10/11/2021
Public Realm

ทฤษฎีพื้นฐานที่นักออกแบบ (เมือง) ควรรู้ เพื่อทำความเข้าใจย่านและเมือง (understanding urbanism)

ชนม์ชนิกานต์ ศศิชานนท์
 


โครงการบรรยายสาธารณะ Urban Design Delivery อาหารสมองสถาปนิกผังเมือง ในหัวข้อ  ทฤษฎีพื้นฐานเพื่อเข้าใจย่านและเมือง (understanding urbanism) ของ ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มาเล่าสาระสำคัญของการเข้าใจย่านและเมือง ผ่านตัวอย่างพื้นที่พระโขนง-บางนา แล้วในฐานะนักออกแบบ(เมือง) เราจะทำความเข้าใจย่านและเมืองได้อย่างไรบ้าง

ย่านและเมืองคืออะไร?

ย่าน อาจจำกัดความถึง ขอบเขต ท้องถิ่น ชุมชน ละแวกย่าน ตลอดจนวิถีชีวิตและผู้คน ดังที่เราให้จะสรรหาคำจำกัดความ

เมือง ในมุมมองด้านสังคมวิทยา การปกครอง กล่าวได้ว่า เมือง เป็นความสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งซึ่งแยกตัวเองออกจากชนบท ในขณะเดียวกันก็มีความสัมพันธ์กับชนบทด้วยเช่นกัน อีกทั้งเป็นพื้นที่ศูนย์กลางที่ดึงดูดทรัพยากรและกระจายสู่พื้นที่โดยรอบ 

แต่นอกเหนือไปจากนั้น ไม่ว่าจะย่าน หรือเมือง ในการศึกษาพื้นที่ใดๆ จะต้องมีความเกี่ยวเนื่องกับคำสำคัญ 3 คำ คือ 1. ความสัมพันธ์ (ของผู้คนในพื้นที่) 2. ความหมาย (ที่ผู้คนมีต่อพื้นที่) 3. ระบบ (วิถีชีวิตคนในพื้นที่) ที่เชื่อมโยงและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน ช่วยเติมเต็มความเข้าใจไม่ใช่เพียงว่าย่านคืออะไร แต่ย่านสามารถบอกอะไรได้บ้าง มีรายละเอียดดังนี้

  • ในการศึกษาพื้นที่เบื้องต้น สิ่งที่สามารถค้นหาได้เป็นอย่างแรกๆ คือ แผนที่และข้อมูลทุติยภูมิ ซึ่งมีข้อจำกัด คือ สิ่งที่ถูกแสดงและนำมาใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการศึกษานั้น ไม่สามารถที่จะแสดงถึงที่มาและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างครบถ้วน
  • ความหมายของย่านมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างขอบเขตการปกครอง สถานที่ ฯลฯ ที่มีต่อผู้คน ซึ่งล้วนแต่เป็นภาพจำ สะท้อนการให้ความหมายกับพื้นที่ที่แตกต่างกันตามแต่ละบุคคล
  • ระบบภายใน ที่เป็นตัวกำกับรูปแบบวิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่เพียงระบบเชิงกายภาพ แต่ยังรวมถึงระบบด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทฤษฎีเมือง: เครื่องมือประยุกต์ใช้เสริมความเข้าใจเพื่อการออกแบบ 

การพัฒนารอบสถานี (Transit Oriented Development: TOD) เป็นอีกหนึ่งทฤษฎีที่มักจะถูกหยิบยก ประยุกต์ในการทำความเข้าใจกรุงเทพฯมาโดยตลอด เรามักเล่าเรื่องกรุงเทพฯ ผ่านการเปลี่ยนแปลงด้านการสัญจรและการคมนาคม จากคลองสู่ถนน จากถนนสู่ถนนตัดใหม่นั้น มีย่านอะไรที่เกิดขึ้นบนพื้นที่วิวัฒนาการเหล่านี้ แต่หากพิจารณาลึกลงไปอีกระดับนั้น จะพบว่า การเปลี่ยนแปลงของวิวัฒนาการการสัญจรดังกล่าวนำพาซึ่งความสัมพันธ์ใหม่ๆ เข้าหรือออกไปจากพื้นที่ กลุ่มคนเปลี่ยนความหมายต่อพื้นที่ย่อมเปลี่ยน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบภายในพื้นที่เช่นเดียวกัน

