30/08/2021
Life

20 ปี สสส. กับ ภารกิจจัดการองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายส่งเสริมสุขภาวะเมือง

The Urbanis
 


สัมภาษณ์โดย ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

ชีวิตและสุขภาวะของผู้คนในเมืองต้องดีขึ้นได้ แนวคิดนี้ถูกส่งต่อผ่านการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่คุ้นหูกันว่า สสส.

แม้ สสส. จะไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหลักในประเด็นเมืองและการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า สสส. คือหน่วยงานสำคัญที่สนับสนุนให้ภาคประชาสังคมต่างๆ ได้ขับเคลื่อนงาน สร้างองค์ความรู้เชิงวิชาการ รวมถึงทำโครงการทดลองมากมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักขององค์กร

นอกจากนี้ ปีนี้ยังเป็นปีที่ สสส. ครบรอบ 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2544 ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทยจากความคิดริเริ่มโครงการ สนับสนุน และผลักดัน ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ The Urbanis ใช้โอกาสนี้พูดคุยกับดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ เพื่อเรียนรู้แนวทางการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับเมืองสุขภาวะ รวมถึงการร่วมผลักดันให้นโยบายเมืองสุขภาวะเกิดขึ้นจริง

ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง สสส.มีข้อมูลความรู้เมืองสุขภาวะในมือแบบไหนบ้าง

ในภาพรวม สสส. ปัจจุบันน่าจะแบ่งได้เป็น 3 แบบ หนึ่งคือข้อมูลดาต้า ที่เป็นฐานข้อมูลที่ต้องนำไปวิเคราะห์ก่อนนำใช้ เช่น ข้อมูลเมืองเดินได้เดินดีของ UddC

ข้อมูลส่วนที่สองคือข้อมูลต้นแบบพื้นที่ซึ่งอันนี้ภาคีเครือข่ายดำเนินการไว้เยอะและมีความหลากหลายในแต่ละบริบท ขณะนี้สสส.กำลังพยายามรวบรวม โดยจะนำไปฝากไว้ที่ไทยแอคทีฟ ข้อมูลส่วนนี้จะนำไปสนับสนุนนโยบาย เอาต้นแบบไปขยายผล

ข้อมูลส่วนที่สาม คือ ข้อมูลชุดความรู้ที่ลงละเอียดไปในแต่ละมุมที่ภาคีแต่ละแห่งขับเคลื่อนต้นแบบหรือนำร่องการดำเนินงานต่างๆ โดยการเริ่มงานทำพื้นที่สุขภาวะเริ่มจากการรวมกลุ่มสถาปนิกจากคณะสถาปัตยกรรมต่างๆ มาร่วมกันทำพื้นที่สุขภาวะซึ่งแต่ละคนมีมุมมองไม่เหมือนกัน ข้อมูลที่ได้มามันก็คือจุดเด่นของเราที่เชื่อมเครือข่ายต่างๆ เหล่านี้ไว้ด้วยกัน แล้วเราก็เป็นผู้จุดประกาย กระตุ้น สานเสริมประสานเครือข่าย ร่วมดำเนินงานเรื่อยมา

แนวทางในการนำข้อมูลพวกนี้มีการนำไปผลักดันต่อเชิงนโยบาย หรือเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่นๆ เป็นอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมาเรามีการทำงานร่วมกับกทม. หลายเรื่อง ตัวอย่างการร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม เปลี่ยนพื้นที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นโมเดล แล้วก็ไปเสนอต่อเขตทำให้ออกเป็นนโยบายหนึ่งเขตต่อหนึ่งพื้นที่ แต่ตีฆ้องร้องป่าวออกไปก็ยังเงียบๆ อยู่ โดยไอเดียคือเป็นการศึกษาเชิงนำร่อง มีนโยบายรองรับ ในภาพใหญ่มีการยอมรับไอเดียแต่ยังมองว่าการขับเคลื่อนมันยังไม่ค่อยมีแรงมากนัก

