27/01/2022
Public Realm

อสังหาริมทรัพย์ นวัตกรรมเมือง และการพัฒนาที่ยั่งยืน

บุษยา พุทธอินทร์
 


หากเราพูดถึงการพัฒนาเมือง อีกหนึ่งภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อขับเคลื่อนเมืองในอนาคตที่มองข้ามไปไม่ได้ อีกทั้งเป็นผู้ที่มีผลต่อการสร้างแรงผลักดันไปสู่การพัฒนาเมืองในวงกว้างโดยตรงนั้นคือภาคการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

วันนี้ The Urbanis จะชวนคุณมาอ่านเรื่องราวของการทำงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นวัตกรรมเมืองและการพัฒนาที่ยั่งยืน ในมุมมองของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นำโดยคุณศารัตน์ นิศารัตน์ ผู้บริหารสูงสุดฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัทอนันดา ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด มาเล่าเรื่องราวในหัวข้อ “อสังหาริมทรัพย์ นวัตกรรมเมือง และการพัฒนาที่ยั่งยืน” เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ในกระบวนวิชาโลกรอบสถาปัตยกรรมปี 5

ทำเลที่ตั้ง หนึ่งในกลยุทธ์หลักของโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้น จำกัด เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นผู้นำด้านที่อยู่อาศัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยคุณชานนท์ เรืองกฤตยา ปัจจุบันมีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อยู่ 64 โครงการ กว่า 47,000 ยูนิต มูลค่ารวมกว่า 1.92 แสนล้านบาท ด้วยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีคุณภาพ รองรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ส่งผลให้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของประเทศไทย

หลายท่านอาจจะรู้จักบริษัทอนันดาในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ด้วยนวัตกรรมสำหรับที่อยู่อาศัยที่ทันสมัย ที่มีการเดินทางที่สะดวกสบาย หนึ่งในวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ที่สำคัญของโครงการนั่นคือการเลือก “ทำเลที่ตั้ง” เป็นปัจจัยสำคัญของผู้บริโภคที่จะตัดสินใจซื้อเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อดีหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น การเดินทางที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินเข้าซอยลึกในตอนกลางคืน มีความปลอดภัย กล่าวคือ เป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อส่งเสริมวิถีชีวิตคนเมืองในปัจจุบัน

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้น จำกัด ได้มีการวางเป้าหมายโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้เกิดขึ้นอย่างมีคุณภาพรักษ์สิ่งแวดล้อมและกระจายไปอย่างทั่วถึงในเมือง

โดยแบ่งเซ็กเมนต์ของอสังหาริมทรัพย์เป็น 3 ช่วง ตามความเหมาะสม ได้แก่ 1) ที่อยู่อาศัยระดับพรีเมียม กลุ่มไอดีโอ จะถูกพัฒนาบนทำเลที่ตั้งจากสถานีรถไฟฟ้าในระยะรัศมี 0-300 เมตร 2) ที่อยู่อาศัยชั้นดีกลุ่มอีลิโอ จะถูกพัฒนาบนทำเลที่ตั้งจากสถานีรถไฟฟ้าในระยะรัศมี 300-600 เมตร และ 3) ที่อยู่อาศัยกลุ่มยูนิโอ มากกว่า 1 กิโลเมตร โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้จะเกิดขึ้นกระจายกันไป

อย่างไรก็ตามในอนาคตปี 2030 เมื่อมีโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเสร็จสิ้น ก็จะเกิดสถานีรถไฟฟ้าครบ 319 สถานี ดังนั้น กลยุทธ์การพัฒนาโครงการนั่นคือ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้กระจายทั่วถึงครบทุกสถานีนั่นเอง

แนวโน้มของโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทางบริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมเมืองให้น่าอยู่ จึงได้มีการศึกษาเมกะเทรนด์ ผ่านกรอบการวิเคราะห์ STEEP ไม่ว่าจะเป็น (1) สังคมวัฒนธรรม (2) เทคโนโลยี (3) เศรษฐกิจ (4) สิ่งแวดล้อม (5) การเมืองและกฎหมาย โดยได้เลือกเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นและเห็นได้ชัดจากปัจจุบันมาศึกษา ได้แก่
1) ความต้องการของผู้คนที่หลากหลายขึ้น (customer individualisation)
2) การกลายเป็นเมือง (rapid urbanisation)
3) การก้าวกระโดดของเทคโนโลยี (exponential technology)
4) การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (climate change)
5) การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเมืองและเศรษฐกิจโลก (geo-politics & global economy)
6) การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (aging society)

