11/05/2020
Economy
Shannon: การสร้างเมืองด้วย Airport Duty-Free แห่งแรกของโลก
อดิศักดิ์ สายประเสริฐ
การเดินทางไปต่างประเทศของหลายๆ คน มักแวะซื้อของที่ Duty-Free Shops หรือ ร้านค้าปลอดภาษีในสนามบิน จนทำให้ผู้รับสัมปทานร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินกลายเป็นมหาเศรษฐีในระดับโลก และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ให้สิทธิการงดเว้นภาษีบางอย่าง เพื่อจูงใจนักลงทุนกลายเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจยอดฮิต
เราขอพาย้อนกลับไปสู่การเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีร้านค้าปลอดภาษีและพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตสนามบินแห่งแรกของโลก
สภาพเศรษฐกิจการเมืองไอร์แลนด์หลังประกาศอิสรภาพ
หลังจากที่ไอร์แลนด์ได้ประกาศอิสรภาพแยกตัวจากสหราชอาณาจักรในปี ค.ศ. 1922 เศรษฐกิจการเมืองโลกก็เข้าสู่การถดถอย สายพานการผลิตหยุดชะงัก แรงงานถูกเลิกจ้าง สินค้าที่ผลิตก็ขายไม่ได้
การว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกกระทบถึงไอร์แลนด์อย่างมาก รัฐบาลพยายามหารายได้เพื่อนำงบประมาณมากระตุ้นการจ้างงานอย่างเร่งด่วน เพราะเกรงว่าชาวไอร์แลนด์จะอพยพไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาจนเป็นกระแสทิ้งประเทศ
แต่ก็ดูเหมือนนโยบายการกระตุ้นการจ้างงานของรัฐบาลไม่ได้ผล จึงเป็นโอกาสให้กลุ่มทุนเข้ามามีบทบาทการพัฒนาเศรษฐกิจโดยตรงมากขึ้น ในการผลักดันโครงการที่หลุดไปจากกรอบคิดเดิมๆ
จาก Seaplane สู่ Airport
ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การเดินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกมักใช้ Seaplanes หรือ เครื่องบินแบบสะเทินน้ำสะเทินบก บินจากฝั่งอเมริกาลงแวะจอดเติมน้ำมันที่ชายฝั่งตะวันตกของไอร์แลนด์ จึงจะเดินทางต่อไปยังเกาะอังกฤษหรือยุโรปภาคพื้นทวีปได้
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการบินที่ต้องการสร้างเครื่องบินขนาดใหญ่ สามารถบรรทุกผู้โดยสารและสิ่งของได้มากกว่าเดิม ทำให้ต้องการ Runway ที่รองรับน้ำหนักเครื่องบินขนาดใหญ่และได้มาตรฐานองค์กรการบินพลเรือน (ICAO)
รัฐบาลไอร์แลนด์ได้อนุมัติงบก่อสร้าง Shannon Airport จนแล้วเสร็จในปี 1942 แน่นอนว่าสนามบินไม่ได้เป็นเพียงที่แวะจอดเครื่องบินอีกต่อไป เพราะตระกูล O’Regan ได้รับเหมาจัดทำห้องอาหารสำหรับรับรองผู้โดยสารและลูกเรือจนเป็นที่กล่าวขานถึงการบริการชั้นเยี่ยม อาหารรสเลิศ จนทำให้สนามบินชันเนนเป็นที่รู้จักในหมู่นักเดินทาง
Brendan O’Regan เจ้าพ่อร้านค้าปลอดภาษี
Brendan O’Regan ไม่เพียงแต่จะเป็นนักธุรกิจที่สืบทอดหลายกิจการจากบิดา แต่ยังเป็นผู้บุกเบิกการสร้างนิคมอุตสาหกรรมในเมืองชันเนน ซึ่งเป็นนิคมที่ได้รับการยกเว้นภาษี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน
ในระหว่างที่ O’Regan เรียนการโรงแรม เขาได้มีโอกาสเดินทางไปสหรัฐอเมริกาเพื่อดูการบริหารโรงแรม ทำให้เขาได้ไอเดียการซื้อสินค้าในบางมลรัฐที่ไม่บวกภาษีการขายเพิ่ม (Sales Tax) เมื่อกลับมายังไอร์แลนด์ O’Regan พยายามชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการยกเว้นภาษีและขายไอเดียนี้ให้กับข้าราชการ นักการเมือง และนายทุน แต่หลายฝ่ายก็ไม่เห็นด้วย
