25/11/2020
Public Realm

มารู้จัก Interaction Design และทำไม Google Maps ถึงรับมือรถเมล์ไทยไม่ได้

แพงสุดา ปัญญาธรรม
 


เมื่อพูดถึง Interaction Design หรือ การออกแบบที่เน้นปฎิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่ออกแบบและผู้ใช้งาน ฟังดูกว้าง และจับจุดได้ยากหากเราไม่ใช่นักออกแบบเสียเอง จริงๆ แล้ว Interaction Design ก็คลุมความหมายที่กว้างจริงๆ แต่ถ้ายกตัวอย่างที่ใกล้ตัวอย่างเช่นแอปพลิเคชันต่างๆ หลายคนคงร้องอ๋อ

ด้วยความหมายที่กว้างทำให้ศาสตร์ของ Interaction Design เชื่อมโยงและสอดคล้องกับการออกแบบอื่นๆ อย่างที่ Einar Sneve Martinussen ผู้เชี่ยวชาญด้าน Interaction Design จาก Oslo School of Architecture and Design บอกกับเรา

Einar Sneve Martinussen
ภาพจาก http://voyoslo.com/2012/07/geospire/

อย่างไรก็ตาม Einar ชี้ให้เราเห็นว่าหัวใจหลักของ Interaction Design ที่กลายเป็นความแตกต่างจากการออกแบบโดยทั่วไป คือการออกแบบที่อยู่บนพื้นฐานว่าผู้ใช้งานจะมีปฏิกิริยาอย่างไร และวัตถุหรือผลงานการออกแบบนั้นจะโต้ตอบอย่างไร การสื่อสารไปมาระหว่างกันและกัน ดังนั้นคงจะไม่ผิดนักหากเมื่อเรามองในภาพกว้าง Interaction Design และ Urban Design หรือ การออกแบบเมือง จึงหนีกันไม่พ้น และต้องการการพัฒนาไปควบคู่กัน เพราะหากเราต้องการการออกแบบที่มุ่งตอบสนองผู้ใช้ในระดับเมือง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ ผู้คนที่พร้อมใช้งาน และเมืองซึ่งเป็นพื้นหลังของปฏิสัมพันธ์นี้

แต่หลายครั้งที่ผู้ใช้ไม่สามารถเข้าถึง หรือใช้งานการออกแบบได้ เพราะสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย เช่น การเข้าถึงเทคโนโลยี หรือความไม่รู้ถึงการมีอยู่ของการออกแบบนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น Google Map แอปพลิเคชันที่ทำให้การเดินทางเป็นเรื่องง่ายขึ้น และสามารถวางแผนได้มากขึ้น กลับใช้ไม่ได้ผลเต็มที่ในประเทศไทย

“Google Maps ไม่สามารถรับมือการจราจรในกรุงเทพฯได้” Einar ผู้คุ้นเคยกับการจราจรในกรุงเทพฯดี จากการเข้าร่วม workshop กับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2562 “Google Maps ไม่สามารถบอกเราได้ว่ารถเมล์สายนี้จะมาเมื่อไหร่ ทั้งๆ ที่ในต่างประเทศสามารถทำได้”

หากมองผ่านๆ ก็อาจสรุปได้ว่า เพราะขนส่งสาธารณะของไทยไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการทำข้อมูลให้ Google Maps สามารถดึงเอาตารางเวลารถมาใช้ได้ หรือขาด GPS ติดตามรถแต่ละคันทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่า ขณะนี้รถคันนี้อยู่ตรงไหนของเส้นทางการเดินรถ แต่ในแง่ของการออกแบบ Einar กลับมองว่าเป็นเพราะ Google Maps ถูกออกแบบจากสภาพแวดล้อม และเงื่อนไขที่แตกต่างออกไป มันถูกออกแบบมาในที่ๆ เวลารถเมล์สามารถคาดคะเนได้ และไม่ได้ประสบปัญหาการจราจรทุกเย็นวันศุกร์ที่ฝนตกแบบในกรุงเทพฯ

