25/03/2020
Public Realm

เมื่อรณรงค์ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ สวนทางกับความปกติของชีวิตเมือง เราจะอยู่ได้ในภาวะโรคระบาดกันจริงหรือ?

ชยากรณ์ กำโชค
 



ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา รัฐบาลเกือบทุกประเทศรณรงค์ให้พลเมือง #StayHome หรือ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพราะเป็นหนทางเดียวในขณะนี้ที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดต่ำลง อันนำไปสู่การควบคุมสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองอันเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อ และความสร้างสรรค์ ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ประชากรอยู่เฉยๆ ในที่พักอาศัย เมื่อเป็นเช่นนี้ “ชีวิตเมือง” จะอยู่รอดได้หรือในสถานการณ์โรคระบาดแบบนี้? 

บทความจะชวนคิดเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคมของสัตว์สังคมผู้ต้องการระยะห่าง…ที่ใกล้ชิด โดยเฉพาะคนเมืองที่แม้ไม่ต้องการความใกล้ชิด แต่ชีวิตของพวกเราก็บังคับให้มีปฏิสัมพันธ์กัน

เชื่อว่าตอนนี้หลายคนกำลังปรับตัวให้เคยชินกับกักตัวเอง และ ตั้งหน้าตั้งตาทำงานจากบ้าน โดยหวังใจลึกๆ ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายในเร็ววัน หากเปรียบเทียบกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในเมืองหลายๆ ครั้งก่อนหน้า คนไทยน่าคุ้นหูมากกว่ากับคำว่า “ร่วมแรงร่วมใจ” “ร่วมด้วยช่วยกัน” “ฝ่าภัยไปด้วยกัน”  ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเท่านั้นที่จะฝ่าวิกฤตได้ แต่ในทางกลับกัน การ “เอาชนะ” วิกฤตไวรัสโคโรนาที่ดีที่สุดดังหลายคนทราบคือการแยกกันใช้ชีวิต

บทความ Can City Life Survive Coronavirus? โดย The New York Times นำเสนอสาระและข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่ได้ทำลายแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชีวิตเมือง” ที่จำเป็นต้องพึ่งพาและอยู่อาศัยร่วมกัน ดังนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าเมืองถือกำเนิดขึ้นเมื่อหลายพันปีก่อนด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม ตลอดจนตอบสนองมนุษย์ในฐานะสัตว์สังคม ความต้องการของมนุษย์คือการมีสังคมและอยู่ร่วมกัน หากมองในเชิงกายภาพจะเห็นว่า ถนน ทางเดินเท้า พื้นที่สาธารณะ ที่พักอาศัยแบบอยู่ร่วมกัน ระบบขนส่งสาธารณะ ตึกสูง ฯลฯ ที่ล้วนถูกออกแบบให้คนได้ใช้งานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบและเป็นระเบียบ 

แน่นอนว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ทำให้หลายคนแม้ตอนนี้ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) อย่างเคร่งครัด แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมไปเสียทีเดียว ด้วยชุมชนเสมือนจริงผ่านเครือข่ายดิจิทัล ในชนิดที่คนรุ่นก่อนหรือรุ่นก่อนๆ ไม่อาจจะจินตนาการได้ในภาวะโรคระบาดเช่นนี้ แต่ Ezra Klein ยืนยันว่า อย่างไรคนก็ยังจำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กันจริงๆ 

Klein เป็นสื่อมวลชนชาวอเมริกัน เขาบอกว่า การเว้นระยะห่างทางสังคมก่อให้เกิดภาวะถดถอยทางสังคมและทำลายการติดต่อทางสังคมอย่างหนัก โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับคนสูงอายุหรือคนพิการ

ข้อโต้แย้งข้างต้นยืนยันโดยงานเขียนของ Eric Klinenberg นักสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ในหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์คลื่นความร้อนในชิคาโกเมื่อปี ค.ศ. 1995 ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 739 คน เขาเปรียบเทียบว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยในย่านยากจน เข้าถึงยาก ห่างไกลสิ่งอำนวยความสะดวก เสียชีวิตเยอะกว่า ผู้สูงอายุที่อาศัยในย่านยากจนเหมือนกันแต่อยู่ใกล้กับสาธารณูปการ เช่น ทางเท้า ร้านค้า พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ ที่กระตุ้นและดึงดูดให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านในย่าน

ทว่า ความเสี่ยงต่อโรคระบาดที่ชาวโลกกำลังเผชิญด้วยกัน กลับมาในรูปแบบของปฏิสัมพันธ์ทางสังคม กล่าวคือ การห่างกันสักพักดังที่หลายคนพูดกันจะช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้ดีที่สุด อย่างเช่นไม่กี่วันก่อนที่ชาวนิวยอร์กผู้มีอันจะกินและมีบ้านพักตากอากาศ ก็หนีความแออัดหนาแน่นของเมืองและหนีความเสี่ยงจากเชื้อไวรัส บินไปพักผ่อนที่ชนบท คล้ายกับบรรยากาศในวรรณกรรม The Decameron โดย Giovanni Boccaccio ถ่ายทอดชีวิตคนยุคกลางในคริสต์ศตวรรษที่ 14 เมื่อต้องเผชิญกับกาฬมรณะ หรือ กาฬโรคครั้งใหญ่ที่มีคนตายประมาณ 200 ล้านคนในยุโรปและเอเชีย  

