17/02/2022
Public Realm
พลเมืองกับเมืองน่าอยู่: วิชาพลเมืองสำคัญแค่ไหนกับการขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่
ณิชากร เรียงรุ่งโรจน์
วิชาหน้าที่พลเมือง หรือ Civic/Citizenship Education เป็นวิชาที่ช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ ทักษะ ความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมผู้เรียนสู่การมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้ความรู้เรื่องการเป็นพลเมือง ควรส่งเสริมให้ผู้เรียนตระหนักและเข้าใจระบอบประชาธิปไตย การบริหารจัดการของภาครัฐ ตลอดจนวิธีปฏิบัติตามกฎหมาย การสอนควรส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะและความรู้ในการชั่งน้ำหนักหลักฐาน อภิปราย และให้เหตุผลการสำรวจประเด็นทางการเมืองและสังคมอย่างมีวิจารณญาณ นอกจากนี้ยังควรเตรียมนักเรียนให้พร้อมเข้าสู่สังคมในฐานะพลเมืองที่มีความรับผิดชอบ หรือหากสรุปให้เข้าใจอย่างง่าย คือที่ปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมนั้นเอง
แล้ววิชาหน้าที่พลเมืองสำคัญกับเมืองน่าอยู่อย่างไร?
วิชาหน้าที่พลเมืองปลูกฝังให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองตื่นรู้ ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างให้เกิดเมืองน่าอยู่ หากเรามองในระดับที่เล็กลงอย่างหมู่บ้าน หากผู้คนในหมู่บ้านของเราปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่หมู่บ้านกำหนดไว้ ทุกคนเคารพในสิทธิของกันและกัน รักษาทรัพย์สินส่วนกลาง ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือกัน หมู่บ้านคงเป็นหมู่บ้านที่น่าอยู่ไม่ใช่น้อย หากเรากลับมามองที่ระดับเมือง การที่ผู้คนภายในเมืองมีความเป็นพลเมือง ทำตามกฎระเบียบ รักษาและหวงแหนทรัพย์สินสาธารณะ ไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อเลือกผู้แทนที่มีนโยบายการพัฒนาเมืองที่ตรงกับความต้องการของเรา หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมไปถึงการรักษาสิทธิต่างๆ เช่นการเรียกร้องการจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ งบประมาณถูกนำไปใช้กับโครงการที่มีความจำเป็นและตอบโจทย์กับคนจำนวนมาก เราคงเข้าใกล้การอาศัยในเมืองน่าอยู่อีกก้าว
การจะปลูกฝังพลเมืองให้กลายเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่ช่วยเคลื่อนเมืองได้นั้น จำเป็นต้องมีการปลูกฝังตั้งแต่เด็ก และขัดเกลาอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ที่จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนให้กลายเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ รู้ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานและบทบาทหน้าที่ของตนเอง ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าเรื่องสิทธิและหน้าที่ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ในช่วงหลายปีมานี้ มีความตื่นตัวอย่างมาก วันนี้ The Urbanis จึงอยากพาทุกท่านมาดูและตั้งคำถามผ่านตัวอย่างการเรียนการสอนของต่างประเทศและของไทยกัน
นักเรียน โรงเรียน ชุมชน แนวทางสร้างพลเมืองคุณภาพ จากประเทศญี่ปุ่น
หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนในประเทศญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาความเป็นพลเมืองให้กับนักเรียนนั้น แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือระดับประถมและมัธยม ประกอบด้วย 4 วิชาหลัก และ 1 กิจกรรมเสริมพิเศษ ได้แก่ วิชาสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต (Living Environment) วิชาสังคมศึกษา (Social Studies) วิชาคุณธรรมจริยธรรม (Moral Education) และคาบเรียนเชิงบูรณาการ (Period of Integrated Studies)
ทั้งนี้ วิชาที่น่าสนใจ คือ คาบเรียนเชิงบูรณาการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกคิดด้วยวิธีการของตนเองผ่านการเรียนรู้เชิงบูรณาการข้ามศาสตร์และการฝึกตั้งคำถาม ปลูกฝังความรู้ ทักษะ ความสามารถที่จำเป็นสำหรับนำไปใช้ในการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ และแสวงหาคำตอบด้วยตนเอง สร้างนิสัยแห่งการเรียนรู้และรู้จักคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ความโดดเด่นของคาบเรียนนี้ อยู่ที่การเรียนการสอนแบบไม่มีตำราเรียน รวมถึงยังให้อิสระแก่โรงเรียนที่สามารถออกแบบหลักสูตรการเรียนในรายวิชานี้ที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนโดยรอบโรงเรียนด้วย ตลอดจนกรอบหลักสูตรของรายวิชานี้ มุ่งเน้นให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (learner-centered approach) ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้ด้านต่างๆ ทำให้เห็นจุดเด่นหนึ่งของการเรียนหน้าที่พลเมืองของโรงเรียนในญี่ปุ่น คือการเชื่อมโยงผู้เรียนเข้ากับโรงเรียนและชุมชนได้อย่างเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนหรือสังคมที่น่าอยู่
