23/06/2021
Public Realm

เมืองแห่งการเรียนรู้และถกเถียง ณ ยุคแห่งแสงสว่างทางปัญญา (The Enlightenment)

สรวิชญ์ ธรรมรติวงศ์
 


ยุคสมัยแสงสว่างทางปัญญาเกิดขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18  เป็นยุคสมัยแห่งกระบวนการทางปรัชญา การเมืองและสังคม ที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถประยุกต์ให้เหตุผล และจิตวิญญาณแห่งการวิพากษ์ วิจารณ์กับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ อันเป็นรากฐานของความคิดแบบประชาธิปไตยที่ผู้คนสามารถวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ ตามหลักการสำคัญจากคำพูดของ Immanuel Kant นักปรัชญาชาวเยอรมัน ที่กล่าวว่า

“Sapere Aude: sich seines Verstandes ohne Leitung anderer zu bedienen”  จงกล้าที่จะใช้ปัญญาญาณแห่งตน โดยปราศจากการชี้นำจากผู้อื่น หมายความว่า ใช้สติปัญญาตนเองในการคิด การใช้เหตุผล (individual reasoning) และนำเหตุผลของตัวเองไปใช้ในการแสดงความเห็น ในสังคมที่มีเสรีภาพในการพูด และอื่นๆ 

วัฒนธรรมการถกเถียง เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชนชั้นกลาง (bourgeois) ที่ส่วนมากจะอาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองที่กำลังเติบโตในยุคสมัยแสงสว่างทางปัญญา ชนชั้นกลางเหล่านี้มักเป็นพวกประกอบอาชีพเกี่ยวกับการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรม รวมถึงประกอบอาชีพที่ต้องใช้ความรู้วิชาชีพเฉพาะทาง (the professionals) เช่น แพทย์ ทนายความ ข้าราชการระดับล่าง ถือเป็นกลุ่มหลักที่รับผิดชอบการเสียภาษีอากรให้แก่รัฐบาล มีรายได้สัมพันธ์กับระบบตลาดและการผันผวนของระบบการค้าและระบบเศรษฐกิจ และเป็นกลุ่มคนที่มีบทบาทในด้านการคิดค้นวิทยาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความชำนาญของตนเอง

ด้วยบทบาทที่มากเช่นนี้ในสังคม และมากพอ ๆ กับกลุ่มชนชั้นสูง พวกเขาจึงต้องการจะพิสูจน์ว่าตัวเองเหมาะกับการเป็นผู้นำของสังคม และต้องการจะเป็นคู่แข่งทางรสนิยม และความคิดกับชนชั้นสูง ชนชั้นกลางจึงพยายามสร้างรสนิยมในการใช้ชีวิตของตัวเอง ซึ่งวัฒนธรรมของการถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะก็เป็นส่วนหนึ่งของรสนิยมดังกล่าวเช่นกัน หรือก็คือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสุภาพชน (culture of politeness)

ปัจจัยที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการถกเถียงนี้ ได้แก่ การเพิ่มขึ้นของอัตราผู้อ่านหนังสือออก (literacy rates) ทั้งหญิง และชาย การเพิ่มขึ้นของสื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือพิมพ์ การปฏิรูประบบราชการ การศึกษา และขันติธรรมทางศาสนาในดินแดนต่าง ๆ ของยุโรปตะวันตก อย่างในปรัสเซียที่ Frederick the Great เป็นผู้ปกครอง เขาตั้งโรงเรียนฝึกข้าราชการจำนวนมาก ซึ่งเป็นการพยายามที่จะปฏิรูปราชสำนักให้ขุนนางเป็นคนมีความสามารถจริงๆ มากขึ้น มีการออกกฎหมายปฏิรูปการศึกษา  เช่น พระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับของปรัสเซีย ค.ศ.1763 เด็กอายุ 5-13 ปี ต้องรับการศึกษา เป็นต้น

การถกเถียงถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของสุภาพชน ที่ส่วนมากเป็นชนชั้นกลาง โดยคำว่า Polite มาจากคำว่า “Polish” ซึ่งคือ การขัดเกลามารยาททางสังคม และคำว่า “Polis” ที่หมายถึงนครรัฐ เสนอถึงการอยู่ร่วมกันในสังคมเมือง ดังนั้นคำว่า “Politeness” ก็คือ การเป็นสมาชิกสังคมเมือง ผ่านการใช้ชีวิตตามมารยาทที่สังคมกำหนด ซึ่งการเข้าสังคมด้วยการการพูดคุยถกเถียงด้วยภาษาเรียบร้อยอันก่อให้เกิดความหมายทางปัญญาก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของสุภาพชน

