10/02/2022
Public Realm

ฟื้นฟูเมืองเรื่องของพวกเรา

บุษยา พุทธอินทร์
 


วันนี้ The Urbanis จะชวนคุณมาอ่านเรื่องราวของกระบวนการฟื้นฟูพัฒนาเมือง จากการทำงานร่วมกันหลากหลายศาสตร์ เพื่อหาคำตอบว่าการผลักดันโครงการพัฒนาเมืองให้เกิดขึ้นจะต้องมีการทำงานอย่างไรบ้าง บทความนี้เป็นหนึ่งในการบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 ในหัวข้อ ฟื้นฟูเมืองเรื่องของพวกเรา โดยทีมงานจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ทั้งหมด 5 ท่าน ได้แก่ คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการฝ่าย Urban Intelligence คุณปรีชญา นวราช รองผู้อำนวยการฝ่าย Urban Design and Development คุณธนพร โอวาทวรวรัญญู ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Urban Solunition and Operation คุณชยากรณ์ กำโชค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Urban Communication และคุณสุภาพร อินทรภิรมย์ ผู้จัดการทั่วไป Urban General Management

ปฐมบทการทำงานร่วมกันของสหศาสตร์

งานฟื้นฟูพัฒนาเมืองไม่เพียงแค่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องนำเอาความเชี่ยวชาญของสหศาสตร์มาปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์จริง รวมไปถึงส่วนสำคัญที่สุดของโครงการ นั่นคือการอาศัยแรงขับเคลื่อนจากประชาชน ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถผลักดันโครงการให้เกิดการพัฒนาได้ตั้งแต่ต้นจนสำเร็จ

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาเมืองจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของเราทุกคน วันนี้ The Urbanis จะชวนคุณผู้อ่านเข้ามาฟังกระบวนการฟื้นฟูพัฒนาเมือง ผ่านเรื่องราวการทำงานของทีมงานศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC: Urban Design and Development Center) จากประสบการณ์จริงปีที่ 8 ของการก่อตั้งศูนย์ฯ ขึ้นมา

เบื้องหลังการทำงานด้านฟื้นฟูพัฒนาเมืองของ UDDC  มีส่วนขับเคลื่อนสำคัญมาจากทีมงานหลากหลายฝ่ายที่ทำงานร่วมกัน ประกอบไปด้วย ฝ่ายวิจัยข้อมูลเมือง (UI: Urban Intelligence) ฝ่ายวิจัยด้านสังคม (USO: Urban Social and Operation) ฝ่ายการออกแบบวางผัง (UD: Urban design and Development) ฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ (UCOM: Urban Communication) และฝ่ายการจัดการ (UGM: Urban General Management) โดยสรุปบทบาทหน้าที่ออกมาเป็น 5 ระยะ ในการทำงาน

บทบาทหน้าที่ของแต่ละทีมตลอดช่วงการดำเนินโครงการ

ระยะที่ 1: เมื่อมีการทำงานเกิดขึ้นในโครงการพัฒนาเมือง ส่วนแรกที่มีความสำคัญคือการจัดการข้อมูล ในระยะที่ 1 บทบาทของทีม UI จะเข้าไปทำหน้าที่ในส่วนขั้นนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการกวาดสัญญาณ การจัดทำข้อมูลเบื้องต้น เจาะลึกสภาพปัญหา เพื่อแสดงให้เห็นถึงสภาพและประเด็นข้อเท็จจริงของพื้นที่ ซึ่งเป็นการเจาะลึกข้อมูลเมืองมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ในการมองปัญหาของเมืองให้ละเอียดรอบคอบมากขึ้น

ระยะที่ 2: ถัดมาทีม UI จึงส่งมอบงานต่อในระยะที่ 2 ซึ่งอยู่ในขั้นตอนที่มีการจัดการข้อมูลเมืองพื้นฐานเบื้องต้นแล้ว จึงได้เริ่มเข้าไปสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในระหว่างนี้ก็มีเก็บข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่ ผู้คน ศึกษาโดยทีม USO ที่มีบทบาทเป็นหลักร่วมกับทุกๆ ทีม ในระยะนี้จะเริ่มมีการสื่อสารแก่สาธารณะ ทีม UCOM จึงเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นของโครงการ รวมถึงทีม UD ที่เข้าไปลงสำรวจพื้นที่ ประชุมทีม ร่วมกระบวนการไปพร้อมกัน ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนที่มีบทบาทของทุกทีมเข้าไปมีส่วนร่วม

