25/02/2020
Life

ผศ.ดร.ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ เหตุผลที่เราควรมีบทสนทนาเรื่อง ‘ความตาย’ กันมากขึ้น

ณัฐพล ศรีเมือง
 


นี่ไม่ได้พูดถึงการถกกันเรื่องความตายในเชิงปรัชญา ความหมายของการมีชีิวิต หรือตายแล้วไปไหนอะไรแบบนั้น แต่หมายถึงว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยคุยกับคนในครอบครัวเลยว่า ถ้าเราตายต้องทำอย่างไร ถ้าป่วยระยะสุดท้ายสื่อสารอะไรไม่ได้ให้ญาติตัดสินใจอย่างไร เราอยากตายที่ไหน บ้านหรือโรงพยาบาล คุยแบบบอกกล่าวกันไว้จริงๆ จังๆ 

สุดท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นคือเรามักพบว่ามีคนจำนวนมากถูกเจาะคอถูกปั๊มหัวใจยื้ออยู่ชีวิตในโรงพยาบาล ซึ่งท้ายที่สุดก็ตายไปแบบน่าหดหู่ที่โรงพยาบาลนั่นเอง ซึ่งถ้าถามทุกคนว่าอยากตายที่ไหน แทบทุกคนคงตอบว่าที่บ้าน 

ในอีกมุมหนึ่ง สังคมไทยกำลังเดินหน้าสู่สังคมผูู้สูงอายุ เราพูดถึงการออกแบบอะไรต่างๆ ของเมืองที่จะรองรับผู้สูงอายุ แล้วหลังจากผู้สูงอายุเหล่านั้นตายไปแล้วล่ะ ยังไม่มีเรื่องความตายเข้าไปอยู่ในสมการ ขณะเดียวกันวิถีชีิวิตของเมืองก็ทำให้มีคนอยู่ตัวคนเดียวมากขึ้น ทำให้เกิดการที่มีคนตายอยู่เพียงลำพังกว่าจะมีคนมาพบ มีศพไร้ญาติอยู่ตามมูลนิธิต่างๆ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่ควรมองเป็นเหตุการณ์ปกติ แต่เป็นเรื่องที่เมืองควรมีอยู่ในแผนของการจัดการ

เหล่านี้คือบางส่วนของเหตุผลที่เราควรมีบทสนทนาเรื่อง ‘ความตาย’ กันมากขึ้น สืบเนื่องจากการที่เราได้สนทนาเรื่องความตายกับ ผศ. ดร. ภาวิกา ศรีรีตนบัลล์ เจ้าของหัวข้อวิจัย ‘การตายและความตายในเมือง’ งานวิจัยในโครงการ ‘คนเมือง 4.0’ อนาคตชีวิตคนเมืองของไทย ซึ่ง ผศ. ดร. ภาวิกา (และวรากร วิมุตติไชย ผู้ช่วยวิจัย) ศึกษาเรื่องความตายผ่านสองประเด็นหลัก ได้แก่ การมีชีวิตช่วงสุดท้าย และการจัดการร่างหลังเสียชีวิต

อาจารย์ภาวิกาชี้ให้เราเห็น มากกว่าเพื่อจะจัดการกับความตายและการตายแล้ว การเปิดพื้นที่พูดคุยเรื่องความตายยังให้อะไรเรามากกว่านั้น

Q: ตอนที่ได้รับโจทย์หัวข้องานวิจัยนี้มา อาจารย์มองหรือว่าคิดกับประเด็นเรื่องความตายในเมืองอย่างไร

A:มีนักสังคมวิทยาเรื่องเมืองเยอะมาก แต่เรื่องเมืองกับความตายคิดว่าไม่ค่อยมีใครตอบโจทย์นี้สักเท่าไหร่ ก็เลยกลับมานึกว่า แล้วเมืองมันเกี่ยวข้องยังไง ความเป็นเมืองอยู่ตรงไหน ก็เลยได้ข้อสมมติฐานอยู่ 3 ประการเกี่ยวกับเมือง คือเมืองเป็นพื้นที่สำหรับสองสิ่ง คือให้มนุษย์ ‘อยู่’ กับให้มนุษย์ ‘เป็น’ ให้มนุษย์อยู่ก็คือ ความเป็นมนุษย์ ส่วนหนึ่งต้องมีร่างฉะนั้นร่างกายก็คือสื่อสำคัญเวลาเราพูดเรื่องความตาย เพราะฉะนั้นร่างก็คือเป็นร่างที่เราอยู่ในเมือง เมืองจึงเป็นที่สำหรับการอยู่ 

แต่เมืองใน sense ของการเป็น หมายความว่ายังไง ดิฉันมีความเชื่อว่า การเป็นมนุษย์ไม่ได้มีสาระสำคัญเพียงแค่การอยู่ ถ้าจะเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ ก็คงจะมีนัยยะของการที่เรามีความรู้จักมักคุ้นกับผู้อื่น มีโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น เพราะฉะนั้นเมืองจึงเป็นบริบทที่ทำให้ความสัมพันธ์ทางสังคมเกิดขึ้นได้ ในอีกนัยยะหนึ่งเมืองจึงมีความหมายต่อการเป็น แล้วในท้ายที่สุด ทั้งการอยู่และการเป็นของมนุษย์ในเมือง ก็จะมีส่วนไปสัมพันธ์กับรูปแบบการตายที่เราพยายามวิเคราะห์ว่ามันมีลักษณะไหนที่โดดเด่น 

สุดท้าย ในเซนส์ของเมือง ดิฉันคิดว่าเมืองมันอยู่ในฐานะพื้นที่ทางสิ่งแวดล้อมของการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตตลอดจนปัจจัยเรื่องการตายของปัจเจก เป็น ‘พื้นที่ทางสิ่งแวดล้อม’ หมายความว่ายังไง ในหลายๆ เงื่อนไขทางสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย ภาวะโลกร้อน หรือความเสี่ยงในสังคม หรือการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณค่าวิถีชีวิต ล้วนแล้วจะเกิดอยู่บนพื้นที่ของความเป็นเมืองทั้งสิ้น 

