20/01/2020
Public Realm

การไร้บ้านในเมือง ใกล้-ไกลตัวแค่ไหนในอนาคต

The Urbanis
 


Editorial team

แม้หลายคนอาจรู้สึกว่าเรื่องไร้บ้านเป็นเรื่องไกลตัว แต่แท้จริงแล้วไม่มีเมืองใดที่ปราศจากคนไร้บ้าน 

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน จากศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ได้ศึกษาคนไร้บ้านไว้ในงานวิจัยโครงการชีวิตคนเมือง 4.0: อนาคตคนเมืองในประเทศไทย ทำให้เราเห็นว่าความเป็นเมืองสัมพันธ์อย่างไรกับภาวะไร้บ้าน และภาพคนไร้บ้านในอนาคตจะเป็นไปในทางไหนได้บ้าง

เมืองสร้างคนไร้บ้าน?

สถิติหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าภาวะไร้บ้านอาจสัมพันธ์กับการพัฒนาเมือง อย่างเช่น เมืองที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและความเจริญสูงมักพบจำนวนคนไร้บ้านที่สูงตามไปด้วย อย่างเช่นกรุงเทพฯ เชียงใหม่ หาดใหญ่ นครราชสีมา และ ขอนแก่น

ยิ่งไปกว่านั้น คนไร้บ้านยังมีอายุขัยเฉลี่ยสั้นกว่าคนอื่นๆ ถึงประมาณ 20 ปี และมีสาเหตุการเสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเป็นอันดับหนึ่ง

กว่าจะไร้บ้าน

แรงขับที่ทำให้คนหนึ่งคนกลายเป็นคนไร้บ้านนั้นมีจากหลายสาเหตุด้วยกัน และการไร้บ้านส่วนใหญ่จะเป็นภาวะช่วงหนึ่งของชีวิต คนไร้บ้านที่พบมากที่สุดคือเพศชายในช่วงแรงงานตอนปลาย โดยที่เริ่มตัดสินใจไร้บ้านในช่วงอายุ 40-45 ปีซึ่งเป็นช่วงวัยแรงงานตอนปลาย

ทั้งนี้ สาเหตุที่พบเกี่ยวกับการไร้บ้านมากที่สุดคือปัญหาครอบครัวและตกงาน รองลงมาเป็นเรื่องการขาดที่พึ่งและถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี สาเหตุหลักทั้งสองในหลายกรณีมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน นอกจากนี้ ความรุนแรงในครอบครัว (domestic violence) ยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน

การทบทวนวรรณกรรมและแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางประชากร เศรษฐกิจสังคม และค่านิยมในอนาคต พบว่าการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านในอนาคตส่วนหนึ่งอาจมีความสัมพันธ์กับประเด็นดังต่อไปนี้

  1. ประชากรและครัวเรือน: แนวโน้มการอยู่อาศัยโดยลำพังหรือครัวเรือนที่อยู่คนเดียว (one-person household) เพิ่มสูงขึ้นทำให้คนมีที่พึ่งพิงน้อยลง
  2. เทคโนโลยี: ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจะส่งผลอย่างสำคัญให้เกิดภาวะตกงานกับแรงงานหลายสาขาอาชีพ โดยเฉพาะที่เป็นแรงงานแบบใช้ทักษะต่ำ จึงเป็นการยากที่คนจะเข้าสู่แรงงานที่มีความมั่นคงทางรายได้ ตัวเลขการคาดการณ์จาก World Economic Forum แสดงให้เห็นว่าสัดส่วนแรงงานคนในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 71 และในปี 2025 จะลดลงเหลือร้อยละ 48
  3. เศรษฐกิจ: ราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้ชนชั้นกลางประสบความยากลำบากในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย ด้านคนชายขอบนั้นยิ่งไปกันใหญ่เพราะราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่ค่าจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มในอัตราที่น้อยกว่าค่าใช้จ่าย

รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางการผลิตที่อาจเปลี่ยนแปลงดังที่ปรากฎในสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1970 ที่แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับอุตสาหกรรมยานยนต์สู่ภาคการเงินและภาคบริการทำให้เกิดการว่างงานจำนวนมากในแรงงานที่ไม่สามารถปรับทักษะได้ทันและแรงงานในวัยแรงงานตอนปลาย ตลอดจนส่งผลให้คนไร้บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

  1. พื้นที่เมือง: ทุกวันนี้จะเห็นการจัดระเบียบพื้นที่สาธารณะรวมถึงการเพิ่มมูลค่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป เกิดการทำพื้นที่สาธารณะให้เป็นของเอกชน (private public space) และปรากฎการที่เรียกว่า ทรัพย์สินเอกชนบนพื้นที่สาธารณะ (private property in public space) ส่งผลกระทบต่อกลุ่มที่เปราะบางต่อการไร้บ้าน เพราะคนกลุ่มนี้ใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเป็นทรัพยากรในการหารายได้และการใช้ชีวิตผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ

