19/01/2023
Insight

รู้จักเมือง รู้จักย่านกะดีจีน-คลองสาน

นวพร เต็งประเสริฐ
 


ย่านกะดีจีน-คลองสาน ย่านเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ราชธานีสมัยกรุงธนบุรี ที่มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐาน และการทำการค้าของผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์เกิดเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม สู่ย่านที่มีความหลากหลายมากขึ้นทั้งวิถีชีวิต พื้นที่ และกิจกรรมไม่ว่าจะเป็น แหล่งที่พักอาศัย ชุมชนดั้งเดิม แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่อุดมไปด้วยมรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ (Tangible and Intangible Cultural Heritage) รวมไปถึงมีการใช้งานเป็นสถานที่ราชการ สถานศึกษามากมาย เรียกได้ว่า มีศักยภาพในการเปิดเป็นย่านที่ส่งเสริมให้เข้ามาเรียนรู้ของเมือง เปรียบเสมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ที่ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของกรุงเทพมหานครในการพัฒนาเป็นพื้นที่อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม จากสินทรัพย์ทางมรดกวัฒนธรรมดั้งเดิมกว่า 121 รายการ

วันนี้ The Urbanis จะพาผู้อ่านทุกท่านมาส่องข้อมูลการวิเคราะห์ในย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้ เพื่อทำความเข้าใจและค้นพบศักยภาพของย่านที่เราอาจจะยังไม่เคยรู้มาก่อน

เศรษฐกิจในย่าน

เศรษฐกิจภายในย่านกะดีจีน-คลองสาน มีการกระจุกตัวอยู่ที่บริเวณถนนใหญ่ เช่น ถนนอิสรภาพ และบริเวณท่าดินแดง ที่ใกล้กับท่าเรือข้ามฟากไปยังฝั่งพระนคร โดยเศรษฐกิจภายในย่านส่วนใหญ่จะเป็น ธุรกิจขนาดเล็กที่ตอบสนองความต้องการของคนในย่านเป็นหลัก ยังไม่มีการเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจฐานความรู้ รวมถึงยังไม่ดึงดูดให้คน ภายนอกเข้ามาจับจ่ายใช้สอย

พื้นที่สีเขียวในย่าน 

จากข้อมูลพบว่าพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรในย่านเท่ากับ 3.3 ตารางเมตร/คน ซึ่งต่ํากว่ามาตราฐานองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจํานวนประชากรควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนหรือมากกว่า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสามารถเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างสู่สวนสาธารณะที่สามารถใช้งานได้จริงอย่าง ‘สวนสานธารณะ’ พื้นที่ริมน้ำข้างโรงเกลือแหลมทอง การพัฒนาและปรับปรุงจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน บ้าน วัด โรงเรียน บนกระบวนการมีส่วนร่วมในโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ซึ่งหากสวนนี้สามารถเกิดการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบอาจช่วยเพิ่มอัตราพื้นที่สีเขียวต่อหัวประชากรของย่านได้ยิ่งขึ้น

การเข้าถึงย่าน

ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นย่านเดินได้เดินดี โดยจากข้อมูลแผนที่เมือง เดินได้-เดินดี แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้ชีวิตประจําวันโดยที่ไม่ต้องพึ่งพารถยนต์ สาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่างๆ มีการกระจายตัวอยู่ในระยะที่เดินถึง แต่ยังเดินไม่ดี เนื่องจากในพื้นที่ยังมีซอยแคบและซอยตันอยู่เยอะ

สาธารณูปการทางการศึกษา

พื้นที่ศักยภาพในการสนับสนุนการศึกษาของย่านกะดีจีน-คลองสาน ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของพื้นที่ย่านทั้งหมด มีการกระจุก ตัวอย่างหนาแน่นตามแนวถนน ได้แก่ ถนนเทศบาลสาย 1 ถนนสมเด็จ เจ้าพระยา และถนนเชียงใหม่ ตัวอย่างสาธารณูปการที่พบ ได้แก่ โรงเรียนวัดประยุรวงศาวาส โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนท์ โรงเรียนบํารุงวิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี วิทยาลัยสารพัดช่างธนบุรี เป็นต้น