และนี่ไม่ใช่แค่เพียงตัวอย่างเดียวที่ทำให้เห็นว่าไม่มี One size fits all ใน Interaction Design เพราะการออกแบบเน้นที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และชิ้นงาน เมื่อไม่มีมนุษย์ใดที่เหมือนกัน การออกแบบที่ใช้ได้กับคนกลุ่มหนึ่งก็ไม่สามารถใช้ได้ผลกับคนอีกกลุ่ม “Tinder เป็นแอปพลิเคชันที่ยอดนิยม แต่ก็ใช้ไม่ได้ผลในบางเมืองในสแกนดิเนเวียที่มีประชากรเพียงไม่กี่ร้อยคน ทุกคนรู้จักและเคยเห็นหน้ากันอยู่แล้ว”

ดังนั้น บางครั้งจึงไม่ใช่แค่ปัจจัยทางกายภาพ และเทคโนโลยี แต่คือธรรมชาติของผู้ใช้งาน

ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งที่การออกแบบการบริการบางอย่างไม่สามารถใช้ได้เต็มประสิทธิภาพอย่างเช่นกรณี Google Maps เป็นเพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ต่างกันออกไป ระบบการจัดการในประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย หรือการขาดการพัฒนาจากภาครัฐ แต่เหตุผลที่แท้จริงคือการที่บริการนั้นๆ อาจไม่ได้ออกแบบโดยมุ่งแก้ปัญหาในพื้นที่นั้นๆ โดยเฉพาะ

เราถาม Einar ว่าจะแก้ปัญหาพวกนี้ได้อย่างไร ทำอย่างไร Google Maps ถึงจะใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ต้องแก้ที่การออกแบบ หรือแก้ที่การส่งเสริมและพัฒนาในภาครัฐ เพราะทั้งสองทางดูจะยากพอๆกัน

“ต้องมอบเครื่องมือให้ผู้ใช้งาน แทนที่จะซื้อเทคโนโลยีสำเร็จรูปจากประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างที่รัฐบาลส่วนใหญ่นิยมทำ เมื่อพยายามจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาการให้บริการของภาครัฐ รัฐควรหาทางสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาเอง โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เรียนรู้ เพื่อเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาได้”

ฟังดูเป็นคำตอบที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายในขณะเดียวกัน เพราะการมอบ Tools หรือเครื่องมือให้ประชาชน คือการพร้อมที่จะเริ่มนับ 1 ไปพร้อมๆ กัน และกว่าจะได้มาซึ่งการออกแบบนั้นคงต้องใช้เวลา

“Interaction Design ไม่เหมือนกับการสร้างบ้านหรือตึกที่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว คือสิ้นสุดการออกแบบ แต่คือการเรียนรู้และพัฒนาไปเรื่อยๆ หน้าที่ของนักออกแบบไม่สิ้นสุด พวกเขายังคงต้องทำงานต่อไปตราบใดที่ยังมีผู้ใช้งาน” Einar อธิบายเพิ่มเติมถึงความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนักของหลายคนที่มองว่า การออกแบบหรือสร้างแอปพลิเคชันเป็นเพียงการลงทุนแค่ครั้งเดียวที่จะลดต้นทุนการจ้างงานในอนาคตขององค์กร แต่แท้ที่จริงแล้วองค์กรควรมองนักออกแบบเป็นอีกแผนกหนึ่งที่ต้องมีการจ้างงานอย่างต่อเนื่องต่างหาก

สุดท้ายแล้ว Interaction Design คือการออกแบบที่ต้องใช้คน หรือผู้ใช้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยที่นักออกแบบและผู้ใช้ ร่วมพัฒนาและเรียนรู้ที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเองไปพร้อมๆกัน โดยมีภาครัฐทำหน้าที่คอยส่งเสริมด้านกายภาพและเทคโนโลยี ด้วยนโยบายและการพัฒนาขั้นพื้นฐานควบคู่กันไป

เมื่อทุกองค์ประกอบดำเนินไปตามหน้าที่ของตัวเอง ก็จะเกิดเป็นพลวัตการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดของเมืองและผู้คน


Contributor