ยกตัวอย่างสำหรับพื้นที่ย่านพระโขนง-บางนา ถนนอ่อนนุช ซึ่งมีการเชื่อมต่อไกลออกไปถึงลาดกระบังและยังมีรูปแบบทางเลือกในการสัญจรเพื่อการเข้าถึงพื้นที่ปลายทางที่หลากหลายตามยุคสมัย เช่น คลอง รถไฟ รถสองแถว รถเมล์ รถไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งแสดงถึงอิทธิพลความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ที่ถูกขยายขอบเขตออกไปตามการพัฒนาเมือง ดังนั้น ในการออกแบบพัฒนาไม่ได้ถูกกำหนดกรอบแค่เพียงรัศมีการพัฒนาตามทฤษฎีอย่างที่คุ้นเคย แต่ควรพิจารณาถึงขอบเขตความสัมพันธ์ของผู้คนที่ถูกขยับขยายออกไปอีกด้วย

“การเดินเปรียบเหมือนการพูดในชีวิตประจำวัน ไม่มีคนไหนที่พูดตามกฎเกณฑ์อย่างตายตัว” จากหนังสือ The Practice of Everyday Life (certeau, 1980): walking in the city มีใจความสำคัญชวนคิดว่าชีวิตประจำวัน เป็นหัวใจสำคัญของการศึกษา แต่ชีวิตประจำวันมักไม่ได้เป็นไปตามแบบแผนที่ผู้มีอำนาจกำหนด ไม่ว่าจะเป็น การวางแผน ยุทธศาสตร์ หรือแม้แต่การออกแบบเองก็ตาม หากเปรียบว่าการเดินนั้นเสมือนการเล่าเรื่อง ผู้คนในพื้นที่ย่อมมีเนื้อเรื่องของตัวเอง และการออกแบบอาจเป็นเพียงการเล่าเรื่องอีกหนึ่งเรื่องในมุมมองเดียวจากคนภายนอกที่อาจจะไม่ตอบโจทย์การใช้งานจริงของคนกลุ่มนั้นๆ เลยก็เป็นได้ และหากเป็นเช่นนั้น ในฐานะนักออกแบบ (เมือง) เรายังสามารถออกแบบได้มากน้อยแค่ไหน? ปัจจัยตั้งต้นสำหรับการออกแบบจึงไม่ได้เริ่มต้นจากเพียงหลักการและระบบความคิดเชิงสร้างสรรค์ แต่อาจริเริ่มจากความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้ใช้งานจริงที่ใช้ชีวิตอยู่ในภายในพื้นที่

เข้าใจความแตกต่างในการศึกษาพฤติกรรมต้องควบคู่กับการศึกษาโครงสร้างในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ฯลฯ เนื่องจากโครงสร้างที่ต่างกันย่อมส่งผลต่อรูปแบบพฤติกรรมที่แตกต่าง อาจกล่าวได้ว่าการออกแบบในทางการเมืองคือการควบคุมพฤติกรรมรูปแบบหนึ่ง แต่กลับกันโครงสร้างดังกล่าวก็ไม่สามารถครอบงำพฤติกรรมของผู้คนทั้งหมด ทุกคนมีอิสระในการเลือกและกำหนดรูปแบบพฤติกรรมที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตน นำไปสู่โจทย์สำคัญที่เป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำหรับการออกแบบ คือ การสร้างความเข้าใจในความยืดหยุ่นของการออกแบบจากพฤติกรรมปัจเจกที่แตกต่าง ไม่ได้เป็นไปตามกรอบความคิดและการควบคุมทั้งหมด ซึ่งความแตกต่างตรงนั้นเองที่กลับสร้างพลวัตของกลุ่มคนและการให้ความหมายแก่พื้นที่

นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีการที่น่าสนใจคือ Tactical urbanism คือ การเปลี่ยนเมืองอย่างรวดเร็ว เป็นรูปแบบหนึ่งของการพัฒนาเมืองหรือชุมชน โดยการเปลี่ยนพื้นที่หรือย่านให้เกิดความสร้างสรรค์ มีชีวิตชีวา และน่าอยู่มากยิ่งขึ้น โดยการพัฒนาในต้นทุนต่ำ แต่ขับเน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน สร้างความเป็นเจ้าของร่วม (sense of belonging) ซึ่งจะแสดงถึงผลลัพธ์ของความยืดหยุ่นในการออกแบบได้ว่า การลดกรอบการพัฒนาและเปิดช่องว่างบางอย่างให้กับกลุ่มคน อาจเป็นเพียงพื้นที่เล็กๆเพียงส่วนหนึ่ง ถนน ทางเท้า ฯลฯ ก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเมือง ในรูปแบบที่เหมาะสมกับพฤติกรรม ความต้องการของคนในพื้นที่และบริบทได้

สร้างความเข้าใจในการอ่านย่านและเมืองผ่านพื้นที่ตัวอย่าง พระโขนง-บางนา

สถาปนิกผังเมือง (ในชั้นเรียน) หรือคนทั่วไป มีมุมมองต่อย่านพระโขนง-บางนาว่า คลอง ท่าน้ำ แม่น้ำ แม่นาคพระโขนง รถกะป๊อ อันเป็น “ภาพจำ” ที่สามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์และรูปแบบเฉพาะของพื้นที่นั้นๆ อย่างหลากหลาย ตามแต่บุคคล 

หากกล่าวในเชิงกายภาพ พื้นที่พระโขนง-บางนา เป็นพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ ที่ส่วนใหญ่ถูกใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย มีความหนาแน่นปานกลาง และมีขอบเขตหรือกรอบของพื้นที่ที่เห็นได้อย่างชัดเจน นั่นคือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานถนน และเส้นทางน้ำ ประกอบด้วย ถนนสุขุมวิทซึ่งพัฒนาร่วมกับแนวระบบรางบีทีเอส ถนนบางนา-ตราดเส้นซึ่งมีทางยกระดับคู่ขนานชั้นบน ถนนอ่อนนุชซึ่งมีคลองพระโขนงขนานทำให้ไม่เกิดการพัฒนาข้ามฝั่งน้ำ ถนนศรีนครินทร์ที่พัฒนาตัดขวางการเชื่อมต่อแนวตะวันออกและตะวันตกของซอยด้านในทั้งสองฝั่ง ถนนทางรถไฟสายเก่าและแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสัณฐานสู่ลักษณะของการพัฒนาพื้นที่ปัจจุบัน

ภายหลังการวิวัฒนาการสัณฐานคลองสู่ระบบถนนนำมาซึ่งมิติที่ทับซ้อนของเมืองใหม่ โดยเฉพาะถนนสุขุมวิท ได้แบ่งการพัฒนาเป็นสองฝั่งอย่างสิ้นเชิง ในพื้นที่ฝั่งเลขคี่ที่เป็นฝั่งที่ดินแปลงใหญ่ของรัฐ โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เดิม ถูกละเลยมีข้อจำกัดสูง ในขณะที่ความเจริญส่วนใหญ่จะเกิดที่ฝั่งเลขคู่ มีการพัฒนาตามแนวถนนและสถานีระบบรางและขยายสู่ในซอยที่หนาแน่นขึ้น เนื้อเมืองชั้นในถัดจากริมถนนอันเป็นพื้นที่ชุมชนฐานน้ำในอดีต เริ่มพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อสู่ถนน เกิดเป็นระบบตรอก ซอก ซอย ที่เป็นผลพวงจากการปะติดปะต่อของเส้นทางสัญจรที่แตกต่างกัน (แสงสีหนาท, 2563) ออกไปตามวัฏจักรการพัฒนา แต่ก็เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงกลุ่มชุมชนต่าง ๆ ไป พร้อมกันที่มีความลึกและเป็นซอยตันมากกว่า 50%

แต่ความน่าสนใจของระบบซอย ซึ่งเป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์ที่โดดเด่นของเมืองกรุงเทพฯ คือ การนำมาซึ่งความหลากหลายของกลุ่มคน รูปแบบและระบบวิถีชีวิตที่ต่างกันในแต่ละช่วงตั้งแต่ปากซอย กลางซอย จนถึงท้ายซอย ( จนอาจเรียกได้ว่าเป็น “เมืองในเมือง” นำมาซึ่งการเกิดระบบรถกะป๊อหรือรถสองแถวในย่านพระโขนง-บางนา ทำหน้าที่เชื่อมต่อพื้นที่ในถนนรองและย่อย เพื่อขนส่งคนจากท้ายซอยอันเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย ชุมชนดั้งเดิม สู่ต้นซอยที่เป็นจุดกิจกรรมของชุมชน ตลาด จุดวินมอเตอร์ไซต์ รถสองแถว ซึ่งรูปแบบการสัญจรก็สามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตและระดับรายได้เบื้องต้นของกลุ่มผู้ใช้งานได้เช่นกัน 