ระยะที่ 3-4: หลังจากนั้นเมื่อเนื้อหาทั้งหมดลงตัว มีความเข้มแข็งของข้อมูลมากพอแล้ว ในระยะที่ 3 จึงเป็นการผสานข้อมูลทั้งหมด จัดทำเนื้องานด้านการออกแบบวางผัง ต่อเนื่องไปถึงระยะที่ 4 ออกมาเป็นผลลัพธ์สุดท้าย อาทิ ผังแนวคิด ผังแม่บท รายละเอียดการออกแบบ ข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ จัดทำโดยทีม UD เป็นหลัก ในระหว่างกระบวนการ จะต้องทำงานร่วมกับทีม UCOM ควบคู่กันไป เพราะนอกเหนือจากกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียแล้ว จะต้องขยายผลในการสื่อสารแก่ประชาชนให้ทั่วถึงด้วย

ระยะที่ 4-5: ในส่วนระยะที่ 4 นี้จะได้เป็นเนื้องานที่สามารถส่งมอบได้เรียบร้อย ต่อเนื่องมาในระยะที่ 5 หลังจากปิดโครงการ ยังคงมีการขยายผลไปสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ผลิตซ้ำข้อมูลออกมาเป็นบทความเพื่อเผยแพร่ หรือสร้างการตระหนักรู้ให้ไปสู่ประชาชนในวงกว้างมากขึ้น ทั้งนี้ในระหว่างการดำเนินโครงการและหลังเสร็จสิ้น ยังมีบทบาทของทีม UGM เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกของทุกทีมที่ได้กล่าวไปข้างต้น ช่วยจับตามองหาโอกาส เชื่อมโยงจุดสำคัญของโครงการขยายผลจากพื้นที่ยุทธศาสตร์เพื่อเล็งผลเลิศต่อไปในอนาคต

บทบาทข้างต้นที่ได้กล่าวนั้นเป็นเพียงการสรุปภาพรวมโดยคร่าว จึงได้หยิบยกตัวอย่างหยิบยกตัวอย่างให้เห็นภาพถึงการทำงานร่วมกันในแต่ละศาสตร์ ผ่านโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 (CU2040: Chula Masterplan) เนื่องจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง มีนิเวศของการใช้ชีวิตที่เรียกได้ว่าเป็นการจำลองเมืองขนาดย่อมที่สะท้อนโครงสร้างระบบการจัดการที่ค่อนข้างชัดในระดับเมือง จากโครงการนี้จะทำให้เห็นการทำงานฟื้นฟูพัฒนาเมืองของแต่ละทีมนั้นที่มีบทบาทต่อกันร่วมมือกันผลักดันไปสู่ความสำเร็จ

ส่องปัญหา หัวหมู่ทะลวงฟัน: กวาดสัญญาณ ประยุกต์ใช้ข้อมูลเมือง

อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการฝ่าย Urban Intelligence

การวางแผนภาคและเมืองสักหนึ่งโครงการจำเป็นจะต้องมีการใช้ข้อมูลมหาศาล หลากหลาย จึงต้องมีคนที่ใช้ข้อมูลเข้ามาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาของเมือง

คุณอดิศักดิ์ หัวหน้าฝ่าย Urban Intelligence ได้อธิบายถึงสาระของการทำงานฝ่าย Urban Intelligence ว่าในการทำงานของทีมนั้น มีบทบาทและทำงานร่วมกับศาสตร์อื่นอย่างไร รวมทั้งพื้นฐานที่ประกอบไปด้วยความเชี่ยวชาญทางด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ นักผังเมือง (Urban Plan) นักภูมิศาสตร์ (Geoinformatics) นักคณิตศาสตร์และสถิติ (Mathematics & Statistics) นักวิจัยด้านสังคม (Research Based Social) ความเชี่ยวชาญและทักษะเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นในการทำงานด้านข้อมูล วิจัย และวางแผนฟื้นฟูเมือง

ในขั้นตอนแรกของการจัดทำโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 ทีม UI ได้มีการศึกษา ทบทวนวรรณกรรมภาพรวม ไม่ว่าจะเป็น แนวคิดทฤษฎีด้านการเรียนรู้ การสร้างมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมนวัตกรรม การทบทวนผังแม่บทมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก แผน ผังแม่บทเดิมของจุฬาฯ ผังแม่บทรายสาขาภูมิสถาปัตยกรรม ผังแม่บทการระบายน้ำ สุขาภิบาล รวมไปถึงองค์ประกอบกว่า 34 โครงการพัฒนาภายในจุฬาฯ จะเห็นได้ว่างานส่วนแรกของทีม UI คือการไปควานหาข้อมูลพื้นฐานสำคัญ หลักการใหม่ๆ วิธีการใดบ้างที่เป็นตัวตั้งต้นในการใช้วิเคราะห์ ออกแบบวางผังมหาวิทยาลัย

