17/06/2023
Public Realm

STREET FURNITURE อีกหนึ่งอุปกรณ์สื่อสารเรื่องเมือง

อภิชยา ชัยชิตามร
 


ศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์การออกแบบสิ่งประดิษฐ์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ และสื่อสารประเด็นต่าง ๆ ผ่านสิ่งนั้น ล้วนเป็นเครื่องสะท้อนถึงประเด็นบางอย่าง ผ่านผลงานที่ถูกชูและออกแบบ สร้างสรรค์อย่างปราณีต ดูมีเอกลักษณ์ มีรูปแบบการวางที่โดดเด่น และเฉพาะเจาะจง อยู่ในพื้นที่ที่ผู้คนจะมองเห็นได้ง่าย โดดเด่น และเป็นหมุดหมายในเมือง เช่น การสร้างอนุสาวรีย์ การสร้างสรรค์นิทรรศการผลงานศิลปะขนาดใหญ่ ทั้งในรูปแบบการติดตั้งชั่วคราวและติดตั้งถาวร ซึ่งมีความหมายและที่มาที่ไปซ่อนอยู่เสมอ รวมไปถึงยังเป็นเครื่องสะท้อนถึงประเด็นที่มีความสำคัญต่อชีวิตคนเมือง

Pyramids of Garbage เมืองไคโร ประเทศอียิปต์

ผลงานประติมากรรมที่รังสรรค์ด้วยกองขยะมหึมาขนาดกว้าง 11 เมตร และสูง 6 เมตร โดยความร่วมมือของกลุ่มช่างไม้ และการรวมกลุ่มของเด็กนักเรียนในเมืองไคโร ต้องการสื่อให้เห็นถึงความสูงตระหง่านของกองพีระมิดขยะ ที่เทียบเคียงกับกองพีระมิดด้านหลัง สะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่าง ปัจจุบันเรามีการผลิตออกมามาก และมีการบริโภคมหาศาลมาก และเราจำเป็นจะต้องทบทวนว่ารูปแบบการดำเนินชีวิตแบบนี้ จะทำอย่างไรให้เกิดความสมดุล และการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนโดยทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด (Bahia Shehab, 2563)

ที่มาภาพ https://www.bahiashehab.com/public-installations/pyramids-of-garbage

The Broken Chair กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

The Broken Chair หรือเก้าอี้ 3 ขา กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อนุสาวรีย์ตั้งอยู่ Place des Nations ตรงข้ามองค์กรสหประชาชาติประจำประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (UN) สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540 ครั้งแรกเริ่มสร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงการห้ามใช้ระเบิด เพื่อสื่อถึงสิทธิ ความร่วมมือของทุกประเทศ ในการสร้างความปลอดภัย

ที่มาภาพ https://www.hi-us.org/broken_chair

จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่า อุปกรณ์ที่สร้างขึ้นนั้นถูกออกแบบและสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ เป็นในรูปแบบอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งในเมือง มองลงมาในระดับสิ่งที่เราได้ใช้ สัมผัส หรือมีความเกี่ยวข้องในชีวิตประวันอย่าง Street Furniture หรือ อุปกรณ์ประกอบถนนหนทางในเมือง ได้เริ่มมีการสอดแทรกการออกแบบเพื่อสื่อสารเรื่องชีวิตในเมือง

ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราจารย์พิเศษ ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความหมายของ Street Furniture ไว้ว่า สรรพสิ่งที่เป็นองค์ประกอบเสริมประโยชน์ของการใช้ถนนให้มีความสะดวก และช่วยส่งเสริมนอกจาการใช้ถนนเพื่อการสัญจรไปมาในเมือง เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นสิ่งที่สอดแทรกอยู่ในชีวิตชาวเมือง สตรีทเฟอร์นิเจอร์จึงมักถูกยกเป็นเครื่องมือสื่อสาร ความเข้าใจ หรือสร้างการรับรู้เกี่ยวข้อมูลในเมือง โดยใช้การออกแบบไม่ว่าจะเป็น เพื่อสื่อสารเรื่องอัตลักษณ์ของพื้นที่ ชีวิตความเป็นอยู่ การสื่อสารประเด็นสิ่งแวดล้อม การสื่อสารเรื่องชีวิตและความปลอดภัยในเมือง