เพราะฉะนั้นใน 3 มิตินี้ ดิฉันจึงคิดว่าเป็นสมมติฐานเบื้องต้นที่จะพยายามเชื่อมว่า เมืองกับความตายเกี่ยวกันยังไง ก็จะสามารถเห็นข้อต่อได้ง่ายขึ้นแล้วว่าคุณจะตายยังไง แต่ถ้าอยู่ดีๆ เอาเมืองจั๊มไปสู่ตายนี่ดิฉันรู้สึกว่ามันไม่มีทางเชื่อม ไม่รู้จะให้เหตุผลยังไงที่มีน้ำหนักมากพอที่จะอธิบาย อันนี้ก็เป็นที่มาที่ไปว่า ทำไมเราถึงต้องถอดใจความของเมืองออกมาให้ชัด คือพูดง่ายๆ ว่าให้มันเห็นรูปธรรมของความเป็นเมือง แทนที่จะมองเมืองเป็นลักษณะอะไรก็ไม่รู้รอบตัว ซึ่งเป็นนามธรรมสูงมาก 

Q: จากงานวิจัยคนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทย หัวข้อ “การตายในอนาคต” มีข้อค้นพบน่าสนใจเกี่ยวกับรูปแบบการตายในอนาคตอย่างไรบ้าง

A: รูปแบบการตาย เราจัดกลุ่มได้สักประมาณ 8 ชนิด อาจจะไม่ใช่สอดคล้องกันโดยทั้งหมด แต่ว่ามันจะเป็นการ projection ว่าเราพบแพทเทิร์นอะไรบ้าง

ลักษณะที่หนึ่งก็คือ การตายที่เรียกว่าเป็น Hospital Death ซึ่งอันนี้เราพบว่าเป็นการตายที่เกิดขึ้นในเมืองจำนวนมาก ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะเมืองไทย แต่จริงๆ แล้วคือปัญหาของทั่วโลกจากการเก็บสถิติ แม้กระทั่งประเทศที่การตายดีที่สุดในโลกอย่างสหราชอาณาจักร เราก็พบว่า Hospital Death คือรูปแบบที่ชัดเจนของการตายเมื่อมีคนป่วย คือเกือบจะประมาณ 55% โดยเฉลี่ยของผู้ป่วยก็จะเสียชีวิตในโรงพยาบาล ปัจจุบันเรามีคำถามต่อเรื่องนี้ยังไง ซึ่งตรงนี้ policy ของเมืองไทยก็กำลังพูดเรื่องนี้กันเข้มข้นอยู่เหมือนกัน

ความตายในลักษณะที่สอง คือความตายที่เราเรียกว่า Lonely Death คือความตายที่เกิดโดยโดดเดี่ยว มันเป็นสภาวะบีบคั้นในเมืองที่คนใช้ชีวิตอยู่ลำพัง อันนี้สังคมญี่ปุ่นเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนมากว่า คุณตายไปโดยที่ไม่มีคนรู้ แล้ววันดีคืนดีก็พบศพ ซึ่งสืบเนื่องมาจากสภาพสังคมที่คนอยู่คนเดียวเป็นหลัก แล้วก็ไม่มีญาติพี่น้อง หรือไม่มีใครสักคนที่สามารถพึ่งพาบอกกล่าวปรึกษา

บางครั้งความตายอย่างโดดเดี่ยว ดิฉันมีความคิดว่ามันเป็นภาพสะท้อนของการละเลยทางสังคม เป็นตัวชี้วัดของ social security ลักษณะหนึ่ง คุณปล่อยให้คนตายโดยที่คุณไม่รู้ได้ยังไงว่าเขาอยู่ไหน จำนวนศพไร้ญาติที่เพิ่มมากขึ้นที่อยู่ตามมูลนิธิ นี่คือสัญลักษณ์ของการตายที่เกิดขึ้นอย่างโดดเดี่ยว เมื่อคุณไม่รู้ว่าเขาคือใครก็แปลว่าตอนเขามีชีวิตคุณก็ไม่รู้ว่าเขามีตัวตนอยู่ตรงไหน เขาตายไปแล้วคุณก็ไม่สนใจว่าเขาคือใคร ถูกไหมคะ

นอกจากนี้เมืองกับภาวะเคลื่อนย้าย เช่นคนจากต่างชาติแรงงานต่างๆ ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านเรา มาโดยไร้ญาติขาดมิตร อันนี้ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การตายอย่างโดดเดี่ยวเกิดขึ้นในสภาวะแปลกแยกของเมืองค่อนข้างสูง 

ลักษณะที่สามก็คือ ความตายที่ดิฉันขอเรียกว่าเป็น Mass Casualty Death การตายที่เราพบว่ามีการเสียชีวิตหมู่จำนวนมาก เช่น การโดยสารรถตู้ หรือว่าการรวมกลุ่มกันอย่างหลวมๆ ตามสถานที่ต่างๆ แล้วอยู่ๆ โดนคนร้ายเข้าไปกราดยิง ซึ่งเราไม่รู้วัตถุประสงค์ คนเหล่านั้นก็แค่มาเป็นส่วนหนึ่งที่มามี activity บนพื้นที่แห่งหนึ่ง แล้วอยู่ดีๆ ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด แล้วก็เป็น mass casualty จำนวนมาก 

