20/07/2022
Insight
พระโขนง-บางนา ย่านโอกาสแห่งใหม่ใกล้ศูนย์กลางเมือง
ณัทพัฒน เกียรติไชยากร
จบกันไปแล้วกว่า 1 เดือนกับงานนำเสนอสาธารณะพระโขนง-บางนา 2040: อนาคต ความฝัน ย่านของเรา ที่ทางศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (UddC-CEUS) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้นำเสนอถึงยุทธศาสตร์ โครงการพัฒนา และแนวทางความร่วมมือสำหรับการพัฒนาขับเคลื่อนย่านพระโขนง-บางนา วันนี้ The Urbanis จึงอยากพาผู้อ่านทุกท่านมาเก็บตกเนื้อหาการนำเสนอที่ผ่านมาเสียหน่อย
โดยในบทความนี้ จะขอนำเสนอเนื้อหาการบรรยายช่วงต้น ในประเด็นชิงพื้นที่ และภาพอนาคตของย่านพระโขนง-บางนา โดยผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่จะทำให้ทุกท่านรู้จักย่านพระโขนง-บางนามากขึ้น
กรุงเทพมหานคร ย่านศักยภาพ และการพัฒนา
ขณะนี้กรุงเทพมหานครของเราได้เดินทางมาถึงครึ่งหนึ่งของวิสัยทัศน์การพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี เพื่อมุ่งสู่การเป็น “มหานครแห่งเอเชีย” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมืองที่มีประชากรตามทะเบียนกว่า 5.5 ล้านคน และ 15 ล้านคนหากนับถือรวมประชาการแฝงในพื้นที่ปริมณฑลร่วมด้วย มหานครแห่งนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้สามารถรองรับการขยายตัวของเมือง ตลอดจนกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกสู่พื้นที่โดยรอบเพื่อลดความแออัดของเมือง นี่จึงเป็นสาเหตุที่พื้นที่ย่านทั่วทั้งกรุงเทพฯ จะต้องถูกศึกษา และวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอย่างจริงจัง
“ย่านพระโขนง-บางนาในอดีตเรียกได้ว่าเป็นย่านชายขอบ ย่านที่อยู่อาศัย และย่านอุตสาหกรรมที่ห่างไกล แต่สถานการณ์กำลังจะเปลี่ยนไปเพราะย่านชายขอบแห่งนี้กำลังที่จะพลิกบทบาทของตนเองเป็นเกตเวย์ของกรุงเทพ” ประโยคนี้คือใจความสำคัญซึ่งผศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) ได้กล่าวไว้ในการนำเสนอประเด็นเชิงพื้นที่ และข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ของย่านพระโขนง-บางนา
ปัจจุบันย่านพระโขนง-บางนามีสัดส่วนพื้นที่อยู่อาศัยถึง 1 ใน 4 ของกรุงเทพมหานครแต่ก็ถือว่ายังเป็นย่านชายขอบของที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังเป็นย่านอุตสาหกรรมที่ห่างไกลของกรุงเทพฯ ในโซนบางจาก แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเราพูดถึงย่านแห่งนี้ เรามักจะนึกถึงแม่น้ำ ลำคลอง วิถีชีวิตริมน้ำ ตำนานรักอมตะของแม่นาคพระโขนง ไปจนถึงภาพศูนย์ประชุมขนาดใหญ่อย่างไบเทคบางนา ภาพเหล่านี้สะท้อนถึงอัตลักษณ์สำคัญของย่านที่เมื่อนำมาพิจารณาร่วมกับพื้นที่นี้ในเชิงกายภาพจะพบว่า พื้นที่แห่งนี้นั้นเต็มไปด้วยศักยภาพที่พร้อมจะถูกผลักดันและพัฒนาจากย่านชายขอบสู่การเป็นเกตเวย์ (Gateway) และการเป็นย่านนวัตกรรม รวมถึงย่านเศรษฐกิจใหม่ของกรุงเทพฯ
ย่านศักยภาพที่สวนทางกับสภาพความเป็นจริง
