป็นแหล่งรับน้ำ รวมถึงวิธีการดำเนินชีวิตของคนกรุงฯ ที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ทั้งนั้นเราคงไม่สามารถพาเมืองย้อนกลับไปสมัยเดิมได้อีกแล้ว ในเมื่อเมืองได้พัฒนาและขยายตัวอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเราเข้าใจภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ แล้วละก็ เราจะทราบว่าแท้จริงแล้วน้ำท่วมไม่ใช่ปัญหาใหม่ของเมือง แต่เป็นปัญหาของเมืองใหม่ที่ขาดการวางผังเมืองตั้งแต่เริ่มขยายตัว นั่นเอง


Contributor