02/01/2020
Economy
มาลเมอในสวีเดน และชุมชนหลากฐานะในอเมริกา : พัฒนาอย่างไร ให้คนยังมีที่ยืนในพื้นที่เดิมของตัวเอง
The Urbanis
“ที่อยู่อาศัยที่ดีไม่ใช่แค่สิ่งอำนวยความสะดวก แต่เป็นสิทธิมนุษยชน” แอนเดรียส คอนสตรอม (Andreas Schönström) รองนายกเทศมนตรี เมืองมาลเมอ (Malmö) ในสวีเดน กล่าวในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการเคหะและการเงินในเขตเมือง ครั้งที่ 7 (The 7th International Forum on Housing and Urban Finance) ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้
หลังจากช่วงที่ 1 ของงาน วิทยากรได้พูดถึงโจทย์ในการร่างนโยบายการเคหะที่ครอบคลุมคนทุกประเภทให้ยังมีที่อยู่อาศัยในเมืองได้ผ่านโครงการ social housing ในช่วงที่ 2 นี้ โจทย์คือการมองภาพกว้างออกมาว่า ในเมื่อเมืองต้องผ่านการ ‘ผ่าตัด’ พัฒนาและฟื้นฟูให้กระปรี้กระเปร่าทางเศรษฐกิจอยู่เสมอๆ ในขั้นตอนเหล่านี้ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนควรเป็นไปในทิศทางใดและมีอะไรที่ต้องระวังบ้าง
มาลเมอ จากเมืองท่าเรือสู่เมืองสีเขียว
ตัวอย่างที่มาลเมอ อดีตเมืองอู่เรือที่อยู่ข้างช่องแคบเออเรซุน (Öresund) ซึ่งคั่นระหว่างเมืองนี้ของสวีเดนกับโคเปนเฮเกนของเดนมาร์ก ภาพปี 1986 มาลเมอยังเป็นเมืองท่าจอดเรือทางตะวันตก ที่ประชากรส่วนใหญ่พึ่งพาธุรกิจอู่เรือ มี Kockums เป็นอู่จอดเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกในช่วงรุ่งโรจน์ ราวทศวรรษ 1950s-1960s แต่เมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันในทศวรรษ 1990 ธุรกิจในมาลเมอก็ตกต่ำลงและทำให้คนย้ายออกจากเมือง
“เราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเมืองจริงๆ แต่เราต้องการทัศนคติใหม่ ก่อนที่จะเปลี่ยนเมืองได้” คอนสตรอมกล่าว เขาเน้นย้ำแนวคิดที่สำคัญว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการพัฒนา “เราพูดเรื่องบ้านและสิ่งปลูกสร้างกันมากไป คนเมืองที่อาศัยอยู่ในนั้นต่างหากที่บ่งบอกว่าเมืองเป็นอย่างไร พวกเขาเป็นผู้ก่อเกิดกิจกรรมและการเคลื่อนที่ต่างๆ ที่ส่งผลต่อหน้าตาของเมือง พวกเขาคือ ongoing transformation และสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างอาคารสำคัญพอๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในอาคาร”
ในปี 1994 มาลเมอเริ่มก่อร่างสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับเมือง โดยตั้งตัวเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและความรู้ ประจวบเหมาะกับการเกิดโครงการสร้างสะพานและทางรถไฟเชื่อมไปยังโคเปนเฮเกนในปี 1995 และท่าเรือ Kockums ส่วนหนึ่งแปลงโฉมกลายเป็นมหาวิทยาลัยมาลเมอ ในปี 1998
จากเมืองท่าจอดเรือที่พึ่งพาธุรกิจน้ำมัน กลายเป็นเมืองสีเขียวที่ตั้งเป้าเป็นเมืองไฮเทคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไปในตัว เช่นเขตฮีเลีย (Hyllie) ของมาลเมอ ในปี 2011 ได้เกิดความร่วมมือระหว่างบริษัทเอกชนที่จัดการเรื่องน้ำและขยะกับเทศบาลเมืองมาลเมอ เซ็นสัญญาว่าด้วยการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ซึ่งกำหนดให้ฮีเลียต้องเป็นเมืองที่ใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายในปี 2020 พลังงานที่ว่านี้ ได้แก่ ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล และขยะ ตั้งแต่นั้นมาชุมชนก็ถูกผนวกรวมเข้ากับโครงสร้างระบบการใช้พลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ เพื่อเติมพลังให้ระบบทำความเย็น ความร้อน และไฟฟ้าของเมือง
คอนสตรอมยังเสริมอีกแนวคิดของมาลเมอ ที่ออกจะแปลกไปจากแนวคิดที่เราเคยได้ยินมาสักหน่อย
“แทนที่เราจะขยายเมืองออกนอก เราจะทำให้เมืองเติบโตเข้ามา ‘ข้างใน’ นั่นคือการสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นในตัวเมือง”
ชุมชนไม่แบ่งแยกในอเมริกา ต้องไปให้ไกลกว่า mixed-income
เดเร็ก ไฮรา (Derek Hyra) ศาสตราจารย์ มหาวิทยาลัยอเมริกัน สหรัฐอเมริกา เห็นด้วยกับ ศ.คิม แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (ซึ่งกล่าวไว้ในตอนที่แล้ว) ว่าการพัฒนาฟื้นฟูเมือง เป็นโจทย์ร่วมกันของเมืองทั่วโลกทุกเมือง เพื่อสร้างการเติบโตของเมืองที่ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วม
