24/09/2020
Environment
คุณอรรถพร คบคงสันติ ภูมิสถาปนิก: มดงานที่เติบพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองคอนกรีต
The Urbanis
ต้นไม้ใบหญ้า พื้นที่สาธารณะดีๆ ที่คนเมืองสามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติ เป็นความปรารถนาของคนหลายคน แต่ในเมืองอย่างกรุงเทพมหานครที่คล้ายจะกลายเป็นเมืองคอนกรีตเข้าไปทุกที่ คนเล็กๆ คนหนึ่งจะสามารถเปลี่ยนแปลง เติมสีเขียวได้อย่างไร
ชวนหาคำตอบผ่านชีวิตคุณอรรถพร คบคงสันติไปพร้อมกัน!
เริ่มต้นร่ำเรียนวิชาสถาปัตย์ฯ
คุณอรรถพร คบคงสันติ ภูมิสถาปนิกและผู้บริหารบริษัท T.R.O.P ผู้มีผลงานโดดเด่นคนหนึ่งของประเทศไทย บอกเล่าประสบการณ์และเส้นทางการทำงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่ได้ใช้ทักษะความรู้ความสามารถในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง โดยจุดเริ่มต้นของการร่ำเรียนสู่การเป็นสถาปนิกของเขาเกิดขึ้นที่ภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนบินลัดฟ้าไปเรียนต่อปริญญาโทที่ Harvard Graduate School of Design ในประเทศสหรัฐอเมริกา
การใช้ชีวิตร่ำเรียนในช่วงปริญญาโท และการทำงานที่สหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงชีวิตเขาไปตลอดกาล โดยเขาได้เรียนรู้ผ่านภูมิสถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน ได้แก่ George Hargreaves ภูมิสถาปนิกที่เป็นที่รู้จักตั้งแต่อายุเพียง 29 ปี โดดเด่นในการทำงานพื้นที่สาธารณะ และ Bill Bensley สถาปนิกผู้เก่งกาจในการออกแบบโรงแรมที่พักสุดหรู
การได้สังเกตการณ์ทำงานจากคนระดับโลกและได้ทำงานที่มีความท้าทายมากมายทำให้ไม่กี่ปีต่อมา เขาเลือกที่จะกลับเมืองไทยและเปิดบริษัทเป็นของตัวเองในชื่อ T.R.O.P อันเป็นการผสมผสานของสองอย่างในการสร้างพื้นที่สีเขียว ได้แก่ ดิน (Terrains) และพื้นที่ว่าง (Open space)
“พอปีค.ศ.2007 พี่ตัดสินใจออกมาตั้งออฟฟิศเอง พี่ไม่รู้เรื่องเลยว่าพี่ควรจะทำอะไรดี เพราะในฐานะของภูมิสถาปนิกมันก็จะตะขิดตะขวงใจนิดนึงที่แทนที่เราจะทำงานสาธารณะต้องมาทำงานเอกชน (private) เพราะตอนนั้นเมืองไทยไม่ค่อยมีงานสาธารณะมากนัก ในฐานะคนดีเราก็ควรทำงานสาธารณะใช่ไหม แต่มันก็ไม่มีงานสาธารณะให้ทำ เอ๋ เราทำงานส่วนตัวแล้วจะกลายเป็นคนเลวรึเปล่า รับใช้คนรวย”
คุณอรรถพรเล่าว่านอกจากความสับสนระหว่างการทำงานสาธารณะกับงานภาคเอกชนแล้ว เขายังต้องเผชิญกับความสับสนในการทำงานร่วมกันระหว่างภูมิสถาปัตยกรรมกับงานที่เป็นสถาปัตยกรรม
“ตอนนั้นปีค.ศ. 2007 สถาปนิกก็อยากออกแบบทุกอย่างเลย สระว่ายน้ำ ทางเดิน แล้วเขาก็จะเก็บพื้นที่ไว้ให้ปลูกต้นไม้ พี่ก็แบบ ‘เราออกแบบสวนสาธารณะระดับโลก เราออกแบบโรงแรมระดับโลก แต่มาทำงานตัวเองจะต้องปลูกต้นไม้จริงๆ เหรอ’ มันก็ทำให้พี่สับสนอยู่พักนึง”
เริ่มต้นกับ T.R.O.P = Terrains + Open space
“สิ่งที่พี่สนใจจริงๆ คือที่ว่าง ที่ว่างมันเหมือนผี มันมีอยู่แต่มันมองไม่เห็น นอกจากว่าเราจะไม่มี พอเราไม่มี (พื้นที่ว่าง) เราก็รู้สึกว่าเราต้องการ แต่ทีนี้พื้นที่แบบไหนที่มันจะช่วยส่งเสริมสถาปัตยกรรม ในมุมมองของพี่ งานของเราคือหารูปแบบของพื้นที่ต่างๆ เพื่อมาส่งเสริมสถาปัตยกรรมนั้นๆ พี่ว่าพื้นที่ไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียว พื้นผิวหน้าตาแบบนี้จะต้องเจอพื้นที่แบบนี้เท่านั้น ตามกฎ พี่ก็ชอบแหกกฎตั้งแต่เด็ก”
