26/02/2020
Life
เบนซ์-ธนชาติ ศิริภัทราชัย : เพราะเมืองไม่ดี จึงมีอะไรให้เล่า
สมัชญา แซ่จั่น
บ่ายวันนั้นเรานัดกันที่ออฟฟิศในซอยเล็ก ๆ อย่าง ‘รัชดาซอย 3’ ศูนย์รวมของความจอแจและไม่น่าอภิรมณ์เอาไว้ เราทักทายกันด้วยความคุ้นเคย ธนชาติออกตัวก่อนว่าเสียงเขาแปลก ๆ ไปหน่อย ไม่ค่อยสบายเพราะฝุ่น แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้บทสนทนาในวันนี้จืดลงไป กว่าเราจะเข้าเรื่องกันจริง ๆ ก็หัวเราะกับเรื่องสัพเพเหระกันไปหลายตลบ
ธนชาติ ศิริภัทราชัย หรือ เบนซ์ เป็นผู้กำกับ / ช่างภาพ / นักเขียน ประจำ Salmon House ไม่ว่าจะผลิตผลงานชิ้นไหน ๆ ก็มักจะเรียกเสียงหัวเราะได้เพราะความตลกร้ายของเขาอยู่เสมอ
สำหรับคนที่ทำงานสายสร้างสรรค์กับเมือง เขาไม่ได้มองเมืองเหมือนกับคนทั่วไป
ไม่ว่าใครจะทุกข์กับความไม่สมบูรณ์ของเมืองนี้ขนาดไหน แต่เขากลับรู้สึกสนุกที่ได้หยิบจับสิ่งเหล่านั้นมาเล่าให้พวกเราฟัง
ชีวิตประจำวันของธนชาติ
“เราเป็นมนุษย์เดิน ชอบเดินในเมือง ชอบใช้ขนส่งสาธารณะ ขับรถไม่เป็น ไม่เคยจับพวงมาลัย เพื่งมาจับตอนอายุ 31 เพราะฉะนั้นเราค่อนข้างใกล้ชิดกับความเป็นเมือง ผู้คน การเดินถนน”
“ทุกวันนี้เราขับรถแล้วแต่ก็ยังขับในจำนวนที่น้อยกว่านั่งรถไฟฟ้าหรือขนส่งมวลชน วันไหนอยากสบาย หรือต้องไปพบลูกค้าก็ขับรถ ถ้าดูไลฟ์สไตล์เราจริง ๆ เราเหมาะกับการขับรถมากกว่า เพราะที่ทำงานเราเริ่มงาน 11 โมง เลิก 2 ทุ่ม ไม่เจอรถติดแน่นอน และบ้านไกล ไกลเหี้ยๆ 30 กว่ากิโล บางแค-รัชดา แต่เราชอบการได้อ่านหนังสือในรถไฟฟ้าใต้ดิน ชอบดูผู้คน ชอบดูนักท่องเที่ยวจีน ชอบดูวัยรุ่น ชอบดูพนักงานออฟฟิศ ชอบเดินตามถนน ชอบที่ได้เห็นความน่าขัดใจบ้าง ชอบเห็นความจุกจิกรายทาง ก็เลยยังต้องบังคับให้ตัวเองขึ้นรถไฟฟ้าและขึ้นรถเมล์เล็กแถวบ้านอยู่”
จากบ้านมาถึงที่ทำงานใช้การขนส่งสาธารณะทั้งหมดกี่ต่อ
“รถเมล์เล็กจากบ้าน มาตลาดบางแค MRT มาถึงฟอร์จูนพระรามเก้า ต่อมอเตอร์ไซค์ รวม 3 ต่อ ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว แต่มันเคยหนักกว่านั้น”
ธนชาติเน้นเสียงที่ประโยคสุดท้าย พร้อมกับยกนิ้วขึ้นมาเพื่อนับจำนวนการเดินทางอันแสนเลวร้ายที่เขาเคยประสบ
