15/02/2021
Public Realm

ห้องสมุดที่ไม่ใช่ “ห้องเงียบ” แต่คือพื้นที่สร้างนิเวศการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของพลเมือง

สิตานัน อนันตรังสี
 


คุณเข้าห้องสมุดครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่…ยังจำได้ไหม?

อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล อย่างการค้นคว้าหาความรู้ ทุกวันนี้เราสามารถเข้าถึงองค์ความรู้มหาศาลทุกที่ทุกเวลา ผ่านทุกอุปกรณ์การสื่อสาร ห้องสมุดและหนังสือนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่ใครหลายคนมองข้ามมันไป

แน่นอนการเข้าถึงข้อมูลความรู้ในวันนี้ไม่ใช่ของฟรี กว่าแต่ละคนจะมีสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย ล้วนต้องอาศัยต้นทุนและปัจจัยหลากหลายด้าน อีกด้านหนึ่งถ้าหากตั้งคำถามว่าจะเป็นอย่างไรหรือหากคนในสังคมสามารถเข้าถึงทรัพยากรความรู้เหล่านี้ โดยที่แต่ละคนมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ การสร้างห้องสมุดสาธารณะเป็นอีกหนึ่งคำตอบสำหรับการจัดสรรพื้นที่แห่งการเรียนรู้ให้กับคนในสังคมได้เข้ามาใช้ประโยชน์ มาเข้าถึงองค์ความรู้ แม้การมาใช้บริการห้องสมุดจะมีค่าเดินทาง และยังไม่ได้รวมถึงค่าเสียโอกาสที่ต้องเสียไป แต่เมื่อพิจารณาดี ๆ จะพบว่าเพราะหนังสือและความรู้ทำให้คนเราดีขึ้น การมีห้องสมุดสำหรับทุกคนย่อมส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างฟินแลนด์ (Finland) และออสเตรเลีย (Australia) หอสมุดสาธารณะคือพื้นที่สำคัญในการสร้างต้นทุนของสังคมสำหรับชาวเมือง ห้องสมุดของทั้งสองประเทศคือพื้นที่ที่เป็นมากกว่าสถานที่ที่มีไว้เพื่อนั่งอ่านหนังสือและพออ่านจบก็เดินทางกลับบ้าน แต่คือโรงงานที่สร้างความเป็นพลเมืองให้กับคนในสังคม เป็น “พื้นที่” สำหรับการเรียนรู้และการใช้ชีวิตที่มีไว้ให้ทุกคน

ฟินแลนด์ หนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในยุโรป และขึ้นชื่อเรื่องความเป็นเลิศด้านการรู้หนังสือ การมีหอสมุดกลางแห่งใหม่ของเมืองเฮลซิงกิ (Helsinki) ที่มีชื่อเรียกว่า Oodi ซึ่งในภาษาอังกฤษคือ ode ที่แปลบทกวีสรรเสริญเปรียบเหมือนโมเมนต์ขณะเหยียบดวงจันทร์ของชาวเมืองเฮลซิงกิ เปิดทำการเดือนธันวาคม 2018 ในวาระครบรอบ 100 ปีการประกาศเอกราชของฟินแลนด์ ช่วงแรกที่เปิดให้ใช้บริการมีผู้สนใจใช้งานรวมกว่า 420,000 คน หรือ 2 ใน 3 ของชาวเมืองทั้งหมด

Oodi ก่อสร้างด้วยงบประมาณกว่า 98 ล้านยูโร ออกแบบโดยบริษัทสัญชาติฟินแลนด์ ALA เป็นห้องสมุด 3 ชั้น ตั้งอยู่ตรงข้ามสภาของประเทศฟินแลนด์ มีการแชร์พื้นที่ภายนอกอาคารด้วยกัน ชั้นล่างเป็นพื้นที่ส่วนต่อขยายจากพื้นที่สาธารณะด้านนอก สำหรับจัดประชุม งานอีเวนท์ การรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ มีคาเฟ่ โรงหนัง และสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะต่าง ๆ  ชั้นสองเป็นห้องเอนกประสงค์ต่าง ๆ ที่ไว้สำหรับการจัด in touch attraction และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ให้ผู้คนยืมไปใช้ได้ อย่างเครื่องพิมพ์ 3D เครื่องมือไฟฟ้า จักรเย็บผ้า ห้องดนตรี และพื้นที่สำหรับผู้ผลิต (makerspace) คลาสสอนภาษาก็มีให้สำหรับผู้อพยพ เกมเมอร์มี ห้อง VR  และชั้นบนสุดคือสวรรค์ของนักอ่าน หนังสือที่นี่มีมากกว่าแสนเล่ม 