นอกจากนี้ จากบทความ สนทนากับ อรรถ บุนนาค ย้อนวัฒนธรรมการเรียนรู้ญี่ปุ่น กับบทบาทโรงเรียนเชื่อมร้อยครอบครัวและชุมชน ทำให้เห็นว่าโรงเรียนและชุมชนเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอน อย่างในกรณีการบ้านปิดเทอมฤดูร้อน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับคาบเรียนเชิงบูรณาการ ที่มีเป้าหมายในการฝึกกระบวนการเรียนรู้ การวิจัย การตั้งคำถาม ค้นคว้าเก็บรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ผลให้กับเด็กๆ และทำให้เด็กๆ มีการเชื่อมโยงการเรียนเข้ากับชุมชนของตนเองมากขึ้น โดยการส่งเสริมให้เด็กเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนจากการเข้าไปสำรวจ สอบถามคนในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลมาทำการบ้าน นอกจากจะได้ฝึกกระบวนการวิจัยแล้ว ยังทำให้เด็กมีความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการสร้างพลเมืองตื่นรู้ที่จะขับเคลื่อนชุมชนและเมืองของตนเอง
กล้าคิด กล้าแสดงออก สร้างพลเมืองตื่นรู้ในระบอบประชาธิปไตย แบบสหราชอาณาจักร
มาดูที่แถบยุโรปกันบ้าง อีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจคือสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเทศที่เป็นต้นแบบของระบอบการปกครองของไทย สำหรับการเรียนการสอนในสหราชอาณาจักร เนื้อหาในแต่ละช่วงปีจะมีความแตกต่างกัน โดยในภาพรวมการเรียนการสอนเรื่องหน้าที่พลเมือง จะมีการสอนให้ผู้เรียนรู้จักพัฒนาความเป็นปัจเจกของตัวเองไปพร้อมกับการอยู่ร่วมกับคนในสังคมที่มาจากต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา รู้จักแสดงความคิดเห็น ความต้องการของตนเองอย่างตรงไปตรงมาโดยที่ยังคงเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น มีการสอนทักษะการใช้ชีวิตเบื้องต้น เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์หรือยาต่างๆ ในครัวเรือน รู้จักตั้งเป้าหมายและพัฒนาทักษะเพื่อต่อยอดไปสู่อาชีพในอนาคต รู้จักการจัดการเรื่องเงินและการใช้จ่าย เรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตให้มีสุขภาพดีและปลอดภัย มีการให้ความสำคัญกับการศึกษาเรื่องความเป็นพลเมือง ระบอบประชาธิปไตย การเมืองการปกครอง ตลอดจนการปฏิบัติตามกฎหมาย การสำรวจประเด็นทางการเมืองและสังคมอย่างมีวิจารณญาณ
สำหรับการสร้างพลเมืองตื่นรู้สู่การขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ สหราชอาณาจักรมีการเรียนการสอนหลายหัวข้อที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนเรื่องการเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มทางสังคมต่างๆ เช่น ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เรื่องความรับผิดชอบ สิทธิหน้าที่ภายในในบ้าน โรงเรียน และชุมชน เรื่องบทบาทของอาสาสมัคร ชุมชนและกลุ่มอิทธิพล (Pressure groups) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก การเรียนเรื่องบทบาทของพลเมือง บทบาทของสถาบันสาธารณะ (Public institutions) และกลุ่มอาสาสมัครในสังคม รวมถึงวิธีการต่างๆ ที่พลเมืองจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตน และวิธีการทำงานร่วมกัน รวมถึงโอกาสในการมีส่วนร่วมในการเป็นอาสาสมัครในชุมชน ตลอดจนกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ
โดยภาพรวมการเรียนหน้าที่พลเมืองของโรงเรียนในสหราชอาณาจักรมีจุดเด่นคือการส่งเสริมความกล้าคิด กล้าแสดงออก และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา และการส่งเสริมการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มข้น นอกจากนี้จุดเด่นที่มีร่วมกันกับประเทศญี่ปุ่น คือการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคมจากการเป็นพลเมืองตื่นรู้ในชุมชนหรือกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ
สร้างพลเมืองจิตอาสา รู้คุณค่าผลประโยชน์ส่วนรวมแบบพลเมืองไทย