ส่วนถัดมาเป็นการบูรณาการข้อมูลในระดับภาครัฐ โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลทางกายภาพ โครงสร้างประชากร พฤติกรรม ข้อมูลเหล่านี้จะถูกรวบรวม สังเคราะห์ จัดระบบรายละเอียดข้อมูล แสดงออกมาเป็นแผนที่การวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละส่วน อาทิ แผนที่ขอบเขตพื้นที่ อาคาร การสัญจร ที่โล่ง ระบบและโครงสร้าง นอกจากนี้ข้อมูลต่างๆยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลทั้งสามส่วนให้ส่งเสริมการออกแบบที่ลงลึกไปถึงการใช้ในระดับอาคาร คณะ กลุ่มศาสตร์ อาทิ อาคารทรงคุณค่า อายุอาคาร การปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร การตรวจสอบสภาพอาคาร ต้องมีการจัดเก็บและเชื่อมโยงข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อนำไปใช้พัฒนาปรับปรุงอาคารในอนาคต หมายรวมไปถึงการจัดระบบข้อมูลพื้นฐานในการนำไปใช้ต่อกับงานออกแบบทุกเสกล ผ่านโปรแกรมแบบจำลองเสมือนอาคาร อย่าง BIM (Building Information Modeling) โปรแกรมการออกแบบวางผังอย่าง AutoCAD GIS และโปรแกรมแบบจำลองสามมิติอย่าง Sketchup เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็จะต้องดึงศาสตร์การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกเข้ามาใช้ด้วย (FM: Facility management) เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรของวิทยาเขต โครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ห้องเรียน ห้องแล็บ โดยใช้มาตรฐานคู่มือสินค้าคงคลังและการจัดประเภทสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities Inventory and Classification Manual) ที่บอกว่าในระบบวิทยาเขต ควรต้องแบ่งพื้นที่ในรูปแบบใดบ้าง อาทิ พื้นที่ห้องเรียน พื้นที่ห้องแล็บ พื้นที่สนับสนุนการศึกษา ข้อมูลเหล่านี้มาเชื่อมโยงในการบริหารจัดการทรัพยากร เพื่อประเมินความต้องการพื้นที่ในแต่ละประเภทและจำนวนคนที่เข้ามาใช้งานในอนาคตได้ ขั้นตอนนี้เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของทีม UI ที่ต้องมีการจัดระเบียบเชื่อมโยงข้อมูล สร้างความเป็นเหตุผลเพื่ออำนวยความสะดวกในการพัฒนาฟื้นฟูจุฬาฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระบวนการข้างต้นทั้งหมดของทีม UI ที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นเนื้องานที่จัดทำเพื่อส่งต่อให้กับทีม UD ไปใช้ในการออกแบบ เป็นส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นฮาร์ดแวร์ของงาน ในระหว่างทางที่เก็บข้อมูลยังได้ทำงานร่วมกับทีม USO ไปพร้อมกัน มีการสัมภาษณ์ จัดกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 ต่อไป

สร้างการมีส่วนร่วม: เมืองมีหลากผู้เล่น จึงต้องรักษาสมดุล

ธนพร โอวาทวรวรัญญู ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Urban Social and Operation

“เมืองมีหลากผู้เล่น เราจึงต้องรักษาสมดุล” 

การพัฒนาโครงการฟื้นฟูเมืองจำเป็นจะต้องพูดคุยกับกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม การศึกษา และประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการขับเคลื่อนเมือง

คุณธนพร หัวหน้าฝ่าย Urban Social and Operation ได้อธิบายถึงสาระของการทำงานฝ่าย USO ว่าในส่วนการทำงานของทีม USO จะเข้ามาดูแลส่วนที่เรียกว่าเป็นซอร์ฟแวร์ของงาน เป็นการขับเคลื่อนการทำงานในด้านสังคม การสร้างการมีส่วนร่วมและความเข้าใจร่วมกัน โดยได้แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วน