คุณศารัตน์ได้เล่าต่อถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม ได้ตระหนักถึงความเป็นอยู่ ชีวิตในเมืองและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อกล่าวถึงเมกะเทรนด์ หนึ่งในนั้นเรื่องแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นประเด็นเร่งด่วนที่โลกต้องช่วยแก้ไขปัญหา ทั้งนี้การใช้ชีวิตหรือพฤติกรรมของเรามีผลกระทบเชิงลบกับโลกใบนี้ กล่าวคือ การใช้ชีวิตและกิจกรรมที่เกิดขึ้นของเราสร้างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ระดับของคาร์บอนไดออกไซด์ก็สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีท่าทีว่าจะหยุด หรือลดลง หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนในชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก

กิจกรรมของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ก็เป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

เมื่อมาดูข้อเท็จจริง จะพบว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวปล่อยพลังงานมากกว่า 40% ของพลังงานทั่วโลกต่อปี อาคารก่อสร้างเองก็ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 30% ของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดทั่วโลก และมีแนวโน้มว่าอาคารก็จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอีกกว่าเท่าตัวใน 10 ปีข้างหน้า ตามคำกล่าวของ บิล เกตส์ ว่า กิจกรรมที่เราทำกันอยู่ของโลกเปรียบได้เหมือนกับการสร้างเมืองนิวยอร์กทุกๆเดือน เดือนละหนึ่งเมือง และก็จะเป็นอย่างนี้ไปอีก 40 ปี ข้างหน้า ซึ่งเป็นการสร้างอย่างมหาศาลมีผลกระทบอย่างมากมาย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทฯ ได้คำนึงและตระหนักถึงประเด็นทั้งหมดที่เกิดขึ้น ด้วยการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้สามารถรองรับแนวโน้มดังกล่าวต่อการอยู่อาศัยทั้งหมดที่เกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดต่อเมืองและผู้คน

การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก

คุณศารัตย์อธิบายว่า การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องคำนึงถึงผู้ใช้หรือลูกค้าเป็นหลักสำคัญ ซึ่งมักจะเป็นกลุ่ม Generation-C ดังนี้
1) กลุ่ม Baby Gen-C เป็นกลุ่มที่อยู่ในวัยเรียน พ่อและแม่หรือผู้ปกครองซื้อให้เพื่อความสะดวกในการเดินทางเพื่อไปศึกษาเล่าเรียน
2) กลุ่ม Bachelor Gen-C เป็นกลุ่มที่ทำงานเก็บเงินซื้อเอง เพื่อการอยู่อาศัยหรือการลงทุน
3) กลุ่ม Married Gen-C เป็นกลุ่มที่กำลังสร้างครอบครัว และต้องการที่อยู่อาศัย เพื่อลงหลักปักฐานครอบครัว รวมถึงรองรับอนาคตการขยายครอบครัว

กลุ่มที่มีกำลังซื้อมากที่สุดนั่นก็คือ กลุ่ม Baby Gen-C เนื่องจากผู้ปกครองมีกำลังซื้อและออกให้ ส่วน Bachelor Gen-C มีกำลังซื้อน้อยสุดเพราะเนื่องจากเป็นกลุ่มที่อยู่ในช่วงทำงานเก็บเงินเอง ทั้งนี้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานจะต้องรองรับการใช้ชีวิตในเมือง มีความสะดวก (convenience) เดินทางง่าย สามารถควบคุมการใช้จ่ายในเมืองได้ (cash smart) สามารถบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ (creativity) มีไลฟ์สไตล์สบายๆ (casual lifestyle) ควบคุมเวลาและการจัดการได้ (control) ตลอดจนต้องสามารถเชื่อมต่อผู้คนได้ (connect)

ทั้งนี้ การศึกษา Persona เพื่อพัฒนานี้ การทราบและกำหนดประเด็นเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้นจึงมีขั้นตอนของการ ตั้งสมมติฐาน (Hypothesis) ความเอาใจใส่ (empathize) เพื่อกำหนด (define) แสดงไอเดีย (ideate) สร้างต้นแบบ (prototype) และทำการทดสอบลูกค้า (customer test) เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ (new product) โดยมีกระบวนการจัดการคุณภาพ จะต้องมีการวางแผนเพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ให้สามารถตอบโจทย์ มีการก่อสร้างและส่งมอบให้แก่ลูกค้า จะต้องมีการเช็กลิสต์ และการเก็บข้อมูลเสียงสะท้อนหลังการใช้งาน เพื่อนำกลับมาวางแผนสำหรับการพัฒนาโครงการใหม่ต่อไป