“แต่ทิศทางของเราในสหรัฐฯ อาจต่างกับเดนมาร์กหรือทิศทางที่เกาหลีใต้อยากให้เป็น อย่างการสร้าง social housing ทั้งนี้ก็เนื่องจากบริบทที่ต่างกัน งานของผมจึงเน้นไปที่การฟื้นฟูเมืองที่ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่ผู้คนในถิ้นเดิมต้องโดนโยกย้ายไปไหน และยังอยู่ได้ในเมืองของตัวเอง”
เขายกตัวอย่างโครงการฟื้นฟูเมืองในอดีตที่ชื่อ HOPE VI (1990s-2000s) ในสหรัฐฯ ซึ่งตั้งเป้าหมายการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ด้วยการสร้างชุมชนที่ประกอบด้วยประชาชนหลากกลุ่มรายได้ มีการรื้อถอนโครงการอาคารที่อยู่ของรัฐออกไป ปรับปรุงใหม่ให้หน้าตามีระดับขึ้น ดึงดูดคนมีฐานะเข้ามา แต่ท้ายที่สุด แม้สถิติประชากรจะออกมาว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ แต่ผลก็คือกลุ่มคนเหล่านี้อยู่กันอย่างแยกขาด ต่างคนต่างอยู่ จึงไม่เกิดเป็นชุมชน
เดเร็กเสนอแนะว่าในการปรับปรุงเมืองในภายภาคหน้า ภาครัฐควรใช้ New Market Tax Credits (NMTCs) ดึงดูดธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาในพื้นที่ ควบคู่ไปกับ Low-Income Housing Tax Credit (LIHTC) ที่สนับสนุนสิทธิพิเศษทางภาษีให้ผู้ประกอบการที่สร้างอาคารสำหรับเช่าอยู่ในราคาที่เอื้อมถึงได้สำหรับคนรายได้ต่ำ นอกจากนี้ ก่อนการพัฒนาเมือง ยังต้องร่าง Community Benefits Agreements (CBAs) ซึ่งเป็นความตกลงสามฝ่าย ได้แก่ เมือง กลุ่มชุมชน และนักพัฒนาเอกชน เพื่อรับประกันว่าการพัฒนาเมืองจะสร้างประโยชน์กับคนในพื้นที่จริงๆ
เขายกตัวอย่างโครงการ Progression Place ในปี 2013 ที่วอชิงตัน ดีซี เป็นโครงการงบประมาณ 155 ล้านดอลลาร์ อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟ ประกอบด้วยอพาร์ตเมนต์ 144 ยูนิตที่ปล่อยเช่าตามราคาตลาด และ 51 ยูนิตที่อยู่ในราคาควบคุม ตัวอย่างการรักษาผู้ประกอบการเดิมให้อยู่ได้ คือการให้เงินอุดหนุนค่าเช่าในช่วงแรก และมีข้อตกลงที่ยึดผลประโยชน์ของชุมชนเป็นสำคัญ เพื่อรับประกันว่าโครงการนั้นจะไม่คุกคามธุรกิจเดิม เช่น ร้านแวนด้าส์ ที่กลับมาเปิดใหม่โดยได้รับเงินอุดหนุนค่าเช่าในช่วง 5 ปีแรก
อีกตัวอย่างคือโครงการ Old Town Commons ที่อเล็กซานเดรีย รัฐเวอร์จิเนีย เป็นการเปลี่ยนชุมชนที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อยให้กลายเป็นชุมชนที่มีกลุ่มรายได้หลากหลาย โดยปรับปรุงที่อยู่แบบราคาเข้าถึงได้ 134 ยูนิต พร้อมพร้อมที่อยู่อาศัยตามราคาตลาด 231 ยูนิต ซึ่งประกอบด้วยคอนโดมิเนียมและทาวน์โฮม
เดเร็กบอกว่า โครงการนี้พิเศษตรงที่มีการสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่คนทุกยูนิตสามารถมาใช้งานร่วมกันได้ เพื่อจูงใจให้คนบ้านอยู่ใกล้กันแต่มีฐานรายได้ที่แตกต่าง ได้กลับมาคบหาสมาคมกันบ้าง ไม่ใช่ว่าต่างคนต่างอยู่อย่างหลายๆ โครงการที่ผ่านมา
“ประเทศเรามีประวัติศาสตร์ของการกีดกันแบ่งแยก โจทย์ของเราคือการทำให้คนเหล่านี้ได้มาอยู่ร่วมชุมชนกันอย่างแท้จริง”
เดเร็ก แนะนำว่าสำหรับเกาหลีใต้ ข้อควรระวังที่ต้องคิดเมื่อจะสร้างโครงการพัฒนาชุมชน ก็คือการสงวนรักษาธุรกิจท้องถิ่นไว้ เพราะหากการพัฒนากลายเป็นการขับไล่พวกเขาไปในทางอ้อม นั่นเท่ากับการถอนรากทางวัฒนธรรมที่สะสมอยู่เดิม
“แผนการฟื้นฟูเมืองคือการดึงทุนจากเอกชนเข้ามากระตุ้นชีวิตชีวาของเมือง แต่แผนที่ดีควรเป็นได้ทั้งการดึงทุนทางเศรษฐกิจเข้ามา โดยที่ยังรักษาทุนทางวัฒนธรรมและสังคมของชุมชนเดิมเอาไว้ได้”
สอดคล้องกับคำกล่าวของคอนสตรอม รองนายกเทศมนตรีของมาลเมอ ซึ่งได้กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ที่อยู่อาศัยที่ดีคือสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เพียงสิ่งอำนวยความสะดวกหรืออาคาร แนวคิดของเดเร็ก คือการมองว่า หากที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิมนุษยชน การพัฒนาที่เข้ามาฟื้นชีวิตชีชีวาของเมือง ก็ไม่ควรทำลายชีวิตคนและวัฒนธรรมเป็นการแลกเปลี่ยน เพราะเมืองก็เท่ากับผู้คนที่เคลื่อนไหวอยู่ในนั้น