“ถ้าย้อนกลับไปจริงๆเราเคยทำงานที่ลาดพร้าวซอยหนึ่ง รถเมล์เล็กจากบ้านมาที่ตลาดบางแค ต่อปอ.84 ไปที่ท่าเรือตรงสาทร นั่งเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาที่ BTS สะพานตากสิน จาก BTS สะพานตากสินนั่งยาวสุดมาถึงหมอชิต จากหมอชิตนั่งรถเมล์มาที่ปากซอย และนั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างอีกต่อ รวมเป็น 6 ต่อ ใช้เวลาทั้งหมด 2 ชั่วโมงครึ่ง (โห) ตอนนั้นเราเข้างาน 9 โมง ตื่นตี 5 ครึ่ง กินแรงเหี้ย ๆ กูแรงหมดจริง ๆ เงินเดือนก็ไม่ได้เยอะแท็กซี่ยาว ๆ ตัดออกไปเลย ขับรถไม่เป็นตัดออกไป แพงมาก ใช้เวลานานมาก แต่เชื่อไหม พอทำไปเรื่อย ๆ มันชิน ทั้งที่จริง ๆ มัน fuck up มากนะ ตื่นมาเจออะไรแบบนี้”
น้ำเสียงของเขาจริงจังขึ้นเรื่อย ๆ พร้อมกับเราที่เห็นภาพผู้กับกับชื่อดังเบียดเป็นปลากระป๋องอยู่ในรถเมล์ ธนชาติสมกับเป็นนักเล่าเรื่อง
“ปอ.84 มันเบียดจริง เบียดแบบถ้าได้จับเต็มมือคือเจริญแล้ว ได้แตะนิดนึงอะเจริญแล้ว คนล้นจริงๆ ต้องให้คนเบียดขึ้นมาเพื่อปิดประตูอะ นึกออกป้ะรถเมล์ที่แน่นมาก ๆ กระเป๋ารถเมล์แทรกไม่ได้ ‘พี่ ช่วยเอาเงินของคนนั้นส่งมาให้หนูหน่อย’ นึกออกป้ะ ต้องส่งต่อเงินอะ
เชื่อไหมว่าบางวันเรามาสายเรือมันออกไปแล้ว ถ้ารอก็อีก 15 นาที เราต้องขึ้นบันไดวิ่งข้ามสะพานสาทรไปตากสิน ตอนนั้นมันถึกจริงๆ”
พอได้มาขับรถแล้วเป็นไง
“พอขับรถจริงๆคือ เหี้ย (อุทาน) น่าจะขับตั้งนานแล้ว ก็อย่างที่บอก เข้างาน 11 โมง เลิก 2 ทุ่ม ไม่เจอรถติดอยู่แล้ว ขึ้นทางด่วน 45 นาทีถึง ไม่ต้องไปยุ่งกับใคร แอร์เย็น ๆ ไม่ต้องเจอฝุ่น ฟังพอดแคสต์ไปดิ ขับรถมันก็เป็นความเพลินอีกอย่างนะ มันรถติดแต่มันไม่น่าหัวเสียเท่าขนส่งมวลชน เราเจอคนตัดหน้าตอนเติมตั๋วรถไฟฟ้า เราโดนตัดหน้าตอนโบกแท็กซี่ เราเจอความฟุตพาทง่อย ๆ เหยียบแล้วน้ำกระฉอก นั่งวินมอเตอร์ไซค์แล้วรถเบียดข้าง ๆ รถเมล์จอดเลยป้ายแล้วกูวิ่งตามไป ถ้าเทียบกับรถติด รถติดหัวเสียน้อยกว่าเยอะ ขับรถมันอยู่ในคอนโทรลตัวเอง เปลี่ยนเลนนิด ๆ หน่อย ๆ ตอนขับรถก็คิดอะไรเพลิน ๆ ได้ด้วย เราเลยเพิ่งเข้าใจว่าทำไมคนชอบขับรถ ก็มันสบาย มันมีพื้นที่ของตัวเอง มันไม่ต้องหัวเสียไปข้างนอก เหี้ยห่าฝนตกข้างนอกมันไม่เข้ามาเลย ไม่ต้องหัวเสียกับเพื่อนมนุษ์และเมือง การขับรถมันซื้ออันนั้น แกอาบน้ำมาสบาย ๆ เย็น ๆ เข้าไปในรถ มาถึงออฟฟิศสภาพดีเหมือนเดิม ถ้านั่งรถเมล์มาคือหน้าเมือก เละ ฝุ่น มัน เยิ้ม ไปเจอลูกค้าซก ๆ กับขับรถไปจอดหล่อ ๆ คนละอย่างกันเลย”