1) การวิจัยทางสังคม งานส่วนนี้จะเป็นการจัดเตรียมข้อมูลทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ มีการศึกษา ทบทวนวรรณกรรมในเชิงยุทธศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม มีการจัดเก็บข้อมูลในระดับพื้นที่ และปัจเจกบุคคล สถาบัน โครงสร้างทางสังคม พลวัตการใช้ชีวิตของผู้คนในเมือง เพื่อกำหนดกรอบในการศึกษา ซึ่งจะต้องดูควบคู่ไปกับเป้าหมายปลายทางของทีม UD ว่าจะต้องออกแบบแค่ไหน อย่างไร เนื่องจากว่าผลลัพธ์สุดท้ายส่งผลต่อการจัดเก็บข้อมูล หากต้องการงานออกแบบที่มีความละเอียดสูง ก็จำเป็นต้องเก็บชั้นข้อมูลที่ลึกลงไปเรื่อยๆ เพื่อใช้ในการออกแบบรองรับชีวิตคนเมือง เป็นต้น

2) การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเมืองเกิดขึ้นโดยผู้คน เราไม่สามารถขับเคลื่อนเมืองได้ด้วยองค์กรใดองค์กรหนึ่ง เพราะพื้นที่เมืองเป็นพื้นที่ของทุกคน เมืองก็มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากเราจะไปเปลี่ยนแปลงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เราจะต้องสร้างความเข้าใจร่วมกับเขา ดังนั้นการออกแบบเพื่อฟื้นฟูเมืองก็เช่นกัน ในเนื้องานจำเป็นจะต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้เกิดการพูดคุยกับผู้คนที่หลากหลาย เพราะว่าคนแต่ละกลุ่มก็จะต้องการสิ่งที่แตกต่างกันไป ทั้งยังเป็นเป้าหมายหลักของงานออกแบบ ว่าทำไปเพื่อใคร ทำอะไร ทำแล้วคนที่ใช้งานสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ แล้วคนในสังคมคือใครบ้าง บริบทเป็นอย่างไร ทั้งหมดนี้นอกจากจะเป็นการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นในการออกแบบแล้ว ยังเป็นการออกแบบโจทย์ที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของการฟื้นฟูเมืองอีกด้วย

งานสองส่วนนี้จึงเป็นงานหลักที่ทีม USO ประยุกต์ใช้ในขั้นตอนแรกของการจัดทำโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 เริ่มจากการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มประชาคมจุฬาฯ (2) กลุ่มองค์กรโดยรอบพื้นที่ผังแม่บทที่มีบทบาทด้านความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่ (3) กลุ่มองค์กรภาครัฐ หรือเอกชนที่มีองค์ความรู้ และความเชี่ยวชาญสำหรับการพัฒนา (4) กลุ่มสาธารณชน โดยในแต่ละกลุ่มจะมีการจัดการพูดคุยและกิจกรรมที่แตกต่างกันไป การทำงานส่วนนี้ได้แบ่งวิธีการสร้างการมีส่วนร่วมได้ 5 วิธี ได้แก่ การสัมภาษณ์ การสังเกตการณ์ การสนทนากลุ่ม การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และกระบวนการมองภาพอนาคต ทั้งหมดนี้ใช้สอดแทรกเพื่อให้มาซึ่งงานวิจัยทางสังคมและกระบวนการมีส่วนร่วมไปพร้อมกัน

ขั้นต้นได้มีการศึกษาแผนยุทธศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าจะมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อยากมีทิศทางการพัฒนาไปในทางใด ผังจะตอบโจทย์วิสัยทัศน์ได้อย่างไร รวมถึงการดูในเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการ ว่าในปัจจุบันมีการบริหารจัดการพื้นที่อย่างไร ในแต่ละส่วนมีความสอดคล้องเกี่ยวข้องกันแค่ไหน เพื่อรองรับการออกแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแล้วสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริง ทั้งยังช่วยดูว่าหน่วยงานใดที่มีศักยภาพจะสามารถเข้าไปช่วยผลักดันการพัฒนาในส่วนต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

ในระหว่างทางมีการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นทั้งหมดกว่า 60 ครั้ง และมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทาง เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันไปสู่สาธารณชน ทั้งนี้จะมีระดับความคิดเห็นในกระบวนการมีส่วนร่วมและชั้นข้อมูลที่แตกต่างกันที่ต้องคำนึงถึง ตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัย กลุ่มศาสตร์ และกลุ่มย่อย เนื่องจากทุกคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน โดยในท้ายที่สุดนี้ก็จะได้กลับมาเป็นข้อมูล ความคิดเห็น เสียงของประชาชนว่าอยากใช้พื้นที่อย่างไร สถานการณ์เป็นอย่างไร ต้องการพื้นที่สาธารณะแบบไหน ข้อมูลทั้งหมดนี้จะเป็นผลลัพธ์จากกระบวนการที่ส่งต่อข้อมูลกลับไปยังทีม UI และ UD ใช้ในการออกแบบวางผังต่อไป