สาธารณูปการสนับสนุนการเรียนรู้

ย่านกะดีจีน-คลองสาน มีแหล่งสนับสนุนการเรียนรู้ที่กระจายอยู่ทั่วไป บริเวณถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนพญาไม้ และซอยอรุณอมรินทร์ 4 เมื่อพิจารณาพื้นที่ศักยภาพสนับสนุนการเรียนรู้ พบว่า ครอบคลุมประมาณ ร้อยละ 25 ของพื้นที่ย่านทั้งหมด ตัวอย่างสาธารณูปการที่พบในย่าน ได้แก่ พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพฯ เขตธนบุรีและเขตคลองสาน พิพิธภัณฑ์บ้านกุฏีจีน เป็นต้น

สาธารณูปการศักยภาพเพื่อการเรียนรู้

เนื่องด้วยเป็นย่านพหุวัฒนธรรม และมีมรดกวัฒนธรรมศาสนาที่สําคัญมากมาย ย่านกะดีจีน-คลองสานจึงหนาแน่นไปด้วยสาธารณูปการศักยภาพเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งครอบคลุมประมาณร้อยละ 45 ของพื้นที่ย่านทั้งหมด ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่มีการกระจุกตัวตามแนวถนนสายหลัก และถนนสายย่อย ได้แก่ ถนนประชาธิปก ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนเทศบาลสาย 1 และซอยอรุณอมรินทร์ 4 ตลอดจนพื้นที่ริมแม่น้ําเจ้าพระยา และริมคลองบางกอก ใหญ่ ตัวอย่างสาธารณูปการ ได้แก่ วัดประยูรวงศาวาสวรวิหาร วัดซาง ตาครู้ส มัสยิดบางหลวง ศาลเจ้าเกียนอันเกง อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นต้น

ความเข้มข้นของแหล่งการศึกษาและเรียนรู้

สาธารณูปโภคเพื่อการเรียนรู้ของย่านกะดีจีน-คลองสาน พบว่าครอบคลุมประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่ย่านทั้งหมด ซึ่งโดยส่วนใหญ่มีการกระจุก ตามแนวถนนประชาธิปก ถนนพญาไม้ ซอยอรุณอมรินทร์ 4 และ โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ําเจ้าพระยา ริมคลองบางกอกใหญ่ ที่มีการกระจุกตัวหนาแน่นมากที่สุด เนื่องจากในอดีตชาวไทย จีน ฝรั่ง ญวน มอญ ฯลฯ อพยพจากกรุงเก่ามาตั้งถิ่นฐาน จึงพบแหล่งเรียนรู้ แหล่งที่ตั้งศาสนสถานที่สําคัญหลายศาสนาในพื้นที่

เมื่อพิจารณาระดับความเข้มข้นของสาธารณูปการเพื่อการเรียนรู้ แสดงให้เห็นว่าเป็นย่านที่เต็มไปด้วยแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา และเรื่องเล่า รวมทั้งมีแหล่งการศึกษาหลากหลายแห่ง จึงนับได้ว่า เป็นย่านที่มีแหล่งพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ที่เพียงพอจนเกือบล้นเหลือความต้องการ ครอบคลุมประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่ย่านทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของย่าน

จากข้อมูลการวิเคราะห์โดย UDDC จะเห็นได้ว่าย่านกะดีจีน-คลองสาน เรียกได้ว่าเป็นย่านที่เต็มไปด้วยศักยภาพ ด้วยต้นทุนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ทำให้ย่านนี้มีความสามารถนำไปต่อยอดการพัฒนาย่านได้หลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีโอกาสในการต่อยอดสู่ย่านส่งเสริมการเรียนรู้ของเมือง แต่ถึงอย่างนั้น ในโอกาสก็มาพร้อมกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงยากเพราะซอยลึก ซอยตัน ต้องการการเชื่อมต่อ พื้นที่สีเขียวที่มีอยู่ แต่ยังน้อย การเชื่อมต่อจากเศรษฐกิจที่กระจุกตัวอยู่ภายนอกเข้ากับเศรษฐกิจความรู้ที่อยู่ภายใน การเข้าถึงย่านที่มีความรู้รายล้อมด้วยการเดินเท้า แต่กายภาพทางเท้าที่ยังไม่เอื้อ ดังนั้นแล้วการพัฒนาเมืองเชิงยุทธศาสตร์ ต้องดำเนินงานควบคู่ไปกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ กะดีจีน-คลองสานจึงกลายเป็นพื้นที่นำร่องในการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อต่อยอดการพัฒนาทั้งข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์และการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาเมืองบนฐานความรู้อย่างยั่งยืนต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)


Contributor