ช่วยนิยามรัชดาซอย 3 ให้ฟังหน่อย
“เราเคยโบกแท็กซี่เข้ามาออฟฟิศ แท็กซี่บอกไม่อยากเข้าซอยนี้ครับขับยาก เราเลยบอกว่า ‘พี่ไปนั่งเลยครับเดี๋ยวผมขับให้’
‘จริงอะ’ ด้วยความทีเล่นทีจริงของเขาทำให้เราไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่
‘เคยขับจริง ๆ ครั้งนึง’ ธนชาติยืนยัน (หัวเราะกันทั้งคู่)
เราไม่อยากรอแล้วไง คนรอมันเหนื่อยอะ เลยบอกพี่ไปนั่งเลยเดี๋ยวผมขับให้ เดี๋ยวผมจ่ายค่าโดยสารให้พี่ พี่ไปนั่งผมขับให้เอาไหมล่ะ ด้วยความมึน ๆ กูก็ขับไปจอดออฟฟิศ จ่ายเงิน จบ (หัวเราะ) เออ ซอยนี้มันขับยาก มันเละจริงๆ เละแบบใครจะทำอะไรก็ทำ มันคือคำนิยามของความไม่เป็นระเบียบอะ รถก็จะขับ คนก็จะเดิน เลนรถน้อยมาก รถจะสวนกันก็ยาก เราขับรถเป็นส่วนหนึ่งเพราะขับในซอยนี้เลย ถ้าขับที่ซอยนี้ได้ขับที่ไหนก็ได้ เคยพูดว่าถ้าใครขับที่ซอยนี้ได้เกิน 1 เดือนควรได้ใบขับขี่สากล ไม่เวอร์ด้วย เราเคยขับที่อเมริกา ขับง่ายฉิบหาย อยู่นี่ต้องมานั่งอ่านใจว่าเขาจะให้ทางเราไปไหม ถ้าไม่ให้ไปกูต้องทำยังไง ละต้องมาคำนวณซ้ายขวาว่ากูต้องเว้นระยะห่างเท่าไหร่”
คิดว่าเป็นเพราะอะไร
“การจัดการหน้าบ้าน อยากจะตั้งอะไรก็ตั้ง มันมาจากกฎหมายบ้านเราไม่ absolute คนมันเลยไม่เป็นระเบียบ เราเชื่อว่ามันต้องถูกปลูกฝังมาจากจิตสำนึก มันต้องบังคับกันด้วยกฎหมาย ญี่ปุ่นก็เคยไม่เป็นระเบียบ แต่พอนานวันเข้ามันก็ทำได้เพราะเค้าจริงจัง แต่บ้านเรามันไม่ได้
ไม่ต้องมองไปไหนไกล ในสภาอันนั้นอันนี้ยกเว้นได้ นานวันเข้ามุมมองเราต่อกฎหมายก็คือมันไม่ได้สูงที่สุด มันมีอำนาจอยู่ข้างบน เวลามีรถชนกันเราไม่เคยว่ากันด้วยกฎหมาย มีแต่บอกว่าผมรู้จักผู้ใหญ่คนนี้นะ ในขณะที่อเมริกากฎหมายมันใช้ได้จริงๆ เราอยู่ในย่าน The Bronx เป็นย่านคนผิวสี เถื่อนเลย แต่เรากลับบ้านตอนตี 2 ชิลมาก ไม่กลัวโจรปล้นหรืออะไรเลย ถึงแม้ว่าจะรู้ด้วยว่าเดินผ่านตรอกนี้ไปจะมีคนดีลยาเสพติดกันอยู่ เราไม่กลัวเลยเพราะเรารู้ว่ากฎหมายเขาดี ถ้าเขามาทำอะไรเราหรือแตะตัวเรา กฎหมายจะดำเนินการกับเขาอย่างถึงที่สุด สังเกตในหนังนะไม่มีใครเริ่มกัน ท้ากันมึงแตะก่อนสิ มึงแตะก่อนสิ ไม่เหมือนบ้านเรา เพื่อนบ้านแม่งขับรถชนกันหน้าบ้านได้อะ วอทเดอะฟัก เราเคยเจอคนเกือบจะต่อยกันที่นู่นบ่อยมาก ‘You go first’ ‘You go first’ ด่ากันนิดหน่อยละแม่งก็แยก เพราะถ้าซัดไปตุ้บเดียวนะไม่รู้โดนปรับแม่งเท่าไหร่ เละเทะ
