14/09/2020
Public Realm

ออกแบบคอนโด เทรนด์ที่อยู่อาศัยใหม่ของผู้สูงอายุในอนาคตอย่างไรให้ปัง

กรกมล ศรีวัฒน์
 


เด็กในวันนี้เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า คนเกินวัยรุ่นก็ย่อมกลายเป็นคนวัยเก๋าเข้าสักวัน ทั้งปัจจัยเรื่องความเปลี่ยนแปลงของครอบครัวที่มีครอบครัวเดี่ยวเพิ่มขึ้น การเป็นคนโสดของคนเมือง และคู่รัก LGBTQ+ นอกจากนี้ราคาที่ดินยังพุ่งสูงขึ้น รวมถึงความต้องการเข้าถึงแหล่งงานและสิ่งอำนวยความสะดวก ทำให้หลายคนตัดสินใจอาศัยอยู่ในคอนโดจนถึงวัยทำงานตอนปลาย และก้าวเข้าสู่วัยชรา

แม้ว่าหลายคนจะติดภาพวัยเกษียณใช้เวลาในบ้าน แต่การอาศัยในแนวตั้งก็มีผลดีไม่น้อยสำหรับผู้สูงอายุ ไล่เรียงมาตั้งแต่ความสะดวกในการทำความสะอาด ไม่จำเป็นต้องทำงานบ้านนอกจากห้องของตัวเอง, ลดโอกาสการเกิดอาการบาดเจ็บ เนื่องจากห้องนอนส่วนใหญ่ มีลักษณะราบระนาบเดียวกัน ไม่จำเป็นต้องขึ้นลงบันได แถมยังมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยคอยสอดส่องมีนิติบุคคลคอยอำนวยความสะดวก หากเกิดความชำรุดของอุปกรณ์ภายในห้อง โดยไม่ต้องออกแรงซ่อมเอง รวมถึงมีสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งฟิตเนส สระว่ายน้ำ ร้านสะดวกซื้อ และร้านซักรีดที่เข้าถึงได้ง่าย

ภาพของโครงการซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ จ.สมุทรปราการ

ปัจจุบันมีคอนโดจำนวนหนึ่งที่หันมาเจาะตลาดผู้สูงอายุ หลังจากเห็นเทรนด์โครงสร้างประชากรที่ประเทศไทยจะขยับเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือมีผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีคิดเป็น 20% ของประชากรทั้งหมดในประเทศในปีพ.ศ.2564 และตัวเลขจะขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเดอ ซองเต้ ประชาอุทิศ-พระราม 3, สวางคนิเวศ จ.สมุทรปราการ, ซีเนียร์ คอมเพล็กซ์ จ.สมุทรปราการ, วิลลา มีสุข เรสซิเดนท์เซส จ.เชียงใหม่ และกมลา ซีเนียร์ ลิฟวิ่ง จ.ภูเก็ต ฯลฯ เรียกได้ว่าตลาดที่อยู่อาศัยแนวตั้งของผู้สูงอายุถือเป็นโอกาสสำหรับนักพัฒนาในอนาคต

The Urbanis ชวนคิดว่าหากจะต้องออกแบบคอนโดสำหรับผู้สูงอายุจะมีปัจจัยใดบ้างที่ต้องคำนึงถึง ยิ่งต้องออกแบบสำหรับเมืองอนาคตที่เทคโนโลยีพัฒนารวดเร็วเช่นนี้

Universal Design และ Barrier-free คือหัวใจการออกแบบ

มีรายละเอียดมากมายในการออกแบบที่จะต้องให้ความใส่ใจ เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และปลอดภัย โดยจะต้องออกแบบให้คำนึงถึงหลักการออกแบบเพื่อทุกคน หลักการของการยศาสตร์ (Ergonomics) และข้อจำกัดทางกายของผู้สูงอายุที่จะมีประสิทธิภาพลดน้อยลง ทั้งปัญหาการทรงตัว การได้ยิน และการมองเห็น เป็นต้น

เริ่มตั้งแต่ตามแนวทางเดินบริเวณคอนโดต้องมีทางลาด ราวจับ และมีขนาดกว้างเพียงพอให้รถเข็นสามารถใช้งานได้สะดวก ผู้อยู่อาศัยสามารถเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ ได้ปราศจากอุปสรรค พื้นที่ใช้งานภายในอาคารสำหรับผู้สูงอายุควรเป็นทางราบ ไม่มีการยกระดับหรือเปลี่ยนระดับ ป้องกันอุบัติเหตุสะดุดหกล้ม

เมื่อจะต้องขึ้นบันไดจะต้องมีชานพักบันไดในแต่ละช่วงไม่เกิน 12 ขั้นเพื่อพักหายใจระหว่างทางขั้นบันไดต้องสูงไม่เกิน 0.12 – 0.15 เมตร และสูงสม่ำเสมอ ส่วนลิฟต์อยู่ในตำแหน่งที่สังเกตได้ง่าย ภายในลิฟต์ต้องมีขนาดกว้าง ปุ่มกดลิฟต์ออกแบบให้อยู่แนวนอนเพื่อที่ผู้ใช้รถเข็นจะสามารถใช้งานได้ มีเสียงแจ้งบอกชั้นและการปิด-เปิดประตู รวมถึงมีเซนเซอร์ป้องกันการปิดประตูหนีบผู้ใช้งาน

