27/02/2020
Public Realm

เมืองในเรื่องเล่าแห่งจิตวิญญาณ

วิทยากร โสวัตร
 


1

เมืองบางเมืองมีความหมายทางจิตวิญญาณ  หรือถ้าจะกล่าวให้ตรงกว่านั้นคือมันถูกสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะยูโทเปียผ่านจินตนาการหรือเรื่องเล่า  สถาปัตยกรรมหรือรูปธรรมแห่งเมืองจริงๆ ก็จากแปลนแห่งจิตวิญญาณ  

การเดินทางไปสู่เมืองเหล่านี้  ในเบื้องลึกของความรู้สึกคล้ายเรากำลังแกะรอยทางแห่งจิตวิญญาณอันสูงส่ง  หรือถ้าเรามีความปรารถนาหรือการแสวงหาในมิตินี้ความหมายก็จะมากขึ้นไปในระดับที่ว่าเราได้วางเท้าก้าวย่างไปบนเส้นทางที่เราใฝ่ฝันแล้ว

2

ลองนึกภาพพระราชวังโปตาลาในธิเบตหรือบรรดาเมืองในเทือกเขาหิมาลัย อย่างเนปาล  ภูฏาน หรืออื่นๆ  ไม่ว่าเราจะเห็นผ่านรูปหรือผ่านประสบการณ์ตรงจากการเดินทางไปเยือน  เราจะประจักษ์และถูกตรึงไว้กับความงามทั้งตัวอาคารบ้านเรือน  สภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตผู้คนราวกับเป็นส่วนผสมอันลงตัวของบทเพลงอันไพเราะ  ในส่วนลึก  ผมอดคิดไม่ได้ว่าเบื้องหลังการสร้างบ้านเมืองแบบนี้มาจากแปลนแห่งจิตวิญญาณบางอย่างซึ่งผมกำลังหมายถึงได้รับแรงบันดาลใจจาก ชัมบาลาเมืองในตำนานซึ่งเป็นต้นตอแห่งศิลปศาสตร์และอารยธรรมหิมาลัย  

ตามตำนานกล่าวว่าพระพุทธเจ้า (ฝ่ายมหายานเรียกว่า ศากยมุนีพุทธ) ได้แสดงธรรมว่าด้วยตันตระขั้นสูงแก่ปฐมกษัตริย์แห่งชัมบาลานาม ดาวะ  สังโป  ซึ่งถือว่าเป็นปรีชาญาณที่ลึกซึ้งที่สุดของพุทธศาสนาแบบธิเบต  ภายหลังที่ธรรมเทศนานี้ได้แสดงออกไปอาณาประชาราษฎรก็ดำเนินชีวิตตามพุทธมรรคาด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนา  เจริญเมตตาจิตและใส่ใจต่อทุกข์สุขแห่งชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย

อาณาจักรที่รุ่งเรืองและสันติสุขนี้ปกครองโดยผู้ทรงสติปัญญาและการุณย์  ทั้งอาณาประชาราษฎร์ก็ล้วนแล้วรอบรู้และเมตตาปราณี 

  มีนักวิชาการชาวตะวันตกบางคนได้สันนิษฐานว่า  อาณาจักรชัมบาลาอาจจะเป็นอาณาจักรโบราณแห่งใดแห่งหนึ่งซึ่งมีบันทึกอยู่ในเอกสารทางประวัติศาสตร์ดังเช่นอาณาจักรชางซุงในอาเชียกลาง  แต่ก็มีนักวิชาการหลายคนที่เชื่อว่าเรื่องราวเกี่ยวกับชัมบาลาเป็นเพียงเรื่องเล่าขานซึ่งไม่มีมูลความจริง

หากแต่ชาวธิเบตเชื่อว่าอาณาจักรชัมบาลานี้ซ่อนตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่งในความลี้ลับแห่งเทือกเขาหิมาลัย (ไกรลาส)  เพราะมีบันทึกไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนาว่า  ชัมบาลาตั้งอยู่ทางเหนือของแม่น้ำสิตะ  ดินแดนแห่งนี้ถูกแบ่งออกโดยแนวเทือกเขาทั้งแปด  พระราชวังของริกเดนหรือราชันผู้ปกครองชัมบาลานั้น  สร้างอยู่บนยอดเขาทรงกลมซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางดินแดน  ขุนเขาลูกนี้ชื่อว่าไกรลาส  พระราชวังซึ่งมีชื่อว่ากัลปะกว้างยาวหลายร้อยเส้น  เบื้องหน้าพระราชวังทางทิศใต้มีสวนรุกขชาติอันงดงามที่ชื่อว่ามาลัย  ตรงกึ่งกลางสวนรุกขชาตินี้มีวิหารซึ่งสร้างอุทิศถวายแด่กาลจักรโดยดาวะ  สังโป