วนกลับมาที่บ้านเรา เราไม่กล้าเดินกลับบ้านตอน 4 ทุ่มนะ แท็กซี่ยาวยันตลาดบางแค เพราะเราไม่รู้ว่าอยู่ดี ๆ จะมีคนมาแทงเราไหม สุดท้ายแล้วเดี๋ยวเรื่องก็เงียบ บ้านเรามันไม่จบที่กฎหมาย เพราะฉะนั้นหน้าบ้านก็เลยทำกันตามใจ จะวางรถเข็นก็วาง วางอะไรก็วาง”
กรุงเทพฯ เหมาะเป็นเมืองเดินได้ไหม
“0% มันไม่เอื้อ บ้านเมืองเรารถเป็นใหญ่ แกไปเดินข้ามทางมาลายดิ ต้องเดินหนีรถ ตอนเราไป Portland เราก็ติดนิสัยคนไทยคือรอให้รถไปก่อนละเราค่อยเดินข้ามถนน แต่รถจอดให้เราละด่าว่าทำไมยูไม่เดินกูจะได้ขับต่อ คือบ้านเมืองเค้าถ้ามีคนจะเดินเขาหยุดให้จริง ๆ แต่บ้านเราโดนด่านะ นี่มันถนน คนมาเดินทำไมตรงนี้ เราอะเล็กกว่ารถ เพราะฉะนั้นมันไม่เหมาะเลย
อะไรที่เป็นคำว่าถนนบ้านเรามันเลยห่วยไง คนเดินถนน ร้านข้างถนน กินข้าวข้างถนน ทั้งที่คำว่าถนนมันคือคำกลางมากเลยนะ แต่ทำไมบ้านเราคำว่าคนข้างถนน คนเดินถนนถึงแปลว่าห่วย บ้านเราอะไรที่เกี่ยวกับถนนจะห่วย คนคือส่วนเกิน สุดท้ายต้องทำ skywalk ไม่รวมน้ำกระเด็น ขับมอเตอร์ไซค์บนทางเท้า มันไม่เหมาะกับการเดินจริงๆ ห้ามมาบอกด้วยว่าอากาศร้อน ตอนไปสิงคโปร์ก็ร้อน เราเดินสบายเลย ต้นไม้เยอะ ไม่มีมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาขับ ทางเดินทำไว้ดีมาก เดินถ่ายรูปได้ทั้งวัน ไม่แปลกเลยที่ทำไมเราถึงชอบเดินในญี่ปุ่น เข้าซอยนั่นนี่ไปเรื่อย เพราะมันสบาย เมืองมันควรจะแบบอย่างนั้น ยังไม่รวมนิวยอร์กที่เราเคยเดินได้ 27 กิโล จากสะพาน Brooklyn ขึ้นไป Central Park มีรองเท้าผ้าใบดี ๆ ชิลมากเลย
กลับมานี่ไม่ไหวอะ ยังไม่พูดถึงคนตาบอด คนพิการ โคตรสงสาร แกเชื่อป้ะว่าแถวบ้านเรามีสะพานท่าเกษตร สะพานสูงเลย ไม่มีเลนสำหรับ wheelchair เขาต้องเข็นตัวเองขึ้นไปด้วยตัวคนเดียว เลนเดียวกับเลนรถยนตร์เลย เห็นมาแล้วกับตา”
มองกรุงเทพไว้ว่าไงบ้าง
“เราไม่รู้จะนิยามทั้งหมดว่าอะไร มันสามารถ pedestrian friendly ได้มากกว่านี้อะ ละถ้ามาพูดว่ามันร้อนไงคนไม่มาเดินหรอก ก็ถ้าจัดทางเท้าดี ๆ มีต้นไม้หน่อย มีทางม้าลายที่ศักดิ์สิทธิ์ เราว่าคนเดิน แต่พอไม่มีคนเดินก็สร้างห้าง คนก็เข้าห้าง คนเดินถนนคือห่วย หรือถนนจริง ๆ ไม่ได้ห่วย แต่ทางเท้าที่ไว้เดินอะห่วย เราว่ามันถูกทำมาเพื่อรถมากกว่า เพราะงี้คนเลยฝักใฝ่ที่จะมีรถมากขึ้น