12/01/2023
Public Realm

สถานการณ์การเรียนรู้ในประเทศไทย

อภิชยา ชัยชิตามร
 


ปัจจุบันทิศทางการเรียนรู้ของประเทศไทย มีความมุ่งหวังให้ในปีพ.ศ. 2579 คนไทยมีทักษะคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ ใฝ่เรียนรู้ จิตสำนึกดีงาม รู้คุณค่าความเป็นไทย มีสุขภาพใจและกายที่ดี ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (Productivity and Innovation driven) ซึ่งหากมองมา ณ ปัจจุบันที่เรากำลังอยู่ในยุค แห่ง ‘BANI’ หรือ ความเปราะบาง (Brittle) ความวิตกกังวล (Anxious) ความไม่เป็นเส้นตรง (Nonlinear) และ ความกำกวม เข้าใจไม่ได้ (Incomprehensible) ซึ่งเป็นขั้นกว่าของความผันผวน จากแนวโน้มที่ประชากรเกิดน้อยลง และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์การเรียนรู้ของประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายมากมาย

Learning Loss ภาวะการเรียนรู้ถดถอย

Free photo student working with her laptop

ที่มา: jcomp

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นหนึ่งในตัวเร่งทำให้แนวโน้มการเรียนรู้ในประเทศไทยเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือที่เรียกว่า ‘Learning Loss’ ผลการวิจัยจากโครงการวิจัยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์และการขยายผลการสํารวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) (2565) พบว่า สถานการณ์การเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทยในช่วง 2-3 ปีมานี้ ไม่ได้มีข้อจำกัดอยู่เพียงแค่พื้นที่การเรียนรู้ แต่รวมไปถึงการเผชิญกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย หรือ ภาวะเสียโอกาสในการเรียนรู้ ที่มีผลทำให้ทักษะต่าง ๆ ที่เด็กควรจะได้รับการพัฒนาตามช่วงวัยสูญเสีย ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการด้านภาษา การสื่อสาร และความสัมพันธ์ ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการเรียนรู้

ภาวะการเรียนรู้ถดถอย ที่ทำให้เกิดช่องว่างของการเรียนรู้ขึ้น ส่งผลในด้านต่าง ๆ เช่น การลืมวิธีอ่านหนังสือ เขียนอักษร เกิดข้อจำกัดทางการรับมือ หรือรู้จักอารมณ์ ร่างกาย ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม มีความจำลดลง ซึ่งคณะวิจัยได้เสนอให้มีกระบวนการฟื้นฟูการเรียนรู้ (Learning Recovery) เพื่อให้ไม่เกิดสถานการณ์สูญเสียเด็กทั้งรุ่น (Lost Generation) ที่อาศัยแนวทางในการฟื้นฟู 2 แนวทาง ได้แก่ 1) กระบวนการพัฒนาครูปฐมวัย 2) สร้างการพัฒนา Pre-service Teacher สู่ In-Service Teacher (The101 world, 2565)

ความก้าวหน้าของคน

Free photo group of diverse grads throwing caps up in the sky

ที่มา: rawpixel.com

จากข้อมูล ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index – HAI) ประจำปี 2564 กำหนดและพัฒนาขึ้นโดย UNDP ประเทศไทย โดยใช้แนวคิดของดัชนีการพัฒนาคน (Human Development Index – HDI) มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย 8 ด้าน จำนวน 32 ตัวชี้วัด ประกอบไปด้วย 1) ดัชนีด้านสุขภาพ 2) ดัชนีด้านการศึกษา 3) ดัชนีด้านชีวิตการงาน 4) ดัชนีด้านเศรษฐกิจ 5) ดัชนีด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม 6) ดัชนีด้านชีวิตครอบครัว และชุมชน 7) ดัชนีด้านการคมนาคมและการสื่อสาร 8) ดัชนีด้านการมีส่วนร่วม

จากข้อมูลในปี 2564 พบว่า ดัชนีด้านการศึกษาปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด วัดได้จากค่าดัชนีลดลงจาก 0.5711 ในปี 2563 มาอยู่ที่ 0.5200 ในปี 2564 ซึ่งมีระดับความก้าวหน้าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับมิติทั้ง 8 เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ข้อจำกัดด้านการเรียนการสอน อุปกรณ์ และความไม่พร้อมในรูปแบบการเรียนแบบใหม่ ซึ่งส่งผลให้เด็กเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย (Learning Loss) รองลงมาเป็นด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน ด้านการมีส่วนร่วม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสุขภาพ ในขณะเดียวกันระดับการพัฒนาที่เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประกอบไปด้วย ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร ด้านชีวิตการทำงาน และด้านเศรษฐกิจ (สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564)

สังคมสูงวัย เหลื่อมล้ำ

Free photo serious stressed asian senior old couple worried about bills discuss unpaid bank debt paper sad poor retired family looking at tablet counting loan payment worry about money problem

