19/06/2023
Public Realm

เมืองกับฉัน: สภาวะเมืองซึมเศร้า และเราต้องกลายเป็นคนเศร้าซึม

อภิสรา อรรฆนิพัทธ์ ชรัณ ลาภบริสุทธิ์
 


“โรคซึมเศร้า” อาจเป็นคำที่หลายคนคุ้นชินหรือคุ้นหูกันเป็นอย่างดี ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2558 – 2564 พบว่าประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยจิตเวชสูงเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคน เพิ่มเป็น 2.3 ล้านคน โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามาด้วยอาการวิตกกังวล และอาการซึมเศร้ามากที่สุด

ถึงแม้ว่าโรคซึมเศร้าหรือภาวะซึมเศร้า เป็นอาการที่รักษาได้ แต่ต้องใช้เวลาและความพยายามเป็นอย่างมาก รวมไปถึงความช่วยเหลือจากคนรอบข้างทั้งครอบครัว เพื่อน จนไปถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพแวดล้อมภายในเมือง ที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือสภาพแวดล้อมอากาศภายในเมือง ล้วนจะส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อตัวบุคคล

The urbanis จึงอยากชวนทุกท่านมาส่องและทำความรู้จักพื้นที่ที่สามารถส่งเสริมสุขภาวะทางจิตภายในเมือง ว่าเมืองหรือพื้นที่รูปแบบไหนที่จะช่วยลดอาการซึมเศร้าได้บ้าง

เราเศร้า เมืองก็เศร้าตาม

silhouette of man standing near window

ที่มาภาพ Damir Samatkulov

อย่างที่รู้กันดีว่า “โรคซึมเศร้า” คือโรคทางจิตเวชประเภทหนึ่ง ที่เกิดจากความผิดปกติของสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) มีปริมาณลดลง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งร่างกาย จิตใจ และความคิด รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสุข มีแต่ความวิตกกังวล ร้ายแรงสุดผู้ป่วยอาจคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ สาเหตุและปัจจัยหลักเกิดจาก สภาพแวดล้อมที่ประสบพบเจอทั้งทางกายภาพ และทางสังคม

จากผลการศึกษาของสถาบันสุขภาพจิตแห่งชาติ (National Institute of Mental Health) พบว่า ภาวะซึมเศร้าส่งผลกระทบหลายด้านต่อเมือง ตัวอย่างเช่น ด้านเศรษฐกิจ โดยภาวะซึมเศร้าทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสียหายประมาณ 210,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากการลดลงของประสิทธิภาพการทำงาน การขาดงานจากโรคซึมเศร้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมือง เพราะผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าอาจตกอยู่ในสภาวะที่ไม่พร้อมต่อการทำงาน หรือมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง จนนำไปสู่อัตราการว่างงานที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาษีที่ลดลงสำหรับเมือง หรือแม้แต่ในด้านสังคม พบว่า บุคคลที่เป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมน้อยลง และมีแนวโน้มที่จะรู้สึกโดดเดี่ยว แยกตัวออกจากสังคม ส่งผลทำให้สูญเสียความเป็นชุมชน อัตลักษณ์ชุมชน วัฒนธรรมที่สืบต่อกันมาอาจจะเลือนหายไป อีกทั้งการแยกตัวโดดเดี่ยวนี้ยังสามารถเป็นปัจจัยสนับสนุนการใช้สารเสพติดและการเสพติด ซึ่งอาจทำให้อัตราการเกิดอาชญากรรมในเมืองที่สูงขึ้นตามมา

สำหรับเมืองในไทยถึงแม้จะไม่มีจำนวนมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่กลับพบว่าช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 อัตราการฆ่าตัวตายด้วยโรคซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้นถึง 4,000 คน โดยเฉลี่ยประมาณ 8 คนต่อวัน (กรมสุขภาพจิต, 2564) ส่วนหนึ่งมาจากสภาพแวดล้อมภายในเมือง การปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ลดลง หรือการถูกจำกัดพื้นที่ภายในเมืองจากการระบาดของโรค ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ภายในเมือง เพราะมนุษย์ถือเป็นสัตว์สังคม และทางชีววิทยาร่างกายมนุษย์ถูกสร้างมาเหมาะสำหรับการทำกิจกรรมที่ต้องขยับร่างกาย การอุดอู้หรือเก็บตัวอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมอาจจะส่งผลให้เกิดภาวะความเครียดภายในจิตใจจนนำไปสู่การเป็นภาวะซึมเศร้าตามมา