นอกจากนี้ เนื่องจากมีชุมชนดั้งเดิมจำนวนมากจึงยังคงมีวิถีชีวิตคนรุ่นเจน X ขึ้นไป รุ่นคุณตาคุณยายให้พบเห็นได้ ในยุคสมัยเดิมผู้คนมีรูปแบบวิถีชีวิตที่เกี่ยวโยงกับศาสนาและการดำรงชีวิตพื้นฐานเป็นหลัก ส่งผลให้ย่านพระโขนง-บางนามีตลาด วัดและโรงเรียนวัด เป็นองค์ประกอบศูนย์กลางพื้นที่กิจกรรมสำคัญ โดยมีซอยเป็นเส้นทางเชื่อมต่อสู่ชุมชนขนาดเล็กที่สอดแทรกอยู่ทั้งรอบศูนย์กลางกิจกรรมและพื้นที่ชุมชนดั้งเดิม เป็นความสัมพันธ์ระหว่าง วิถีชีวิต ลำดับกิจกรรม พื้นที่ที่รองรับ รวมกันเป็น ระบบ ของพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่ง ชี้ให้เห็นว่าพฤติกรรมที่พบเห็นย่อมสัมพันธ์กับพื้นที่ใดที่หนึ่ง ช่วยให้เกิดความเข้าใจในแก่นของความเป็นย่านมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น สามารถกล่าวสรุปได้ว่า ในการศึกษาและเข้าใจความเป็นย่าน กระบวนการ visualize จากข้อมูลทุติยภูมิ อาทิ แผนที่และข้อมูลที่แสดงจากการค้นคว้าเบื้องต้นเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถที่จะสะท้อนความหมายและองค์ประกอบ ตลอดจนสัณฐานความเป็นย่านได้อย่างครบถ้วน หากแต่ยังต้องศึกษาและทำความเข้าใจถึง การทำงาน และ โครงสร้าง ทั้งมิติเชิงด้านกายภาพ สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ พฤติกรรมจากกลุ่มคนในพื้นที่นั้นๆ ประกอบเป็นเรื่องราว เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่สร้างความเข้าใจถึงองค์ประกอบของความสัมพันธ์ ความหมาย และระบบย่าน นำไปสู่การชวนคิดอีกประการหนึ่งว่า

“ในพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มคนและความสัมพันธ์ที่หลากหลาย หากการออกแบบเข้าไปเป็นตัวแปรในการเปลี่ยน สิ่งใหม่ที่เพิ่มเติมเข้าไปนั้นรองรับใครและอะไรเป็นผลลัพธ์จะเกิดขึ้นหลังการออกแบบ” และในความหลากหลายนั้น นักออกแบบยังควรเข้าใจอีกด้วยว่า “เราไม่สามารถออกแบบทุกอย่างได้ทั้งหมด แต่ไม่ใช่ไม่ควรออกแบบ” (ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, 2564) หากแต่การออกแบบนั้นควรอยู่บนฐานของการสร้างความสมดุลและความยืดหยุ่นที่สามารถตอบโจทย์พฤติกรรมปัจเจกของผู้คน จากความเข้าใจนิเวศย่านหรือเมืองอย่างแท้จริง 

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากการบรรยายสาธารณะ ทฤษฎีพื้นฐานเพื่อเข้าใจย่านและเมือง : มองผ่านย่านพระโขนง-บางนา (Understanding urbanism) โดย ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เป็นส่วนหนึ่งของชุดการบรรยายสาธารณะ URBAN DESIGN DELIVERY อาหารสมองสถาปนิกผังเมือง เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาหลักการวางผังและออกแบบชุมชนและปฏิบัติการวางผังและออกแบบชุมชน (District Planning) ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The Urbanis

ภาพปกบทความจาก Food photo created by diana.grytsku – www.freepik.com


Contributor