มันเป็นชนชั้นที่เท่กว่าบนถนนอะ เค้าเลยบอกว่าประเทศที่เจริญไม่ใช่ประเทศที่คนจนซื้อรถได้ แต่คือประเทศที่คนรวยนั่งรถเมล์ เพราะถ้ามันเจริญจริง ๆ คือเมืองมันดีจนไม่ต้องขับรถ เอารถไว้โชว์ สบายซะจนเอารถไว้ที่บ้านเถอะ แต่ประเทศที่ยังไม่เจริญคือประเทศที่คนจนไขว่คว้าจะซื้อรถ เพื่อจะได้อัพเกรดตัวเอง แกเป็นผู้หญิงแกอาจจะเฉย ๆ นะ เรามีแฟน พ่อแม่แฟนถามทำงานอะไรอะ ขับรถป้ะ เห็นป้ะต้องมีรถ พอบอกว่ามีมันแสดงถึงฐานะ ความมั่นคง ความรับผิดชอบ ดูแลลูกสาวเขาได้”
“ทำไมการมีรถถึงจะแสดงว่าเราดูแลลูกสาวเขาได้ ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ มันควรจะรู้สึกว่านั่งรถเมล์ก็ได้ เมืองมันควรจะดูแลเราได้อยู่แล้ว ไม่ควรจะเป็นแบบนี้”
เปรียบเทียบนิวยอร์กกับกรุงเทพ
“อย่างแรกเลยนะ ตอนเรียนที่นั่นใครขับรถมาเรียนจะโดนหาว่าบ้า มึงจะบ้าหรอ มึงจะไปจอดที่ไหน ค่าจอดรถชั่วโมงนึงถูกสุด 9 เหรียญ แพงขึ้นมาอีกก็ 16 เหรียญ ไม่มีใครขับรถไปเรียน เพราะ subway เขาดีมากเลย มันไปทุกที่แล้วอะ ถึงมันจะสกปรกเหี้ย ๆ เหม็นเยี่ยวเหี้ย ๆ แต่ในแง่ความครอบคลุมมันดีมาก ใครขับรถในนิวยอร์กคือต้องเงินเหลือจริง ๆ
สองคือเราชอบการเดินได้ของมัน ถ้ามองนิวยอร์กว่าเป็นเมืองคนเห็นแก่ตัว แต่ถ้าคุณจะข้ามถนนเขาจอดให้คุณนะ ถ้าขับฝ่ามาคือโดนด่าฉิบหายอะ
นิวยอร์กเดินได้ และ public space เยอะ สวนหรือลานโล่ง ๆ ที่เปิดไว้เฉย ๆ เยอะมาก เราอยู่นิวยอร์กตลอด 4 ปีเราว่าเราเดินห้างไม่ถึง 2 ชั่วโมง หมายถึงรวมกัน 4 ปีไม่ถึง 2 ชั่วโมงนะ เราไม่เดินห้างเลย เข้าไปคือเข้าไปฉี่ เราชอบนั่งในสวนสาธารณะ อ่านหนังสือ เอาถั่วอัลมอนด์ไปให้กระรอก ชอบเดินถ่ายรูป ชอบนั่งริมน้ำ เมืองไทยมึงจะไปนั่งตรงไหนอะ ฝุ่น เหม็นควันรถ เราไม่มีที่โล่ง ๆ อะ ถ้ามีจะถูกมองว่าเจี๊ยะป้าบ่อสื่อ ทำไมมึงไม่แปลงให้เป็นตลาดนัด ทำไมมึงไม่แปลงให้เป็นอะไรที่ขายได้ ใครปล่อยให้เป็น public space ดูโง่อะ เพราะฉะนั้นเราเลยโหยหาลานพาร์ค… พารากอนมาก เพราะมันเป็นที่โล่ง ๆ ให้เราเดินได้อย่างสบาย เราโหยหาสะพานตรงหอศิลป์ เราชอบ เราอยากถ่ายรูป มันควรมีอย่างนั้นเยอะ ๆ”
เมืองที่เราอยู่ส่งผลถึงความคิดสร้างสรรค์ไหม