ลักษณะที่สี่ ซึ่งดิฉันคิดว่าสังคมไทยตอนนี้กำลังเผชิญชัดเจนที่สุดก็คือ เรื่องของ Murder ฆาตกรรม ดิฉันขอใช้ category นี้ว่าเป็น Brutal Death หรือการตายอย่างโหดร้าย การตายที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายและไร้มนุษยธรรม ไม่ต้องเอาตัวเลขสถิติดิฉันคิดว่าตอนนี้เราทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วมกับหลายกรณีที่เกิดขึ้นในบ้านเรา แนวโน้มฆาตกรรมอาจจะไม่ได้แปลกที่จะเกิดขึ้นในเมือง แต่ดิฉันขอบอกว่าสิ่งที่เราสังเกตเห็นคือความรุนแรงของการกระทำนั้นๆ ซึ่งเราไม่แน่ใจ ณ ขณะนี้ว่ามันถูกกระตุ้นโดยสภาวะแบบเมืองหรือเปล่า หรือเมืองมีส่วนช่วยในการทำให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นง่ายหรือยาก เช่น Brutal Death ของการข่มขืน สมมติใครสักคนโดนข่มขืน ดิฉันเชื่อว่าเมืองในฐานะสิ่งแวดล้อมมีส่วนมากเลย อย่างเช่นเราไม่มีสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับคนที่จะเดินสัญจรตอนกลางคืน ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ที่เปลี่ยว มันก็เป็นสภาวะทางกายภาพที่เอื้อต่อการเกิดความรุนแรงของการฆาตกรรมหรือว่าอาชญากรรมในหลายๆ ลักษณะ 

ลักษณะถัดไปไม่พูดคงไม่ได้ การฆ่าตัวตาย อันนี้เป็นประเด็นที่ต้องเรียกว่าเกิดขึ้นเยอะมาก แล้วก็เกิดขึ้นกับคนไม่เลือกชั้นวรรณะ แต่ suicide  นี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจ อีกมุมหนึ่งมันก็เป็น choice ของการตายด้วยเหมือนกัน

suicide จึงถูกมองเป็นของกลุ่มที่หก คือกลุ่มตายทางเลือก ซึ่ง suicide เป็นหนึ่งในนั้น อีกลักษณะหนึ่งของความตายทางเลือกก็คือ เรื่องของการการุณยฆาต คือการจบชีวิต แต่การุณยฆาตต่างจาก suicide ก็คือ การุณยฆาตเราต้องการบุคคลที่ 3 ที่จะมาช่วยให้เราจบชีวิตอย่างไม่เจ็บปวดทรมาน นั่นคือคอนเซ็ปต์ และโดยความยินยอมพร้อมใจของเรา แต่ suicide นี่เราไม่ต้องอาศัยคนอื่น และ suicide จบแล้วก็จบเลย ไม่มีใครมาเอาผิดทางกฏหมาย แต่ไม่ต้องพูดว่ามันส่งผลต่อคนที่อยู่ต่อ เป็นบาดแผลขนาดไหน แต่ในขณะที่การการุณยฆาตในบางประเทศที่มีกฏหมายรองรับ มันก็ถือเป็นการจบที่ หนึ่ง, ไม่มีใครต้องรับผิด สอง, เป็นการจบที่เราไม่ต้องเจ็บปวด 

นอกจากนี้ทางเลือกของการตายยังมีอีกหลายลักษณะ เช่น หยุดยั้งการเจ็บป่วยที่จะทำให้เราตายในวันนี้ แล้วแช่แข็งเราเอาไว้ รอวันหนึ่งที่การแพทย์เจริญมาแก้ปัญหา แต่วันนี้ยังทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเหมือนเรา hibernate จำศีล ไว้ก่อนแล้วก็กลับมา อันนี้มีแล้วที่เป็นคนไทย

รูปแบบอีกประการหนึ่งที่ละเลยไม่ได้เลยในปัจจุบันก็คือ ความตายที่เกิดจากความเสี่ยง PM2.5 คือตัวอย่างที่ดีของความเสี่ยงที่นำไปสู่โอกาสที่เราจะเจ็บป่วยอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวแล้วก็ซ่อนอยู่ข้างใน คือมันอาจจะไม่ใช่การตายที่เกิดขึ้นได้ภายในระยะเวลาอันสั้น แต่การสะสมของ risk เหล่านี้ ความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดคือเราเสี่ยงโดยที่เราไม่รู้ตัวว่าเราเสี่ยง แล้วเราก็จะ expose ต่อความเสี่ยงนั้นโดยที่เราไม่รู้เลยว่านี่แหละกำลังฆ่าเรา กำลังทำให้เรามีอายุสั้นลงทุกวัน ตรงนี้คือความน่ากลัวของการมีชีวิตในเมือง

อันสุดท้ายเลยจริงๆ ที่คิดว่าจะต้องพูด จริงๆ อาจจะถูกจับไปใส่ในกล่องของการตายทางเลือก คือทางเลือกปัจจุบันไม่ใช่เลือกเฉพาะรูปแบบการตาย แต่ทางเลือกการตายในปัจจุบันมันเลือกไปถึงสถานที่ แล้วเงื่อนไขของเมืองก็ทำให้คำว่าสถานที่เหล่านี้ต้องถูกนำมาตีความใหม่หมดเลย เช่นผู้ป่วยอาจจะไม่อยากตายโรงพยาบาล แต่อยากตายบ้าน แต่เมืองทำให้การเป็นเจ้าของพื้นที่เป็นได้ยากขึ้นทุกวัน เพราะฉะนั้นบ้านของเราอยู่ที่ไหน บ้านเช่าเหรอ เขาจะให้เราตายไหม คอนโดเขาจะให้เราตายไหม หรือตายแล้วเราจะถูกคนที่อยู่สาปแช่งว่าคุณทำให้เขาอยู่ต่อไม่ได้ คือมันก็เป็นคำถามของทางเลือกในการตายเช่นกัน 