ดังนั้นแล้ว การเกิดภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล แต่ผลกระทบกลับส่งผลเป็นวงกว้างในระดับเมือง อัตราการฆ่าตัวตายที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้น หรือแม้แต่อัตราการเกิดอาชญากรรมภายในเมืองก็ตาม และการเกิดปัญหาทางสังคมภายในเมืองย่อมไม่เป็นผลดีต่อการดำรงอาศัยภายในเมือง เมื่อเราซึมเศร้า เมืองก็จะเศร้าซึมเช่นกัน

ส่องวิถีคนเมือง สะท้อนสุขภาพใจ

“จะดีกว่าไหม ถ้ามีพื้นที่สีเขียวภายในเมือง”

ในปัจจุบันเมืองมีอัตราการย้ายเข้าของประชากรสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป บ้างเข้ามาเพื่อหาแหล่งงาน บ้างเข้ามาเพื่อศึกษา หรือตามแต่โอกาสอื่น ๆ และแน่นอนว่าผลที่ตามมาคือการแออัดของจำนวนประชากร พื้นที่ภายในเมืองย่อมเกิดการขยายตัวเพื่อรองรับกับกลุ่มประชากรเหล่านั้น ทำให้พื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะมีจำนวนลดลงตามไปด้วย

อย่างที่รู้กันดีกว่าการมีพื้นที่สีเขียวภายในเมือง มีข้อดีหลากหลายประการหนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “สภาพแวดล้อมภายในเมือง” การมีอยู่ของพื้นที่สีเขียวจะทำให้บริเวณดังกล่าวดูมีชีวิตชีวา เกิดความจรรโลงใจ ทำให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลาย และเป็นการพักสายตาจากการสภาพแวดล้อมที่มีแต่ตึกล้อมรอบ อีกทั้ง พื้นที่สีเขียวเหล่านั้นสามารถใช้เป็นพื้นที่เพื่อกิจกรรมนันทนาการได้หลากหลายประเภท ทั้งการออกกำลังกายที่ช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (Endorphin) ต่อต้านความเศร้า หรือเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ชาวเมืองได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน พบปะสังสรรค์และพูดคุย

ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงอยากชวนผู้อ่านทุกท่านได้รู้จักวิธีการสร้างพื้นที่เขียว และการใช้งานพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมกับเสริมสร้างสุขภาวะทางกาย ทางใจให้กับคนเมืองไปพร้อม ๆ กัน

1. พื้นที่สีเขียวกินได้ ใกล้บ้าน ชุบชูใจ

ในช่วงแรกของการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การเดินทางสถานที่ในการใช้ชีวิตของเรานั้นถูกจำกัด ความบันเทิงและการผ่อนคลายความเครียดจึงถูกจำกัดไปด้วย ในสภาวะเช่นนี้มีโอกาสก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้สูงขึ้นอย่างมากในกลุ่มคนเมือง ที่บ้านเป็นเพื่ออยู่อาศัยเท่านั้น พื้นที่สีเขียวจึงควรเป็นสถานที่พักผ่อนที่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด และการกระจายพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุมคนในเมืองจะเป็นส่วนเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนเมืองได้ ทั้งได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ รับแสงแดด มีพื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ออกกำลัง พักผ่อน พบปะผู้อื่น