แต่ในบางตำนานบอกว่า  อาณาจักรชัมบาลานี้ได้สาบสูญไปจากโลกหลายร้อยปีแล้ว  เมื่อมาถึงจุดที่ทั้งอาณาจักรได้บรรลุถึงการตรัสรู้จึงได้สูญสลายไปดำรงอยู่ในมิติอื่น   

3

สำหรับคนลุ่มน้ำโขงหรือกลุ่มคนในวัฒนธรรมลาวซึ่งมีแผ่นดินถิ่นเกิดโดยมีภูพานเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์แล้ว  เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงที่มีองค์พระธาตุเจดีย์บรรจุอุรังคธาตุหรือกระดูกหัวอกของพระพุทธเจ้าตั้งเป็นหัวใจของดินแดน  เบื้องหลังเป็นเทือกเขาภูพานยาวเหยียดสุดสายตา  เบื้องหน้าเป็นแม่น้ำโขงกว้างใหญ่ไหลเรื่อยมาแต่ปางบรรพ์  ไกลออกไปเบื้องทิศตะวันออกคือเทือกเขาสลับซับซ้อน  เทือกเขาสองฝั่งมีแม่น้ำน้อยใหญ่หลายสายไหลลงแม่น้ำโขงประหนึ่งเส้นผมจากมวยผมของแม่ธรณีที่บีบให้ไหลหลั่งออกมาเป็นสายน้ำเกื้อกูลชีวิตผู้คนในโขงเขตนี้  นั่นคือเมืองธาตุพนม

เมืองซึ่งตามตำนานผู้คนจากทางเหนือน้ำ  ไกลสุดถึงหลวงพระบางล่องเรือลงมาไหว้  คนจากปลายน้ำไกลสุดที่เมืองขอมโบราณปากแม่น้ำโขงล่องเรือทวนกระแสน้ำขึ้นมาไหว้  คนบนแผ่นดินใหญ่ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขงเดินทางมาข้ามเรือมาไหว้  คนจากฝั่งตะวันตกขององค์พระธาตุทั้งหน้าและหลังแนวเทือกเขาภูพานเดินทางมาไหว้

ลองจินตนาการว่าเราลอยสูงขึ้นไปแล้วมองลงมายังองค์พระธาตุพนมในช่วงวันเพ็ญเดือนสาม  แล้ววาดรัศมีการมองไป 360 องศา  เราจะเห็นขบวนผู้คนเดินมาเป็นแถวเป็นแนวเป็นกลุ่มเป็นสายทั้งทางน้ำและทางบก  ในมือถือดอกไม้ธูปเทียน  ว่ากันว่าไม่มีเส้นทางน้อยใหญ่เส้นทางไหนว่างเว้นเหล่าผู้จาริกแสวงบุญ  ต่างมุ่งตรงมายังหัวอกพระพุทธเจ้าคือธาตุพนมนี้

เท่าที่สอบถามดูยังมีพยานผู้คนที่เป็นประจักษ์ต่อภาพการณ์นั้นและหลายคนยังมีชีวิตอยู่  แม้ความทรงจำต่อรายละเอียดของเส้นทางและการเดินทางจะเลือนรางไปมาก  แต่ความทรงจำต่อธาตุพนมยังสว่างไสวแจ่มชัด

และเรื่องเล่านี้ยังอยู่ใกล้ผมมากเพราะแม่เป็นหนึ่งในพยานเหล่านั้น  ตลอดเวลา 12 ปีของวัยเด็กที่เรานอนมุ้งเดียวกันแม่จะเล่าเรื่องราวการเดินทางด้วยเท้า 9 วัน 9 คืนข้ามภูพานไปไหว้ธาตุพนมอยู่เนืองๆ   หรือแม้แต่วันคืนสุดท้ายก่อนที่แม่จะจากไปก็ยังเล่าเรื่องธาตุพนมให้ผมฟัง 