ในท้ายที่สุดแล้ววิธีที่คุณจะตายคือยังไง สถานที่คุณจะตายควรจะอยู่ที่ไหน แล้วตอนนี้ทางสาธารณสุขบ้านเราเองก็โปรโมทให้เกิดการตายที่บ้าน โปรโมทผ่านแนวคิดของการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งเรื่องนี้เป็นนโยบายที่ว่าด้วยเรื่องการจัดการของผู้ที่ใกล้เสียชีวิตในระยะท้าย คือการทำให้เกิดระบบการดูแลที่ผู้ป่วยระยะท้ายเป็นศูนย์กลาง ให้ทางเลือกเขาในแง่ของวิธีการรักษา สถานที่ที่เขาต้องการจะเสียชีวิต สิ่งที่เขาจะเอาไม่เอา เช่น ไม่เอาเจาะคอนะ ไม่เอาปั๊มนะ กำลังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น

Q: นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมสังคมต้องมีบทสนทนาเรื่อง ‘ความตาย’ กันมากขึ้นใช่ไหม

A: ดิฉันคิดว่าการเปิดพื้นที่เรื่องความตายมันไม่ได้ดีเฉพาะคนที่กำลังจะตายและครอบครัวของเขา แต่จุดหนึ่งซึ่งดิฉันเพิ่งจะคิดตกว่า การที่เราไปศึกษาเรื่องตาย เราไปสัมผัสกับความตายของคนมันเกิดประโยชน์อะไร เพราะในท้ายสุดตายก็คือจบ และนั่นก็คือเหตุผลที่สังคมอาจจะละเลยเรื่องความตาย เพราะมันไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจต่อการมองความตาย เราเห็นสภาพของการสูญเสียทั้งโอกาสการแข่งขัน สูญเสียทรัพยากรบุคคล เราเห็นสภาพความตายกับการสูญเสีย 

แต่ดิฉันไปค้นพบว่าจริงๆ แล้ว มันมีคำๆ หนึ่งที่ท่าน ติช นัท ฮันห์ ท่านพูดเอาไว้ว่า จริงๆ การอยู่ร่วมกันในโลกใบนี้ สิ่งสำคัญคือคำว่า Interbeing คือหมายถึงการอยู่ร่วมกันโดยสร้างสังคมที่มี compassion คือความเอื้ออาทร ที่คนในสังคมเห็นทุกข์เห็นร้อนของคนอื่น แล้วก็รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจที่อยากจะหยิบยื่นความช่วยเหลือ เพราะไม่งั้นเราอยู่ไม่ได้ เราอยู่ในสังคมที่คนเกลียดชัง พอเกลียดกันก็รุนแรงใส่กัน ตอนเราทำเขาเราสะใจ แต่เราลืมไปว่าเรากำลังบ่มเพาะสร้างสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่เราก็ต้องอยู่ในนั้น 

เพราะฉะนั้นคำว่า Interbeing ของท่านติช นัท ฮันห์ คีย์เวิร์ด มันอยู่ที่คุณจะเป็น  Interbeing ได้ เมื่อคุณเรียนรู้ suffering ของคนอื่น ถ้าเรามองการตายในฐานะ process ดิฉันว่า suffering มันเกิดขึ้นระหว่างทางตลอด เราไม่ได้มองความตายในฐานะเหตุการณ์ที่จบในตัวมันเอง แต่เราใช้คำ 2 คำ คือคำว่า ‘การตาย’ กับ ‘ความตาย’ คือความตายคนอาจจะไม่กลัวเท่าการตาย เพราะการตายคือกระบวนการ มันคือ process ที่เราจะต้องเจ็บ ทรมาน ที่เราจะต้องอยู่ในสภาวะที่เราจะต้องตัดสินใจในสิ่งที่เราไม่รู้ แล้วก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน หรือว่าผลกระทบที่ความตายของเรา การเจ็บป่วยของเราเกิดกับคนใกล้ตัว งานการ ครอบครัว คือทุกอย่างมันเป็นไปหมด 

เพราะฉะนั้นคำว่า Interbeing ของท่านติช นัท ฮันห์ คีย์เวิร์ด มันอยู่ที่คุณจะเป็น  Interbeing ได้ เมื่อคุณเรียนรู้ suffering ของคนอื่น ถ้าเรามองการตายในฐานะ process ดิฉันว่า suffering มันเกิดขึ้นระหว่างทางตลอด เราไม่ได้มองความตายในฐานะเหตุการณ์ที่จบในตัวมันเอง แต่เราใช้คำ 2 คำ คือคำว่า ‘การตาย’ กับ ‘ความตาย’ คือความตายคนอาจจะไม่กลัวเท่าการตาย เพราะการตายคือกระบวนการ มันคือ process ที่เราจะต้องเจ็บ ทรมาน ที่เราจะต้องอยู่ในสภาวะที่เราจะต้องตัดสินใจในสิ่งที่เราไม่รู้ แล้วก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน หรือว่าผลกระทบที่ความตายของเรา การเจ็บป่วยของเราเกิดกับคนใกล้ตัว งานการ ครอบครัว คือทุกอย่างมันเป็นไปหมด 

ดังนั้น ดิฉันคิดว่าการที่เราแชร์บทสนทนาเรื่องความตาย มันไม่ได้เกิดประโยชน์แค่เราได้รู้ว่าคนอื่นตายยังไง แต่โดยไม่ได้ตั้งใจ มันเกิด compassion มันเกิดการเรียนรู้ผ่าน suffering ของผู้อื่น คือจิตใจเราโดยกระบวนการควรจะต้องอ่อนลง เปิดกว้างมากขึ้น sensitive ต่อสิ่งรอบตัวมากขึ้น ดิฉันเชื่อว่าการเปิดจะนำไปสู่การบ่มเพาะสิ่งแวดล้อมของการอยู่ร่วมกันที่แก้ปัญหามากกว่าเรื่องจะตายดียังไง

Q: ค่านิยมของสังคมไทยไม่นิยมพูดเรื่องความตาย ส่งผลต่อการจัดการชีวิตในระยะสุดท้าย หรือการเตรียมความพร้อมก่อนตายอย่างไรบ้าง