เช่นเดียวกับสถานที่อย่าง ‘วัด’ ที่อาจคุ้นเคยในลักษณะการเป็นที่พึ่งของประชาชนก็กำลังเปลี่ยนบทบาทไปให้ความสำคัญด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวแทน สิ่งแวดล้อม: ปัจจุบันอัตราการเกิดภัยพิบัติถี่มากขึ้น กลุ่มคนที่ปรับตัวกับความรุนแรงหรือรับมือกับภัยธรรมชาติได้ยากยิ่งเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน

รายงานจากทอมสันรอยเตอร์ ฟาวเดชั่นชี้ให้เห็นว่าภัยพิบัติในปัจจุบันส่งผลให้คนราว 14 ล้านคนต้องอยู่ในภาวะไร้บ้าน แถมยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย

  1. คุณค่า: เมื่อสังคมให้ความสำคัญกับความโอบอ้อมอารีที่น้อยลงทำให้คนเสี่ยงต่อภาวะไร้บ้านมากขึ้น แม้ยังมีแนวโน้มการบริจาคกันอยู่บ้างแต่เมื่อเปรียบเทียบการบริจาคในพื้นที่กรุงเทพและต่างจังหวัดพบว่าในกรุงเทพบริจาคน้อยกว่า อีกทั้งเงินบริจาคส่วนมากยังลงไปกับศาสนสถานที่อาจไม่ได้มีบทบาทในการดูแลคนกลุ่มเปราะบางอย่างที่เคยเป็นมาอีกต่อไป

อีกหนึ่งกระแสที่กำลังนิยมและอาจส่งผลต่อคนไร้บ้านคือการลดใช้พลาสติก หรือลดขยะ ซึ่งการเก็บขยะขายเป็นหนึ่งในอาชีพสำคัญของคนไร้บ้านทำให้อาจต้องปรับตัวพอควรหากกระแสนี้ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ 

ความเป็นไปได้ของการไร้บ้านในอนาคต

อนรรฆได้ทดลองนำปัจจัยต่างๆ มาวิเคราะห์ โดยเลือกมองอนาคตผ่านปัจจัยที่จะส่งผลกระทบสูงต่อภาวะไร้บ้าน และปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูง จึงเลือกหยิบประเด็นมาฉายภาพดังนี้

  1. หลักประกันทางสังคม: แบบ utopia และ dystopia
  2. ลักษณะประชากรและครัวเรือน: แบบอยู่ลำพัง และอยู่เป็นครอบครัว

ความเป็นไปได้ที่ 1 ความโดดเดี่ยวที่สังคมเพิกเฉย : แน่นอนว่ารูปแบบนี้จะทำให้การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านเพิ่มขึ้นสูง ไร้ความมั่นคงในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรือสังคม เกิดความเหลื่อมล้ำ และขาดสวัสดิการที่ครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการได้เพียงพอ

ความเป็นไปได้ที่ 2 ความโดดเดี่ยวที่สังคมโอบอุ้ม : แม้จะอยู่เพียงลำพังและไร้ที่พึ่งพิง คนปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจได้ไม่มากนัก ด้านสวัสดิการแม้อาจไม่ตอบสนองต่อความต้องการของคนได้อย่างเพียงพอ แต่สังคมหรือชุมชนยังทำหน้าที่เป็น Social Safety Net ได้

ความเป็นไปได้ที่ 3  สังคมไม่สนใจ แต่ยังมีใคร: ประชากรอยู่กันเป็นครอบครัวจึงมีครอบครัวเป็นที่พึ่ง ภาวะไร้บ้านจึงอยู่ในระดับต่ำ แต่หากจะประสบกับภาวะไร้บ้านอาจเป็นในรูปแบบไร้บ้านทั้งครอบครัว ประชากรรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมได้ในระดับปานกลาง แต่ยังคงมีความไม่มั่นคงด้านแรงงาน ความเหลื่อมล้ำยังคงเกิดขึ้นสูง หลักประกันทางสังคมไม่เพียงพอ

ความเป็นไปได้ที่ 4 คนรอบข้างและสังคมที่โอบอุ้ม: ลักษณะนี้จะทำให้การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านลดลงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่อย่างไรความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมก็น่าจะยังคงมีอยู่เนื่องจากเป็นแนวโน้มที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ด้วยความที่หลักประกันทางสังคมและสวัสดิการมีเพียงพอ มีครอบครัวเป็นที่พึ่ง คนในครอบครัวดูแลกันและกันได้ ชุมชนป้องกันกลุ่มเปราะบางได้อย่างครอบคลุม จึงทำให้ความเป็นไปได้ในลักษณะนี้เป็นภาพวาดฝันของอนาคต

อนรรฆทิ้งท้ายว่าไม่ว่าองค์ประกอบต่างๆ จะทำให้ภาพในอนาคตของคนไร้บ้านเป็นเช่นไร แต่ถ้าระบบสวัสดิการสามารถทำหน้าที่เป็นโครงข่ายรองรับทางสังคม (Social Safety Net) ได้อย่างครอบคลุมและเท่าทันกับสภาพปัญหา การเข้าสู่ภาวะไร้บ้านก็อาจมีแนวโน้มที่ลดน้อยลงหรือการตั้งหลักชีวิตของกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่หรือกลุ่มเปราะบางต่อภาวะไร้บ้านก็จะสามารถมีความเป็นไปได้มากขึ้น


Contributor