 การออกแบบเพื่อทุกคน: เพราะว่าเมืองซับซ้อนและหลากหลาย

คุณปรีชญา นวราช รองผู้อำนวยการฝ่าย Urban Design and Development

เพราะว่าเมือง เป็นเรื่องซับซ้อนและมีความหลากหลาย

การออกแบบวางผัง ไม่ใช่การออกแบบเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพื่อเราทุกคน ผลลัพธ์ของการออกแบบย่อมสร้างผลกระทบต่อผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้น การออกแบบจึงต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูล หลักการ และสิ่งที่ตอบโจทย์ผู้คน

คุณปรีชญา หัวหน้าฝ่าย Urban design and Development ได้อธิบายถึงสาระของการทำงานฝ่าย UD ว่ามีบทบาทและทำงานร่วมกับศาสตร์อื่นเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนข้อต่อสำคัญในการบูรณาการทุกศาสตร์เข้าด้วยกัน เป็นต้นทางที่กำหนดภาพใหญ่ จากงานวางยุทธศาสตร์ไปสู่การออกแบบและก่อสร้างให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ในขั้นตอนแรกของการจัดทำโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 คือการอ่านข้อมูลเพื่อเข้าใจโจทย์พื้นที่ของจุฬาฯ ที่เต็มไปด้วยสินทรัพย์ทางนวัตกรรมและความรู้ ทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และเครือข่ายทางสังคม ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 ย่านนวัตกรรมที่สำคัญของกรุงเทพฯ การตีโจทย์จึงไม่เพียงแค่เพื่อตอบคุณภาพชีวิตของนิสิต อาจารย์ หรือบุคลากรภายในจุฬาฯ เพียงเท่านั้น แต่การออกแบบในครั้งนี้ จุฬาฯ ในฐานะสถานศึกษาใจกลางเมือง ต้องตั้งคำถามว่าเราสามารถคืนอะไรให้สังคมได้บ้าง 

ในขั้นแรกทีมได้ศึกษา ทบทวนวรรณกรรม แนวคิด ทฤษฎี กรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเมืองและมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับการนำข้อมูลเมืองที่ได้รับมอบจากทีม UI และ USO ทั้งเรื่องของประเด็นปัญหา ความต้องการของผู้ใช้งาน เสียงจากประชาชนในระดับเมือง ย่าน พื้นที่ มาทำความเข้าใจร่วมกัน

หลังจากได้รับมอบข้อมูลแล้ว จะทำการวิเคราะห์ปัญหาทุกระดับ หนึ่งในปัญหาหลักของพื้นที่ พบว่า การใช้งานพื้นที่แต่ละคณะในจุฬาฯ แยกส่วนการใช้งานกัน ขาดความสมดุลในการใช้สอย ยกตัวอย่างเช่น คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มีห้องเรียนจำนวนหนึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของจำนวนนิสิต ในขณะเดียวกันพื้นที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง มีห้องเรียนเหลือ เกินความต้องการของจำนวนนิสิต เมื่อสองคณะขาดการพูดคุยกัน จึงเกิดปรากฎการณ์ต่างคนต่างพัฒนาอย่างไร้ทิศทาง อีกทั้งพื้นที่ในจุฬาฯ ไม่ดึงดูดให้นิสิตสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พลวัตของการใช้งานได้ถูกดูดออกไปบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยแทน อาทิ สามย่าน สยาม ส่งผลให้บางพื้นที่ในช่วงเวลาหนึ่งมีความซบเซาของผู้คน ถือเป็นความท้าทายหนึ่งของการออกแบบวางผัง 

ในฐานะสถาปนิกผังเมืองจึงต้อง เข้าไปบูรณาการพื้นที่ทั้งหมดให้มีการใช้สอยได้อย่างสมดุลกัน พัฒนาให้สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้แห่งอนาคต จะทำอย่างไรให้เกิดสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมีประสบการณ์ที่น่าสนใจ มีอัตลักษณ์ แตกต่างจากการเรียนออนไลน์

ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อม และมิติอื่นๆ เพื่อรองรับอนาคต