A: อันนี้เผอิญตัวดิฉันเองได้ทำวิจัยเรื่องนี้พอดี สิ่งหนึ่งแน่ๆ เลยคือเราไม่มีพื้นที่มากนัก แต่ก็ไม่ใช่ไม่มีเลย ดิฉันก็ได้เห็นการเติบโตของภาคประชาสังคมหลายๆ รูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายของท่านไพศาล วิสาโล ท่านก็เป็นผู้นำทางความคิดเรื่องความตายที่ลงไปถึงแก่นแท้ของคนที่ได้รับสารอย่างเรียกว่าสะดุดเลย คือเรารู้เลยว่าเราต้องคิดอะไร อันนี้ก็เป็นจุดที่ชัดเจนว่าเรามีผู้นำทางความคิดด้านนี้อยู่ ถึงแม้ว่าท่านจะเป็นพระ เป็นนักบวชในศาสนาพุทธ แต่ว่าท่านไม่ได้พูดถึงแต่มุมพุทธ หากสามารถที่จะขยายขอบเขตของความเข้าใจ แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้รับสารจะรับหรือไม่ 

อย่างที่สองที่เห็นก็คือว่า ปัจจุบันนี้การขับเคลื่อนในภาพรวมสังคมอื่นๆ เช่น Social enterprise บางอย่างก็เกิดขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาต่างๆ อย่างเช่น ของคุณหญิงจำนงศรีที่ทำเรื่อง ‘ชีวามิตร’ อันนี้ก็จะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน คุณไม่ใช่แค่การรวมกลุ่มแล้วสร้างเพจแล้วให้ข้อมูล แต่เป็นการรุกลงไปถึง สมมติเขาเล่นประเด็นเรื่องคนที่อยากเสียชีวิตที่บ้าน แต่ไม่สามารถที่จะจัดการได้เพราะว่าโรงพยาบาลกับบ้านอยู่ห่างไกลในเชิงพื้นที่ ก็จะต้องมีการคิดถึงโมเดลในการลงไปดูแลจัดการสิ่งเหล่านี้ 

ของแบบนี้ก็เป็นสิ่งที่เราพบว่า แม้ว่าสังคมไทยจะมี taboo เรื่องความตายอยู่เยอะ คือเราไม่พูดใน public ในที่ private เราก็ไม่พูด เพราะเราติดอยู่กับคำว่าอัปมงคล อวมงคล อย่าไปพูดเชียวนะเรื่องนี้ แต่มันก็มี movement อยู่ แล้ว movement เหล่านี้ก็ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังในระดับโลกเหมือนกัน เพราะดิฉันเชื่อว่าสังคมหันมาให้ความสนใจกับสิ่งที่เรียกว่าตายดีก่อน คือโอเคแหละ ความตายเป็น taboo แต่คุณก็ได้เห็นว่าคนที่ต้องตายไปเป็นความตายที่เกิดขึ้นแบบที่เราก็มาค้นพบว่า มันไม่ใช่สิ่งที่เขา deserve ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์ เช่น ถูกยื้อชีวิต เจาะคอ หรือว่าไม่มีทางเลือกอะไรให้เลยว่าชีวิตอยากอยู่ยังไง อยากตายยังไง เราก็เห็น movement ของสิ่งเหล่านี้ มันก็เกิด movement บางอย่างที่จะมาตอบโจทย์ เช่น แนวคิดการดูแลแบบประคับประคอง หรือการพยายามสร้าง awareness หรือการตระหนักรู้ให้เกิดขึ้นท่ามกลาง taboo เหล่านี้ทำยังไง 

อย่างประเทศไทยใช้กลไลทางกฏหมาย จริงๆ พูดยากเหมือนกันว่ากลไกทางกฏหมายหรือกลไกสภาพสังคมอะไรนำ แต่ที่แน่ๆ ก็คือว่าการที่จะพูดเรื่องตายมันมีกฏหมายบางอย่างอยู่ คุณจะตายยังไงไม่ตายยังไงบางทีมันเป็นเรื่องกฏหมายอาญาด้วยนะ สิ่งที่สังคมไทยเราทำก็คือ ระบุเอาไว้ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติในมาตราที่ 12 เป็นแนวทางที่กฏหมายเปิดช่องให้เรา อาจจะไม่ได้ต้องสื่อสารความตายกับคนอื่น แต่อย่างน้อยเราสามารถที่จะเปิดพื้นที่ตนเองให้คิดถึงมัน แล้วก็แสดงเจตนาว่าจะเอาอะไรไม่เอาอะไร พอคิดได้อย่างนี้เสร็จก็จึงสื่อสารไปยังบุคคลากรทางการแพทย์ที่ให้การดูแลเรา หรือคนใกล้ตัวเรา อันนี้ก็เป็นการเปิดพื้นที่ลักษณะหนึ่ง 

เวลาคนจะเสียชีวิต เราต้องยอมรับว่าการตายเป็นโมเมนต์ที่ทำให้เกิดความกลัว แล้วถึงจุดหนึ่งถ้าเราไม่เคยคุยอะไรกับใครไว้เลย แล้วการเจ็บป่วยนำเราไปสู่สภาพที่เราไม่สามารถพูดอะไรกับใครได้แล้ว โดยระบบวัฒนธรรมแบบไทยๆ การตัดสินใจเรื่องการดูแลรักษาคนๆ นี้ต่อไปก็จะตกอยู่ในมือญาติ ซึ่งเขาก็ตัดสินใจในแบบที่ อันนี้เป็นเรื่องซับซ้อน จริงๆมันฟังดูเมือนสถานการณ์ทั่วไป แต่จริงๆ มันแฝงความหมายทางสังคมทุกจุดเลย คือมันเหมือนกับว่า เราไม่ได้รับรู้อะไรแล้ว แล้วก็ญาติมาตัดสินใจแทนเรา แล้วเราก็ถูกยื้อชีวิตออกไประยะหนึ่ง แล้วถึงจุดหนึ่งพอหมดหวังจริงๆ หรือเขาสามารถจัดการสถานการณ์อะไรได้ เขาก็อาจจะปล่อยให้เรามาถอดเครื่องช่วยหายใจ หรือปล่อยให้เราทุกข์ทรมานอยู่อย่างนั้น เป็นผักอยู่อย่างนั้น