ส่งผลนะ เราเลยบอกว่าเราโชคดีที่เราอยู่ในเมืองนี้ โชคดีที่เราทำงานนี้ เลยได้วัตถุดิบไปทำงานไปเรื่อย ๆ เคยคุยกับพี่โน้ส-อุดม แต้พานิช ว่า Stand Up Comedy ของพี่มันเล่นกับวิถีชีวิต ใช้การสังเกตผู้คนเนอะ ถ้าพี่ไปอยู่เนเธอร์แลนด์ ไปอยู่ฮังการี อยู่เบลเยียม พี่คิดว่าพี่จะมีแมททีเรียลพอไหม พี่โน้สบอก
‘เออว่ะ กูอาจจะไม่มีแมททีเรียลเลยก็ได้นะ เพราะชีวิตมันดีซะจนไม่มีอะไรให้เล่า’
งานโฆษณาของไทยติดอันดับต้น ๆ ของโลกจริงไหม เป็นเพราะเมืองเราด้วยหรือเปล่า
จริง เราไม่รู้ว่ามันแปลงตรง ๆ จากเมืองไปสู่อะไรอย่างนั้นไหม อาจจะเป็นไปได้ก็ได้ เพราะเมืองมัน fuck up ซะจนบังคับให้เราต้องมีอารมณ์ขัน ต้อง deal with it อะ คำถามนี้อาจจะต้องใช้เวลาคิดนานกว่านี้ว่ามันมีการเชื่อมกันยังไงบ้าง แต่ว่านะเราโชคดีที่ออฟฟิศเราอยู่ในรัชดาซอย 3 เราโชคดีที่เราไม่ได้อยู่ตึกสูงในที่ที่รถไฟฟ้าไปถึง ไม่ต้องเดินจาก skywalk ผ่านหอคอยงาช้างเข้าที่ทำงาน ทำงานเสร็จก็ขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้าน เราโชคดีที่เราต้องมาเดินผ่านอะไรพวกเนี้ย เราได้เก็บระหว่างทาง ได้เห็นว่าวิถีชีวิตของผู้คนจริง ๆ เป็นยังไง เวลารับงานจากเอเจนซี่หลาย ๆ ครั้งรู้สึกว่ามันไม่เรียลอะพี่ มันโฆษณาเกินไป มันเรียลได้มากกว่านี้นะ เพราะบางทีเขาไม่ได้มาเจออะไรแบบนี้มั้ง การคิดงานจากหอคอยงาช้างกับการได้มาเดินแบบนี้มันอาจจะไม่เหมือนกัน ‘อาจจะ’ นะ เราโชคดีที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ ส่วนใดส่วนหนึ่งมันช่วยเรา
ในฐานะที่เราทำงานสื่อ คิดว่าเราช่วยทำให้เมืองมันดีกว่านี้ได้ยังไงบ้าง
(คิดนานสักพัก) ต้องบอกว่าคุณค่าต่อสังคมในแง่งานโฆษณาของเรามันอาจจะน้อยหน่อย เพราะฟังก์ชั่นของมันคือการ serve brand แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังสอดแทรกไปได้นะ ถึงจะไม่ได้พูดตรงๆ และไม่ใช่ท่าทีที่ให้วิธีการแก้ปัญหา ยิ่งงานของเราชอบกวนตีน ชอบแซะ แต่อย่างน้อยมันก็ได้กระตุกคนที่ดู เคยทำเรื่องน้ำกระฉอก มอเตอร์ไซค์ขับบนทางเท้า เรื่องคนโบกดักแท็กซี่ เรื่องต่างๆที่มันวอทเดอะฟัก เออว่ะ มันก็ขำแหละ แต่คนก็ได้รู้ว่ามันก็มีสิ่งนี้อยู่อะ เราไม่ได้ไปพูดตรงๆว่า ‘นี่คือปัญหา เรามาแก้กันเถอะ แก้ด้วยวิธีอย่างนี้นะ’ ของเราจะเป็นแบบ ‘มึงมาดูดิ เชี่ย ตลกสัส เดินอยู่ดีๆน้ำแม่งขึ้นมาถึงแก้มได้ เดินอยู่ดี ๆ มึงโดนคนขับบีบแตรด่าทั้ง ๆ ที่มันคือทางเดินของกู’ มันเป็นแนวสะกิดให้เห็น เราใช้อารมณ์ขันทำงานกับสิ่งเหล่านี้