19/02/2021
Public Realm

ส่องเมืองอาเซียนจากหนังสารคดี “มะละกา-สีหนุวิลล์” ผลจากการพัฒนาขนาดใหญ่ของภาครัฐ

แพงสุดา ปัญญาธรรม
 


เมืองเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แม้อาจจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใหญ่โตในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่เมื่อมองภาพรวมจะเห็นได้ว่า เมืองที่เราอยู่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ โดยที่เราอาจจะค่อยๆ ปรับตัวไปจึงไม่ทันรับรู้ได้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่คือผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงต่อเมืองหลายครั้งมาจากการพัฒนาของภาครัฐ ที่พยายามยกเอาผลกระทบเชิงบวก เช่น การสร้างรายได้ การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ ความทันสมัย เข้ามาเป็นตัวโน้มน้าวใจผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมนำมาซึ่งผลกระทบทั้งแง่บวกและแง่ลบ เพียงแต่ผลกระทบในแง่ลบอาจไม่สามารถวัดได้จากการกวาดตาเพียงครั้งเดียว แต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการสังเกต ซึ่งจนกว่าจะสรุปออกมาได้ก็อาจจะสายเกินไป

ลองดูตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงในเมืองทั้ง 3 เมืองในอาเซียน ที่อาจสะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเมืองและสภาพแวดล้อมคือการรับฟังซึ่งกันและกันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และคนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่สมดุลของการพัฒนาทั้งเชิงเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตไปจนถึงความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนของเมืองที่เราอยู่อาศัย

หมายเหตุ: เรียบเรียงเนื้อหาจากเวทีเสวนาโต๊ะกลม “การเปลี่ยนแปลงของเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: อะไรคือบทบาทของพลเมือง” (Urban Changes in Southest Asia: what is the citizen’s role?) และภาพยนตรสารคดีซึ่งฉายบางส่วนในกิจกรรมค่ำคืนแห่งกรุงเทพฯ Bangkok’s Night of Idea ณ สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพ วันที่ 28 มกราคม 2563

เมืองยะโฮร์และเมืองมะละกา, มาเลเซีย

มาเลเซียเป็นประเทศที่รายล้อมไปด้วยทะเล ที่เหมาะจะได้รับการพัฒนาเป็นเมืองท่าและเมืองตากอากาศ เมืองยะโฮร์ (Johor) และเมืองมะกะกา (Malacca) ในประเทศมาเลเซียกำลังเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม อันเป็นผลกระทบจากโครงการที่เข้ามาเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่โดยรอบ นำไปสู่ประเด็นถกเถียงว่าสมดุลของความเจริญที่เข้ามาควบคู่กับความสูญเสียทางธรรมชาตินั้นอยู่ตรงไหน

ภาพยนตร์สารดคี “Flows of sand”, by Monika Arnez นำเสนอผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโครงการพัฒนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Belt and Road Initiative หรือ BRI ของประเทศจีน ที่นอกจากการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ของเมืองชายฝั่งทั้งสองแล้ว โครงการนี้ยังถมพื้นที่เพื่อสร้างเกาะแห่งใหม่ขึ้นมาใกล้ๆ กับชายฝั่งอีกด้วย และถึงแม้จะได้รับคำชมในแง่คุณค่าทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน แต่โครงการทั้งสองก็หนีไม่พ้นคำวิพากษ์วิจารณ์ด้านผลกระทบในแง่ลบทั้งต่อธรรมชาติและสังคม