มันฟังดูเหมือนเป็นเรื่องทั่วๆ ไปที่เราเห็น แต่มันมีนัยยะทางสังคมมากเลยนะคะ อย่างเช่น หนึ่งคือ บทบาทที่ญาติมี สองคือ เรื่องของการที่เราไม่เคยสื่อสารเรื่องความตาย เพราะความตายคือ taboo ทางสังคม หรือเป็นเรื่องอัปมงคลไม่ควรพูด แต่ในท้ายที่สุดต้องเจอ มันก็เลยทำให้เราไม่มีโอกาสในการบอกหรือกำหนดเลยว่าเราอยากได้อะไรและไม่อยากได้อะไร แต่พอถึงจุดนั้นก็ต้องรับ เราพบว่ามีคนจำนวนมากเลย เขาตอบไม่ได้นอนอยู่อย่างนั้น แล้วญาติก็เริ่มตัดสินใจ บอกหมอรักษาให้ถึงที่สุดเลย เพราะว่ามันมีคุณค่าทางสังคมกำกับอยู่ว่าลูกหลานที่ดีไม่งั้นก็จะถูกด่าถูกว่า นี่แหละมันคือคุณค่าทางสังคม แต่ว่าผลกระทบมันเกิดขึ้นกับคนที่ใกล้จะเสียชีวิต suffering ตรงจุดนั้น เป็นจุดที่คงจะต้องทรมานอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการที่ความตายนั้นเกิดขึ้นใน setting ของโรงพยาบาล เราจะมีทางเลือกน้อย แต่มีข้อกำกับต่างๆ เยอะมาก 

ผลกระทบของมันก็คือ… พูดยาก โดยส่วนตัวไม่อยากจะไปถกประเด็นเรื่อง autonomy ของผู้ป่วย เพราะดิฉันรู้สึกว่ามันไม่กราวด์อยู่บนสังคมไทย นึกออกไหม คือเราไปเปิดประเด็นว่าผู้ป่วยต้องมี autonomy คือมันฝรั่งจ๋า แต่ว่าเอาเข้าจริงๆ มันไม่ใช่ แต่ดิฉันคิดว่ามันน่าสนใจมากกว่าถ้าเราจะพูดมันในมุมที่่มันเป็นบทบาททางวัฒนธรรมของญาติ ที่เขาต้องแสดงในการให้การดูแลเราในวาระท้าย เพราะเราไม่มีโอกาสหรือไม่มีพื้นที่ทางสังคมในการพูดคุยเรื่องนี้ เพราะเรากดมันไว้ทำให้มันเป็น taboo เพราะฉะนั้นเมื่อญาติเขาต้องแสดงหน้าที่ในเชิงวัฒนธรรมในเชิงความเชื่อ แต่ผลกระทบเกิดกับผู้ป่วย แถมคุณค่าตรงนี้ยังสำคัญที่สุดก็ตรงที่ว่า ที่ดิฉันคิดเองนะคะ ดิฉันมีความรู้สึกว่า ส่วนหนึ่งคุณค่าอันนี้ที่มันเข้มแข็งขึ้นทุกวัน เพราะมันเข้ามาแทนที่ด้วยระบบการแพทย์ 

คือหมายถึงว่าการแพทย์ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันที่มีคุณค่ามีอะไรก็ว่ากันไป และเมื่อการแพทย์มาผนวกกับโจทย์ของญาติที่ต้องการให้ผู้ป่วยได้รับการดูแล เพื่อที่จะพ้นผิดทางข้อครหาทางสังคม เพราะฉะนั้นการแพทย์กับคุณค่าอันนี้มันก็เลยสอดรับกันอย่างแน่นเหนียวเลย ทำให้คนป่วยเขาก็ส่งไปโรงพยาบาลตายโรงพยาบาล บทบาทของญาติมีหน้าที่แค่ส่งเข้าไป แต่เราไม่ได้ถกกันในเชิงจริยธรรมของการดูแลว่า คุณควรจะมีหน้าที่ดูแลอย่างไร หรือจริยธรรมตัดสินที่เจตนาของคุณ หรือตัดสินที่ผลกระทบของมัน เพราะฉะนั้นก็เลยไม่อยากจะถกเรื่องนี้โดยเปิดประเด็นว่ามันเป็น autonomy ของผู้ป่วยเพราะดิฉันคิดว่ามันไม่ใช่ มันไม่ไทย 

Q: ปัจจุบันรัฐมีนโยบายเกี่ยวกับชีวิตระยะท้ายอย่างไรบ้าง 

A: ปัจจุบันเรื่องความตาย นโยบายในระดับรัฐเราพูดในเชิงการให้การดูแลในระยะท้าย เราไม่ได้ลงไปถึงระดับของการจัดการร่างหรือไม่ได้ลงไปในระดับของความตายในลักษณะจุดจบ แต่เรามองว่ารัฐเข้ามาให้นโยบายในช่วงวาระท้าย ซึ่งขึ้นอยู่กับ definition ว่าคำว่าวาระท้ายนี่ยาวนานแค่ไหน บางทีก็อาจจะใช้การให้ความหมายว่า 1 ปี 6 เดือน 3 เดือน อะไรก็แล้วแต่ การดูแลในวาระท้ายถูกยกระดับให้เป็นการแพทย์แบบที่เราเรียกว่า palliative care หรือการดูแลแบบประคับประคอง แปลว่าเรากำลังสร้างคุณค่าของการมองวาระท้ายของชีวิตว่า ให้เกิดการยอมรับความตายแล้วใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างดีที่สุดในลักษณะการเพิ่ม quality of life เพราะฉะนั้นในมุมมองของดิฉัน palliative care เท่ากับ acceptance เท่ากับ  approach ที่บอกว่ามองความตายอย่างยอมรับ แล้วจัดการกับมันอย่างยอมรับ ยอมรับอะไร ยอมรับว่าความตายพึงเกิดโดยธรรมชาติ แล้วการตายโดยธรรมชาติก็คือการตายเมื่อหมดอายุขัยแล้วก็ไม่พึงยื้อสิ่งที่เกินอายุขัย 