ในการทำงานช่วงแรกของบริษัทไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การแนะนำผ่านคนรู้จัก พร้อมกับต้องไปลองทำแบบทดสอบจนลูกค้าเห็นว่างานน่าสนใจจึงให้งาน รวมถึงผลงานที่เสร็จสิ้นก็เป็นตัวพิสูจน์ และดึงดูดให้ลูกค้ารู้จักจนทำให้เขาได้รับงานต่อเนื่องในเวลาต่อมา
คุณอรรถพรได้บอกเล่าเบื้องลึกเบื้องหลังของงานแต่ละชิ้นซึ่งล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจ มีตั้งแต่โครงการที่เป็นสำนักงานขาย คอนโดมิเนียมไปจนถึงรีสอร์ทอันมีเสน่ห์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“ทุกงานที่เริ่ม เราก็พยายามคิดไม่ให้เหมือนงานเก่า มันก็มีช่วงที่ซัฟเฟอร์กับการที่คิดไม่ออกเป็นปกติ แต่ว่าสำหรับนักออกแบบมืออาชีพ คิดไม่ออกมันทำไมได้ พอถึงเราจะต้องมีอะไรส่งให้ได้ โปรเจกต์แต่ละโปรเจกต์เราก็จะใช้สูตรสำเร็จไม่ได้ บางทีเราคิดคอนเซปต์ดีๆ ไม่ออกเราก็มานั่งดูไซต์มีปัญหาอะไร เราก็ค่อยๆ แก้ปัญหาทีละข้อ ดีไซน์มาจากโซลูชั่นได้”
“ทุกครั้งที่ผมออกแบบงานผมไม่เคยคิดถึงเรื่องงบประมาณเลยเพราะว่าผมทำไม่เป็นเรื่องงบ เพราะฉะนั้นผมจะไม่รู้ แต่ว่าถ้าผมทำไปเต็มแม็กซ์ก่อน ผมเชื่อว่าถ้ามันเกินงบเขาจะมาบอกผมแล้วผมจะหาทางลดให้ ถ้าผมไปคำนึงถึงเรื่องงบก่อนมันจะทำให้ไปจำกัดความคิดสร้างสรรค์ที่ผมอยากจะใส่”
การทำงานที่เพิ่มสีเขียวผ่านงานเอกชน
งานแต่ละโครงการของคุณอรรถพรสะท้อนให้เห็นกลิ่นไอของปรัชญาการทำงานในฐานะภูมิสถาปนิกที่พยายามเชื่อมโยงกับบริบทในท้องที่และเก็บต้นไม้ใหญ่เดิมในพื้นที่มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างโครงการ Ashton Asoke ซึ่งเลือกที่จะเก็บต้นไม้ใหญ่ของโครงการเอาไว้ ผสานรวมกับพื้นที่รอบข้างดั้งเดิมที่เป็นพื้นที่บ้านไม้เก่า, โครงการ Quatro by Sansiri ที่เก็บต้นโพธิ์และจามจุรีในส่วนของโครงการ
“รอรัฐบาลทำพื้นที่สีเขียวคงได้แต่ฝัน ถ้าการเมืองยังไม่ดีเราก็ต้องทำกันเอง เราไม่ได้ทำงานสาธารณะ แต่เราเติมงานเอกชนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมือง ใช้โรบินฮู้ด ทำงานร่วมกับคนรวย”
ไม่เพียงแต่งานของลูกค้าภาคเอกชนที่เติมสีเขียวให้กับเมือง โดยคนที่ใช้ประโยชน์เป็นลูกค้าของโครงการเท่านั้น ยังมีโปรเจกต์ที่มีความเป็นพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ทำให้คนโดยรอบได้มาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ตัวอย่างที่ทุกคนน่าจะร้องอ๋อ คือพื้นที่หน้าโครงการ Groove@CentralWorld ขยายทางเดินเท้าที่ทำให้คนได้มาใกล้ชิดกับหย่อมต้นไม้
จะเห็นได้ว่าจากผลงานที่ผ่านมาเกือบ 80 โครงการไม่ได้เป็นงานสาธารณะเต็มตัว แต่เป็นโครงการที่มีความเป็นส่วนบุคคล ภาคเอกชน (Private) แต่เขาเชื่อว่ามันจะค่อยๆ เติมพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองในท้ายที่สุด พร้อมทิ้งท้ายว่าหากภาครัฐมีการปรับนโยบายและกฎหมายให้ทันสมัยยิ่งขึ้น สถาปนิกน่าจะมีโอกาสสร้างสรรค์พื้นที่สีเขียวให้กับเมืองได้สนุกและปริมาณมากยิ่งขึ้น