โครงการ Melaka Gateway ถูกตั้งเป้าหมายเป็นทั้งเมืองท่า ศูนย์กลางทางการเงิน และการท่องเที่ยว แต่การก่อสร้างที่จะยืดยาวไปจนถึงปี 2032 และการดูดเอาทรายจากทะเลมาถมพื้นที่ขยายเกาะที่อยู่ใกล้ชายฝั่ง กำลังสร้างความกังวลใจต่อชุมชนโดยรอบ เนื่องจากที่ตั้งที่อยู่ใกล้ชายฝั่งจะทำให้การเคลื่อนของกระแสน้ำเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนชายฝั่งที่สืบเชื้อสายมาจากชาวโปรตุเกส และใช้ชีวิตเกี่ยวพันกับสายน้ำมาโดยตลอด ตั้งแต่การทำประมงไปจนถึงประเพณีเกี่ยวกับทะเล นอกจากนี้ การก่อสร้างยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลอีกด้วย

ดังนั้นถึงแม้จะถูกโปรโมทว่าเป็นการพัฒนา และส่งเสริม GDP ของประเทศ แต่หากมองจากมุมของคนในพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว คงเรียกได้ไม่เต็มปากนักว่านี่คือการพัฒนา

อีกหนึ่งโครงการริมฝั่งของประเทศมาเลเซียจากการลงทุนของมหาอำนาจอย่างจีนคือเมือง Johor ที่อุดมไปด้วยพื้นที่ป่า แต่การพัฒนาที่เข้ามาพร้อมกับการถมพื้นที่เกาะใหม่เพื่อสร้างเป็นที่อยู่อาศัยหรูหรา กำลังสร้างความกังวลถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และชาวบ้านที่ดำรงชีพจากการทำประมงมาหลายชั่วอายุคน ทำให้หลายคนในพื้นที่มองว่ากำลังถูกทอดทิ้งโดยรัฐบาลของตนเอง ความเจริญและการพัฒนาที่เข้ามาตอกย้ำช่องว่างทางชนชั้นที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ และไม่ได้มุ่งหวังเพื่อสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่พวกเขาอย่างแท้จริง

เมืองสีหนุวิลล์, กัมพูชา

ขณะที่เมืองสีหนุวิลล์ (Sihanoukville) ประเทศกัมพูชา เป็นอีกเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน จากการเข้ามาของนักธุรกิจจีนที่แสวงหาอิสรภาพและโอกาสทางการสร้างธุรกิจ โดยปราศจากข้อบังคับรัดกุมอย่างในแผ่นดินเกิดของตน ภาพยนตร์สารคดี “Modern Wars: Sihanoukville, a Chinese or Cambodian City”, by Judith Kohl and Carol Anne Telenis ฉายภาพให้เห็นว่า การหลั่งใหลเข้ามาของเงินทุนและธุรกิจทำให้เมืองสีหนุวิลล์เต็มไปด้วยการก่อสร้าง ฝุ่นควัน และขยะจากการขาดการจัดการที่ถูกต้อง ชาวกัมพูชาจากต่างถิ่นต่างเข้ามาเพื่อหางานและรายได้ที่ดีกว่าที่พวกเขาเคยได้รับ ขณะที่ชาวจีนก็หลั่งใหลเข้ามาเพื่อหาช่องทางเลี้ยงชีพ สีหนุวิลล์กลายเป็นดินแดนที่ผู้คนเข้ามาตักตวงหาผลประโยชน์เพื่อหนีจากความลำบาก

แม้ชุมชนจีนที่ย้ายเข้ามาจะยังแบ่งแยกและไม่หลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาวกัมพูชานัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดนี้ตอบโจทย์ในเรื่องรายได้ให้แก่ทุกคน แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่น่ากลัวก็คือการขาดการวางแผน เนื่องจากสิ่งก่อสร้างเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทำให้เมืองปรับสภาพไม่ทัน ท้องถนนเต็มไปด้วยฝุ่นจากการก่อสร้างทั้งวันทั้งคืน นอกจากนั้นการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานก็ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ภาพสะท้อนของสีหนุวิลล์ในขณะนี้จึงเป็นสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเพราะการพัฒนามอบโอกาสการใช้ชีวิตให้แก่ทุกคนอาจจะกำลังทำลายชีวิตของพวกเขาเองในอนาคต

สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา กรุงเทพฯ

แม้กรณีศึกษากรุงเทพมหานครจากเวทีเสวนาโต๊ะกลม ไม่สามารถศึกษาเชิงเปรียบเทียบได้กับผลจากการพัฒนาขนาดใหญ่โดยรัฐที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซีย และประเทศกัมพูชา แต่พอสะท้อนเห็นให้บทบาทที่สำคัญของพลเมืองต่อการพัฒนาเมือง ซึ่ง ศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมสมัย (IRASEC) สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ได้ผลิตสารคดีความยาว 8 นาที เรื่อง Bangkok towards walkable city บอกเล่าเส้นทางการพัฒนาโครงการเมืองส่งเสริมการเดินในกรุงเทพฯ

ท่ามกลางการเติบโตอย่างรวดเร็วมานับทศวรรษ การพัฒนาทั้งด้านการคมนาคมและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ต้องเดินทางด้วยรถยนต์ ทางเดินเท้าไม่ครอบคลุม และยากแก่การเข้าถึง เรียกได้ว่าการจะเดินทางในกรุงเทพฯโดยปราศจากรถยนต์โดยสิ้นเชิงนั้น แทบจะเป็นไปได้ยาก การเติบโตนี้ไม่ได้ละเลยแต่เพียงการเดินเท้าเท่านั้น แต่สิ่งปลูกสร้างที่ถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่ใหม่กว่าก็ไม่ได้รับการเหลียวแลเช่นกัน สะพานด้วน สิ่งปลูกสร้างที่รู้จักกันดีของชาวฝั่งธนฯ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการถูกละเลย

ดังนั้น คงจะดีไม่น้อยหากทั้งคนและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกละเลย จะได้รับการเหลียวแล และนำประโยชน์มาสู่ส่วนรวมได้ กรุงเทพมหานคร และ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) จึงก้าวเข้ามา และชวนชุมชนโดยรอบมาเพื่อปรึกษาถึงทางออกที่ดีที่สุด ที่แม้จะผ่านขั้นตอนระดมความคิด และระยะเวลาตกตะกอนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงอย่างสวยลอยฟ้าเจ้าพระยา ที่นอกจากจะใช้ประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างที่ถูกปล่อยร้างแล้ว ยังได้มาซึ่งทางเดิน และพื้นที่สาธารณะสีเขียวอีกด้วย กลายเป็นตัวอย่างให้เห็นถึงความร่วมมือทั้งจากทั้งระดับภาครัฐและระดับชุมชน เพื่อให้ได้มาซึ่งสมดุลและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. พูดคุยกับ คุณลุงประดิษฐ์ ห้วยหงส์ทอง อดีตประธานชุมชนวัดบุปผาราม ผู้เสนอไอเดียฟื้นฟูสะพานด้วน
ผู้บริหารและบุคลากรสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศส ถ่ายภาพร่วมกับชาวย่านกะดีจีน-คลองสาน ร่วมด้วยบุคลากรกทม. และ UddC-CEUS

แม้กรณีศึกษาของกรุงเทพมหานครอาจไม่สามารถเป็นคำตอบของปัญหาที่อีก 3 เมืองเผชิญอยู่ได้ แต่ก็ถือเป็นแนวทางที่พอชี้ให้เห็นความเป็นไปได้ เมื่อการพัฒนาเกิดขึ้นจากความร่วมมือและการรับฟังซึ่งกันและกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการพัฒนาเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการสนับสนุนจากภาครัฐ

แต่ในขณะเดียวกันผลประโยชน์ระดับชาติและความต้องการของประชาชนในพื้นที่อาจจะไม่ตรงกันเสมอไป การเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยละทิ้งความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งอาจไม่ใช่ทางออก สิ่งที่ภาครัฐต้องเข้ามาให้ความสำคัญคือการแสวงหาจุดลงตัวของทั้งความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและการรักษาไว้ซึ่งความต้องการของคนในพื้นที่ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง


Contributor