ขั้นตอนถัดมาจึงเป็นการสังเคราะห์ เพื่อแปลงผลเป็นข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ สู่การออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้บ่มเพาะนวัตกรรมตามทิศทางที่กำหนดไว้ ผังแม่บทต้องสะท้อนความสามารถในการดึงพลวัตผู้คนจากย่านโดยรอบจุฬาฯ ให้กลับเข้ามาใช้งานห้องเรียน ห้องแล็บและอื่นๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จุฬาต้องเป็นพื้นที่สนามทดลอง เรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจของทุกคน ถือเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ แลกเปลี่ยน บูรณาการข้ามศาสตร์จนเกิดนวัตกรรม

หัวใจของการออกแบบวางผังยุทธศาสตร์ คือการ “ปรับ เปลี่ยน เปิด” 

1. ปรับสิ่งที่มีอยู่ ด้วยเทคนิคของการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์อาคารและที่โล่ง ยังมีการใช้งานน้อย ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ร่วม จะได้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ จากกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยไม่ต้องสร้างใหม่ 

2. เปลี่ยนการบริหารจัดการเวลา เพื่อเพิ่มช่วงเวลาในการใช้งาน บริหารจัดการพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ด้านหน้าอาคารให้มีชีวิตชีวาในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น สร้างความยืดหยุ่น รองรับการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละกลุ่มศาสตร์

3. เปิด ทลายรั้วให้ผู้คนทั่วไปได้เข้าถึงต้นทุนทางความรู้ของจุฬาฯ ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นบริเวณแนวรอยต่อของมหาวิทยาลัยระหว่างคนในและคนนอก อันเป็นบ่อเกิดของนวัตกรรมที่ยั่งยืน

จากภาพใหญ่ของการวางยุทธศาสตร์ ที่มีการแบ่งระยะสั้น กลาง ยาว มาสู่การออกแบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ 7 โซนที่มีความแตกต่างกัน เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ ตัวตนของการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มศาสตร์การวางแนวทางโปรแกรมจะช่วยให้เกิดการใช้งานพื้นที่ ตอบโจทย์ผู้คนอย่างเต็มประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ที่ได้คือผังแม่บทข้อมูลแต่ละชั้น อาทิ ผังแนวคิดการออกแบบ ผังการแบ่งโซน ผังระบบล็อก ผังแนวคิดการออกแบบทางเท้า ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน ผังมุมมองสำคัญ นอกจากการออกแบบสภาพแวดล้อมกายภาพเพื่อเป็นส่วนสนับสนุนและเอื้อต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่ทั้งชาวประชาคมจุฬาฯ และสาธารณชนแล้ว ผังแม่บทจุฬาฯ ฉบับนี้ยังมีการคำนวณระบบวิศวกรรม ทั้งระบบพลังงานไฟฟ้า ระบบสุขาภิบาล ระบบจราจรและขนส่ง และสุดท้ายระบบสื่อสารด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อลดภาระในการบริหารจัดการ พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการแบ่งระยะในการพัฒนาอย่างเป็นระบบ โดยผังเหล่านี้จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลกัน เป็นแนวทางการออกแบบเพื่อส่งต่อให้กับสถาปนิก ภูมิสถาปนิก เพื่อการออกแบบ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้สื่อสาร พูดคุย ให้ทุกหน่วยงานทำความเข้าใจร่วมกันอันนำไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างมีทิศทางที่สอดคล้องกันต่อไป

ในการดำเนินการตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทางสู่การนำไปปฏิบัติจริง จะมีการประสานกับผู้เชี่ยวชาญและหลากหลายศาสตร์ รวมไปถึงหน่วยงาน องค์กรต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจผังแม่บทร่วมกัน และขับเคลื่อนจุฬาฯ

อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นกระบวนการออกแบบ ทั้งหมดจะต้องสามารถตรวจสอบได้ด้วยข้อมูลว่าสิ่งเหล่านี้สร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ยกระดับคุณภาพชีวิตได้จริง ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่าย ค่าดูแลบำรุงรักษาอีกด้วย ถ่ายทอดออกมาเป็นผังข้อมูลทาง เศรษฐกิจ กายภาพ สังคมต่อไป

กลยุทธ์การสื่อสาร: ขยายผลเรื่องเมืองต่อสาธารณชน เผยแพร่องค์ความรู้สู่วงกว้าง

ชยากรณ์ กำโชค ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Urban Communication