“พื้นที่โขนง-บางนากลายเป็นพื้นที่ในการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชน เป็นย่านนวัตกรรมของกรุงเทพมหานครที่ถูกส่งเสริมโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมมือกับเอกชน และภาคีต่างๆ ในพื้นที่ แต่อันนั้นเป็นศักยภาพสูงสุดเมื่อเรามองจากระดับนโยบายหรือมองระดับบน หรือ Bird Eye View แต่ถ้าเรามองในระดับพื้นดิน มันอาจเป็นหนังอีกพล็อตหนึ่ง” ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล กล่าวถึงศักยภาพที่ควรจะเป็นกับสภาพจริงที่กำลังเกิดขึ้น พร้อมทั้งระบุเพิ่มเติมถึงปัญหาในพื้นที่จริง 9 ข้อที่เกิดจากการศึกษาในเชิงพื้นที่ และการเก็บรวบรวมจากผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังนี้
1. ซอยลึก ซอยตัน ในซุปเปอร์บล็อค – ย่านพระโขนง-บางนาเป็นบล็อคขนาดใหญ่ที่ล้อมรอบด้วยถนนใหญ่ซึ่งทางสัญจรสำคัญของย่าน แต่กว่า 50% ของถนนเป็นซอยตันทำให้ขาดการเชื่อมต่อ
2. เดินไม่ได้ เดินไม่ดี – แม้ย่านพระโขนง-บางนาจะมีสถานีรถไฟฟ้าถึง 6 สถานีแต่สัดส่วนพื้นที่เดินได้มีแค่ 8% เมื่อคนไม่นิยมเดินจึงส่งผลให้การกระจายความมั่งคั่งเป็นไปอย่างจำกัด โดย Good work score ของย่านพระโขนง-บางนาอยู่ที่ 35 คะแนนจาก 100 คะแนน
3. ระบบขนส่งรองและเสริมมีอย่างจำกัดและไม่ทั่วถึง – พื้นที่ย่านพระโขนง-บางนามีการเข้าถึงที่สะดวกง่ายดายแต่ไม่สามารถเเชื่อมต่อไปยังส่วนอื่นๆ ได้เพราะจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร ป้ายรถเมล์ และจักรยานยนต์รับจ้างไม่ทั่วถึง
4. รถติดทั่วย่าน – ปัญหาการขนส่งรองที่ไม่ทั่วถึงส่งผลให้เกิดการใช้รถยนต์โดยสารส่วนตัวมากขึ้น โดยสถิติแล้วมีรถยนต์โดยสารกว่า 7 แสนคันต่อวันในพื้นที่ย่านพระโขนง-บางนา ประกอบกับโครงข่ายถนนที่มีลักษณะเป็นซอยลึกและตันทำให้เกิดปัญหารถติดทั่วย่าน
5. พื้นที่สีเขียวต่ำกว่ามาตรฐานและขาดแคลน – ปัจจุบันในเขตพระโขนงมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 3.5 ตร.ม.ต่อคน ส่วนเขตบางนาอยู่ที่ 5 ตร.ม.ต่อคน ซึ่งต่ำกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้ที่ 9 ตร.ม.ต่อคน และอีกปัญหาสำคัญอยู่ที่ระยะทางการเข้าถึงเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ระยะ 2.5 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ายากต่อการเข้าถึงของผู้อยู่อาศัยในพื้นที่
6. บริการสาธารณสุขไม่เพียงพอ – พื้นที่พระโขนง-บางนามีจำนวนศูนย์บริการสาธารณสุขไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในพื้นที่ ตลอดจนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขเป็นไปอย่างยากลำบากเพราะปัญหาการจราจรติดขัด
7. พื้นที่การเรียนรู้ขาดแคลน – พื้นที่พระโขนง-บางนาเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีสถานศึกษาอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งแตกต่างหลากหลายทั้งระดับการศึกษา และประเภทของสถานศึกษา แต่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยสถานศึกษานี้กลับไม่มีพื้นที่การเรียนรู้ ทำให้นักเรียน-นักศึกษาไม่มีพื้นที่ในการเรียนรู้นอกเวลาเรียน
8. พื้นที่เปราะบางน้ำท่วม – พื้นที่พระโขนง-บางนามีลักษณะภูมิประเทศแบบแอ่งกระทะ จึงเกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำขัง น้ำล้น และน้ำรอระบายอยู่บ่อยครั้ง
9. คลองยาวหลายสิบกิโลเมตรแต่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ – พื้นที่ย่านพระโขนง-บางนามีความยาวของคลองทั้งหมดในพื้นที่กว่า 53 กิโลเมตรแต่ยังไม่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