ห้องสมุดแห่งใหม่ของกรุงเฮลซิงกิได้รับการกล่าวขานว่าเป็นต้นแบบของโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมที่สำคัญ ที่เปิดโอกาสให้ชาวเมืองได้เรียนรู้เกี่ยวกับเมือง ทั้งสำหรับผู้อยู่อาศัยเดิมและผู้ที่เพิ่งย้ายเข้ามาใหม่ และเป็นพื้นที่เรียนรู้ซึ่งกันและกันอีกด้วย

Tommi Laitio ผู้อำนวยการบริหารด้านวัฒนธรรมและสันทนาการของเมืองเฮลซิงกิ กล่าวว่า “ก้าวเดินที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ฟินแลนด์หลุดออกจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่จนสุดในยุโรป และเดินไปสู่หนึ่งในประเทศที่มั่งคั่งที่สุดในยุโรปมันไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันถูกสร้างมาจากประชากรจำนวน 5.5 ล้านคนที่ใช้ชีวิตอย่างเต็มศักยภาพ” สังคมฟินแลนด์โดยพื้นฐานแล้วขึ้นอยู่ความสามารถในการไว้ใจความมีน้ำใจของคนแปลกหน้า ความเชื่อมันดังกล่าวเป็นตัวช่วยสนับสนุนความสำคัญของฟินแลนด์ในยุคใหม่ให้สนใจการศึกษาและการรู้หนังสือ

Tommi ยังได้กล่าวว่าถึงแม้ว่าจะมีนักสเก็ตบอร์ดเข้ามาใช้ห้องอาบน้ำที่ห้องสมุดนี้ก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นไรเลย เพราะที่ Oodi มีความมุ่งมั่นที่จะเปิดกว้างและต้อนรับโดยปราศจากการตัดสิน และเขายังกล่าวอีกว่า ที่ห้องสมุดแห่งนี้คือพื้นที่ที่หลากหลายที่สุดของเมือง กว่าจะได้ห้องสมุดนี้มาสำหรับชาวฟินแลนด์แล้วต้องอาศัยการลงทุนมหาศาล แต่ผลตอบแทนของการลงทุนครั้งนี้นั่นมันช่างคุ้มค่ามากสำหรับสิ่งที่ชาวเมืองได้รับกลับคืน คือการสร้างความหวัง สร้างคุณภาพชีวิตของคนในสังคมให้ดีขึ้น

อีกฝากทวีปหนึ่งเราพาไป หอสมุดแห่งรัฐวิกตอเรีย ห้องสมุดชื่อดังของเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

หอสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดที่มากกว่าห้องสมุด ชาวเมืองเมลเบิร์นเชื่อว่าห้องสมุดสาธารณะคือสถานที่ที่ประกอบสร้างความเป็นประชาธิปไตย ผ่านการจัดการเข้าถึงแหล่งความรู้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมกับบทบาทในยุคสมัยใหม่ที่เรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดอย่างแท้จริง คือสถานที่ที่เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ เป็นเวทีที่เปิดกว้างเวทีสำหรับการอภิปราย เป็นแกลเลอรี เป็นสถานที่สำหรับจัดนิทรรศการและกิจกรรมต่าง ๆ และยังเป็นพื้นที่สำหรับการทำงานรวมถึงความเพลิดเพลิน

ที่นี่ห้องสมุดจึงอยู่ในฐานะศูนย์วัฒนธรรมและศูนย์กลางชุมชนที่รวบรวมผู้คนเข้ามาสู่การเรียนรู้ร่วมกัน ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ในสังคมวงกว้างของเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีซึ่งหลายคนนั้นคาดการณ์ไว้ว่าสิ่งนี้จะทำให้หนังสือและห้องสมุดเดินทางมาถึงทางตัน แต่ที่จริงแล้วการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นตัวกระตุ้นให้ห้องสมุดนั้นเกิดการคิดค้นและพัฒนาใหม่ จนสามารถตอบสนองความต้องการของพลเมืองได้อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สิ่งที่ทำให้ห้องสมุดยังคงความสำคัญนั้น มาจากความรู้และความสามารถของเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ซึ่งล้วนแล้วแต่คือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง และมุ่งสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ของการใช้ห้องสมุดสาธารณะ

นวัตกรรมเหล่านี้ปรากฏให้เห็นมาจากวิสัยทัศน์จากการมีส่วนร่วมของพลเมืองที่ชื่อว่า Vision 2020

หัวใจสำคัญของ  Vision 2020 คือการปรับปรุงห้องสมุดที่เปรียบเสมือนมรดกของเมือง ด้วยการสร้างสรรค์พื้นที่และบริการใหม่สำหรับเด็กและเยาวชน พร้อมกับการเปิดรับเทคโนโลยี รวมไปถึงการส่งเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์สำหรับชาววิกตอเรียทุกคน