วันนี้ The Urbanis จะยกตัวอย่าง และลองพาไปดูว่าเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกออกแบบ Street Furniture โดยสอดแทรกประเด็นอะไรไว้ภายใต้การออกแบบนั้นบ้าง

เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก

ม้านั่ง หนึ่งในองค์ประกอบของการดำรงชีวิตในเมืองโคเปนเฮเกน ถูกรังสรรค์และออกแบบใหม่ให้มีความสูง 1 เมตร ผ่านแคมเปญ Our Earth – our responsibility’ แคมเปญการออกแบบสตรีทเฟอร์นิเจอร์ หรือม้านั้่ง ที่จะสามารถรองรับวิกฤตน้ำท่วมสูงในเมือง ในขณะเดียวเดียวกันเป็นเครื่องเตือนถึงแนวโน้ม และโอกาสการเกิดสถานการณ์ภาวะโลกรวนในอนาคต ว่าจะต้องทำอะไรซักอย่างเพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อน และโลกรวนที่ดำเนินอยู่ น้ำท่วมจะเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิต แนวโน้มที่น้ำทะเลจะสูงขึ้น 1 เมตรภายในปี 2100 หากโลกร้อนยังดำเนินต่อไป เพื่อให้ชาวเมืองได้ตระหนักถึงแนวโน้มของสถานการณ์น้ำทะเลสูงขึ้นในเมือง (Sea Level Rise) ให้ตระหนักถึงรูปแบบการจัดการที่เกิดขึ้นจากพลเมือง

ที่มาภาพ nowthisnews.com

ทางม้าลายกระต่ายน้อย, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมืองกรุงเทพฯ

จากเหตุการณ์การสูญเสียด้วยอุบัติทางท้องถนนของคุณหมอกระต่าย หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นอุบัติเหตุจากระเบียบวินัยการจราจรบนท้องถนนกับจิตสำนึกทางม้าลายคนข้าม ทำให้เกิดการสูญเสียที่เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ทำให้เกิดข้อวิพากย์วิจารณ์เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้รถ และถนน การให้ความสำคัญกับท้องถนน รถยนต์ และผู้คนในเมือง

หากย้อนกลับมามองที่เมืองกรุงเทพมหานคร จากสถิติการร้องเรียนปัญหาในระบบ Traffy Fondue ในกรุงเทพฯ ปี 2565 ยังพบว่า ปัญหาที่ได้รับการแจ้งมากที่สุด 5 อันดับ ยังคงเป็นปัญหาเกี่ยวกับ ถนน ไฟฟ้า ทางเท้า ความสะอาด และการจราจร ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญของปัญหาในเมือง (NECTEC, 2022) ซึ่งภายหลังจากเกิดอุบัติเหตุนี้ขึ้นทางโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ออกแบบและพัฒนาทางข้ามถนนภายในโรงพยาบาลให้เป็นสัญลักษณ์ของกระต่าย และเพิ่มสีสันความชัดเจนทางข้าม เพื่อสร้างจิตสำนึกแก่ผู้ขับขี่ ภายใต้วัตถุประสงค์ “ระลึก ระวัง ระงับ” เปลี่ยนความสูญเสียให้เป็นการปลุกจิตสำนึกจราจรที่ดี

จากตัวอย่างที่ยกมานั้นจะเห็นได้ว่า Street Furniture ที่เป็นองค์ประกอบของเมือง การออกแบบเพื่อการสื่อสารเรื่องราวในเมืองผ่าน Street Art เพื่อปลุกจิตสำนัก ความตระหนักรู้ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยในเมือง สิทธิในการมีปลอดภัยในการดำรงชีวิต ในขณะเดียวกัน ซึ่งสามารถเป็นหนึ่งในวิธีสื่อสารเรื่องสำนึกในการพัฒนาเมือง

ที่มาภาพ https://www.chula.ac.th/news/66553/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ที่มาข้อมูล

Bahia Shehab

Humanity & Inclusion U.S.

This City Is Raising Its Benches To Bring Awareness to Sea Level Rise


Contributor