อย่างไรก็ตามวิธีการในการศึกษากลุ่มลูกค้าก็เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีคุณภาพและตอบโจทย์ จำเป็นจะต้องรู้จักพฤติกรรมของลูกค้าที่มีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ การสัมภาษณ์และสังเกตการณ์ เพื่อถอดรูปแบบการใช้ชีวิตของกลุ่ม persona ว่ามีการใช้ชีวิตอย่างไร สนใจอะไร ตัวอย่างเช่น การรู้อายุ พฤติกรรมและความสนใจว่าคนกลุ่มนี้มีความสนใจสุขภาพ ชอบออกกำลังกาย มีเวลาน้อย ก็จะมีการพัฒนาและออกแบบที่อยู่อาศัยที่ส่งเสริมสุขภาวะ พัฒนาพื้นที่กระชับเพื่อ และผูกบริการเข้ากับการจัดหาแม่บ้านหรือการทำความสะอาด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้ตรงจุด หลังจากมีการขายผลิตภัณฑ์ไปแล้วก็จะต้องมีการรับเสียงสะท้อนกลับมาเพื่อนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่อไป

กรณีศึกษาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของอนันดา

คุณศารัตน์อธิบายว่า การพัฒนาโครงอสังหาริมทรัพย์ของอนันดาขึ้นมา 1 โครงการ ภายใต้การคำถึงการส่งเสริมเส้นขอบฟ้าของเมืองและการสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ จะมีความใส่ใจในงานออกแบบอาคารเป็นอย่างมาก ให้เป็นเหมือนประติมากรรมศิลปะของเมือง ส่งเสริมภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ ที่กำลังเติบโต ลดความจำเจ แออัดและความขาวโพลนเดิมของอาคารในกรุงเทพฯ แทนที่ด้วยอัตลักษณ์รูปแบบใหม่ ตลอดจนตระหนักถึงพื้นที่สีเขียว สภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสำคัญ โดยมีโครงการตัวอย่าง ได้แก่

โครงการไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน

หากย้อนความกลับไปที่โครงการต้นแบบของไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน เคยมีการพัฒนาไอดีโอรุ่นที่ 2 มาก่อน นั่นคือ ไอดีคิว พญาไท ซึ่งอยู่ในทำเลที่ตั้งที่ราคาที่ดินสูงและพรีเมียม เป็นการปรับภาพลักษณ์ของไอดีโอครั้งแรก ที่ลดความจำเจ ความซ้ำเดิมของรูปแบบอาคารสีขาวโพลนในกรุงเทพฯ ได้มีการออกแบบให้เป็นเสมือนประติมากรรมใหม่ที่มีสุนทรียภาพและส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้แก่เมือง เรียกได้ว่าเป็นโครงการต้นแบบที่ส่งอิทธิพลของการปรับปรุงพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือฯ ถัดไป

หลังจากนั้นได้เกิดการพัฒนา ไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน บนพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าแสนตารางเมตร ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากเนื่องจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่นี้เองที่ไม่ว่าจะพัฒนาอย่างไร ย่อมส่งผลกระทบต่อเมือง จึงได้ทำการศึกษาและเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางการพัฒนานอกกรอบ โดยแบบร่างแรก ได้ทำออกมาเป็นบล็อก ที่ดูใหญ่มหึมาซึ่งไม่ตอบโจทย์การส่งเสริมเมืองและสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์