จะว่าไปแล้วเส้นทางสู่พระธาตุนี้อยู่ในอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม  ซึ่งเล่าว่าพระพุทธเจ้าก่อนปรินิพพานได้เดินทางมาแถบถิ่นนี้กับพระอานนท์  และเทศนาโปรดผู้คนและสัตว์  (โดยเฉพาะพญาปลาตัวหนึ่งในน้ำโขงจนเกิดตำนานพระพุทธบาทเวินปลา)  แล้วสุดท้ายก็ชี้จุดที่เมื่อพระองค์ละสังขารแล้วพระมหากัสสปะจะนำกระดูกหัวอกมาประดิษฐานไว้ที่นี่  และเรื่องราวของการเดินทางมาสร้างพระธาตุพนมก็เริ่มต้นขึ้นจากก้าวแรกที่พระมหากัสสปะออกเดินทาง  

ภายหลังเราจะพบว่าทุกเรื่องเล่าเกี่ยวกับสถานที่สำคัญและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ลี้ลับในโขงเขตนี้  โดยเฉพาะกลุ่มชนลาวในภาคอีสานของไทยและในประเทดลาวจะต้องผูกโยงอยู่กับการสร้างพระธาตุพนมด้วยกันทั้งนั้น

อันที่จริงแล้ว  เส้นทางในนิทานอุรังคนิทานและการสร้างบ้านเมืองในแถบถิ่นนี้  ถูกแกะรอยขึ้นมาโดยพระธุดงค์สืบเนื่องต่อกันมาตั้งแต่โบราณ  และรุ่งเรื่องที่สุดในยุคที่ยาคูขี้หอมหรือเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กพาครัวจากเวียงจันท์สามพันกว่าคนมาบูรณะ (พ.ศ. 2233-2235) แล้วได้มอบหมายลูกศิษย์ส่วนหนึ่งให้ดูแลพระธาตุและส่วนหนึ่งให้ตั้งบ้านเมืองโดยรอบเพื่อรักษา  และเล่ากันว่า  ตำนานพระธาตุพนมที่ชาวดงนาคำได้รับมอบไว้จากเจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็กนั้นเป็นฉบับดั้งเดิม  และละเอียดถูกต้องกว่าฉบับอื่นๆ จารึกลงในลานทอง  บรรจุหีบศิลาอย่างดี  ต้องเปลี่ยนวาระกันสักการบูชาบ้านเรือนละ 3 วัน  เวียนกันไป  ถือขลังและศักดิ์สิทธิ์จนเข้ากระดูกดำ  ใครไปขอดูก็มิได้  เขาว่าเจ้าเก่านายหลังเขามา  พวกเขาจึงจะเอาตำนานนั้นให้  พวกเขาก็จะได้ดิบได้ดี  เพราะได้สั่งความกันไว้แต่สมัยก่อนโน้นและบอกลักษณะเจ้าเก่าที่จะมานั้นว่า  ต้องพิสูจน์โดยการเอาน้ำใส่โอ (ขัน) ใหญ่และให้เหยียบดู  ถ้าน้ำไม่ล้นโอ  ก็ใช่

ต่อเนื่องมาจนช่วงหลังบูรณะครั้งใหญ่อีกครั้งของพระครูวิโรจน์รัตโนบลจากเมืองอุบลเมื่อปีพ.ศ. 2444  กระทั่งถึงปี 2518 ที่พระธาตุถูกปล่อยให้ล้มพังลง  และเมื่อเกิดสงครามบนภูพานและสงครามที่ประเทดลาว  เส้นทางการเดินเท้ามาแสวงบุญก็ถูกปิดกั้นทำลายลงสิ้น

4

ไม่ว่าอาณาจักรชัมบาลาจะมีจริงหรือไม่ก็ตาม  แต่ตำนานแห่งชัมบาลาก็บอกแก่เราถึงร่องรอยแห่งความปรารถนาและความใฝ่ฝันของมนุษย์ในอารยธรรมหิมาลัยถึงดินแดนศักดิ์สิทธิ์อันจะเป็นสถานที่พำนักแห่งจิตวิญญาณที่จะต้องเดินทางไปสู่   ซึ่งตรงกับที่บรรดาคุรุธิเบตหลายท่านถือว่าอาณาจักรชัมบาลามิใช่สถานที่ซึ่งดำรงอยู่ภายนอก  หากเป็นรากฐานของสภาวะการหยั่งรู้และประจักษ์แจ้ง  อันเป็นศักยภาพที่ดำรงอยู่ภายในตัวมนุษย์ทุกคน  