วัฒนธรรมดังกล่าวเป็นวัฒนธรรมที่ต้อนรับทุกชนชั้นเข้ามาร่วม ไม่จำกัดวัฒนธรรม ไม่จำกัดเชื้อชาติ อันบ่งบอกถึงสภาพความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมเมืองในยุคสมัยนั้น นอกจากนี้การสร้างถาพให้สังคมเมืองเป็นสังคมแห่งความสุภาพด้วยการเสริมสร้างวัฒนธรรมสุภาพชน ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมโดยการถางป่ารอบเมืองที่แสดงถึงความป่าเถื่อนเพื่อสร้างเมืองที่แสดงถึงความสุภาพด้วย

A picture containing building, outdoor, arch, traveling

Description automatically generated
18th century city in paintings – Le Pont Neuf et de la pompe de la Samaritaine (ภาพวาดสะพาน Pont Neuf ในปารีส)
Breathtaking 18th-Century Panorama of Warsaw on Google Cultural Institute |  Article | Culture.pl
ภาพกรุงวอร์ซอจากระเบียงของพระราชวังหลวง โดย Bernardo Bellotto (National Museum in Warsaw)

สถานที่ที่สุภาพชนในสังคมเข้ามาถกเถียงกันเรียกว่า “Bourgeois Public Sphere” โดยส่วนมากจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ชนชั้นกลางสามารถเข้าถึงได้ง่ายและเปิดเผย เช่น โรงละครที่ผู้คนเข้าถกเถียงกันระหว่างชมละคร ร้านกาแฟที่ผู้คนมักจะเข้าไปอ่านหนังสือพิมพ์แบบให้คนอื่นได้ยินและก่อให้เกิดการถกเถียง พิพิธภัณฑ์ที่คนเข้าไปชื่นชมศิลปะพร้อมถกเถียงกันระหว่างการชมงานศิลปะต่าง ๆ ห้องสมุดอันเป็นแหล่งความรู้ Provincial Academy หรือพื้นที่ที่คนมารวมกันแล้วดูศิลปวิทยาการ Pleasure Garden หรือ สวนสาธารณะ Shopping Street ฯลฯ รวมถึงในบางครั้งการถกเถียงกันอาจจะเกิดที่บ้าน หรือพระราชวังของใครบางคนก็ได้ อย่างเช่น ในกรณีของกษัตริย์ Frederick ที่ 2 แห่งปรัสเซีย ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่สนับสนุนความคิด และวัฒนธรรมแบบยุคแสงสว่างทางปัญญา Frederick ได้เปิดพระราชวังซ็องซูซี (Sanssouci) ซึ่งคล้ายกับพระราชวังไกลกังวลของไทย ให้เหล่านักปรัชญา Enlightenment เข้ามาถกเถียงปรัชญาได้ด้วย

เที่ยวพระราชวังซองซูซี Sanssouci Palace, Potsdam เยอรมนี
พระราชวังซ็องซูซี (Sanssouci) ภาพจาก รีวิวหญิงปุ๊ก

ความคิดเห็นที่เกิดขึ้นจากการถกเถียงกันในพื้นที่สาธารณะ เรียกว่า ‘ความคิดเห็นสาธารณะ’ (public opinion) ความคิดเห็นดังกล่าวมักได้รับตีการตีพิมพ์ลงบนหนังสือพิมพ์ โดยรัฐบาลหรือผู้ที่มีอำนาจต้องรับฟังความคิดเห็นสาธารณะนี้เพื่อนำไปพัฒนาสังคมและปฏิรูปการเมือง หากไม่ทำตามก็จะพบกับการต่อต้านจากผู้คนในสังคมจะอาจก่อให้เกิดการประท้วงใหญ่ได้

การถกเถียงในพื้นที่สาธารณะ (public sphere) นี้จึงเป็นเหมือนพื้นที่ที่ประชาชนได้ใช้อำนาจในการต่อรองกับรัฐบาลอย่างแท้จริง เป็นตัวกลางระหว่างระหว่าง state และ public society เพราะฉะนั้นการรักษา public sphere เป็นหน้าที่ที่สำคัญของประชาชนในรัฐประชาธิปไตย และ เป็นพันธกิจที่สำคัญของรัฐบาลประชาธิปไตยที่จะต้องไม่ทำลายและแทรกแซง public sphere เพราะนี่เป็นพื้นที่เดียวที่ประชาชนสามารใช้อำนาจของตนเองในการต่อรองกับรัฐได้

จากที่กล่าวไปผู้อ่านอาจจะยังไม่เห็นภาพการถกเถียงเหล่านี้ แต่ด้วยสมัยนั้นกล้องถ่ายรูปยังไม่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมา เราจึงมีแต่ภาพวาดที่จะทำให้เราเห็นสภาพสังคมในสมัยนั้นได้ผู้เขียนจึงขอยกภาพตัวอย่างมาให้ผู้อ่านเห็นภาพ คือ ภาพ Salon de Griffin ของ Anicet Charles Gabriel Lemonnier โดย Salon ก็คือการที่ผู้คนต่าง ๆ เดินทางมารวมกลุ่มกันเพื่อถกเถียง และแลกเปลี่ยนความรู้ ผ่านการเชิญของผู้จัดคนหนึ่งซึ่งในภาพนี้ก็คือ การถกเถียงที่เกิดขึ้นโดยการเชิญชวนของ Madame Griffin