ด้วยสสส.ร่วมขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาวะกับกระทรวงสาธารณะสุข คุณหมอไพโรจน์ได้พูดคุยกับกระทรวงสาธารณสุข ผ่านกรมอนามัยในเรื่องของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ และได้มีการนำไปคุยกับมหาดไทยต่อ เรื่องของการพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกาย เช่น สวนสาธารณะต่างๆ ให้ได้ตามมาตรฐานหรือให้เข้าถึงได้ง่าย

ในส่วนของการผลักดันในเรื่องของนโยบายกับทางสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จนได้เป็นมติสมัชชาออกมาเรื่องการพัฒนาเมือง ตรงนี้คุณหมอไพโรจน์ได้เข้าไปร่วมหารือด้วย

แล้วตอนนี้ค่ะคุณหมอไพโรจน์เริ่มที่จะเอาเรื่องของพื้นที่สุขภาวะเข้าไปสู่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้วยด้วย

ช่วยขยายความเรื่องคณะกรรมการปฏิรูป

คณะกรรมการปฏิรูปประเทศนั้นมีหลายด้าน เช่น ด้านกีฬา ด้านสังคมและวัฒนธรรม ฯลฯ ทางคณะกรรมการเขาก็ให้ผมเข้าไปดูว่าจะกระตุ้นให้คนออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาได้อย่างไร ผมจึงเอา physical activity เข้าไปเสนอ ว่าปัจจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง

เรื่ององค์ความรู้ สสส.ถือว่าโดดเด่นไม่เป็นรองใคร แต่เราก็ยังไม่ค่อยได้นำไปใช้จริง ผมก็ไปนำเสนอเรื่องพื้นที่ที่จะทำให้คนมาออกกำลังกาย มาใช้ชีวิต เขาก็ตื่นตะลึง เขานึกถึงแต่การสร้างสนามกีฬา เรื่องพื้นที่สุขภาวะเขายังไม่มีไอเดีย เขาก็ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ สามารถรับไอเดียไปพัฒนา ซึ่งทางคณะกรรมการฯ เขาก็สนใจและอยากทำ

ในภาพรวมดูเหมือนว่าการขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมนั้นมีอุปสรรคพอสมควร คิดว่าปัญหาคืออะไร

พอพูดเรื่องเมืองเข้าใจว่ามันถูกมองว่าเมืองเป็นเรื่องใหญ่ๆ ทำไม่ได้หรอก ไม่ใช่หน้าที่ของภาคส่วนตนเอง แต่ถ้าเราคลี่ว่ามันทำได้ มันอยู่ในมือเรา น่าจะช่วยขับเคลื่อนได้ง่ายขึ้น

วิธีการที่สสส.ใช้เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเกิดขึ้นได้จริงคืออะไร

ในภาพใหญ่เราก็ต้องคุยกับผู้มีอำนาจ ส่วนถ้าจะทำให้เกิดขึ้นจริง มันเกิดจากคนตัวเล็กตัวน้อยที่อยู่หน้างานจริงๆ สองส่วนนี้มันเหมือนแยกกันอยู่ เราต้องทำให้ภาพใหญ่เห็นด้วยและเชื่อมต่อกับภาพเล็ก ในที่นี้หมายถึงว่าภาพใหญ่ต้องจัดสรรทรัพยากรให้ภาพเล็กด้วย

นอกจากที่เล่ามา มีอุปสรรคอื่นๆ อีกไหมในการสร้างเครือข่ายข้อมูลและการนำข้อมูลความรู้เรื่องเมืองสุขภาวะไปขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะและนโยบายเมือง

ถ้าลองมองเร็วๆ การทำงานเหมือนกับต่างคนต่างเคลื่อน เช่นหน่วยงานที่ทำเรื่องการขนส่ง ก็ทำแค่เรื่องการขนส่งของตัวเองไป เรื่องสวนสาธารณะ เรื่องถนน เรื่องอาคาร แต่ละเรื่องเหมือนต่างคนต่างทำ ไม่มีการเกิดการรวมกลุ่มกัน ทั้งที่จริงประเด็นมันร่วมกันทำงานได้