ในหลาย ๆ เมือง ได้ตระหนักคุณค่าของพื้นที่สีเขียว จึงมีโครงการสีเขียวเกิดขึ้นมากมาย เช่น ประเทศฝรั่งเศส ที่มีโครงการ “สวนผักคนเมือง” เพื่อกระจายตัวพื้นที่สีเขียวไปยังระดับชุมชนแล้ว นอกจากการใช้เป็นพื้นที่พักผ่อนแล้วยังสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารได้ในเบื้องต้นและเพิ่มกิจกรรมให้คนในชุมชนได้มีส่วนร่วม เพิ่มปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน สร้างความเป็นชุมชนและคุณภาพชีวิตที่ดี ผ่อนคลายจากความตึงเครียดในสถานการณ์กักตัวในการระบาดของ COVID-19

2. สวนบำบัดจิต ฟื้นฟูใจ

The Petria’s Place Healing Garden by UCAN

ที่มาภาพ https://blockclubchicago.org/2021/09/23/west-side-garden-is-designed-to-help-youth-heal-from-trauma-a-garden-is-a-friend-you-can-visit-anytime/

“The Petria’s Place Healing Garden” เป็นสวนสาธารณะที่ออกแบบเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจสำหรับผู้ผ่านประสบการณ์เลวร้ายและความรุนแรงด้วยธรรมชาติบำบัด ประกอบไปด้วยพื้นที่แสดงงานศิลปะ พื้นที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการละเล่น และพักผ่อนเพื่อความผ่อนคลาย ผ่านองค์ประกอบทางธรรมชาติ น้ำและพืชพรรณ โดยมีแนวคิดโครงการคือการดึงเยาวชนที่มีสภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจให้กล้าที่จะออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น บำบัดแผลใจ และ ความกลัวจากประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีต มีจุดรวมสายตาเป็นน้ำพุใจกลางสวนสร้างความสงบจากจังหวะการเคลื่อนไหวและเสียงของน้ำ

3. สวนใจกลางเมือง

สวน Come on, Calm on โดย Shma Company Limited

ที่มาภาพ Shma Company Limited

“Come on, Calm on” สวนกลางเมืองเพื่อคลายความเครียดด้วยธรรมชาติที่ตั้งอยู่ในเอกมัย ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร เป็นผลงานจาก Shma Company Limited โดยใช้หลักการออกแบบ ‘Therapuetic Garden’ หรือเรียกอีกชื่อว่า ‘การจัดสวนเพื่อการบำบัดโดยเฉพาะ’ เพื่อเป็นตัวช่วยแบ่งเบาความเครียดในวันที่อ่อนล้า โดยรูปแบบของการจัดสวนมีจุดประสงค์เพื่อปรับสมดุลร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ให้อยู่ในสภาพคงที่ เกิดความรู้สึกผ่อนคลายประสาทสัมผัสทั้งห้าและสามารถบรรเทาอาการเครียดสะสมจากวิถีชีวิตชาวเมืองที่เร่งรีบลงได้ผ่านการใช้พรรณไม้บำบัด ที่เริ่มต้นจากการใช้พืชดอกเพื่อสร้างสีสันและสร้างความสามารถในการเรียกแมลงโดยหลักกงานออกแบบนี้ สามารถนำไปประยุกต์ได้ในพื้นที่สวนอื่น ๆ เพื่อคลายความเครียดของคนเมือง

ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าคนจะเศร้าเพียงใด การมีพื้นที่สีเขียวดี ๆ ที่คอยเยียวยาจิตใจ หรือการได้พูดคุยกับใครสักคนเพื่อระบายความอัดอั้นใจในก็คงเป็นเรื่องราวดี ๆ ที่จะสามารถเกิดขึ้นได้ในเมือง และการพัฒนาเมืองเพื่อโอบอุ้มกลุ่มคนเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำขนานควบคู่กันไป แน่นอนว่าเมื่อคนมีความสุข เมืองก็จะมีความสุขตามเช่นกัน

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

How can green spaces create healthier cities & improve mental health? | With Mark Nieuwenhuijsen

West Side Garden Is Designed To Help Youth Heal From Trauma: ‘A Garden Is A Friend You Can Visit Anytime’

Come on, Calm on / Shma

[NEWS] Come on, Calm on at ThongEk Creative Neighborhood

LUXURY FOR ALL เมืองเขียว: ความหรูหราสำหรับทุกคน


Contributor