ในภาพวาดนี้แสดงภาพนักปราชญ์นั่งรวมกลุ่มกันและกำลังถกเถียง และแลกเปลี่ยนความรู้กันอยู่ ที่น่าสนใจคือ ผู้หญิงก็มีส่วนร่วมในการถกเถียงเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ไม่ได้มีเพียงแต่ผู้ชายอย่างเดียว นอกจากนี้ยังมีภาพอื่น ๆ อีก  ที่แสดงถึงวัฒนธรรมการถกเถียงนี้ เช่น ภาพ Vue du Salon du Louvre en l’année 1753 (The View of the Louvre Salon in the Year 1753) ของ Gabriel de Saint-Aubin ที่แสดงถึงคนกำลังเดินเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ Lourve ในลักษณะเป็นกลุ่มที่บางส่วนเหมือนกำลังคุยกันอยู่ระหว่างเดินชมงานสิลปะ หรือภาพ Drawing of a London coffee-house ที่วาดขึ้นในช่วง 1690–1700 ไม่ทราบศิลปิน เป็นภาพที่แสดงถึงกลุ่มคนที่กำลังอ่านหนังสือพิมพ์ และถกเถียงประเด็นที่อ่านกันในร้านกาแฟ เป็นต้น

A picture containing indoor, old, posing, altar

Description automatically generated
Salon de Griffin ของ Anicet Charles Gabriel Lemonnier
salon du louvre
Vue du Salon du Louvre en l’année 1753 (The View of the Louvre Salon in the Year 1753) ของ Gabriel de Saint-Aubin
Drawing of a maid behind a bar and wigged men sat inside a 17th-century coffee house
Drawing of a London coffee-house ที่วาดขึ้นในช่วง 1690–1700 ไม่ทราบศิลปิน

อีกภาพที่น่าใจคือ ภาพวาดเกี่ยวกับ The Lunar Society of Birmingham ซึ่งคือสมาคมจากการรวมตัวของประชาชนที่มีความรู้ ความสามารถที่ศึกษาและเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ สมาชิกชื่อว่า Lunatic ซึ่งในสมัยนั้นคือ คนที่รักความรู้ ใส่ใจกับปัญหาการเมืองสังคม โดยภาพที่ยกมาคือ An Experiment on a Bird in the Air Pump ของ Joseph Wright ที่วาดกลุ่มผู้คนทุกอายุกำลังร่วมกันทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่ภายใต้แสงจันทร์ตามชื่อของสมาคม The Lunar Society เพราะ Lunar ก็มีความหมายว่าพระจันทร์นั้นเอง

การที่จะถกเถียงกับผู้คนในสังคมได้ คนที่จะมาถกเถียงกันนั้นจะต้องมีความรู้พอสมควร เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า กลุ่มชนชั้นกลางในสังคมเมืองอันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมการถกเถียงนี้จะต้องมีการเรียนรู้กับสิ่งรอบตัว หรือสภาพสังคมตลอดเวลา ต้องเข้าห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือตลอดเวลา เพื่อจะได้ตามทันต่อการค้นคว้าใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นอันเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับกระแสการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เกิดการค้นคว้าใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สอดคล้องกับสภาพสังคมในสมัยนั้นดังที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ คือ สังคมที่ผู้คนสามารถอ่านหนังสือได้มีมากขึ้น ประกอบกับปริมาณสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่แพร่หลายมากขึ้น เมืองจึงกลายเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้วิทยาการต่าง ๆ

จึงกล่าวได้ว่า สังคมเมืองในยุคสมัยนี้ได้สร้างให้เมืองกลายเป็น “เมืองแห่งการเรียนรู้” ได้อย่างน่าสนใจ แต่อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมการเรียนรู้และถกเถียงยังไม่ได้แพร่หลายไปทั่วทุกชนชั้น ชนชั้นล่างก็ยังคงไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในวัฒนธรรมนี้แต่อย่างใด รวมถึงชนชั้นสูงที่มีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของตนเองที่ต่างออกไปจากชนชั้นกลาง สุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือ การถกเถียงเรียนรู้ในสังคมเมืองเหล่านี้ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ เพราะการถกเถียงและเรียนรู้เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่นำไปสู่การเกิดขึ้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรม และการปฏิวัติฝรั่งเศส ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมากนั้นเอง

แหล่งข้อมูล

สัญชัย สุวังบุตร, และ อนันชัย เลาหะพันธุ. (2562). ทรรปณาประวัติศาสตร์ยุโรปคริสต์ศตวรรษที่ 19. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แสงดาว

อนันชัย เลาหะพันธุ. (2560). ยุโรปสมัยใหม่ ค.ศ. 1492-1815. นครปฐม: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร


Contributor