ประชาชนในท้องถิ่น กลุ่มธุรกิจ นักเรียนผู้ปกครอง ซึ่งเสียงเหล่านี้คือแรงบันดาลใจที่ทำให้คณะกรรมการห้องสมุด รัฐบาล ผู้สนับสนุนแหล่งเงินทุน ร่วมกันพัฒนาหอสมุดนี้เพื่อการสร้างบริการและประสบการณ์อันหลากหลายจากการเข้ามาใช้พื้นที่ แน่นอนเลยว่ากระบวนการนี้นับว่าเป็นการสะท้อนกระบวนการประชาธิปไตยในทางปฏิบัติ

หอสมุดแห่งรัฐวิกตอเรีย คือสถานที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมและยังเป็น urban fabric ของเมืองเมลเบิร์น ซึ่งที่นี่คือหอสมุดสาธารณะที่ไม่เก็บค่าบริการที่แรกของประเทศออสเตรเลีย สร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1856 เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความรู้สำหรับการพัฒนาตัวเอง แม้ปัจจุบันได้รับการบูรณะแต่ยังคงเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอันงดงาม ด้วยเพดานสูง และช่องหน้าต่างขนาดใหญ่พร้อมแสงธรรมชาติ ซึ่งดึงดูดให้ผู้คนอาจต้องการที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่แห่งนี้และสร้างความรู้สึกให้อยากกลับเข้ามาใช้บริการที่นี่อีกครั้ง

การปรับปรุงพื้นที่ครั้งนี้ สตูดิโอออกแบบชื่อดังของออสเตรเลีย Architectus ได้ร่วมกันกับ Schmidt Hammer Lassen Architects บริษัทออกแบบจากประเทศเดนมาร์ก มาสร้างผลงานที่สวยงาม โดยรักษาโครงสร้างและรูปแบบของอาคารเดิมไส้ควบคู่ไปกับการสรรสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ สำหรับการสร้างโอกาสใหม่ ๆ และเชื่อมสังคมโดยรวมเข้าด้วยกัน

ที่นี่ ห้องสมุด ไม่ใช่พื้นที่เงียบสนิทเสียทั้งหมด แต่พื้นที่บางส่วนถูกจัดสรรให้ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยน เช่น โซนที่เรียกว่า The Quad บริเวณชั้นล่าง ซึ่งนอกจากเป็นโซนต้อนรับผู้เข้ามาใช้บริการแล้ว แต่ผู้คนยังนิยมมานั่งเล่น พูดคุยกัน บ่อยครั้งก็เป็นเพียงพื้นที่หลีกเลี่ยงสภาพอากาศอันเลวร้ายของเมือง ภายใน The Quad แบ่งเป็น 4 โซนย่อย ประกอบด้วย

Conversation Quarter สำหรับจัดการประชุมขนาดใหญ่ Ideas Quarter พื้นที่ co-working space สำหรับผู้คนนั่งริเริ่มและระดมความคิดสร้างนวัตกรรมหรือสตาร์ทอัพ Create Quarter พื้นที่สำหรับทำกิจกรรมกลุ่ม มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายอย่างอุปกรณ์เครื่องอัดเสียง ผสมเสียง อุปกรณ์สำหรับการตัดต่อวิดีโอที่ล้วนแล้วดึงดูดผู้ที่สนใจด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก และโซนสุดท้าย The Pauline Gandel Children’s Quarter พื้นที่สำหรับเด็กโดยเฉพาะ ที่สามารถรวมตัวกันเพื่ออ่านหนังสือและเรียนรู้ผ่านการเล่นสิ่งของต่าง ๆ รอบตัวพวกเขา 

การตอบโจทย์การพัฒนาศักยภาพมนุษย์อย่างรอบด้านนั้น ต้องเริ่มจากการสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ห้องสมุดในโลกปัจจุบันนี้ต้องเป็นมากกว่า “ห้องเงียบ” ความรู้ที่ได้จากห้องสมุดจะต้องไม่ถูกจำกัดอยู่แค่ในหนังสือ แต่เกิดจากการเรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันของผู้ที่เข้ามาใช้ระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ เพราะทุกวันนี้การเรียนรู้ไม่จำกัดอยู่แค่เฉพาะวัยเรียนและในโรงเรียนเท่านั้น แต่การเรียนรู้เป็นของทุกคน

การมี “พื้นที่สาธารณะ” สำหรับการเรียนรู้คือการสร้างโอกาส และสร้างอนาคต


Contributor