จึงได้มีการตีโจทย์ใหม่ให้ออกจากกรอบเดิม ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากการอุปมาข้อดีของภาพลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลอย่าง สตีฟ จ็อบส์ ที่สะท้อนลักษณะของความฉลาด ดีต่อการใช้สอย มินิมอล บุคคลที่ 2 คือ จอห์นนี เดปป์ ที่สะท้อนลักษณะของความขัดกัน มีความปฏิวัติหน่อยๆ มีจิตวิญญาณ แรงบันดาลใจจากภาพยนตร์เรื่อง Gattaca ที่สะท้อนลักษณะของความคม ความพยายาม มีความเท่ มีโทนขาวดำ หรือแม้กระทั่งแรงบันดาลใจจากผลงานสถาปัตยกรรมอาคารของซาฮ่า ฮาดิด ที่มีรูปทรงไหลลื่น มีความไดนามิค มีการคิดถึงรูปแบบการพัฒนาที่จะส่งเสริมเมืองและสะท้อนภาพลักษณ์ของแบรนด์ ผ่านการเอาศิลปะและวิทยาศาสตร์มาผสมกัน จึงทำให้ออกมาเป็นอาคารไอดีโอ คิว แบบในปัจจุบัน ที่มีการลดทอนเสกล ใส่ความสร้างสรรค์ มีรูปร่างอาคารที่ดี เป็นเสมือนแลนมาร์คของกรุงเทพฯ ภายในโครงการมีประโยชน์ใช้สอยที่ดี มีพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้ใช้งาน ตลอดจนรวมถึงมีสาธารณูปการทางปัญญาอย่าง TCDC และมี Maxvalu ที่เป็นแหล่งอาหารยามค่ำคืน รองรับผู้ใช้งานนิสิต กล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่พยามคิดให้ครบทุกมิติ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานและคนเมือง

โครงการไอดีโอ คิว จุฬา-สามย่าน จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ใจกลางเมือง ที่ทางบริษัท อนันดาฯ ได้พยายามตระหนักถึงสาธารณูปการที่ครบครัน พื้นที่สีเขียว สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง

โครงการแอสตัน อโศก พระรามเก้า

เป็นหนึ่งในโครงการขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ใจกลางเมืองย่านอโศก การพัฒนาโครงการดังกล่าว มีการออกแบบให้เกิดการส่งเสริมอัตลักษณ์เช่นเดียวกันกับโครงการอื่นๆ โดยมุ่งเน้นจุดเด่นไปที่การออกแบบให้ทุกห้องเป็นห้องหัวมุม ได้รับวิว พร้อมแสงแดดธรรมชาติทุกห้อง เป็นแม่แบบของการใช้โถงส่วนกลางเป็นที่มีระบบระบายอากาศให้ถ่ายเทได้ดี ส่วนการออกแบบสภาพแวดล้อมในระดับพื้นดินก็มุ่งเน้นให้สัมผัสธรรมชาติ

ทั้งนี้ เบื้องหลังของการพัฒนาโครงการฯ ได้คำถึงหลักการความต้องการของมาสโลว์ ได้แก่

(1) ความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย
(2) ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย
(3) ความต้องการความรักและสังคม
(4) ความต้องการการได้รับการยกย่องนับถือในตนเอง
(5) ความต้องการพัฒนาศักยภาพของตน โดยเพิ่มเรื่องของ
(6) การเชื่อมต่อผู้คน เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต
(7) พื้นที่
(8) ธรรมชาติ เป็นอีกส่วนการศึกษาที่บริษัท อนันดาฯ เพิ่มเข้ามา

ทั้งหมดนี้เป็นความต้องการหลักของผู้ใช้งาน การพัฒนาฯ ต้องดูเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องพื้นฐาน และการคิดถึงชีวิตในช่วงระหว่างการอยู่กับสถานการณ์การเกิดโรคระบาด COVID-19 ที่มีการออกแบบระบบการจัดการที่อยู่อาศัยให้มีการลดการสัมผัส

นอกจากนี้ยังมีการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ สร้างความสะดวกต่อการดำเนินงาน ด้วยการนำระบบการสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคาร หรือ BIM เข้ามาช่วยจำลองส่งเสริมคุณภาพการออกแบบ การจัดการระบบอาคาร ตลอดจนมิติอื่นๆ ที่เป็นข้อมูลของทั้งอาคารที่สามารถดูได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น การจำลองอาคารภาพ 3 มิติ (3D visualization) วางแผนการจัดการและระยะเวลา (4D scheduling) การคิดต้นทุนค่าก่อสร้างอาคารและการจ่ายเงินให้กับบริษัทรับเหมา เปรียบเทียบความคืบหน้าของงานได้ (5D costing) การบูรณาการร่วมกับสิ่งอื่นๆเพื่อสร้างความยั่งยืน (6D sustainability) การจัดการระบบสิ่งอำนวยความสะดวก ดูแลบำรุงรักษาภายในอาคาร (7D facility management) ที่กล่าวได้ว่า โครงการแอสตัน อโศก พระรามเก้า เป็นตัวอย่างการพัฒนาที่เป็นจุดหมายของย่านนำเอาจุดเด่นของอาคารมาสะท้อนเป็นอัตลักษณ์ได้ ภายในห้องแต่ละห้องมีประโยชน์การใช้สอยที่ดี และมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี BIM เข้ามาจัดการวางแผนที่ประสบความสำเร็จ