กลยุทธ์การสื่อสารคือการนำประเด็นมาเรื่องเมืองมาทำให้คนมีความรู้สึกได้สัมผัสกับปัญหา หรือเชื่อมโยงประเด็นนั้นอย่างใกล้ชิดกับผู้คนให้เข้าใจง่าย 

ในฐานะสื่อ มีหน้าที่ขยายผลต่อสาธารณชน เพราะว่าเรื่องเมือง คนยิ่งรับรู้ยิ่งเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด

คุณชยากรณ์ หัวหน้าฝ่าย Urban Communication ได้อธิบายถึงสาระของการทำงานฝ่าย UCOM ว่ามีบทบาทในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์โครงการ ในฐานะสื่อมวลชนจะต้องขยายผลข้อมูลเรื่องเมืองไปสู่สาธารณชนในวงกว้าง หน้าที่นี้มีความสำคัญไม่เพียงแต่การทำให้ผลผลิตขององค์กรเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หรือสร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่ยังช่วยเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเมืองไปสู่ประชาชน ต่อยอดประโยชน์มหาศาลได้ ดังนั้น การสื่อสารจะต้องขยายบับเบิ้ลให้ได้วงกว้างได้มากที่สุดเพื่อให้คนเข้ามารับรู้และมีส่วนร่วมกับผู้คน อันจะเกิดผลต่อการพัฒนาเมือง

การสื่อสารประเด็นเมือง ต้องใช้ความพยายามอย่างมากให้คนรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ผลกระทบความเปลี่ยนแปลงต่อเมืองและตัวผู้คน

ในการจัดทำโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 ในฐานะสื่อ กลยุทธ์แรกของการสื่อสารคือการเผยแพร่ข้อมูลให้กับสื่อมวลชน สื่อออนไลน์รับรู้ก่อน เนื่องจากว่ามีเสียงที่ดังกว่าและมีผู้ติดตามจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการกระจายคอนเท้นต์ต่ออีกหลายช่องทาง โดยกระบวนการที่รับไม้ต่อมาจากทุกทีมที่เข้าร่วมในการจัดทำผังแม่บทตั้งแต่เริ่มโครงการ จนกระทั่งออกมาเป็นผลลัพธ์ มีโจทย์อยู่ว่า จะทำอย่างไรให้คนภายนอกมาสนใจคำว่าเมือง มีความคิดเห็นและส่วนร่วมกับการพัฒนาจุฬาฯ ซึ่งคำสำคัญที่ใช้ในการเชิญชวนแล้วได้รับความสนใจ คำว่า “ปรับ เปลี่ยน เปิด” กลายเป็นสโลแกนที่ใช้สื่อสารให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ ถึงโมเดลการพัฒนา ว่าจุฬากำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเพื่อเป็นมหาวิทยาลัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้และนวัตกรรม สร้างความเชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบ มีผลกระทบเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลง

โดยคำเหล่านี้ ได้นำไปส่งต่อประเด็นให้แก่กองบรรณาธิการ ซึ่งคอนเท้นต์จะต้องอิงตามประเด็นพื้นฐาน สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลต่อสังคม เศรษฐกิจ กายภาพ สิ่งแวดล้อม การพัฒนาประเทศได้อย่างไร สร้างการมองเห็นคุณค่า ความสำคัญของการเรียนรู้และนวัตกรรมในฐานะสื่อ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั่นคือการที่สื่อหลายสำนักให้ความสนใจเป็นอย่างมาก จึงได้ร่วมนำเสนอข่าวขยายผลต่อไป

นอกเหนือจากการที่สื่อให้ความสนใจในประเด็นนี้และร่วมนำเสนอ สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง สร้างชื่อเสียงที่ดีให้แก่องค์กร แต่เป็นการสะท้อนเสียงกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชน รวมถึงการตอกย้ำบทบาทของวิชาชีพสถาปนิกผังเมืองให้เป็นที่รู้จักของสังคมมากขึ้นอีกด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างเครือข่ายและต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ

ในท้ายที่สุดนี้ผลสุดท้ายเมื่อคนรับรู้ข่าวสาร และเกิดการตระหนักรู้ว่าเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เมืองเป็นเรื่องของเรา มันส่งผลต่อการสร้างสำนึกพลเมือง ทุกคนก็จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน และสร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองร่วมกัน

การบริหารจัดการ: แกนหลักเชื่อมโยงกระบวนการทำงานสู่เป้าหมายโครงการ

สุภาพร อินทรภิรมย์ ผู้จัดการทั่วไป Urban General Management

งานบริหารจัดการถือเป็นหนึ่งในงานที่สำคัญต่อการเชื่อมโยงสหศาสตร์และงานทุกมิติเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อผลักดันโครงการให้ไปถึงเป้าหมาย