ในสภาก็ได้มีการโต้เถียงถึงข้อดีของการผ่อนปรนพิธีการศุลกากร ที่จะช่วยแก้ปัญหาของผู้เดินทางโดยเครื่องบิน ซึ่งมักใช้เวลาในการตรวจกระเป๋านานกว่าการเดินทางด้วยเรือหรือรถทัวร์ การผ่อนปรนการตรวจตราก็จะช่วยร่นระยะเวลาลงได้
จนกระทั่งสภาผ่านกฎหมายงดเว้นภาษีศุลกากรในเขตสนามบิน (Free-Customs Airport Act) ในปี 1947 O’Regan ได้เปิดร้านค้าปลอดภาษีแห่งแรกในสนามบินชันเนน โดยเริ่มจากการนำวิสกี้ไอริชมาวางขายให้กับผู้โดยสารขาออกที่จะเดินทางไปยังเมืองอื่น
ต่อมาเขาได้เพิ่มรายการสินค้าอื่นๆ ที่มาจากท้องถิ่น เช่น กาแฟไอริช รวมไปถึงการเปิดสั่งจองสินค้าปลอดภาษีล่วงหน้าทางไปรษณีย์ ที่ O’Regan ได้ส่งแคตตาล็อกสินค้าไปตามห้องพักของโรงแรมต่างๆ ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อ
จนกระทั่งแนวคิดร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินได้แพร่กระจายไปยังอัมสเตอร์ดัม อังกฤษ ฮาวาย และสนามบินอื่นๆ ทั่วโลก
จากร้านค้าปลอดภาษีสู่เขตภาษีพิเศษ
หลังจากที่ร้านค้าปลอดภาษีประสบความสำเร็จอย่างมาก O’Regan ได้ไอเดียใหม่จากการทำเขตการค้าเสรี Colón ในปานามา บุกเบิกการทำเขตอุตสาหกรรมปลอดภาษีในพื้นที่สนามบินชันเนน เพื่อเปิดพื้นที่การลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจและความคึกคักให้กับสนามบิน
O’Regan เสนอให้สร้างอาคารโรงงานโดยไม่เก็บค่าเช่า โดยเชื่อว่าเมื่อสร้างโครงการสำเร็จนักลงทุนก็จะตาม สภาก็ได้อนุมัติให้ทำได้ยกเว้นการเก็บภาษี Shannon Free Zone หรือ เขตการค้าปลอดภาษีซึ่งได้เริ่มในปี 1959 รายได้จากการผลิตและส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ จะไม่ถูกนำมาคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล จนถึงปี 1983
โชคดีที่ความคิดของ O’Regan นั้นเป็นจริง ผู้ผลิตเปียโน เครื่องใช้ไฟฟ้า และอัญมณี ได้มาลงทุนตั้งโรงงานใน Shannon Free Zone นอกจากนั้น O’Regan ยังได้ทำโครงการบ้านที่แรงงานสามารถซื้อได้ ซึ่งถือเป็นโมเดลการทำนิคมอุตสาหกรรมที่หลายประเทศได้ยึดเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ
กล่าวกันว่า O’Regan ว่ามีแนวคิดแบบ Practical Patriotism ที่เจ้าตัวมองว่า สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต คือ การทำให้คนมีงานทำมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ “the most important thing about life is to create work for others, if you can”
อ้างอิงข้อมูล
– Giblin, T., Kennedy, K., & McHugh, D. (2013). The economic development of Ireland in the twentieth century. Routledge.
– Sweeney, V. (2004). Shannon Airport: A Unique Story of Survival. Valerie Sweeney.
– Soulsby, J. A. (1965). The Shannon Free Airport scheme: a new approach to industrial development. Scottish Geographical Magazine, 81 (2), 104-114.
– In Committee on Finance. – Customs-Free Airport Bill, 1947—Second Stage.
– The Irish ‘father of duty free’ and saviour of Shannon, Fiona Reddan, The Irish Times