กลับมามองที่การเรียนการสอนที่ส่งเสริมหน้าที่พลเมืองของประเทศไทย ปัจจุบัน วิชาหน้าที่พลเมือง ถูกจัดอยู่ใน กลุ่มสาระสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ที่มา https://www.matichon.co.th/education/news_2689548 ) ซึ่งในภาพรวมมีการเรียนการสอน เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจถึงประวัติศาสตร์ความเป็นไทย รักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ รู้จัก ปฏิบัติตามระเบียบของสังคม จารีตประเพณี เป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตย โดยผลการเรียนรู้ของวิชานี้คือการที่ผู้เรียนปฏิบัติตนเป็นผู้มีมารยาทไทย มีความกตัญญู เห็นคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น การเห็นคุณค่าและการแสดงออกถึงความรักชาติ ยึดมั่นในศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติตามข้อตกลง กฎกติกา ระเบียบ และทำตามหน้าที่ ยอมรับและอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสันติ ปฏิบัติเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย ฯลฯ
สำหรับการสร้างพลเมืองตื่นรู้สู่การขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ ประเทศไทยมีการสอนให้ผู้เรียนเห็นคุณค่า อนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาไทย ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าและอนุรักษ์อัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นของตนเองไว้ มีการสอนเรื่องระเบียบวินัย การเคารพกฎหมาย เป็นพลเมืองดีในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและต่อชาติมากกว่าผลประโยชน์ของตนเอง
มีการพูดถึงแนวทางการลงมือทำ หรือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง (Engaging) การเรียนจากประสบการณ์จริง การลงมือทำ (ปฏิบัติ) อย่างต่อเนื่องกับประเด็นจริงหรือเหตุการณ์จริง ทั้งในระดับครอบครัว ห้องเรียนในด้านประชาธิปไตยในโรงเรียน การแก้ปัญหา เช่น จัดกิจกรรมการดูแลสิ่งแวดล้อม การจัดกิจกรรมในวันสำคัญหรือเหตุการณ์สำคัญ การจัดกิจกรรมการรณรงค์ การมีจิตสาธารณะ และการยอมรับในความหลากหลายทางวัฒนธรรม
ชวนตั้งคำถามการเรียนการสอนหน้าที่พลเมืองในรั้วโรงเรียนไทย
เมื่อเปรียบเทียบการเรียนการสอนของทั้ง 3 ประเทศแล้ว แต่ละแห่งมีการเรียนการสอนที่คล้ายคลึงกันในด้านความรู้พื้นฐานของการเป็นพลเมือง เช่น การรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเอง รู้จักปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับทางสังคม การเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย แต่จะพบว่าในด้านการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่จะสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนหรือเมืองของตนเองนั้น หากเทียบกับสองประเทศที่กล่าวมาข้างต้น พบว่าการเรียนการสอนของไทยนั้นยังขาดยังขาดการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกแก้ปัญหา ฝึกปฏิบัติจริงและขาดการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์และเกิดการมีส่วนร่วมระหว่างผู้เรียน โรงเรียน กับชุมชนในย่านของตนเองอย่างต่อเนื่อง ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (sense of belonging) ของเมือง และมีเกิดความสนใจที่จะพัฒนาเมืองของตนเองให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น
ด้วยเหตุนี้ เราจึงอยากชวนผู้อ่านมาตั้งคำถามถึงการเรียนการสอนหน้าที่พลเมืองของไทยว่าควรจะเป็นอย่างไร เพื่อให้เด็กและเยาวชนกลายมาเป็นพลเมืองตื่นรู้ที่จะช่วยขับเคลื่อนเมืองและชุมชนของตนเองให้น่าอยู่ในอนาคตข้างหน้า
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมืองไทย: การใช้สื่อและการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการเรียนรู้สิทธิและหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเพื่อขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ในประเทศไทย โดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในการสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
.
.
#สื่อสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม #กองทุนสื่อ #กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ #UDDC_CEUS
ที่มาข้อมูล
การจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างความเป็นพลเมือง ในระดับโรงเรียนของญี่ปุ่น
Citizenship programmes of study for key stages 1 and 2
National curriculum in England: citizenship programmes of study for key stages 3 and 4
แนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับนโยบายการจัดการเรียนการสอนหน้าที่พลเมืองเพิ่มเติม
รายงาน : ถึงเวลา..ยกเครื่อง หลักสูตร ‘ปวศ.-หน้าที่พลเมือง’
สนทนากับ อรรถ บุนนาค ย้อนวัฒนธรรมการเรียนรู้ญี่ปุ่น กับบทบาทโรงเรียนเชื่อมร้อยครอบครัวและชุมชน