ทั้งนี้การไม่ยื้อมีผลดีทั้งต่อตัวผู้ป่วย ญาติ แล้วก็สังคมโดยรวม ดีต่อผู้ป้วยก็คือคุณก็ไม่ต้องทรมาน เพราะยื้อก็ต้องถูกเจาะถูกปั๊มถูกทำอะไรที่มากมาย ก็เป็นการเจ็บปวดทางกายทางใจ ผลดีต่อญาติพี่น้องก็คือในเชิงของภาระ รวมทั้งในเชิงหน้าที่ คือคุณสามารถตอบโจทย์ได้ว่านี่คือการดูแลทางการแพทย์ลักษณะหนึ่ง ไม่ได้เป็นการปล่อยเขาตายโดยที่คุณทิ้งเขา ดีต่อสังคมก็คือว่ามันลดต้นทุนของค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ก็คือเป็น medical cost ที่ใช้ไปแล้วไม่เกิดการกลับมา เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็จะมีผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ รวมทั้งโรงพยาบาลก็จะมีที่มากขึ้นสำหรับผู้ที่มีโอกาสที่จะหาย 

แต่ในท้ายที่สุดถ้าเราจะแทนคำว่า palliative care หรือสิ่งทั้งหมดจากสิ่งที่ดิฉันเล่า ดิฉันคิดว่ามันแทนได้คำเดียวคือคำว่า acceptance ยอมรับ แต่คิดอีกแง่หนึ่ง ดิฉันมองว่าหนทางของการที่เรื่องนี้มันจะบูมแล้วเป็นที่ยอมรับได้ เหนื่อยมากเลยค่ะ เพราะมันกำลังต้องสู้กับอีกแนวทางหนึ่งของการแพทย์ที่ดิฉันให้คำจำกัดความมันว่า hope ซึ่งมันอยู่คนละขั้วกับ acceptance เพราะ acceptance คือรับว่าคุณกำลังจะเจอสภาพนี้ แล้วคุณก็จะต้องยอมรับและเข้าใจมัน แต่ในขณะเดียวกันการแพทย์ที่ลงไปในระดับ genome ลงไปในระดับเซลล์ เราเห็นทุกวันว่ามันมีแต่ความก้าวหน้า แล้วจะให้เรายอมรับในขณะนี้ไปเพื่ออะไร คนก็รู้สึกว่ามี hope 

เหมือนเอดส์เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว เป็นแล้วตายอย่างเดียว คนที่อยู่ได้ก็อยู่เพราะ hope ว่าวันหนึ่งมันจะมียารักษา แล้วมันก็มีจริงๆ ปัจจุบันอัตราการตายจากเอดส์เป็นอัตราที่ต่ำมากถึงในระดับที่ต่ำกว่า 10 คนในประชากรหนึ่งแสนคน แต่ในขณะที่มะเร็งมีสักประมาณเกือบ 120 เพราะฉะนั้นตรงนี้มันก็บอกเราว่า การแพทย์คือความหวัง แล้วเราก็เห็นรูปธรรมของความหวังเหล่านั้นตลอด เพราะฉะนั้นเส้นทางของการจะบอกว่าผู้ป่วยต้องยอมรับแล้วเลือกอะไร ดิฉันจึงคิดว่ามันไม่มีโมเดลใดโมเดลหนึ่งที่เหมาะสำหรับนโยบายความตาย ต้องมีทั้ง 2 แบบ แล้วมันคือบาลานซ์ของแต่ละคน แต่ว่ารัฐก็มีหน้าที่จัด palliative care ที่ดีสำหรับคนที่ต้องการ คุณก็จำเป็นจะต้องมีให้

จริงๆ palliative care เขาไม่ได้พูดว่าคุณกลับไปตายบ้านเถอะ แต่แนวโน้มของการให้บริการแบบประคับประคองที่ทำให้คุณยอมรับและใช้ชีวิตอย่าง quality of life ของช่วงเวลาสุดท้าย แต่ว่าโรงพยาบาลทำไม่ได้ palliative care ก็เลยบอกว่า งั้นผู้ป่วยลองถอยและคิดกลับมาอยู่บ้านดีไหม แล้วการจัดการในเชิงการรักษาจะตามลงไปหาคุณเอง แล้วสาธารณสุขไทยก็จะมีระบบบริการปฐมภูมิหรือโรงพยาบาลในระดับอำเภอระดับตำบล ที่เขาเข้าไปดูแลผู้ป่วยในจุดนี้ 

แต่ในเมืองก็ถือว่าเป็นสุญญากาศ คือเมืองนี่เซนส์มันชัดมากเรื่องความแปลกแยก ต่างจังหวัดเรามี อสม.ที่เข้าถึงไปเคาะประตูได้ แต่ อสม.ในต่างจังหวัดปัจจุบันก็บอกให้เราทราบว่า ยากเหมือนกันที่ อสม.จะเข้าไปเคาะประตูบ้าน ในต่างจังหวัดก็มีเซนส์ของความเป็นเมืองในลักษณะของ isolation เข้ามาเยอะเหมือนกัน ในความส่วนตัว privacy อะไรต่างๆ มีเยอะ เพราะฉะนั้น palliative care ในลักษณะที่จะลงไปตามชุมชนในบ้านที่เกิดใน setting ของเมือง ก็เป็นความท้าทายที่ยังจะต้องฝ่าไป