คุณสุภาพร หัวหน้าฝ่าย Urban General Management ได้อธิบายถึงสาระของการทำงานฝ่าย UGM ว่ามีบทบาทในการเป็นแกนหลักที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงส่วนต่างๆ ของกระบวนการทำงานให้บรรลุเป้าหมายของโครงการในทุกมิติ การดำเนินงานหลักนั้นเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มไปจนกระทั่งเสร็จสิ้นโครงการ โดยมีการประสานงาน ทำสัญญาจ้าง วางแผนโครงการ การบริหารจัดการ งาน เงิน คน ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกให้กับทีม

โจทย์หลักคือทำอย่างไรที่จะสามารถจัดสรรทรัพยากรดังกล่าวให้สมดุลกัน เนื้องานที่สำคัญแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 

  1. การวางแผน การวิเคราะห์ข้อมูล การคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคต วางแผนเพื่อลดความเสี่ยง รวมทั้งสร้างภาพที่ชัดเจนในกระบวนการทำงานร่วมกันของทุกฝ่าย ลดความซ้ำซ้อนของการทำงาน
  2. การจัดการ  การบริหารจัดการให้เป็นไปตามกำหนด มีการติดตาม ดูแลสอดส่องการทำงานของทีมในทุกๆ ส่วนงาน
  3. การอำนวยการ การประสานอำนวยความสะดวกการทำงานทีมและผู้รับบริการ
  4. การควบคุม การดูแล ทำให้ผลของการปฏิบัติงานเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการทั้งหมดที่ตั้งไว้ หลักการทำงานทั้งหมดนี้ได้ถูกประยุกต์ใช้ในโครงการผังแม่บทจุฬาฯ ศตวรรษที่ 2 เพื่อคลี่คลายกระบวนการทำงานมีความสลับซับซ้อน มีความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันในทุกๆ มิติ 

ยกตัวอย่างของกระบวนการมีส่วนร่วมในโครงการฯ ที่มีการจัดทำไปกว่า 90 ครั้ง สะท้อนให้เห็นว่างานเมืองเป็นเรื่องที่ใหญ่กว้าง การมองภาพรวมของงานจึงเป็นการเล็งผลเลิศมากกว่าแค่การพัฒนาพื้นโดยรอบ แต่เป็นการพัฒนาในหมู่กว้าง เพื่อวางบทบาทขององค์กรให้เปรียบเสมือนแกนกลางในการฟื้นฟูพัฒนาเมือง

อย่างไรก็ตามในฐานะผู้จัดการทั่วไปที่จะต้องมองภาพรวมของการทำงาน ประสานงานภายในและภายนอกองค์กรแล้ว ยังต้องมองหาโอกาส คน หน่วยงาน หรือองค์กรต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยสร้างโอกาสให้เกิดประโยชน์ขึ้นแก่สาธารณะร่วมกันต่อไป การจัดทำโครงการนอกจากจะต้องสร้างประโยชน์สูงสุดให้แก่ตัวมันเองแล้ว โครงการจะต้องสร้างประโยชน์ให้แก่พื้นที่อื่นๆได้ มีการเชื่อมโยงและสร้างเปลี่ยนแปลงในทุกมิติเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในอนาคต

เพราะว่าการฟื้นฟูเมืองเป็นเรื่องของพวกเรา

ในท้ายที่สุดนี้ กระบวนการทำงานร่วมกันของสหศาสตร์ทั้งหมดนี้ ช่วยสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานฟื้นฟูพัฒนาเมือง มีความสลับซับซ้อน มีความเกี่ยวเนื่องกับคนหลากหลายกลุ่ม หลากหลายศาสตร์ รวมทั้งสาธารณชน ในการขับเคลื่อนโครงการใดก็ตามเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจนประสบความสำเร็จได้นั้น จะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบัน และประชาชน ให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งผลลัพธ์ของการออกแบบฟื้นฟูเมืองจะต้องรองรับคนทุกกลุ่ม สร้างความเสมอภาคให้แก่ทุกคน ไม่ทิ้งคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไว้ข้างหลัง รวมทั้งสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ในอนาคต

การบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียน Professional Practices ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Thai PBS และ The Urbanis

ฟังย้อนหลังทางเพจ UDDC- Urban Design and Development Center


Contributor