ก้าวเข้าสู่ห้องของผู้พักอาศัย สำหรับห้องนอน ต้องมีขนาดกว้างเพียงพอให้รถเข็นเคลื่อนที่ได้ มีโคมไฟและสวิตช์ไฟไว้ใกล้เตียง เผื่อเวลาลุกขึ้นเข้าห้องน้ำกลางดึกจะได้ไม่เกิดอันตราย ควรมีหน้าต่างให้มองเห็นภายนอกได้ เพราการเห็นดวงตะวันตกดินหรือโผล่พ้นฟ้าจะช่วยผ่อนคลายความอึดอัด และช่วยเรื่องป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ทำให้รู้วันรู้คืน

ส่วนห้องน้ำเป็นสถานที่เสี่ยงภัยที่สุดของผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องได้รับการออกแบบอย่างละเอียดรอบคอบ ห้องน้ำควรมีขนาดกว้างอย่างน้อย 1.50 x 1.50 เมตร ให้ใช้รถเข็นได้สะดวก รวมถึงมีพื้นที่เผื่อสำหรับผู้ดูแลที่เข้าไปพร้อมผู้สูงอายุ มีโครงสร้างระบายอากาศได้ดี ไม่อับชื้น และใช้พื้นผิวกระเบื้องแบบหยาบ ติดตั้งราวจับรูปตัวแอล เพื่อป้องกันการลื่นล้มและช่วยให้ผู้สูงอายุลุกได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงแยกระหว่างพื้นเปียกและพื้นแห้ง

นอกจากที่กล่าวไปข้างต้นยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป้ายหน้าห้องที่ต้องอ่านง่าย สะดุดตา การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ต้องเลือกให้เหมาะสม เช่น การเลือกใช้เก้าอี้ที่ไม่เอนหรือนุ่มจนเกินไป เพราะจะยากต่อการลุก เป็นต้น การเลือกใช้สีในห้อง ฯลฯ

รองรับ aging in place ด้วยความยืดหยุ่นในการออกแบบ

นักพัฒนาฯ หลายคนอาจจะไม่มีเจาะกลุ่มคนวัยสูงอายุตั้งแต่เริ่มสร้าง แต่เห็นแนวโน้มว่าในอนาคตผู้อยู่อาศัยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ดังนั้นอาจจะพัฒนาให้พื้นที่ห้องในคอนโดสามารถปรับเปลี่ยนตามความต้องการของผู้ใช้งาน โดยการเน้นที่โครงสร้างของห้องที่แข็งแรง เผื่อสำหรับการรีโนเวท เพิ่มความยืดหยุ่นในการปรับตกแต่งพื้นที่ ยกเว้นห้องน้ำและห้องครัวที่มีงานระบบ ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ในลักษณะติดกับพื้นที่ถาวร

การสร้างพื้นที่ส่วนกลางที่มีคุณภาพ

ผู้สูงอายุนอกจากเสี่ยงจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ยังเสี่ยงต่อไข้ใจอีกด้วย คอนโดสำหรับผู้สูงอายุจึงควรเป็นสถานที่ที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่ทั้งสบายกายและใจ โดยเตรียมพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้ใช้งานได้มาใช้บริการโดยแบ่งหยาบๆ อาจจะเป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับสุขภาพกาย เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ห้องออกกำลังกายให้เกิดการจับกลุ่มดูแลสุขภาพ รวมไปถึงอาจจะมีพื้นที่ตรวจเช็กสุขภาพเบื้องต้น (basic health check station)

อีกด้านคือพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการเข้าสังคม ทำกิจกรรมร่วมกันอาจจะเป็นห้องเล่นเกม ห้องสมุด สวนหย่อมขนาดใหญ่ที่ผู้สูงอายุจะมาสัมผัสกับธรรมชาติ พักผ่อนหย่อนใจ โดยการออกแบบพื้นที่ส่วนกลางให้มีกลิ่นอายหรือองค์ประกอบที่เชื่อมโยงกับศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น จะช่วยสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง ลดความแปลกแยกได้

รองรับเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ

การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสนับสนุนการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุในด้านความปลอดภัยและความสะดวกสบาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่เพียงลำพังมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นจริงในอนาคต เช่น การเชื่อมนาฬิกาจับการเต้นของหัวใจกับโรงพยาบาลที่ใกล้กับที่พัก หากมีอะไรผิดปกติระบบสาธารณสุขก็สามารถเข้าถึงตัวผู้ป่วยได้, การเข้ามาของ IoT หรือกระทั่งการมีหุ่นยนต์เป็นพยาบาลส่วนตัว เป็นต้น เพื่อรองรับนวัตกรรมที่อาจจะเกิดขึ้น นักพัฒนาฯ จะต้องคำนึงถึงการออกแบบเพื่อทุกคนซึ่งรวมไปถึงหุ่นยนต์ด้วย โดยต้องเตรียมโครงสร้างของอินเทอร์เน็ตในอาคารให้พร้อม และใช้ผนังกั้นไวไฟในการก่อสร้างน้อยลง เพื่อให้หุ่นยนต์สามารถทำงานอย่างไร้การสะดุด

ที่มา: Homes catering to the elderly is now trend of the future

This is how boomers are reinventing retirement living

ดีอย่างไร ถ้าผู้สูงอายุจะใช้ชีวิตในคอนโด แล้วมีอะไรบ้าง…ที่เราต้องรู้

ศวิษฐ์ พิริยะสุรวงศ์และวิรชฏา บัวศรี. 2560. “การออกแบบพื้นที่ภายในห้องของอาคารชุดพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ”. วารสารวิทยบริการ สงขลานครินทร์(2560). หน้าที่ 174-184. (สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2563)

วรวิทย์ คูณกลาง. 2562. “โครงการอาคารชุดพักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงใหม่”(ปริญญานิพนธ์ระดับปริญญาบัณฑิต).สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, ภาควิชาสถาปัตยกรรมหลัก


Contributor