สภาพปัญหาที่ย่านพระโขนง-บางนากำลังเผชิญอยู่ขณะนี้จึงทำให้ย่านนี้เป็นย่านที่มีศักยภาพแต่ไม่น่าอยู่ ย่านพระโขนง-บางนา รวมถึงย่านอื่นๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวางแผนพัฒนาระดับย่านอันเกิดจากการมีส่วนร่วมเพื่อให้การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นเป็นการพัฒนาที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ร่วมกันได้
มองศักยภาพของย่านผ่าน 4 โอกาสสำคัญ
UddC เห็นแนวโน้มการเจริญเติบโตของย่านพระโขนง-บางนาที่จะทำให้พื้นที่แห่งนี้กลายเป็น 1 ใน 6 พื้นที่กำลังเติบโต หรือเป็นย่านศูนย์กลางเศรษฐกิจรองแห่งใหม่ของกรุงเทพมหานครผ่าน 4 โอกาสดังนี้
1. การเป็นแหล่งงาน พื้นที่พระโขนง-บางนาเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจย่อยที่กรุงเทพมุ่งหมายกระจายความเจริญออกมาจากพื้นที่เศรษฐกิจศูนย์กลางเมืองอย่างบริเวณสีลม-สาทร ถนนราชประสงค์-พระราม 1 ทำให้เกิดการกระจุกตัวของกลุ่มเศรษฐกิจ และพื้นที่พาณิชยกรรมที่หนาแน่นมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดเป็นแหล่งงาน
2. การเป็นย่านน่าอยู่อาศัย ย่านพระโขนง-บางนาเป็นย่านอยู่อาศัยด้วย 3 สาเหตุด้วยกันคือ ราคาเข้าถึงได้ การสัญจรเข้าถึงได้ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ส่งผลให้ย่านนี้มีคะแนน Living Score ติด 1 ใน 5 ของกรุงเทพฯ ด้วยคะแนน 72 เต็ม 100
3. การเป็นแหล่งรวมด้านนวัตกรรม ในพื้นที่พระโขนง-บางนามีการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจด้านนวัตกรรมอย่าง นวัตกรรมด้านพลังงาน เทคโนโลยีชีวภาพ และเทคโนโลยีดิจิทัล ไปจนถึงไบเทคที่เป็นศูนย์จัดแสดงนวัตกรรมอันดับต้นของประเทศ
4. การเป็นพื้นที่ย่านเศรษฐกิจใหม่ พื้นที่ย่านพระโขนง-บางนามีการกระจุกตัวกันของกลุ่มเศรษฐกิจน้องใหม่อย่างกลุ่ม TAMI หรือกลุ่มธุรกิจประเภทเทคโนโลยี การโฆษณา สื่อ และข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 แต่เศรษฐกิจดิจิทัลเหล่านี้ก็ยังคงยืนหยัด และเป็นกลุ่มเศรษฐกิจความหวังของคนรุ่นใหม่
4 ภาพอนาคต: ภาพสะท้อนของการพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา 4 รูปแบบ
เมื่อนำศักยภาพที่ควรจะเป็นและสภาพที่เป็นอยู่ของย่านพระโขนง-บางนามารวมกัน ทำให้เกิดภาพจำลองอนาคตทั้งหมด 4 แบบ ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเมืองที่แตกต่างกันไปทั้ง 4 รูปแบบ ตั้งแต่การพัฒนาแบบปล่อยไปตามยถากรรมเหมือนที่เป็นอยู่ การพัฒนาแบบรัฐและเอกชนต่างคนต่างทำ และการพัฒนาร่วมกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ภาพแรกรถไฟฟ้ามาหานะเธอ ภาพสะท้อนของอนาคตฐานหรือการพัฒนาแบบตามยถากรรมคือการปล่อยให้การพัฒนาเป็นไปเช่นเดิมคือการพัฒนาที่จำกัดอยู่บริเวณริมถนน และตามเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นการพัฒนาตามแนวแกนท้ายที่สุดแล้วพื้นที่นอกเหนือแนวแกนก็จะไม่ได้รับการพัฒนา การกระจายควาามมั่งคั่งก็จะยังคงมีอยู่อย่างจำกัด และเป็นการพัฒนาแบบแยกส่วน ท้ายที่สุดจะนำมาซึ่งปัญหาคุณภาพชีวิตที่ถดถอยลงเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่าง รถติด มลภาวะทางอากาศ และน้ำท่วม