ทางสสส.เพิ่งจะมีการรวมกลุ่มประเด็นที่ทำงานร่วมกันได้เมื่อเร็วๆ นี้เอง พอเพิ่งรวมกันจึงยังทำให้ไม่มีพลังพอ ทุกคนยังไม่ค่อยเข้าใจมากเท่าไหร่นัก

สุดท้ายคือเรื่องชุดความรู้ที่พวกเราจัดทำยังไม่ได้รวบรวมและออกแบบฟังก์ชั่นให้เหมาะกับการที่คนอื่นจะหยิบไปใช้ได้เลยทันที ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร ทั้งนี้สสส.เอง สามารถเป็นผู้รวมเครือข่ายให้ได้ แต่องค์ความรู้แต่ละชั้นอาจจะต้องมาทำพร้อมกันกับเครือข่ายเพราะว่าเราไม่ได้เป็นคนไปลงในพัฒนาหรือเข้าไปศึกษาเอง เราอาจจะต้องมามีกระบวนการทำงานการร่วมกันเพื่อที่จะจัดลำดับความสำคัญของการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะเมืองในบริบทประเทศไทยร่วมกัน

มองไปข้างหน้านอกจากเรื่องการจัดระเบียบข้อมูล สสส.มีแนวทางอย่างไรในการยกระดับการสร้างเครือข่ายข้อมูลความรู้และการเชื่อมโยงข้อมูลความรู้

ผมว่าเราสามารถใช้โมเดลของสสส. ได้ โมเดลสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ที่ประกอบด้วยวิชาการ นโยบาย และการขับเคลื่อนสังคม ผมนึกถึงอะไรที่เป็นอินโนเวชั่นใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์สังคม ถ้าเอาตรงนี้เป็นตัววิเคราะห์ ในเชิงวิชาการเองก็ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ มีการติดตามผล ด้านนโยบายเอง ตอนนี้มันมี แต่มองว่ามันยังลอยๆ อยู่ อาจจะต้องหานโยบายที่มันตรงประเด็น เป็นภาพที่มันโฟกัสแล้วสามารถทำได้จริง ส่วนการขับเคลื่อนสังคม ตอนนี้ก็เป็นหลักการอยู่ หลักการยังไงมันก็ถูก อย่างเช่นพื้นที่สุขภาวะมันหมายถึงแบบนี้ๆ แต่ว่าในชีวิตจริงมันคืออะไร มันก็จะต้องทำให้เห็นเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 คือเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาสุขภาวะก็แย่ไปตามๆ กัน สสส.มีนโยบายอะไรตอบสนองเรื่องนี้บ้าง

เรามียุทธศาสตร์ ส่วนที่หนึ่งคือเรื่องสุขอนามัย เช่นการสร้างเสริมให้กินร้อนช้อนกลางล้างมือ ส่วนที่สองคือการตอบสนองในเชิงระบบ เช่นระบบการศึกษา ระบบสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนในช่วงนี้

หลังจากนั้นถึงจะต้องมองภาพใหญ่ เรื่องเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งมันอาจจะเปลี่ยนแล้วกระทบภาพใหญ่ แล้วภาพใหญ่มากระทบเราอีกทีหนึ่ง

ส่วนใหญ่ทุกคนจะคิดว่าตอนนี้เราทำแค่ช่วงแรก เช่นการส่งเสริมเรื่อง social distancing การให้ความรู้ต่างๆ แต่หลังจากนี้จะเป็นส่วนที่จะก้าวกระโดด สังคมจะต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง อย่างนโยบายเรื่องการทำ พื้นที่สุขภาวะ มันน่าจะอยู่ในนี้ด้วย โดยสสส. มีเป้าหมายข้างหน้าในการขับเคลื่อน Next Normal ด้วยการวางเป้าหมาย 10 ปี ข้างหน้าให้คนมีสุขภาวะที่ดีด้วยสุขภาวะเจ็ดด้าน โดยกิจกรรมทางกายเป็นหนึ่งในนั้น

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการอนาคตเมืองแห่งการเรียนรู้ (The Future of Learning City) ได้รับทุนจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม / สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ (สอวช.) / สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) / หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ดำเนินการโดย ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) / ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ป่าสาละ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


Contributor