เช่นเดียวกับอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนมจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่  แต่บ้านเมืองในลุ่มน้ำช่วงนี้ก็ได้ปรากฏตัวยืนยันขึ้นแล้วตามที่มีบอกกล่าวในตำนาน  โดยเฉพาะตำนานพระธาตุพนมฉบับดั้งเดิมนั้นอาจเป็นเหตุผลที่พระสายวิปัสสนาออกธุดงค์เดินทางมาที่นี่สืบสายกันมาตั้งแต่โบราณ 

เมื่อก้มลงกราบพระธาตุพนมแล้วก็ปักกรดลงบำเพ็ญเพียรอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วออกเดินทางสู่ดงนาคำ  เพื่อจะได้ชำแรกจิตเข้าไปสู่การเปิดอุรังคนิทานฉบับดั้งเดิมนั้น  เพราะเรื่องรอยเท้าอย่างที่ว่านี้  มีแต่ผู้เสวงหาทางจิตวิญญาณเพื่อการหลุดพ้นเท่านั้นที่จะเข้าใจ

5

การได้มาเยือนเมืองเล็กๆ อย่างธาตุพนม  และพบว่าตัวเองได้ยืนอยู่ท่ามกลางเรื่องเล่าและตำนานที่ถอดแบบมาจากแปลนแห่งจิตวิญญาณเป็นความรู้สึกที่พิเศษ  เรื่องราวรอบๆ ตัวพระธาตุจากภาพสลักต่างๆ นั้นสะเทือนอารมณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม  และการได้ยืนมองแม่น้ำโขงยามพลบค่ำ  แม้วันนี้แม่น้ำโขงจะเปลี่ยนจากสีขุ่นข้นเป็นครามใส  ความงามของสายน้ำโบราณในรอยต่อของวันและคืนยังเปี่ยมเสน่ห์และแม้ว่าลาดตลิ่งที่เคยเป็นแปลงผักนานาได้กลายเป็นตลิ่งชันบางช่วงเป็นคอนกรีตแล้ว 

แต่ธาตุพนมยังคงเป็นเมืองเล็กๆ ที่ไม่มีตึกสูง  และเงียบเร็วหลังม่านราตรีคลี่คลุมไม่นาน

บางค่ำคืนที่ผมเดินเล่นหรือปั่นจักรยานอยู่บนถนนที่ขนาบข้างด้วยตึกแถวเรือนไม้เก่าแก่  บางห้วงอารมณ์เหมือนว่ากำลังเดินทางอยู่กับแม่และฟังแม่เล่าเรื่อง  จนบางห้วงขณะแม้แต่เสียงฝีเท้าหรือเสียงปั่นจักรยานก็เงียบหายไปจากสำนึก  ราวกับว่ากำลังเดินทางเข้าไปสู่เนื้อในแห่งนิทานอันเก่าแก่ – อุรังคนิทาน !

หนังสืออ้างอิง

1 มหาปรินิพพานสูตร. พระไตรปิฎกภาษาไทย  ฉบับสังคายนา  ในพระบรมราชูปถัมภ์ พุทธศักราช ๒๕๓๐

2 อุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม ฉบับพิสดาร. พระเทพรัตนโมลี (แก้ว กนฺโตภาโส ป.๖) พิมพ์ครั้งที่ ๖ พ.ศ. ๒๕๐๕

3 ประมวลประวัติ – ตำนาน ๔ เรื่อง ตำนานพระธาตุภูเพ็ก, ประวัติพระธาตุเชิงชุม, ประวัติพระธาตุบังพวน, เถรประวัติ ของ พระธรรมราชานุวัตร (แก้ว อุทุมมาลา ป.ธ.๖ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศํกดิ์), ธันวาคม ๒๕๓๐

4 ชัมบาลา หนทางศักดิ์สิทธิ์ของนักรบ. เชอเกียม ตรุงปะ เขียน, พจนา จันทรสันติ แปล, พิมพ์ครั้งที่ ๕ , ๒๕๕๑


Contributor