ภาพที่สอง The Wolf of Wall Street ภาพสะท้อนของอนาคตทางเลือกแบบหนึ่งที่เกิดการพัฒนาตามริมถนน เส้นทางรถไฟฟ้า และในพื้นที่ของภาคเอกชนแต่ไม่กระจายเข้าสู่พื้นที่ด้านในส่งผลให้สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมกลายเป็นสองโลกที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ท้ายที่สุดแล้วเมื่อความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้นประกอบกับการกระจายความมั่งคั่งไม่มากเพียงพอก็จะทำให้ผู้อยู่อาศัย รวมถึงผู้ประกอบการเดิมสู้ค่าเช่าและค่าครองชีพไม่ไหวจนต้องย้ายออกไปในที่สุด
ภาพที่สาม Die Hard 4.0 ภาพสะท้อนของอนาคตที่ไม่พึงประสงค์ เป็นภาพของการพัฒนาที่เชื่อมไปถึงพื้นที่รอบนอกที่เลยย่านพระโขนง-บางนาออกไปตามแนวรางรถไฟฟ้าสู่พื้นที่ที่ต้นทุนและค่าครองชีพถูกกว่าสำหรับภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มเศรษฐกิจน้องใหม่ ธุรกิจสตาร์ทอัพ และกลุ่ม First Jobber ท้ายที่สุดพื้นที่แห่งนี้ก็จะเงียบเหงาเพราะไม่มีการย้ายเข้ามาของประชาชนกลุ่มใหม่ รวมถึงไม่ดึงดูดให้เกิดการเข้ามาของกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ และโครงการพัฒนาต่างๆ
ภาพที่สี่ Downtown Cha Cha Cha ภาพสะท้อนของอนาคตที่พึงประสงค์ เป็นภาพของการกลายเป็นใจเมืองหรือดาวทาวน์แห่งใหม่ที่น่าอยู่ น่าทำงาน และน่าใช้ชีวิตสำหรับผู้คนทั้งที่เป็นผู้อยู่อาศัยเดิม และผู้ที่อยากจะเข้ามาเป็นผู้อยู่อาศัยใหม่ สภาพเศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าด้วยความสมดุล พร้อมกับโครงการ พัฒนาใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ร่วมกับธุรกิจดั้งเดิมได้อย่างลงตัวจากความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ภาพอนาคตทั้ง 4 นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดในอนาคตที่การพัฒนาเกิดขึ้นควบคู่ไปกับความร่วมมือในการออกแบบและพัฒนาเมืองของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public Private People Partnerships) เพราะปัญหาที่ใหญ่และมีความซับซ้อนไม่มีทางจะแก้ด้วยการทำงานแบบต่างคนต่างทำหรือการทำงานแยกส่วน โดยเฉพาะกับปัญหาเรื่อง “เมืองและย่าน” ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์เรา ซึ่งมีความละเอียดอ่อน และมีประเด็นปัญหาที่แตกต่างหลากหลาย การมีส่วนร่วมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิด “ย่านของเรา” ในอนาคตที่ใกล้เคียงกับ “ความฝัน” ของพวกเรามากที่สุด
จากศักยภาพ สภาพจริง และปัญหาที่เกิดขึ้น ภายในย่านพระโขนง-บางนา สะท้อนออกมาเป็นภาพอนาคตทั้ง 4 รูปแบบ และแน่นอนว่าทุกท่านก็คงอยากจะทำให้ย่านแห่งนี้เป็นเหมือนกับภาพอนาคตที่ 4 หรือ “Downtown Cha Cha Cha” ที่น่าเข้ามาจับจองเพื่ออยู่อาศัย เข้ามาทำงาน หรือแวะเข้ามาท่องเที่ยวสังสรรค์ยามว่าง และเป็นย่านที่เต็มไปด้วยโอกาสในการพัฒนาในหลายๆ ด้าน แต่สิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เลยในการพัฒนาย่านของเราคือ “แนวทางความร่วมมือในการพัฒนาย่านพระโขนง-บางนา” ที่จะทำให้ย่านแห่งนี้วิวัฒน์ไปพร้อมกันด้วยการร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเขต ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ซึ่งเราจะสรุปให้ทุกท่านฟังในบทความชิ้นถัดไป