ย้อนไปไม่ไกลในช่วงศตวรรษก่อน คนเมืองนับล้านคนที่อาศัยในสหรัฐอเมริกานิยมย้ายไปอาศัยในชนบท  พื้นที่เมืองไม่น้อยโดยเฉพาะในย่านเก่าและว่างเปล่า จึงถูกเวรคืนด้วยโครงการเคหะแห่งชาติขนาดใหญ่  พื้นที่เก่าและว่างเปล่าเป็นจุดกำเนิดของโรคภัย แต่ในปัจจุบันค่านิยมได้เปลี่ยนไป คนหันกลับมาอาศัยในเมืองมากขึ้น เนื่องจากเมืองเป็นจุดศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเชื่อมต่อ และความสร้างสรรค์ ง่ายๆ คือ เพราะเมืองเป็นศูนย์กลางของโอกาสแห่งชีวิต

Michael Kimmelman ผู้เขียนบทความที่เราชุดนี้ กล่าวว่า ปรากฏการณ์การย้ายมาเข้ามาอาศัยในเมืองมักถูกตีความเป็นตัวเลขทางเงินไปเสียหมดโดยนักเศรษฐศาสตร์ แต่หากมองในเชิงคุณค่าของการแบ่งปันพื้นที่ มันไม่สามารถตีค่าเป็นเงินได้ เขายกตัวอย่างประสบการณ์หลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเขาได้ไปชมแกลอรีของชาวมุสลิมจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทันในนิวยอร์ก เขาพบคนมากมายที่นั่นและได้มีโอกาสถามพวกเขาว่า อะไรที่พาพวกเขามารวมตัวกันที่นี่ คำตอบที่น่าสนใจคือ “They said the wanted to remind themselved of life and beauty an d torelence, and seek strength in one another.”  “พวกเขาต้องการหวนคิดถึงชีวิตของพวกเขา ความสวยงาม ความอดทน และต้องการเห็นความแข็งแกร่งของผู้อื่น”

ผู้เขียนย้อนไปถึงเหตุการณ์เดอะบลิตซ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี ค.ศ. 2483 ซึ่งเมืองเกือบทุกแห่งของสหราชอาณาจักรถูกระเบิดถล่มโดยนาซีเยอรมัน  มีคนเสียชีวิตกว่า 43,000 ราย มีบ้านเรือนถูกทำลายกว่า 1 ล้านหลัง ในเหตุการณ์นั้น กระทรวงมหาดไทยอังกฤษสั่งให้ปิดโรงมหรสพ โรงละคอน โรงภาพยนตร์ จัตุรัสใจกลางเมือง ฯลฯ และขอให้ชาวเมืองอาศัยอย่างมีสติในบ้าน แต่กลับมีข้อยกเว้นที่ หอศิลป์แห่งชาติลอนดอน (The National Gallery) เนื่องจากผู้อำนวยการหอศิลป์ได้เรียกร้องไปยังผู้ใหญ่ว่า ขอให้เขาได้วาดภาพให้สาธาณะได้เห็นเถอะ พร้อมกับจัดให้มีการแสดงดนตรีในช่วงพักกลางวันอีกด้วย 

แม้อยู่ท่ามกลางภาวะคับขันของภัยสงคราม แต่ชาวลอนดอนกลับยืนเข้าแถวรอยาวเหยียดตั้งแต่หน้าแกลลอรีถึงจัตุรัสทราฟัลการ์ เพื่อหวังจะได้จับจองที่นั่งชมงานศิลปะ ต่อมาเมื่ออาวุธของเยอรมันพุ่งเป้ามาที่หอศิลป์แห่งชาติ พวกเขาก็เพียงย้ายสถานที่จัดไปเพียงเล็กน้อยอีกมุมหนึ่งของหอศิลป์เท่านั้น เมื่อสถานการณ์ในสงครามมีแต่แย่ลง..แย่ลง พวกเขาก็เพียงย้ายสถานที่จัดงานออกไป แน่นอนว่า สงครามทำให้ผู้คนหวาดกลัวและบั่นทอนอิสรเสรีในการใช้ชีวิต ทว่า เหตุการณ์เดอะบลิตซ์แสดงให้เห็นว่า คอนเสิร์ตทำให้คนลอนดอนมีความหวังและเตือนพวกเขาว่า พวกเขายังอยู่ที่นั่นและยังอยู่ด้วยกัน 

แน่นอนว่าอุปสรรคของการใช้ชีวิตในวันนี้ ย่อมมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากเหตุการณ์ในอดีต ไม่ว่าจะเหตุการณ์คลื่นความร้อนในเมืองชิคาโกหรือเดอะบลิตซ์ในเมืองลอนดอน การเอาตัวรอดไปด้วยกันในภาวะการระบาดของโควิด-19คือการแยกกันเอาตัวรอด และเสาะหาทางออกกันต่อไปในอนาคต

เบื้องต้นคงต้องร่วมแรงร่วมใจผ่านไปด้วยกันทางหน้าจอก่อน

บทความ “เมื่อรณรงค์ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ สวนทางกับความปกติของชีวิตเมือง เราจะอยู่ได้ในภาวะโรคระบาดกันจริงหรือ?” ผลิตภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) และ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

แปลและเรียบเรียง โดย ชยากรณ์ กำโชค

แปลและเรียบเรียงจาก https://www.nytimes.com/2020/03/17/world/europe/coronavirus-city-life.html


Contributor