โครงการแอสตัน อโศก พระรามเก้า จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการที่ตระหนักถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมตั้งแต่ในระดับห้อง อาคารไปจนระดับเมือง ที่ผู้อยู่จะได้รับวิว การระบายอากาศ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆเป็นอย่างดี จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการเรื่องข้อมูลในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้อยู่อาศัย

โครงการไอดีโอ โอทู บางนา

โครงการมีขนาดพื้นที่ 14 ไร่ มีกลุ่มอาคารตั้งอยู่ภายในโครงการ อีกหนึ่งโครงการที่มีโอกาสได้พัฒนาพื้นที่สีเขียว เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า โดยในช่วงเวลานั้นได้เกิดกระแสกิจกรรมนักปั่นจักรยานในเมืองทั้งระยะสั้นถึงไกลทางโครงการฯ จึงได้ทำการสร้างพื้นที่สีเขียวและเส้นทางบายพาสภายในโครงการ เพื่อส่งเสริมให้คนได้เข้ามาทำกิจกรรมปั่นจักรยาน เพลิดเพลินพร้อมกับมีโคเวิคกิ้ง สเปซ และ ฟิตเนสรองรับกลุ่มคนวัยทำงาน

ทั้งยังมีการพัฒนาพื้นที่สีเขียวเพื่อรองรับกิจกรรมนันทนาการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า ผ่านการออกแบบพื้นที่สีเขียว ตลอดจนการสร้างสาธารณูปการเพื่ออำนวยความสะดวกและการใช้ชีวิตอย่างครบครันท่ามกลางธรรมชาติให้คนมาร่วมสนุก

โครงการไอดีโอ โอทู บางนา จึงถือได้ว่าเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้นแบบที่ส่งเสริมพื้นที่สีเขียวแก่ผู้อยู่อาศัย มีการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ การทำกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจของผู้อยู่อาศัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเมือง

นอกจากเป้าหมายในการช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มพื้นที่สีเขียวที่มีคุณภาพแล้ว ทางบริษัท อนันดาฯ ยังมีการก่อตั้งโครงการ Green Traskforce เพื่อทดลองและทำวิจัยพืชพรรณสำหรับไว้ปลูกภายในโครงการ โดยมีพรรณไม้ 45 ชนิด 6 รูปแบบ ได้แก่ ผนังพรรณไม้ (greenwalls) พรรณไม้เลื้อย (climbing plants) พรรณไม้ในร่ม (indoor Plants) ปลูกพรรณไม้ตามระเบียง(terrace plants) พุ่มไม้ (shrubs) พืชบนหลังคา (roof plants) เพื่อพัฒนาความสามารถในการนำพื้นที่สีเขียวมาผสานร่วมกันกับการใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพภายในเมืองที่มีข้อจำกัด

จากการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์อย่างยั่งยืนต่อผู้คนในระดับโครงการไปจนถึงระดับเมือง ทางบริษัท อนันดาฯ ยังมีการส่งเสริมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในระดับพื้นที่ ผ่านการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่บุคลากรในบริษัทอีกด้วย นั่นคือ อนันดา แคมปัส ซึ่งเป็นออฟฟิศที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ที่มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมการทำงาน การบ่มเพาะบุคลากรเพื่อพัฒนานวัตกรรม รวมถึงการจัดตั้งคลับนวัตกรรม (innovation club) มีการร่วมมือกันระหว่างทั้งในภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา มารวมกันเพื่อร่วมศึกษาผลักดันให้วงการสตาร์ทอัพเติบโต

อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภายใต้วิสัยทัศน์ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นของบริษัทอนันดา ดิเวลลอปเม้นต์ จำกัด ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม บริบทโดยรอบ ได้ถ่ายทอดจากนโยบายลงมาสู่ระดับโครงการ ไปจนถึงการพัฒนาภายในอาคารแต่ละส่วน ซึ่งจะมีผลต่อการพัฒนานวัตกรรมเมืองในอนาคตระยะยาว และการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

การบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียน Professional Practices ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Thai PBS และ The Urbanis

ฟังย้อนหลังทางเพจ UDDC- Urban Design and Development Center


Contributor