Q: สุดท้ายอาจารย์มองอนาคตของการตายและความตายในเมืองอย่างไร

A:เมืองคือเรื่องของการสร้าง ไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ แต่มันเป็น plan environment เพราะฉะนั้นการแพลนของเมืองที่ผ่านมาเรายังไม่เคยเห็นเมืองเอาเรื่องตายเข้าไปอยู่ในสมการการแพลนนะ เรายังไม่เคยเห็นการออกแบบเมืองที่เอื้อต่อการตายดี เช่นสมมติว่าเราวิเคราะห์ย้อนหลังจะพบว่า ปัจจัยที่ทำให้คนตายดีได้คือ หนึ่ง ต้องมีสิ่งแวดล้อมของคอมมูนิตี้ ตรงนี้เมืองช่วยได้นะ ในการที่จะทำยังไงแพลนอนาคตของเมืองให้รู้ว่าจะมีคนกลุ่มนี้ ไม่ได้ปล่อยเขาไว้ข้างหลังแล้วก็บอกว่าเป็นหน้าที่ของระบบสาธารณสุข

หรือว่าในอีกเซนส์หนึ่ง เมืองก็อาจจะต้องนึกถึงการสร้าง built environment บางลักษณะ เช่น Hospice Care อาจไม่ได้หมายถึงสถานที่ แต่หมายถึงการที่เมืองเปิดโอกาสให้เกิด access ก็ได้ ที่จะทำให้บริการเหล่านี้ลงไปถึงคนที่อยู่ในเมือง คือเมืองเองต้องสามารถที่จะมีส่วนช่วย สเต็ปแรกที่สุดก็คือ identify ว่าคนเหล่านี้เขาอยู่ที่ไหน ไม่ใช่เมืองทำให้เขา isolate แต่ว่าเมืองอาจจะต้อง คือไม่รู้ว่าดิฉันฝันหรือเปล่านะ แต่ว่ามองในมุมหนึ่งจริงๆ มันก็คือความฝันแหละว่า กรุงเทพฯ วันหนึ่งอาจจะประกาศว่าเป็นเมืองที่มีการออกแบบโดย death related หรือว่า death perspective หรือ dying ของคน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยเป็นสังคมที่กำลังจะเป็นผู้สูงอายุเต็มขั้น การออกแบบเมืองตอนนี้ก็คิดอยู่แต่ว่าผู้สูงอายุจะใช้ประโยชน์จากเมืองยังไง แต่ว่าผู้สูงอายุที่กำลังจะตายไปและตายในเมือง แต่ดิฉันก็ไม่รู้ มัน beyond ส่วนตัวดิฉันมากเลยที่จะไปตอบว่า ดีไซน์ในเมืองรูปแบบไหนที่เราต้องการ ดิฉันแค่เพียงรู้ว่าเรามี user หรือที่เรายังขาดมากเลยอย่าง facility บางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการป่วยการตายโดยเฉพาะ เรายังไม่มีผู้เชี่ยวชาญเลยนะ เช่นการออกแบบโรงพยาบาล ในต่างประเทศเขามีสถาปนิกที่เฉพาะด้าน แต่ของไทยสถาปนิกคือออกแบบทุกอย่างตั้งแต่บ้านไปยันโรงงานหรือแม้กระทั่งตึกสูง ซึ่งมันก็คือ demand ในการใช้ชีวิตทั้งสิ้นเลย แต่ demand ของการตาย เช่น สมมติว่าผู้ป่วยคนหนึ่งจะมาโรงพยาบาล ถ้าเป็นโรงพยาบาลที่ออกแบบมาดีก็จะตระหนักว่าคนที่ป่วยมาบางครั้งมาในสภาพที่ไม่อยากให้ใครเห็น การที่รถรับส่งผู้ป่วยจอดอยู่หน้าตึกแล้วก็เข็นเข้าไป ดิฉันมีความรู้สึกว่ามันก็เป็นวิธีการที่ทำให้คนอาจจะรู้สึกแย่ 

หรือมีคนเสียชีวิตในโรงพยาบาล อย่างคุณย่าดิฉันเสียที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เขาก็จับคลุมผ้าแล้วก็เข็นเข้าไปที่ลิฟต์ แล้วก็แค่ล็อคลิฟต์นั้นไม่ให้คนเข้ามา แต่พอเปิดลงมาข้างล่างคุณควบคุมไม่ได้ คนที่ยืนอยู่ข้างล่างก็ผงะกัน แล้วก็ตกใจว่านี่ศพเหรอ มันเป็นการจัดการที่ขาดการออกแบบอย่างเห็นได้ชัด ว่าเราไม่ได้เคยนึกถึงความตายเลย เมืองคือเรื่องของการไปข้างหน้า มันขัดแย้ง 

เพราะฉะนั้นสังคมต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่าความตาย หนึ่ง, โอเคแหละ มันเป็นความสูญเสีย แน่นอนอันนี้เราคงปฎิเสธไม่ได้ แต่มันก็มี value added ของมัน อย่างน้อยมันก็มีกระบวนการตายที่ต้องใช้เวลา และก็มี user ที่ต้องการ facility บางอย่าง ทั้งใน built environment เฉพาะอย่างโรงพยาบาล หรือว่าสถานอะไรก็แล้วแต่ที่ต่อมาจะเติบโตขึ้นใน care economy เช่น คนที่มารับดูแลหรือสถานที่แบบที่เดี๋ยวนี้เมืองมันทำให้เราไม่สามารถแคร์ญาติพี่น้องเราได้ที่บ้าน ไม่ใช่เฉพาะว่าอาจจะไม่มีที่แต่เพียงอย่างเดียว นั่นก็เป็นประเด็นหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งคือไม่มีเวลา เพราะฉะนั้นเมืองจะต้องมีอย่างนี้หรือเปล่า ของแบบนี้มันเกิดขึ้นในเมืองหมดเลย แล้วมันก็ต้องการการคำนึงถึง


Contributor