ที่มา: Lifestylememory

ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าคนไทยได้รับโอกาสทางการศึกษาสูงขึ้น โดยมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรวัยแรงงานอายุ 15-59 ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 8.8 ปี ในปี 2551 เป็น 9.4 ปี ในปี 2559 แต่ในภาพรวมคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทยยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เมื่อพิจารณาคะแนนสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนขั้นพื้นฐาน ในปี 2560 พบว่า มีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 50 และผลคะแนนสอบ PISA ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าอีกหลายประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน เนื่องจากข้อจำกัดที่สำคัญของการศึกษาไทย ทั้งปัญหาเรื่องหลักสูตรและระบบการเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำทำให้ขาดความคิดสร้างสรรค์ ปัจจัยสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนและครูที่มีคุณภาพยังกระจายไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ขณะที่ในระดับอาชีวศึกษายังมีเด็กที่สนใจเรียนต่อสายอาชีพในสัดส่วนที่น้อย ส่วนระดับอุดมศึกษาพบว่า มีการเปิดหลักสูตรโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของตลาดงานบัณฑิตที่จบออกมาบางส่วนยังมีปัญหาคุณภาพ (แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ 12 ประเด็นการพัฒนาการเรียนรู้, 2561)

เด็กเกิดน้อย วัยเรียนลดลง

Free photo baby and teddy bear rear view with design space

ที่มา: rawpixel.com

ในปี 2562 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรรวมทั้งสินประมาณ 66.5 ล้านคน เมื่อพิจารณาตามช่วงอายุพบว่า ประเทศกำลังเข้าการเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ ด้วยอัตราส่วนประชากรวัยเรียน (ช่วงอายุ 3 – 21 ปี) ต่อประชากรรวมที่ร้อยละ 22 และอัตราส่วนประชากรวัยชรา (ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป) ต่อประชากรรวมที่ร้อยละ 16 หากพิจารณาเฉพาะประชากรในวัยเรียนของประเทศไทย ซึ่งหมายถึงกลุ่มช่วงอายุตั้งแต่ 3-21 ปี กับสัดส่วนประชากรของประเทศ จะพบว่า มีอัตราส่วนที่ลดลงสอดคล้องสัดส่วนของจำนวนประชากรที่ลดลงตามด้วยจากร้อยละ 21 จำนวน 13.4 ล้านคน ในปี 2557 ลดลงเป็นร้อยละ 19 จำนวน 12.9 ล้านคน ในปี 2561 (นิรมล เสรีสกุล และคณะ, 2564)

การพัฒนาคนตลอดช่วงอายุ

Free photo asian grandfather relax at home. senior chinese, grandpa happy relax with young granddaughter girl enjoy read books and do homework together in living room concept.

ที่มา: tirachardz

ปี 2566 เราก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ รูปแบบโครงสร้างประชากรไทยที่มาพร้อมกับสถานการณ์เด็กเกิด วัยเรียนและวัยแรงงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นแล้ว 1 ยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการเรียนรู้ของไทย จึงเป็นเรื่องของการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต หรือความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นแนวทางที่จะทำให้เกิดการทบทวน หรือสร้างความสามารถที่จำเป็นต่อการทำงานด้วยความรู้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างจากเดิม เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รองรับการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน เศรษฐกิจที่เปราะบาง ดังนั้น สภาพแวดล้อมของเมืองที่เปรียบเป็นนิเวศของผู้คนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

จากสถานการณ์การเรียนรู้ในประเทศไทยข้างต้น ทำให้เห็นข้อจำกัดและความท้าทายหลากหลายในการขับการขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับบริบทปัจจุบัน ทั้งจากความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา คุณภาพการศึกษาที่ไม่ได้มาตรฐาน และระบบการศึกษาที่ไม่ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลง ถึงแม้ว่าจะมีนโยบาย แผนพัฒนา รวมถึงเป้าหมายที่พยายามให้มีความสอดรับกับแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง การพัฒนาระบบการศึกษา แต่แผนและนโยบายดังกล่าวก็ยังคงอยู่แค่ในกรอบของระบบการศึกษาที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทั้งนี้ หากต้องการขับเคลื่อนให้เกิดนิเวศการเรียนรู้ของเมือง จำเป็นต้องมีการส่งต่อยุทธศาสตร์และแนวคิดด้านการเรียนรู้ให้กับหน่วยงานและภาคส่วนอื่นๆ ในการร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างเป็นองคาพยพต่อไป

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ ระยะที่ 2 ในการสนับสนุบของ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ที่มาข้อมูล

โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์และการขยายผลการสำรวจสถานะความพร้อมในการเข้าสู่ระบบการศึกษาของเด็กปฐมวัย สำหรับประเทศไทย – วสศ (eef.or.th)

ระเบิดเวลา ‘Learning Loss’ เปิดงานวิจัย-หาทางออกวิกฤตเด็กไทยกับภาวะการเรียนรู้ถดถอย – The 101 World Social Issues

รายงานดัชนีความก้าวหน้าของคนปี 2564

เพิ่มแหล่งเรียนรู้ใกล้บ้าน ให้เยาวชนไทยเข้าถึงจริง – The 101 World


Contributor